นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล บอกกับสื่อถึงความมั่นใจในคดีหุ้นสื่อไอทีวีมาโดยตลอด
1. เมื่อวานนี้ (5 มิ.ย.2566) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้ร้องเรียนต่อ กกต. ได้เปิดเผยว่า ตนทราบมาว่าล่าสุด นายพิธาได้ขายหุ้นสื่อ “ไอทีวี” จำนวน42,000 หุ้น ออกไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค.2566 ที่ผ่านมา
นายเรืองไกรตั้งข้อสงสัยว่า “ถ้า นายพิธา บอกว่า ถือหุ้นสื่อได้ไม่ผิดแล้วเจ้าตัวจะรีบขายหุ้นดังกล่าวออกไปทำไม อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญระบุคุณสมบัติผู้สมัคร สส. และผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีไว้อย่างชัดเจนว่า ห้ามถือครองหุ้นสื่อ ไม่ว่า จะถือ 1-2 หุ้นก็มีความผิดแล้ว ไม่เกี่ยวกับจำนวนที่ถือครองหุ้น จะครอบงำการดำเนินกิจการได้หรือไม่”
2. เมื่อวานนี้ (5 มิ.ย.2566) นายพิธา ถูกนักข่าวถามถึงกระแสข่าวขายหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้นแล้ว เป็นความจริงหรือไม่?
ปรากฏว่า นายพิธาปัดที่จะตอบ โดยระบุเพียงว่า นายชัยธวัช ตุลาธนได้อธิบายไปแล้ว ก่อนจะขึ้นรถออกจากที่ทําการพรรคทันที
3. หากย้อนไปเทียบเคียงบรรทัดฐานคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีถือครองหุ้นสื่อก่อนหน้านี้
คดีนายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ถือหุ้นสื่อสารมวลชน บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด และ บริษัทแอมฟายน์ โปรดักชั่น
ศาลรัฐธรรมนูญตั้งประเด็นวินิจฉัย 2 ประเด็นหลัก คือ 1.วันสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กิจการของผู้ถูกร้อง ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่และ 2.หากกิจการของผู้ถูกร้องผู้ใดประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) มีข้อพิจารณาต่อไปว่าผู้ถูกร้องผู้นั้นเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการดังกล่าวหรือไม่
ปรากฏว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายธัญญ์วาริน ถือหุ้นในบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จํากัด ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนอยู่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้นายธัญญ์วาริน ผู้ถูกร้อง ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ทําให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) นับแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562
หรือคดีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถือครองหุ้นสื่อวี-ลัคมีเดียฯก็ไม่รอดมาก่อนแล้วเช่นเดียวกัน
กรณีนายพิธา หากแม้นว่าจะขายหุ้นออกไปทีหลัง ก็ไม่มีผล เพราะศาลรัฐธรรมนูญถือเอาวันที่ไปยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นหลัก
4. นายพิธาอ้างว่า มีชื่อถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) แต่เป็นหุ้นกองมรดก (อันเนื่องจากบิดาเสียชีวิต)
เอกสารบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บมจ.006) ระบุนายพิธาถือครองจำนวน 42,000 หุ้น ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงล่าสุดปี 2566 เป็นเวลา 16 ปี
แบบ บมจ.006 ที่นำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในแต่ละปี ท้ายรายชื่อและที่อยู่ผู้ถือหุ้น มิได้ระบุว่าถือในนาม“ผู้จัดการมรดก”
บมจ.ไอทีวี แจ้งวัตถุประสงค์ 45 ข้อ เกี่ยวข้องกับประกอบการสื่อ 5 ข้อได้แก่ ข้อ (18), (40), (41), (42) และ (43) (ตามเอกสารจดแจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า)
สถานะบริษัทฯยังเปิดดำเนินการ ไม่ได้เผยแพร่ออกอากาศ ไม่ได้จดทะเบียนเลิก มีรายได้ นำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทุกปี
แถมการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวีล่าสุด เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้เอง ยังมีการตอบคำถามในที่ประชุมยืนยันว่า ยังประกอบกิจการสื่อ และส่งงบการเงินประจำ
น่าสงสัยว่า นายพิธาไปท่องจำเอาความมั่นใจมาจากไหน?
หรือหวังจะอาศัยกระแส “ด้อมส้ม” กดดัน ข่มขู่ศาลรัฐธรรมนูญ เหมือนสมัยที่นายทักษิณรอดคดีซุกหุ้น หรืออย่างไร?
5. มองจากจุดนี้...
ทั้งข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย
หาก กกต.ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อใด ศาลรัฐธรรมนูญมีโอกาสสูงมากที่จะต้องสั่งนายพิธายุติปฏิบัติหน้าที่ (เช่นเดียวกับที่เคยสั่งพลเอกประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่)
และตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และแนวทางบรรทัดฐานการวินิจฉัยที่เคยปรากฏ โอกาสที่นายพิธาจะ “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น”ก็มีมากเหลือเกิน
6. นอกจากนี้ อาจารย์คมสัน โพธิ์คง ตั้งข้อสังเกตถึงผลกระทบต่อสส.ของพรรคก้าวไกลต่อไปด้วย ระบุว่า
“...สภาพปัญหาทางกฎหมายของพรรคก้าวไกล อาจมีมากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ ตรงที่พรรคก้าวไกลไปกำหนดข้อบังคับพรรคให้มีมาตรฐานของคุณสมบัติสมาชิกพรรคก้าวไกลให้สูงกว่าพรรคการเมืองอื่น
โดยไปอิงคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งไม่ควรไปกำหนดเช่นนั้น
หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งต้องไปพิจารณาว่าเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวมาตั้งแต่เมื่อใด
หากเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมาก่อนการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และศาลวินิจฉัยก่อนการรับรองให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็จะมีปัญหาว่า การรับรองบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลทั้งหมดที่นายพิธา ได้รับรองไป จะเป็นการรับรองโดยหัวหน้าพรรคผู้ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล การรับรองดังกล่าวจึงไม่น่าจะมีผลให้เป็นการรับรองได้ จึงอาจมีประเด็นอย่างที่นายวิษณุ กล่าวได้ว่า อาจต้องมีการเลือกตั้งซ่อมทั่วประเทศ เพราะการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้รับการรับรองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้โดยไม่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๓๒ วรรคหนึ่งและวรรคสอง
มาตรา ๑๓๒ ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้าคณะกรรมการสืบสวนหรือไต่สวนแล้วเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการอันเป็นเหตุให้การเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าว หรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้วไม่ดำเนินการเพื่อระงับการกระทำนั้น ให้คณะกรรมการสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครที่กระทำการเช่นนั้นทุกรายไว้เป็นการชั่วคราว เป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการมีคำสั่ง และในกรณีที่ผู้นั้นได้คะแนนอยู่ในลำดับที่จะได้รับการเลือกตั้ง ให้สั่งยกเลิกการเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่คำสั่งของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นที่สุด..
แต่หากคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งและรับรองให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ก็จะต้องบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๘๒ วรรคท้าย คือต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ทำการวินิจฉัยว่านายพิธาฯ อาจมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๙๘(๓) และหากวินิจฉัยว่านายพิธา มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว ก็อาจจะส่งผลให้บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลทั้งหมดต้องมีปัญหาไปด้วย หากคณะกรรมการการเลือกตั้งส่งเรื่องของปัญหาการรับรองให้เป็นผู้สมัครของพรรคก้าวไกลไปให้ศาลรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งอาจมีผลการวินิจฉัยในทางใดก็ได้
ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยกรณีนี้ในคราวนายธนาธรจึงรุ่งเรืองกิจ ก็เนื่องจากไม่มีความเห็นคณะกรรมการการเลือกตั้งส่งประเด็นดังกล่าว และเป็นการวินิจฉัยหลังการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ไปแล้วถึง ๘ เดือนเศษ
ดังนั้น ข้อคิดเห็นของ นายวิษณุ เครืองาม ที่กล่าวว่า อาจมีการเลือกตั้งซ่อมหรือเลือกตั้งใหม่ทั่วประเทศ ก็อาจเป็นเหตุที่เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน”
อย่างหลังนี้ น่าสนใจว่า เหตุใดพรรคก้าวไกลจึงไปเขียนข้อบังคับของพรรคตนเองเช่นนั้น แล้วจะโทษใคร?
แล้วจะมีโอกาสเกิดเหตุเช่นว่านี้แค่ไหน?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี