พม่าเป็นชาตินักรบมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ เพราะเป็นชาติที่ประกอบด้วยชนชาติจำนวนมากที่มีความแตกต่างหลากหลายและมีความขัดแย้งกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยชนชาติพม่าที่แท้จริงนั้นมีจำนวนประชากรราว 30% เท่านั้น ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้ระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้
เพราะจะทำให้พม่าแตกออกเป็นเสี่ยง แคว้นเล็กแคว้นน้อยอย่างน้อย 6-14 ประเทศ ซึ่งไม่ว่าชาวพม่าคนไหนก็ไม่มีทางยินยอม
เมื่อครั้งที่นักล่าอาณานิคมเข้าล้มสถาบันกษัตริย์ของพม่าแล้วยึดพม่าเป็นเมืองขึ้น แม้ใจหนึ่งต้องการให้พม่าเป็นเอกภาพเพื่อง่ายต่อการปกครองแบบอาณานิคม แต่อีกใจหนึ่งก็ต้องการที่จะให้พม่ามีความขัดแย้งทำสงครามกันเองเพื่อง่ายต่อการควบคุม ซึ่งเป็นทฤษฎีที่นักล่าอาณานิคมพวกนี้ถือเป็นทฤษฎีสำคัญในการยึดบ้านยึดเมืองคนอื่น นั่นคือทฤษฎีที่รู้กันทั่วไปว่าแบ่งแยกแล้วปกครอง
ชาวพม่าไม่ต้องการอยู่ใต้อำนาจหรือเป็นเมืองขึ้นของใคร ดังนั้นทุกหมู่เหล่าจึงพร้อมเพรียงกันต่อสู้เพื่อเอกราชของพม่า ในที่สุดยอดคนก็ปรากฏตนขึ้นในพม่า นั่นคือ
นายพลอู ออง ซาน ซึ่งความจริงควรเรียกแต่เพียงว่านายพลออง ซาน เพราะซูจีหรือซูขยีนั้นเป็นชื่อตำแหน่งเรียกว่านายพล เช่น นามของนายพลตาขยี ในผู้ชนะสิบทิศ เป็นต้น
นายพลออง ซาน ได้ประสานผู้นำทุกหมู่เหล่าของพม่าให้ร่วมมือกันกอบกู้เอกราชคืนจากอังกฤษได้สำเร็จ แต่ผลจากการวางรากฐานให้มีความแตกแยกอย่างซับซ้อนซ่อนเงื่อนภายใต้ค่านิยมประชาธิปไตยก็ได้เกิดความขัดแย้งอันไม่อาจประนีประนอมได้ขึ้นมาอีก
เพราะถ้าใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบสมบูรณ์ที่ไม่ใช่แบบของพม่าเอง ประเทศพม่าก็จะแตกเป็นเสี่ยงๆ ดังนั้นฝ่ายทหารที่นำโดยนายพลเนวิน จึงทำการยึดอำนาจและถูกคว่ำบาตรจากชาติมหาอำนาจเรื่อยมา ทำให้พม่ากลายเป็นเพื่อนเกลอสำคัญของเกาหลีเหนือและอิหร่านเพราะล้วนถูกคว่ำบาตรขั้นสูงสุดมาด้วยกัน และกลายเป็นประเทศเพื่อนเกลอที่ถึงไหนถึงกันจนกระทั่งในวันนี้
แม้กระนั้นพม่าก็ถูกแทรกแซงจนบางช่วงเวลาก็คล้อยตามแรงกดดันของนักล่าอาณานิคมให้มีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ และในที่สุดก็ถูกครอบงำแทรกแซงเพื่อเป็นประเทศกึ่งเมืองขึ้นของนักล่าอาณานิคมเหมือนเดิม
ล่าสุด พลเอกมิน อ่อง หล่าย ก็ทนสภาพการหักหลัง แทงข้างหลัง เพื่อจะยึดพม่าเป็นเมืองขึ้นแบบใหม่ของนักล่าอาณานิคมและสมุนนายหน้าในพม่าไม่ได้จึงทำการยึดอำนาจการปกครองมาจนถึงวันนี้
ประเทศนักล่าอาณานิคมก็รุมกันคว่ำบาตรพม่าเหมือนเดิม ในขณะที่พม่าก็ร่วมมือกับเพื่อนเกลอคืออิหร่านและเกาหลีเหนือ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และต่อมาก็ได้พัฒนาความร่วมมือกับประเทศกลุ่มองค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้มากขึ้นโดยลำดับ
ครั้นสหรัฐประกาศยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก กำหนดให้มีแกนหลักคือ QUAD ประกอบด้วย สหรัฐ อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย เป็นแกนปฏิบัติการทางทหารต่อพม่า จีน อิหร่านและรัสเซียในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย ก็ยิ่งทำให้พม่า อิหร่าน เกาหลีเหนือ จีน รัสเซีย ผนึกกำลังร่วมมือกันอย่างทั่วด้านและอย่างเต็มที่ ชนิดถึงไหนถึงกัน
เช่น การจัดซ้อมรบครั้งใหญ่ในมหาสมุทรอินเดียของกองทัพรัสเซีย จีน และอิหร่าน เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสที่กลุ่ม QUAD จะซ้อมรบ แล้วใช้โอกาสนั้นส่งกำลังเข้ายึดพม่า จากนั้นก็วางกำลังนอกน่านน้ำพม่าในมหาสมุทรอินเดียไม่ให้ใครเข้ามาก่อกวนรุกรานพม่าทางด้านนี้
ยิ่งยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ยกระดับมากขึ้นเท่าใด พม่าและพันธมิตรก็เตรียมการระมัดระวังป้องกันตัวมากขึ้นเท่านั้น และพม่าก็ทราบดีว่าอันตรายที่จะกระทบพม่ามากที่สุดจะมาจากชายแดนประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ชนชาติส่วนน้อยกะเหรี่ยงตั้งถิ่นฐานอยู่ตลอดแนวชายแดนไทย จึงพยายามแก้ไขปัญหาภายในอย่างเร่งรีบ
พม่าโดยความร่วมมือของจีน รัสเซีย และอิหร่าน รวมทั้งอัฟกานิสถาน ได้ประสานสามัคคีกับชนกลุ่มน้อยเกือบทั้งหมดในพม่า และสามารถทำข้อตกลงสันติภาพกันได้แล้ว และมีการลงนามกันที่ประเทศจีน คงเหลือชนชาติกะเหรี่ยงเท่านั้น
ชนชาติกะเหรี่ยงนั้นแบ่งออกเป็นสามพวก พวกหนึ่งนิยมจีน ซึ่งเข้าร่วมข้อตกลงสันติภาพไปเรียบร้อยแล้ว พวกที่สองเป็นพวกเก้ๆ กังๆ กำลังหาทางออกว่าจะเอาข้างไหนกันแน่ แต่ก็ไม่อยากทำสงคราม ส่วนพวกที่สามอยู่ตรงกันข้ามกับพื้นที่แม่สอดของประเทศไทยและข้างเคียง เป็นกลุ่มที่มีความสนิทสนมแน่นแฟ้นกับกลุ่มประเทศนักล่าอาณานิคมมากที่สุด และได้รับการสนับสนุนทั่วด้านจากประเทศนักล่าอาณานิคมด้วย
การส่งกำลังทหารรับจ้างและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้แก่ชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่ามาจากไหนกันแน่ และแน่นอนว่าทุกสายตาย่อมจ้องมองมาที่ประเทศไทย
ดังนั้นแม้จะมีการปั่นกระแสสงครามกลางเมืองในพม่าแบบไหนก็ตาม แต่ความจริงก็คือสถานการณ์ในพม่ากำลังเข้าสู่สถานะสันติภาพอย่างรวดเร็ว คงเหลือพื้นที่ติดกับชายแดนไทยด้านตะวันตก ซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนิยมตะวันตกเท่านั้น
ถ้าประเมินในแง่ศักย์สงครามและความปรารถนาร่วมกันของชาวพม่า ก็มีความชัดเจนว่าชาวพม่าทั้งประเทศต้องการสันติภาพและการพัฒนา ดังนั้น ปัญหาจึงคงเหลืออยู่
หย่อมเดียวในพื้นที่ใกล้ชายแดนประเทศไทยด้านตะวันตกดังนั้นสรรพกำลังทั้งหลายในพม่าจึงเตรียมรับมือกับการเคลื่อนไหวความขัดแย้งในพื้นที่นี้แล้วค่อยๆ บีบรัดเข้ามา
ด้วยแสนยานุภาพทหารพม่า 400,000 คน ทหารจีนที่มาดูแลท่อแก๊สอีก 100,000 คน และการตั้งฐานทัพใหม่ในประเทศจีนด้านหลังพม่าที่มีกำลังถึง 500,000 คน และอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากของพม่านั้น ลองนึกดูกันว่าลำพังชนกลุ่มน้อยและกำลังสนับสนุนจากต่างชาติจะเพียงพอต่อการรุกรบกับแสนยานุภาพของพม่าและพันธมิตรหรือไม่
นักค้าสงครามและใครก็ตามที่คิดทำประเทศไทยให้เป็นแบบโปแลนด์ในสงครามยูเครนควรจะคิดเสียใหม่เพราะสันติภาพและการพัฒนาเป็นประโยชน์ร่วมกันของไทยและพม่าที่ต้องรักษาไว้ให้มั่นคง ความขัดแย้งและสงครามคือ ปรปักษ์ของประชาชาติทั้งผองในภูมิภาคนี้
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี