ภาคพื้นแปซิฟิก โดยเฉพาะพื้นที่ในมหาสมุทรแปซิฟิก เหนือเส้นศูนย์สูตรขึ้นมาจนถึงไหล่ทวีปตั้งแต่ฝั่งตะวันออกถึงฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นพื้นที่ในความควบคุมดูแลรับผิดชอบของกองเรือที่ 7 ของสหรัฐมาตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว
โดยรอบประเทศสหรัฐทั้งด้านตะวันออกและด้านตะวันตกมีกองเรือที่ 1,2,3,4 และ 8,9,10 ดูแลรับผิดชอบ แต่เนื่องจากระยะเวลาอันยาวนานที่ไม่มีภัยคุกคามด้านนี้ กองเรือทั้งหมดเหล่านี้จึงถูกลดบทบาทและความสำคัญลงจนแทบไม่มีกำลังวังชาที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามที่ตั้งไว้เดิมได้
คงเหลือแต่กองเรือที่ 3 ที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่นอกน่านน้ำสหรัฐด้านตะวันออก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ถึงฮาวาย และบางส่วนของเส้นทางมายังเกาะกวมที่ยังคงดำรงอยู่ เพราะยังคงหวาดผวาจากที่เคยถูกญี่ปุ่นลอบโจมตีฐานทัพเพิร์ลฮาร์เบอร์ในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง และได้ใช้เป็นฐานสำหรับฝึกซ้อมรบกับประเทศพันธมิตรในพื้นที่ภาคพื้นแปซิฟิกตลอดมา
ดังนั้นในภาคพื้นแปซิฟิกสหรัฐจึงมีกองเรือที่ 7 ดูแลรับผิดชอบโดยทั่วไป โดยมีกองเรือที่ 3 รับผิดชอบดูแลพื้นที่นอกฝั่งทะเลด้านตะวันออกของสหรัฐ ดังนั้นแสนยานุภาพของกองเรือที่ 7 จึงได้รับการเสริมสร้างให้มีศักยภาพและสมรรถนะอย่างเข้มแข็งตลอดมา และถือว่าเป็นเจ้าสมุทรแปซิฟิกมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
สหรัฐสามารถใช้แสนยานุภาพทางนาวีของกองเรือที่ 7 อ้างเสรีการเดินเรือเคลื่อนกองเรือดังกล่าวเข้าไปในพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของภาคพื้นแปซิฟิกได้ทั้งหมด ไม่ว่าพื้นที่สามทะเล พื้นที่สามเส้นทาง และพื้นที่สามช่องแคบ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญสามประเภทในการครองน่านน้ำมหาสมุทรแปซิฟิก และควบคุมสถานการณ์ภาคพื้นแปซิฟิก และภาคพื้นดินด้านเหนือ ซึ่งแน่นอนว่าครอบคลุมถึงเกาหลีเหนือ จีน และรัสเซียด้วย
แต่ก่อนมารัสเซียมีกองเรือแปซิฟิกจำนวนไม่มาก ดูแลรับผิดชอบภาคพื้นแปซิฟิก และมีเขตการเคลื่อนไหวเฉพาะพื้นที่แปซิฟิกตะวันออก รวมทั้งด้านตะวันออกของทวีปอเมริกาบางส่วน โดยมีฐานทัพเรือที่วลาดิวอสต็อกคอยสนับสนุน
ในขณะที่เกาหลีเหนือและจีนไม่มีแสนยานุภาพทางนาวีในภาคพื้นนี้ที่พอจะเทียบเคียงกับกองเรือที่ 7 ได้เลย อย่างมากก็แค่ใช้กลยุทธ์หรือยุทธวิธีพิเศษในการปฏิบัติการทางทหารเฉพาะเป็นครั้งเป็นคราว ดังเช่นในสงครามเกาหลีที่จีนใช้ยุทธวิธีล่อกองเรือที่ 7 ของสหรัฐให้ไปชุมนุมอยู่ที่ช่องแคบไต้หวัน โดยมีกองทัพอากาศไปสนับสนุน แต่แท้จริงจีนใช้กำลังทัพบกรุกเข้าเกาหลีเหนือในสงครามเกาหลี และต่อตีจนกองทัพสหรัฐที่บัญชาการโดยนายพลแม็คอาเธอร์แตกพ่ายไป
แต่กลุ่มประเทศ SCO ก็ทราบเป็นอย่างดีว่าสหรัฐจะต้องใช้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ไม่วันใดก็วันหนึ่งดังนั้นจึงมีการเตรียมตัวรับมือมาตั้งแต่ต้น และยิ่งเพิ่มความพร้อมมากขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกแล้ว
รัสเซียได้ขยายฐานทัพเรือที่วลาดิวอสต็อกและจัดตั้งและขยายฐานทัพอากาศที่คาบสมุทรคัมชัตคาด้านเหนือสหรัฐระยะ 4,000 กิโลเมตร และใช้เป็นฐานของเครื่องบินโจมตีทางยุทธศาสตร์ที่สามารถติดอาวุธนิวเคลียร์ได้ และเพิ่มการลาดตระเวนรอบน่านฟ้าสหรัฐมากขึ้น
รัสเซียได้ขยายบทบาทของกองเรือแปซิฟิกมาถึงแปซิฟิกตะวันตก รวมทั้งพื้นที่สามช่องแคบ คือช่องแคบมะละกา ซุนดา และแลมบอร์กด้วย ครั้นเกิดปัญหากระทบกระทั่งกับญี่ปุ่นเรื่องสงครามยูเครน รัสเซียก็ส่งกำลังทหารเข้ายึดสี่หมู่เกาะที่พิพาทกับญี่ปุ่นมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และตั้งเป็นฐานทัพรับผิดชอบดูแลพื้นที่ทะเลจีนตะวันออกอย่างเต็มที่
รัสเซียได้เคลื่อนย้ายกองเรือทะเลเหนือเข้ามาประจำการในพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของสหรัฐ ประสานกับกองเรือแปซิฟิกเดิมที่ได้ขยายบทบาทดูแลรับผิดชอบทั้งภาคพื้นแปซิฟิกด้วย โดยจีนเข้ารับหน้าที่ตรวจสำรวจภาคพื้นมหาสมุทรแอตแลนติกแทน โดยรัสเซียตั้งฐานยิงขีปนาวุธคอยสนับสนุนปฏิบัติการของกองเรือจีนในมหาสมุทรแอตแลนติกและทะเลเหนือ
ส่วนเกาหลีเหนือได้พัฒนาแสนยานุภาพทางทหารครั้งใหญ่ที่สุด โดยเฉพาะกองทัพอากาศ กองทัพอวกาศ และกองทัพเรือ จนมีขีดความสามารถติดขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง 20 เท่าได้สำเร็จ และลุกขึ้นยืนหยัดเผชิญหน้ากับญี่ปุ่นและสหรัฐโดยตรงในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะการส่งกองเรือดำน้ำจำนวนถึง 63 ลำ ไปลาดตระเวนในภาคพื้นแปซิฟิก ตลอดไปจนถึงพื้นที่ช่องแคบมะละกา ซุนดา และแลมบอร์กด้วย
แน่นอนว่าแสนยานุภาพทางนาวีของเกาหลีเหนือได้ถูกวางกำลังไว้ตลอดแนวเส้นทางฝั่งตะวันออกของสหรัฐมายังฮาวาย กวม โอกินาวา และเกาหลีใต้ด้วย
ส่วนจีนนั้นได้พัฒนาแสนยานุภาพทางการทหารครั้งใหญ่ที่สุด จนเท่ากับหรือล้ำหน้าสหรัฐไปนานแล้ว กองทัพอวกาศ กองทัพสื่อสัญญาณ กองทัพอากาศ และกองทัพเรือของจีน ตลอดจนฐานทัพเรือต่างๆ ได้รับการพัฒนาและจัดตั้งเต็มอัตราอย่างรวดเร็ว
กองเรือจีนได้เข้าลาดตระเวนในพื้นที่สามทะเลที่สหรัฐเคยครองมาแต่ก่อนได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งพื้นที่ทะเลเหลืองซึ่งเป็นทะเลคั่นระหว่างจีนและเกาหลี ทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะคือได้มีการจัดตั้งฐานทัพอากาศและฐานทัพเรือที่บริเวณเกาะเทียมในทะเลจีนใต้ด้วย
ได้มีการจัดตั้งฐานทัพเรือใต้น้ำที่ใต้เกาะไหหลำ และมีการตั้งฐานทัพอวกาศและฐานทัพขีปนาวุธตลอดแนวชายฝั่งตะวันออกของจีนเพื่อหนุนช่วยปฏิบัติการทางนาวีของจีนในภาคพื้นแปซิฟิกตะวันออก
ทำให้การเคลื่อนตัวของกองเรือที่ 7 ในพื้นที่สามทะเลเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง และจีนกลายเป็นผู้ครองสมุทรพื้นที่สามทะเลไปแล้ว ในขณะที่สามเส้นทางยุทธศาสตร์จากฝั่งตะวันตกของสหรัฐไปยังฮาวาย กวม และโอกินาว่า ก็ไม่ใช่เส้นทางเคลื่อนกำลังที่ปลอดภัยเหมือนอดีตอีกต่อไปแล้ว
โดยเฉพาะพื้นที่สามช่องแคบได้กลายเป็นกำแพงทางทะเลที่ตัดขาดการเชื่อมต่อและประสานงานกับกองเรือ
ที่ 5 และที่ 7 ของสหรัฐไปเรียบร้อยแล้ว
ทำให้สถานการณ์ของไต้หวันตกอยู่ในสภาพปลาในอ่าง รอวันเวลาที่จะถูกรวมชาติกับจีนในระยะเวลาอันไม่นานจากนี้
นี่คือสถานการณ์ในภาคพื้นแปซิฟิกที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี