พฤษภาคม เดือนแห่งการตัดสิน ว่าในท้ายที่สุดแล้วพรรคการเมืองใดจะสามารถคว้าชัยได้ ในสมรภูมิการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้ ในทางการเมืองช่วงนี้ นักการเมืองจะเรียกว่าช่วงตะลุมบอน ใครมีของดีทั้งของตนเองหรือโจมตีฝ่ายตรงข้ามต้องงัดมาจะเลือกใคร ท่ามกลางกระแสการเมืองในรอบนี้ที่แบ่งขั้วชัดเจนจนกลายเป็นการสู้กันในฝั่งเดียวกันเป็นหลัก และออกมาใช้ในตอนนี้ เพราะเชื่อกันว่าในช่วงสัปดาห์สุดท้ายสัปดาห์หน้านั้นจึงจะเป็นช่วงตัดสินใจของคนที่อยู่ตรงกลางว่าทางเลือกทางการเมืองแบบตรงกลางก็อาจเก็บนิ่มๆ ไปกินโดยไม่ต้องทำคะแนนเพิ่ม? หากซ้ายตัดซ้าย ขวาตัดขวา จนสูสีไปหมด
ขั้วแรก
หากวัดกันที่กระแสงานนี้ไม่ง่ายสำหรับขั้วอนุรักษ์นิยมแน่ เพราะก็ต้องยอมรับว่าความนิยมของค่ายนี้นั้นไม่อาจวัดได้ในโลกโซเชียลของคนยุคใหม่ ประกอบกับจำนวนพรรคการเมืองในขั้วนี้ที่มากขึ้น ไม่ได้มีเพียงแค่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐเพียงเท่านั้น แต่ยังมีการก่อกำเนิดของพรรคน้องใหม่แต่ไม่ใหม่ประสบการณ์อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ เพิ่มขึ้นมาอีก นี่ยังไม่นับรวม ชาติพัฒนากล้า และสร้างอนาคตไทย
ซึ่งการอุบัติขึ้นของพรรครวมไทยสร้างชาติได้ส่งผลกระทบเต็มๆ ต่อทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะการมีพลเอกประยุทธ์ ยืนหนึ่งทุกโพลล์แห่งขั้วอนุรักษ์นิยมสังกัดอยู่ในพรรคก็น่าจะเป็นแต้มต่อเหนือพรรคการเมืองร่วมอุดมการณ์อยู่ไม่น้อย และยิ่งทำให้การแข่งขันในขั้วนี้ร้อนปรอทแตกอย่างแน่นอน เพราะผู้สมัครเขตหลักๆ ในสามพรรคนี้ก็วนไปวนมาในกลุ่มเดียวกันมาก่อนเกือบทั้งสิ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมรภูมิของภาคใต้ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นฐานที่มั่นเดิมของพรรคประชาธิปัตย์มาหลายยุคหลายสมัย จนมาเมื่อการเลือกตั้งปี’62 ที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ประกาศไม่เอาพลเอกประยุทธ์ ทำเอาเสียไปหลายที่นั่งให้กับพลังประชารัฐรวมถึงการตัดกันเองของสองพรรคนี้ก็นำไปสู่การแทรกตัวของพรรคที่สามสำเร็จในภาคใต้มาแล้ว แต่น่าสังเกตว่ารอบที่แล้วตัดกันอย่างไรพรรคตรงข้ามขั้วอุดมการณ์ก็ยังไม่สามารถแทรกตัวเข้ามาได้ในพื้นที่ภาคใต้
แน่นอนว่าความนิยมของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้คาดการณ์ว่าน่าจะยังเหนียวแน่นกับฝั่งอุดมการณ์เดิม เพราะทั้งคะแนนโพลล์ที่ภาคใต้ยังยกพลเอกประยุทธ์เป็นเบอร์หนึ่งมาตลอด รวมถึงการเลือกตั้งซ่อมครั้งที่ผ่านๆ มา พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังแรงดีไม่มีตกเก็บแต้มคืนได้ทั้งหมด
แต่หากจะวัดกันที่การเลือกตั้ง สส. รอบนี้ อาจต่างออกไปเพราะเมื่อพลเอกประยุทธ์ ได้ประกาศเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับพรรครวมไทยสร้างชาติ แบบเต็มตัว ก็น่าสนใจว่าท้ายที่สุดคะแนนในพื้นที่ภาคใต้นั้นจะออกมาในรูปแบบใดกันแน่ เพราะแม้คะแนนนิยมของผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่จะดีมากน้อยเพียงใดก็ตาม แต่คะแนนนิยมส่วนตัวของพลเอกประยุทธ์ก็ดีไม่แพ้กัน
ว่าท้ายที่สุดพรรคใดจะได้ใจคนน้ำเค็มไปครองกันแน่ เพราะว่ากันตามตรงแล้วพื้นที่ภาคใต้ก็คงเป็นพื้นที่ความหวังสูงสุดของทั้งสองพรรคการเมืองก็ว่าได้ เวทีนี้วัดกันแบบตัวต่อตัว ปอนด์ต่อปอนด์ ผู้ใดจะมาวินในสมรภูมินี้ ชื่อค่ายอย่างประชาธิปัตย์ หรือชื่อผู้นำอย่างพลเอกประยุทธ์ หรือจะแบ่งกันไปเขตกับบัญชีรายชื่อ แต่หากตัดกันรุนแรงแข่งกันสูสี มือที่สามอย่างภูมิใจไทยมีโอกาสแทรกได้เกือบทุกพื้นที่ เพราะตั้งแต่การวางตัวผู้สมัครไปจนถึงการลงพื้นที่ต่อเนื่อง ที่เดี๋ยวจะกล่าวต่อไป ในขณะที่ภูมิภาคอื่นอย่างกทม. พื้นที่คนเมืองที่เปลี่ยนใจบ่อยที่สุดนั้น ถูกประเมินไว้ว่าขั้วอนุรักษ์นิยมอาจคะแนนลดลงในรอบนี้หรือไม่ แต่ถึงกระนั้นตามสไตล์คนเมืองเลือกพรรคมาก่อนคน จึงอาจทำให้พอมองได้ว่าที่หนึ่งของสายนี้จะเป็นใครที่คนเมืองจะเทคะแนนให้แตกต่างกับอีกฝั่งที่ในโพลล์ดูจะสูสีกันเองกว่า ในขณะที่ภูมิภาคยึดตัวผู้สมัครมากกว่าทำให้การแข่งขันต้องดูเป็นรายพื้นที่ว่าเขตไหนตัดคะแนนกันเองกี่คน
อีกขั้ว
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาก็พบข่าวอันน่ายินดีสำหรับแฟนคลับพรรคเพื่อไทย จากการที่แคนดิเดต ผู้มีบทบาทหลักในการนำทัพพรรคเพื่อไทยสู้ศึกเลือกตั้งในครั้งนี้ อย่างแพทองธารนั้นได้ให้กำเนิดทายาทคนที่สอง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับครอบครัวชินวัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคุณตาอย่างอดีตนายกฯทักษิณ ที่ก็น่าจะยินดีไม่น้อยสำหรับการต้อนรับหลานคนที่ 7 แต่ก็ไม่วายที่จะกล่าวตัดพ้อว่าหลานทั้ง 7 คนนั้นได้ถือกำเนิดขึ้น ในขณะที่ตนนั้นอยู่ต่างประเทศทั้งสิ้นและได้กล่าวทิ้งท้ายว่าขออนุญาตกลับไปเลี้ยงหลาน พร้อมจากลาด้วยประโยคที่ว่า พบกันเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนอดีตการเมืองของพรรคเพื่อไทยจะพบว่า จุดขายของพรรคในครั้งที่ประสบความสำเร็จถูกมองว่ามาจากความเป็นชินวัตรทุกครั้ง ครั้งนี้ก็อีกเช่นกัน ที่เมื่อแพทองธารประกาศตัวเข้าร่วมดำเนินงานกับพรรคเพื่อไทยในฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ก็ดึงเอาคะแนนโพลล์รวมถึงความเชื่อมั่นของคนในพรรคเองให้กลับมามากกว่าแม่เหล็กอื่นๆ ของพรรค และแม้กระทั่งช่วงที่เตรียมคลอดก็ยังมีบุตรชายอย่างนายพานทองแท้ไปช่วยประกบนายเศรษฐา เดินหาเสียงตลอด ซึ่งต้องติดตามต่อว่าในช่วงสองอาทิตย์สุดท้ายแพทองธารหลังคลอดจะสร้างปรากฏการณ์ใดให้เกิดขึ้นกับการแข่งขันภายในขั้วเพื่อดึงคะแนนจากก้าวไกลที่กำลังมีกระแสร้อนแรงในโซเชียลตอนนี้ได้หรือไม่ ?
เพราะต้องยอมรับว่าในช่วงหลังบทบาทของหมอชลน่าน อาจไม่มีพลังพอจะดึงดูดคะแนนให้พับพรรคเท่ากับคนตระกูล
ชินวัตร?
ไม่นานมานี้วลีเด็ดของนายชลน่านที่พูดถึงจุดยืนของตนเองกลางเวทีดีเบตรายการหนึ่ง ที่ได้กล่าวว่า พรรคเพื่อไทย
ไม่จับมือกับพรรคพลังประชารัฐ และยืนยันว่าไม่มีดีลระหว่างพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทย แม้จะรู้ผลการเลือกตั้งแล้วก็ตาม แต่อย่างไรเสียมติพรรคก็ย่อมเป็นไปตามมติพรรค แต่ตนนั้นกล่าวในนามหัวหน้าพรรค หากการจับมือระหว่างพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทยเกิดขึ้นจริง ตนนั้นพร้อมที่จะแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกจากหัวหน้าพรรค
ก็ไม่แน่ใจว่าจะส่งผลดีหรือผลเสียต่อพรรคเพื่อไทยทั้งในตอนนี้และในอนาคตหรือไม่?แต่การประกาศจุดยืนดังกล่าวของหมอชลน่าน ก็ได้พาให้แฟนคลับพรรคเพื่อไทยนั้นก็มีเสียงระงมอยู่ไม่น้อย พร้อมทั้งมีการยกไปเปรียบเทียบกับการประกาศจุดยืนของนายอภิสิทธิ์เมื่อการเลือกตั้งปี 2562?
และก็ต้องยอบรับว่า หลังจากการประกาศจุดยืนของหมอชลน่านนั้นได้แพร่หลายสู่สาธารณะมากขึ้นประชาชนกลับมีการพูดถึงโอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐมากขึ้นไปอีก และนั่นก็อาจเป็นหนึ่งในโอกาสสำคัญสำหรับพรรคคู่แข่งร่วมฐานเสียงอย่างพรรคก้าวไกล ในการตีฐานคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยมาเป็นของตนมากขึ้นด้วยหรือไม่?เพราะอย่างที่บอกว่าครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันตีคะแนนกันในขั้วมากกว่า
ในระยะหลังมานี้พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลนั้น ดูจะแลกหมัดกันบ่อยขึ้นและถี่ขึ้น แม้จะไม่ใช่การโต้เถียงกันโดยตรง แต่การตั้งประเด็นต่อจุดยืนของพรรคให้แฟนคลับในสายต้องเลือก กลับทำให้การแข่งขันยิ่งดุเดือดขึ้น ตั้งแต่ประเด็นการจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ ไปจนถึงล่าสุด เรื่อง 112
ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะความเก๋าของเพื่อไทยประกอบกับเป้าหมายแลนด์สไลด์ ที่ต้องการเสียงในวงกว้าง ทำให้เพื่อไทยเลือกวางจุดยืนที่ไม่สุดโต่งแม้จะลดความร้อนแรงจากความนิยมของคนกลุ่มหนึ่งไป แต่เมื่อมาถึงวันหนึ่งก็ถึงจุดพลิกให้คนที่เป็นต่อในประเด็นนี้มาเป็นรองให้มาโดนบีบให้ต้องประกาศชัดว่าจะแก้ หรือ จะยกเลิก 112 ซึ่งนายธนาธรก็พึ่งโดนคุณอภิสิทธิ์ต้อนในรายการถึงจุดยืนของพรรค ให้หวนนึกย้อนวันนี้เมื่อสี่ปีก่อนที่นายธนาธรเป็นคนต้อนคุณอภิสิทธิ์ให้ต้องตอบเรื่องจุดยืน แต่ต่างกันตรงที่คุณอภิสิทธิ์ประกาศเดิมพันและทำจริงเมื่อเลือกตั้งเสร็จ?
นี่ยังไม่นับประเด็นที่หัวหน้าก้าวไกลในเรื่อง นั่งแอร์ฟอร์ซวันกลับไทยเมื่อครั้งสมัยนายกฯทักษิณ ที่สุดท้ายเพื่อไทยก็กระโดดลงมาเล่นประเด็นนี้ด้วย แม้จะบอกว่าเป็นการตอบหลังจากถูกพาดพิงไปถึงก็ตาม แต่การตอบครั้งนั้นยังผลต่อความเชื่อมั่นของทั้งก้าวไกลและเพื่อไทยไม่น้อย
นอกจากความร้อนแรงในเชิงของจุดยืนที่ฟาดฟันกันอย่างเอาเป็นเอาตายแล้ว อุณหภูมิของการแข่งขันก็แผ่ขยายไปถึงการแข่งขันในสมรภูมิผู้แทนเขตอีกด้วย
อย่างเช่นกรณีของสนามการประลองเขต 28 ที่พรรคเพื่อไทยได้ส่งแชมป์เก่า ตัวตึงย่านฝั่งธนอย่างนายวัน อยู่บำรุง หัวหน้าครอบครัวใจถึงพึ่งได้ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของนายเฉลิมอยู่บำรุง ลงแข่งขัน โดยมุ่งหวังที่จะยึดเก้าอี้ผู้แทนเขตบางบอนอีกคำรบ แต่งานนี้คงไม่ง่าย เพราะพรรคก้าวไกลเองก็ดูจะเอาจริงเอาจังในการตีฐานบางบอนให้แตก โดยการส่งนางสาวรัชนก ศรีนอก นักเคลื่อนไหวทางการเมืองลงแข่งขัน และดูเหมือนจะได้รับกระแสตอบรับจากประชาชนในพื้นที่ดีไม่น้อย ที่ถือเป็นการรุกจริงของก้าวไกลที่มีผลต่อการแข่งขันในขั้วไม่ใช่แค่เพียงการชิงคะแนนบัญชีรายชื่อแบบที่หลายคนมอง ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. และตัวเมืองของต่างจังหวัด
อย่างไรก็ตาม หลังเลือกตั้งรอบนี้ไม่ว่าพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยจะอยู่ฝั่งเดียวกันหรือไม่ก็ตาม แต่เราน่าจะได้เห็นความเป็นตัวของตัวเองของพรรคก้าวไกลที่ชัดเจนขึ้น ส่วนหนึ่งก็ถือเป็นความเติบโตทางการเมืองที่อาจมีเส้นทางแนวคิดที่แตกต่างจากพรรคอื่น อีกส่วนอาจมองได้ถึงจุดยืนและสถานะทางการเมืองของพรรคก้าวไกลที่จะเดินต่อไปในอนาคตด้วย
ในขณะที่ทั้งสองขั้วไม่ว่าจะเป็นขั้วอนุรักษ์นิยมและขั้วหัวก้าวหน้ากำลังได้รับความสนใจบนหน้าสื่อ พรรคที่ไม่เคยประกาศว่าอยู่ขั้วไหน กลับถูกมองว่าอยู่ขั้วตรงกลางพร้อมไปได้กับทุกฝ่าย อย่างพรรคภูมิใจไทยก็ดูจะค่อนข้างเงียบ ทั้งจากกระแส และจากแบบสำรวจคะแนนความนิยมของโพลล์หลายสำนักที่ผ่านมาที่ดูแล้วก็ไม่ได้มีอะไรน่าตื่นตาตื่นใจสักเท่าไหร่นักในตอนแรก
ซ้ำร้ายกระแสข่าวที่แรงที่สุดของพรรคภูมิใจไทยในช่วงหลัง ก็ดูจะเป็นการถูกล่อเป้าเรื่องกัญชาจากขาใหญ่อย่างนายชูวิทย์ จนเสียหลักไปช่วงหนึ่ง ซึ่งก็น่าจะสร้างความหวั่นใจให้ประชาชนส่วนหนึ่งว่าพรรคภูมิใจไทยจะสามารถเอาตัวรอดจากการเลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้ไปได้มากน้อยเพียงใด ?
แต่เอาเข้าจริงอย่างที่เคยได้วิเคราะห์ไปในครั้งก่อน ว่าคะแนนความนิยมที่ได้ทำการสำรวจจากประชาชนไปนั้น ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจมาจากฐานเดียวกันหรือแบบสำรวจเหล่านั้นอาจเกิดจากการชี้นำหรือไม่?และว่ากันตามตรงประชาชนกลุ่มตัวอย่างที่ได้ตอบแบบสอบถามนั้น ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวจากกลุ่มตัวอย่างเพียงเท่านั้น ไม่ใช่ประชาชนทั้งหมด
หรือไม่?
อย่างไรก็ตาม แม้ผลโพลล์หลายสำนักที่ออกมาจะไม่เข้าทางพรรคภูมิใจไทยสักเท่าไหร่นัก สวนทางกับพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ที่มาแรงแซงทางโค้ง แต่ผลคะแนนความนิยมต่างๆก็มักจะสะท้อนไปที่ชื่อพรรคและคะแนนบัญชีรายชื่อเป็นหลักเสียมากกว่า ซึ่งคะแนนบัญชีรายชื่อ 100 ที่นั่ง ก็ยังดูสัดส่วนน้อยเกินไปที่จะสร้างอิมแพคทางการเมืองหรือไม่?คะแนนเสียงของ สส. เขตจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการจัดตั้งรัฐบาล
ซึ่งจากการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2562 พรรคภูมิใจไทย ก็เป็นพรรคที่กระแสค่อนข้างนิ่งมาโดยตลอด ทั้งช่วงหาเสียง อาจจะพูดได้ว่าเบากว่านี้ด้วยซ้ำ แต่ผลการเลือกตั้งที่ออกมาก็ยังสามารถกวาดที่นั่งผู้แทนเขตไปถึง 39 ที่นั่ง พร้อมทั้งกวาดคะแนนบัญชีรายชื่อไปอีก 12 ที่นั่ง ก่อนจะมาเก็บเพิ่มในภายหลังได้อีกไม่น้อย
มารอบนี้ การแข่งขันก็เป็นไปลักษณะดังกล่าวหรือไม่?แต่สองฝั่งอุดมการณ์นั้นมีการแข่งขันที่สูงขึ้นและเข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิม และก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุดมการณ์ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ประกอบการตัดสินใจของประชาชน แต่การที่มีการแตกพรรคของทั้งสองฝั่ง ก็อาจจะส่งผลให้ตัดคะแนนกันเองและมีแนวโน้มสูสีในหลายเขตรวมถึงผู้ชนะสูงสุดอาจมีคะแนนลดลงหรือไม่ ?
ในขณะที่ฐานภูมิใจไทย มักเป็นฐานเขตที่ได้รับชัยชนะจากตัวบุคคลเป็นหลักจึงน่าจะกระทบจากการตัดคะแนนน้อยกว่า เพราะนอกจากที่พรรคภูมิใจไทยในรอบนี้จะสามารถเรียก สส.เขตจากพรรคต่างๆ เข้ามาไว้ในอ้อมอกได้มากกว่าพรรคใดซึ่งก็น่าจะเพิ่มคะแนนในจุดแข็งของตนเองอยู่แล้ว แบบไม่ต้องไปตีกับใคร ในขณะเดียวกัน อาจได้ประโยชน์อย่างมากจากการตัดคะแนนของสองฝั่งแบบสูสีอีกด้วย
ไม่แน่ว่างานนี้เราอาจได้เห็นพรรคภูมิใจไทยเก็บชัยชนะได้จากหลายสมรภูมิการแข่งขันแบบไม่ได้คาดคิดก็เป็นได้หรือไม่?เพราะนอกจากภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสานตอนใต้ ภาคกลางบางส่วน ที่พรรคภูมิใจไทยน่าจะได้กินแบบนิ่มๆ แล้ว ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและในบางเขตของประเทศที่พรรคภูมิใจไทยอาจสร้างเซอร์ไพรส์ รวมถึงสมรภูมิสุดหินอย่างภาคใต้เองก็น่าจะยังพอมีลุ้นอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
ศึกนี้ก็ไม่แน่ว่าเราอาจได้เห็นพรรคภูมิใจไทยผงาดขึ้นมาในอีกคำรบ
การแข่งกันดุเดือดของทั้งสองข้าง เข้าทางมือที่สามแบบสุดๆ โดยอาจไม่ต้องเก็บแต้มเพิ่ม
“ความหมายของชีวิตที่จริงก็คือ มานะพยายามต่อสู้ด้วยความเข้มแข็ง”
โกวเล้ง จาก ราศีดอกท้อ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี