เข้าสู่ช่วงปลายเดือนเมษายน อีกไม่นานกระบวนการเลือกตั้งซึ่งเป็นศึกตัดสินว่า พรรคการเมืองใด จะมีชัยในสมรภูมิใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นกันแน่ และเมื่อเวลาแห่งการรอคอยนั้นกำลังจะถึงคราวสิ้นสุด ทุกพรรคการเมืองก็ต่างเดินหน้าอย่างเต็มพิกัด
อย่างในฝั่งของพรรคแกนนำขั้วอนุรักษ์อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติที่มีแคนดิเดตเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้เดินสายลงพื้นที่อย่างไม่ลดละ อีกทั้งยังปรากฏภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ขึ้นเวทีปราศรัยซึ่งดูจะปรากฏมาดของนักการเมืองมากขึ้น
ส่วนทางด้านของพรรคพี่ใหญ่อย่างพรรคพลังประชารัฐที่นำโดยรุ่นพี่ร่วมสถาบัน อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ลงพื้นที่กันอย่างหนักหน่วงทั้งภาคกลางและภาคอีสาน เพื่อพบปะประชาชนในพื้นที่ ก็เรียกเสียงฮือฮาไม่น้อยเช่นกัน เพราะในยามนี้เมื่อพรรคพลังประชารัฐไม่ได้มี พล.อ.ประยุทธ์ ในการเรียกคะแนนเสียงดังเดิม แม่เหล็กดูดคะแนนเสียง จึงดูจะเป็นหน้าที่ของพลเอกประวิตรพี่ใหญ่เพียงเท่านั้น ซึ่งไม่ได้มีผลแค่ประชาชนที่มาฟังแต่เมื่อพลเอกประวิตรไปที่ใดก็ทำให้ผู้สมัครลูกพรรคในพื้นที่นั้นๆ จิตใจอิ่มเอมมีพลังแน่นมากกว่าพื้นที่อื่น
แต่อย่างไรก็ตามแม้พรรคการเมืองทั้งสองพรรคตัวตึงจากทางฝั่งขั้วรัฐบาลหรือที่เรียกกันในนามขั้วอนุรักษ์นิยมจะลงพื้นที่พบปะประชาชนมากน้อยเพียงใด แต่ตัวเต็งในการจัดตั้งรัฐบาลอาจไม่ใช่สองพรรคนี้ก็ได้หรือไม่?
แน่นอนว่าหนึ่งในพรรคการเมืองที่ในตอนนี้ก็ยังดูจะกระแสดีวันดีคืน ย่อมมีชื่อพรรคเพื่อไทยอยู่ด้วย ไม่ว่าผลโพลล์จะเป็นสำนักใด ก็ล้วนบ่งชี้ไปว่าพรรคเพื่อไทยก็ยังคงเป็นหนึ่งในตัวเต็งอยู่เสมอและมีโอกาสไม่น้อยที่จะเป็นที่หนึ่งในผลการเลือกตั้ง แต่จะเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่นั้นอาจต้องมองปัจจัยอื่นด้วย?
ซึ่งก็ยากจะปฏิเสธว่าการทุ่มหมดหน้าตักของพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ น่าจะเล็งผลถึงการจัดตั้งรัฐบาลและแม้การเลือกตั้งจะยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็เริ่มที่จะมีการพูดถึงการรวมตัวเพื่อจัดตั้งรัฐบาลในสมัยหน้ากันเสียแล้ว ซึ่งการจับมือของแต่ละพรรคการเมืองนั้น หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นอกจากจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และลูกพรรคแล้ว ก็คือการที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนายทุนพรรคของแต่ละพรรคด้วย เพราะอย่าลืมว่าครั้งที่แล้วเพื่อไทยก็ชนะได้คะแนนมาเป็นที่หนึ่งแต่สุดท้ายผลการเลือกตั้งก็พิสูจน์ให้ประชาชน ลูกพรรคหรือนายทุนเห็นแล้วว่าการได้มาเป็นที่หนึ่งไม่ได้แปลว่าจะได้จัดตั้งรัฐบาลเสมอไป
ย้อนกลับไปเมื่อการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว พรรคเพื่อไทย ถือเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่ถูกมองว่าเสียเปรียบจากกติกาและรูปแบบการเลือกตั้งหรือไม่ ยิ่งเมื่อลองดูจากวิธีคำนวณจากสูตรคำนวณคะแนนความนิยมที่ใช้ประกอบในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วนั้น เท่ากับว่าพรรคเพื่อไทยมีโควตา สส. เข้าไปนั่งในสภา 111 คน แต่พรรคเพื่อไทยได้ สส. เขตไปถึง 137 คน ซึ่งเกินโควตามาถึง 26 คน ทำให้เสียโอกาสในที่นั่งบัญชีรายชื่อทั้งหมด พรรคเพื่อไทยจึงถูกมองว่าดูจะเสียโอกาสไม่น้อย จากรูปแบบการต่อสู้ภายใต้กติกาดังกล่าว
แต่เมื่อมีผู้เสียผลประโยชน์ก็ต้องมีผู้ได้รับผลประโยชน์เช่นกัน และพรรคที่ได้รับอานิสงส์จากการใช้รูปแบบการเลือกตั้งดังกล่าวก็มีหลายพรรครวมถึงพรรคสีส้ม เพราะแม้พรรคอนาคตใหม่ในยามนั้นจะได้ผู้แทนระบบเขตพื้นที่ไม่มากนักและยังถูกมองว่าได้เพราะปัญหาของพรรคไทยรักษาชาติ แต่นั่นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการคิดคะแนนในระบบเลือกตั้งรอบที่แล้ว ก็พาให้ได้ สส. ในจำนวนที่ไม่น้อยหรือไม่?
เพราะเมื่อพรรคอนาคตใหม่ ที่ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นในฐานะพรรคการเมืองน้องใหม่ในยามนั้นที่ได้สามารถสร้างความตกตะลึงเมื่อกวาดคะแนนได้มากไปถึง 5,871,137 คะแนน และเมื่อนำเข้าสูตรการคำนวณ สส. ระบบที่แล้ว ควรจะมี สส. ได้ถึง 80 อัตรา
อย่างไรก็ตามเมื่อพรรคอนาคตใหม่ชนะการเลือกตั้งแบบเขตไปเพียง 30 เขต เท่ากับว่าจะต้องเติม สส. ให้พรรคอนาคตใหม่ให้เต็ม เพื่อให้สอดคล้องกับ 50 เสียงที่หายไป เท่ากับว่ากติกาการเลือกตั้งเมื่อครั้งก่อน ยิ่งได้คะแนนดิบมาก โควตา สส.ระบบบัญชีรายชื่อก็จะยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย
ซึ่งหากมองไปที่คะแนนเขตของพรรคอนาคตใหม่นั้น แม้ในบางสนามการประลองพรรคอนาคตใหม่จะไม่ได้ที่ 1 แต่ก็ได้ ลำดับ 2-3 ในจำนวนที่ไม่น้อย จึงได้คะแนนสะสมมากพอที่จะทำให้ได้สัดส่วนบัญชีรายชื่อจำนวนไม่น้อยในสมัยที่ผ่านมา แต่ในเมื่อกติกาและรูปแบบของการเลือกตั้งนั้นเปลี่ยนแปลงไป อะไรๆ ก็คงไม่ง่ายดังเดิมหรือไม่? เพราะเมื่อการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ จะคนละแบบกับบัตรใบเดียวครั้งที่แล้วคะแนนบัญชีรายชื่อจึงน่าจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะจำนวน สส. ระบบบัญชีรายชื่อที่ลดลงด้วย
แม้ในตอนนี้จะมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่คะแนนบัญชีรายชื่อของเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล รวมกันอาจเกิน 50% ของคะแนนทั้งหมดหรือไม่? ยิ่งเมื่อไปดูในช่วงนี้ที่คะแนนนิยมในโพลล์ต่างๆ ที่ออกมาของขั้วอนุรักษ์นิยมดูจะสะดุดแบบน่าใจหาย สวนทางกับคะแนนนิยมของขั้วหัวก้าวหน้าที่สูงขึ้นแบบสวนทาง แต่เมื่อรูปแบบและกติกาการเลือกตั้งในครั้งนี้นั้นแตกต่างกันออกไป การวิเคราะห์คะแนนหรือผลการเลือกตั้งก็ต้องตามให้ทันกติกาด้วย
เพราะเมื่อมีการแบ่งสัดส่วนของทั้งคะแนนเขตและบัญชีรายชื่อออกจากกัน เป็นผลให้คะแนนบัญชีรายชื่อจะเป็นคนละมุมมองกับคะแนนเขต และพรรคที่น่าจะได้บัญชีรายชื่อสูงบางพรรคอาจจะมีคะแนนระบบเขตไม่สอดคล้องก็ไม่น่าแปลกใจมากเท่าไหร่นัก
อย่างพรรคก้าวไกลที่เคยสร้างผลงานไว้สมัยที่ยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งในครั้งนี้ก็คาดว่าน่าจะได้รับคะแนนบัญชีรายชื่อในสัดส่วนที่สูงอีกคำรบ จากคะแนนความนิยมที่ค่อยๆ ขยับ ไต่ลำดับขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกันหากมองไปที่คะแนนเขตก็อาจคนละเรื่องก็เป็นได้หรือไม่? และในเมื่อคะแนนตกน้ำไม่มีผลแล้วบวกกับสัดส่วนความสำคัญของระบบบัญชีรายชื่อที่ลดลง ผลคะแนนรวมอาจสวนทางกับผลโพลล์ตอนนี้หรือไม่?
เพราะคู่แข่งอย่างพรรคเพื่อไทยถูกมองว่าเป็นพี่ใหญ่แห่งฝั่งเสรีนิยมและเปรียบเสมือนกระดูกชิ้นใหญ่ที่ขวางทาง และน่าจะเป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ที่คอยสกัดดาวรุ่ง ทั้งจากการที่พรรคเพื่อไทยเป็นหนึ่งในที่รวบรวมของบรรดา สส. เขตที่แข็งแกร่ง และนับว่าเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่ครองใจคนในพื้นที่ได้ไม่น้อย จึงเป็นการยากที่พรรคก้าวไกลจะสามารถกวาดต้อนคะแนนพื้นที่เขตมาเป็นของตนได้ง่ายๆ แต่ไม่ใช่กับคะแนนบัญชีรายชื่อที่พรรคก้าวไกลน่าจะยังพอมีลุ้นอยู่หรือไม่?
กระนั้นต่อให้บัญชีรายชื่อรอบนี้มีสัดส่วนที่เปลี่ยนไปมาก แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบที่มากพอที่จะส่งผล ต่อคะแนนรวมเพราะคะแนนในสัดส่วนของบัญชีรายชื่อนั้น ก็มีเพียง 100 ที่นั่งเพียงเท่านั้น
ดังนั้นจึงไม่แปลกใจหากพรรคการเมืองทุกพรรคนั้น จะหันหน้าไปเอาจริงเอาจังกับการเลือกตั้งในเวทีเขตมากเป็นพิเศษซึ่งท้องถิ่นกลายเป็นปัจจัยสำคัญในรอบนี้ เพราะจากจำนวนเก้าอี้บัญชีรายชื่อที่เปลี่ยนแปลง จึงดูแล้วเป็นการยากที่จะสามารถกวาดคะแนนความนิยมและเกาะเก้าอี้บัญชีรายชื่อให้มากพอที่จะสร้างแรงสั่นสะเทือนในเวทีรัฐสภาฯ ได้ความหวังของพรรคการเมืองที่หวังจัดตั้งหรือเข้าร่วมรัฐบาลจึงหนีไม่พ้นเก้าอี้ สส. ที่มาจากเวทีเขตหรือไม่?
เมื่อการตัดสินนั้นวัดกันที่คะแนนการเลือกตั้งแบบเขต ซึ่งกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ชัยชนะของทุกเขต ไม่อาจนำกระแสเข้ามาเป็นตัววัดอย่างเดียวได้หรือไม่? เว้นแต่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น ที่กระแสดูจะส่งผลไม่น้อยต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น
อย่างในการเลือกตั้งเวทีผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่กระแสได้ส่งผลต่อการเลือกตั้งอย่างเห็นได้ชัด จากการที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯคนปัจจุบันอย่างนายชัชชาติ สามารถกวาดคะแนนในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้มากเป็นประวัติการณ์ แต่สำหรับในพื้นที่ต่างจังหวัดและพื้นที่ในเขตภูธรกระแสอาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการตัดสินใจของคนในพื้นที่เท่าไหร่นักหรือไม่?
เพราะในตอนนี้พรรคเพื่อไทยก็ยังคงเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่ยังถือครองใจของประชาชนในเขตภูธรอยู่ไม่น้อย แต่จะถึงขั้นแลนด์สไลด์ตามที่ใจหวังหรือไม่นั้น ก็คงเป็นอีกเรื่อง แต่ก็ต้องยอมรับว่าหนทางสู่แลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยนั้น ไม่ได้ไกลเกินเอื้อมแต่ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างแน่นอน
ทั้งปัจจัยจากการที่ความนิยมของพลเอกประยุทธ์ก็ยังพอมีลุ้นในอยู่ในเขตภูธรหลายพื้นที่แม้อาจไม่ได้ครอบคลุมทุกภาคอีกทั้งนโยบายพ่วงชื่อประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็นบัตรประชารัฐที่ชาวบ้านในบางพื้นที่ก็น่าจะถูกอกถูกใจและผูกพันกับบัตรนี้อยู่บ้างไม่มากก็น้อย และด้วยคู่แข่งทางการเมืองที่มากขึ้น ในขณะเดียวกันอีกฝั่ง คู่แข่งตัวฉกาจอย่างพรรคก้าวไกลนั้น แม้จะเสียเปรียบจากกติกาที่ออกมาในครั้งนี้ แต่ว่ากันตามตรงเพื่อไทยก็ยังไม่สามารถประมาทได้ในหลายพื้นที่
และเอาเข้าจริงต่อให้คะแนนรวมของบรรดาผู้แทนจากสังกัดพรรคเพื่อไทย เกินครึ่งหนึ่งของสภาฯ หรือรวมกับพรรคการเมืองจากสังกัดอื่นแล้วเกินครึ่งหนึ่งของสภาฯ แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีของฝั่งตนเองได้ง่ายๆ หรือไม่? เพราะ สว. เองก็ยังคงเป็นหนึ่งในกลไกที่มีความสำคัญในการคัดเลือกสรรนายกรัฐมนตรีอยู่ตามอำนาจที่บัญญัติไว้ในปัจจุบัน
แต่แม้จะมี สว. เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญอยู่ก็จริง แต่กระนั้นก็ใช่ว่าฝ่ายรัฐบาลจะได้เปรียบจากการมีอยู่ของ สว. มากนัก และก็ใช่ว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ภาคที่ 3 จะเกิดขึ้นอย่างไม่มีอุปสรรค หรือดำเนินไปอย่างไร้รอยต่อ เพราะอย่างน้อยที่สุดเสียงข้างมากในสภาฯ ก็ยังสามารถคัดเลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ ได้
ดังนั้นหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ชนะเด็ดขาด หากเป็นเช่นนั้นการดำเนินกิจการของสภาฯ ก็น่าสนใจว่าจะเป็นไปได้ในแง่ใดบ้าง เพราะหากสภาฯ ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทางเลือกที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตก็อาจมีอยู่ 2 ทาง ซึ่งก็คือ การลากสภาฯ ที่การดำเนินการที่อาจติดขัดและบริหารงานไม่ได้จนยุบสภาฯ ภายใน 9 เดือนหรือ 1 ปี และอาจนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ปีหน้าอีกก็เป็นได้หรือไม่?
อีกหนึ่งความเป็นไปได้ก็คือ หากฝั่งอนุรักษ์นิยมคะแนนเสียงไม่เกินครึ่งในสภา ขณะที่ฝั่งเสรีนิยมชนะแต่ไม่แลนด์สไลด์ข้ามคะแนน สว. การที่พรรคเพื่อไทยนั้น อาจจับมือกับพรรคพลังประชารัฐเพื่อจัดตั้งรัฐบาลแบบข้ามรั้วกันก็อาจเป็นทางออกหนึ่ง ตามที่สื่อหลายสำนักก็ต่างมองกันถึงความเป็นไปได้ของการจัดตั้งรัฐบาลในลักษณะนี้มาโดยตลอด แม้ตอนนี้ทั้งสองฝ่ายจะออกมาปฏิเสธแล้วก็ตาม
แม้กองเชียร์ของฝ่ายหัวก้าวหน้าจะออกมาเชียร์ให้พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลแต่หากถามถึงมุมมองเพื่อไทยว่าระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคก้าวไกล การจับมือแบบใดจะทำให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลได้จริงแบบมีเสถียรภาพมากกว่ากัน ก็คงต้องบอกก่อนว่าในตอนนี้เองหากมองถึงเป้าหมายของพรรคเพื่อไทยที่มองไปที่การแลนด์สไลด์โดยตนเองพรรคเดียวจะลงตัวที่สุด ก็ไม่แปลกที่พรรคเพื่อไทยอาจจะมองพรรคก้าวไกลเป็นคู่แข่งที่สำคัญในตอนนี้ เพราะพรรคเพื่อไทยเองก็ต้องการที่จะกลืนคะแนนจากฐานเสียงขั้วเดียวกันให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นคะแนนเขตหรือคะแนนบัญชีรายชื่อก็ตาม เพราะผลโพลล์ที่ออกมาชี้ว่าคะแนนรวมสองพรรคน่าจะสูงพอแต่การตัดคะแนนกันในระบบเขตกันเองอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อผลการแข่งขันในหลายพื้นที่ของเพื่อไทย
และจากการที่พลเอกประยุทธ์เป็นเบอร์หนึ่งในขั้วอนุรักษ์นิยม คู่ต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์หัวโต๊ะจึงน่าจะอยู่ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ มากกว่าพรรคพลังประชารัฐที่นำโดยพลเอกประวิตร?
แต่หนึ่งในสิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องคิดและคำนึงถึงมากที่สุด ก็อาจเป็นผลกระทบของคะแนนเสียงในระยะยาว เพราะหากพรรคเพื่อไทยตัดสินใจที่จะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐจริง ตามที่มีการคาดกันไว้ ย่อมส่งผลถึงคะแนนเสียง ความนิยมในระยะยาวอย่างแน่นอน และหนึ่งในผู้ที่จะได้รับผลบวกไปเต็มๆ หากแฟนตัวยงของขั้วหัวก้าวหน้าผิดหวังกับการตัดสินใจเดินเกมของพรรคเพื่อไทย คงหนีไม่พ้นพรรคก้าวไกลที่อาจได้ฐานแฟนคลับและได้ใจประชาชนเพิ่มขึ้นหรือไม่? นี่จึงอาจเป็นสาเหตุให้พรรคเพื่อไทยออกมาปฏิเสธในตอนนี้แล้ว
แต่อย่างไรก็ตามก็ใช่ว่าผลโพลล์จะทำให้คะแนนเป็นไปอย่างนั้นเสมอไป บทเรียนในอดีตแต่ละครั้งก็มีให้เห็น รวมถึง ยังเหลือเวลาอีกไม่น้อย ที่ยังไม่อาจสรุปได้ว่าคะแนนจริงจะเป็นอย่างไร เพราะประชาชนอีกหลายคนก็อาจยังไม่ตัดสินใจ รวมถึง ที่มาของแต่ละโพลล์ก็อาจมีที่มาที่ไปที่แตกต่างกัน หรือมีเหตุผลอื่นก็ไม่อาจทราบได้ แต่ที่แน่ๆ ดูเหมือนหากรอบนี้ฝั่งใดไม่ชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็อาจเกิดความวุ่นวายขึ้นแน่ แต่การเมืองไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ว่าไม่ลงตัวก็อาจจะลงตัวในตอนจบ
“ชีวิตคนไยมิใช่เฉกเช่นเวทีละครฉากหนึ่ง พวกเราไยมิใช่กำลังเล่นละคร?”
โกวเล้ง จาก ทวนทมิฬ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี