เมื่อวันพุธที่ 7 มิ.ย. 2566 ที่ห้องประชุมศรีวังสา ตึกรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ หรือ Pelajar Kebangsaan Patani หรือ Pelajar Bangsa ได้จัดกิจกรรมเปิดตัวองค์กร พร้อมปาฐากถาพิเศษเรื่อง “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (SelfDetermination) กับสันติภาพปาตานี”
ภายในงาน มีการทำแบบสำรวจความคิดเห็นอย่างง่าย ระบุข้อความว่า “คุณเห็นด้วยกับ สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย”
ประเด็น “แยกตัวเป็นเอกราช” นี่เอง กลายเป็นเรื่องใหญ่และพาดพิงไปถึงว่าที่ สส. คนหนึ่งของพรรคก้าวไกล นั่นคือ “นายรอมฎอน ปันจอร์” ซึ่งเปิดตัวเตรียมเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ตลอดงาน นายรอมฎอน ไม่ได้เดินทางมาร่วมแต่อย่างใด
ในเวลาต่อมา นายรอมฎอนยืนยันว่าตนได้รับเชิญ แต่ไม่ได้ไปร่วมงานดังกล่าว เนื่องจากติดประชุมเรื่องยกเลิกเกณฑ์ทหารที่พรรคก้าวไกล
1) สองวันต่อมา ที่พรรคก้าวไกล คณะทำงานย่อยพรรคร่วมรัฐบาล ว่าด้วยสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีซึ่งเป็นคณะทำงานย่อยของพรรคร่วมรัฐบาลมีการประชุมนัดแรก โดยมีตัวแทนจาก 8 พรรคร่วมมาอย่างพร้อมเพรียงอาทิ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคนายรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ สส. พรรคก้าวไกล พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขานุการคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย ส่วนพรรคประชาชาติ มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่องเลขาธิการพรรคประชาชาติ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ และนายมุข สุไลมาน รองหัวหน้าพรรค นายกัณวีร์ สืบแสงเลขาธิการพรรคเป็นธรรม นายชวลิต วิชยสุทธิ์ กรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยสร้างไทย
หลังการหารือ 2 ชั่วโมง นายรอมฎอน เปิดเผยว่า เป็นการวางกรอบการทำงาน ระดมความเห็นแต่ละพรรคในเบื้องต้น การตั้งสมมุติฐานของปัญหาจังหวัดชายแดนใต้
ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสันติภาพ การแสดงความเห็นทางการเมืองที่ยังมีความคับข้องหมองใจ รวมถึงการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน เราคุยกรอบกว้างที่แต่ละพรรคให้สัญญาประชาชนไว้ แต่ครั้นจะลงลึกรายละเอียดว่า จะวางกรอบสร้างสันติภาพ ตอบสนองแนวนโยบายอย่างไรให้กับประชาชน โดยนัดหารือที่พรรคประชาชาติ ในวันที่ 19 มิถุนายนนี้
ที่ประชุมยังเห็นว่า แนวทางการแก้ปัญหา วันนี้อาจต้องลดบทบาท วิธีคิด และกลไกทางทหารลง แต่เพิ่มบทบาทพลเรือน โดยเฉพาะตัวแทนที่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน นั่นคือบทบาทรัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎร
นายรอมฎอน ยังบอกด้วยว่า ที่ประชุมยังได้พูดถึงกรณีเปิดตัวขององค์กรนักศึกษาสามจังหวัดชายแดนใต้ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ โดยสัมผัสได้ว่ามีความกังวลของผู้คนที่มองปรากฏการณ์ทำกิจกรรมของนักศึกษากลุ่มนี้ ซึ่งในนามของว่าที่รัฐบาลใหม่ กรอบที่เรายังยืนอยู่ยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เรากำลังพูดถึงสถานภาพของรัฐเดี่ยวที่มองไปข้างหน้าและจะกระจายอำนาจ ให้อำนาจให้กับประชาชนท้องถิ่นมากขึ้น พร้อมยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวออกไปของรัฐปัตตานี (ปาตานี) เพราะเราอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ต้องมีพื้นที่ให้แสดงความเห็นซึ่งการพูดคุย รับฟังความเห็นต่างๆ รวมถึงกลุ่มนักศึกษาฯ เป็นหนึ่งในกระบวนการทำงานของคณะทำงาน
ทั้งนี้ ไม่ห่วงว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่ความแตกแยก แต่ส่วนตัวมองว่า นี่คือหน้าตาที่แท้จริงของความขัดแย้ง และต้องการความกล้าหาญทางการเมืองภายใต้การนำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ไปเผชิญปัญหา แต่สิ่งที่กังวลคือเรื่องของความรุนแรง เพราะอีกไม่กี่เดือนก็จะครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเชื่อว่าภายใต้รัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นการกล้าเผชิญ คือจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา
ส่วนการพูดคุยกับหน่วยงานความมั่นคงนั้น นายรอมฎอน บอกว่า หน่วยงานความมั่นคงก็เป็นระบบราชการภายใต้รัฐบาลอยู่แล้ว ก็จะต้องมีการพูดคุย แต่ระหว่างนี้ผู้รับผิดชอบของ 8 พรรคการเมือง ก็ได้มีการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว เพื่อเตรียมความพร้อม
ส่วนแนวคิดการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น เพื่อสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนที่รัฐบาลเดิมได้ทำมานั้น วันนี้ในวงประชุมยังมีความเห็นต่างกันอยู่ ถึงแนวทางดังกล่าวแต่ในภาพใหญ่ก็มองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ คือการสนทนากับคู่ขัดแย้ง ซึ่งวิธีการของรัฐบาลใหม่ เราจะสร้างความแตกต่างจากก่อนหน้านี้
ส่วนความชัดเจนในการยุบ กอ.รมน. นั้น นายรอมฎอนบอกว่า เรื่องนี้ยังต้องมีการพูดคุยในคณะทำงาน และต้องเป็นฉันทามติร่วมกันของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล
ด้าน นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรมย้ำว่า ถ้าเป็นการทำประชามติ เพื่อสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนเราไม่สนับสนุน เพราะอยู่นอกกรอบรัฐธรรมนูญ แต่เราเปิดเสรีในการแสดงออกของประชาชน และไม่กังวลกับเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะดำเนินการตามกรอบรัฐธรรมนูญ
2) นายนิพนธ์ บุญญามณี รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนี้ ว่า
“การสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้นั้น เป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนปรารถนาให้เกิดขึ้นจริง ไม่ว่ารัฐบาลไหนๆ ที่เข้ามาบริหารประเทศก็ให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่อย่างเต็มที่ มีคณะกรรมการต่างๆ ทั้งหน่วยราชการ NGO ภาคเอกชน ต่างลงไปทำศึกษา ช่วยเหลือ ครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่การลดความรุนแรง เกิดความสงบสุข
อีกทั้ง ยังกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญในเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร เป็นแหล่งผลิตสินค้าฮาลาลเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดโลกมุสลิม ซึ่งที่ผ่านมามีการทุ่มงบประมาณเพื่อเข้าไปจัดการในพื้นที่หลายแสนล้านบาทตลอดระยะเวลา 20 ปี แต่ก็ยังไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม
โดยข้อเสนอที่พยายามขับเคลื่อนมาโดยตลอดเพื่อการแก้ไขปัญหานั้น ต้องน้อมนำแนวทางพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เพื่อสร้างความร่วมมือและรับรู้ร่วมกันทำให้ปัญหาที่หลายฝ่ายเรียกร้องได้ถูกแก้ไขได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการเดินตามยุทธศาสตร์สันติภาพสู่สันติสุข คือ การทำให้เกิดสันติภาพ ยุติความขัดแย้ง เพื่อนำไปสู่สันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งต้องสนับสนุนให้มีการพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ ที่มีความเห็นที่ต่างกันอยู่ในพื้นที่ ทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายสร้างการมีส่วนร่วมในทุกมิติที่มีผลกระทบต่อคนในพื้นที่ ซึ่งถ้าหากไม่สามารถแก้เรื่องความเห็นต่างหรือแก้เรื่องความขัดแย้งได้ ก็ยากที่จะนำสันติสุขมาสู่ชายแดนใต้ ตนสนับสนุนการพูดคุยกับทุกกลุ่ม และเคยเดินทางไปพบปะพูดคุยกับระดับผู้นำของบางกลุ่มมาแล้ว”
3) นายณัฐนันท์ กัลยาศิริ หรือ ทนายบอน อดีตผู้สมัคร สส.กทม. พรรครวมไทยสร้างชาติ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า “ความต้องการปกครองตนเองของ
พี่น้องสามจังหวัด อย่าตกเป็นเหยื่อนักการเมืองชั่วที่ยุยงให้เกลียดชังคนในชาติด้วยกันเอง” มีเนื้อความว่า
1.พี่น้องสามจังหวัด สมัยก่อนถูกรังแกจาก “ข้าราชการชั่ว” มาอย่างยาวนาน สาเหตุเพราะนโยบายของรัฐ ทำโทษข้าราชการที่ทำผิด ทุจริต ด้วยการย้ายไปที่สามจังหวัด สามจังหวัดจึงเต็มไปด้วยข้าราชการที่ ไม่สนใจทำงาน รังแกชาวบ้าน ปฏิบัติต่อคนพื้นที่เป็นพลเมืองชั้นสอง ยังไม่นับ การอุ้มฆ่า ยังไม่นับว่าคดีที่พ่อแม่พี่น้องถูกฆ่า ไม่มีความคืบหน้า ตายสิบ เกิดแสนจึงมีอยู่จริง ข้าราชการดีมีอยู่ครับ แต่ปลาเน่าหลายสิบตัว สร้างความเสียหายได้มหาศาลเกินกว่าจะคาดคิด
2.พี่น้องสามจังหวัด ต่อมาถูกรังแกด้วย“นักการเมืองเลว” อุ้มฆ่า กรือเซะ ตากใบ และอีกหลายๆ สถานการณ์ ที่ซ้ำเติมความบอบช้ำ ต่อมาด้วยการแสวงหาผลประโยชน์ในทุกรูปแบบ โดยไม่ได้ต้องการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
3.มีแต่สถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ช่วยลดทอนความรุนแรงของปัญหา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านใช้แนวทางเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ในการเข้าถึงหัวใจคน ใช้การเมืองนำการทหาร ใช้การพัฒนาช่วยเหลือแทนการปราบปราม จนปัญหาความรุนแรงแทบจะยุติ ก็มาเจอนักการเมืองชั่ว ยกเลิกแนวทางพระองค์ท่าน ทำตัวเป็นรัฐตำรวจ อุ้มฆ่า ใช้การปราบปรามเข่นฆ่า จนปัญหาลุกลามบานปลาย มาถึงในยุครัชกาลที่ 10 ท่านเข้าใจ ใส่ใจ ให้ความสำคัญกับความรัก ความสามัคคีให้ความสำคัญกับพี่น้องมุสลิม เท่าเทียมกันกับศาสนาอื่นๆ จนเข้าไปนั่งในหัวใจของคนมุสลิมได้ ก็มาเจอยุค “นักการเมืองชั่ว ภาค 2” พยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์ ยุยงทั้งทางตรงและทางอ้อมให้เกิดความขัดแย้งเพื่อนำมาสู่แนวความคิดเรื่องการแบ่งแยกดินแดนจนลุกลามบานปลาย พยายามทำลายสถาบันหลักแล้ว พยายามทำลายสถาบันครอบครัว ทำลายความรักความสามัคคีแล้ว ก็ยังคงพยายามบ่อนทำลายความมั่นคงอีก
4.ปัญหาที่เกิดจากนักการเมืองชั่ว ข้าราชการเลว จึงช่วยจุดไฟ ให้กลุ่มผู้ไม่หวังดี มีอำนาจ มีอิทธิพลมากขึ้นสามารถทำให้ชาวบ้านบางส่วนเข้าเป็นแนวร่วมได้มากขึ้นจึงเกิดการเข่นฆ่าประชาชน เข่นฆ่าเจ้าหน้าที่ สรุปแล้วว่ามีแต่คนไทยฆ่ากันเอง น่าเศร้าครับ
ในความเห็นผมเราต้องแยกการแก้ไขปัญหาออกเป็นสองส่วน
1.นักการเมืองชั่ว เค้าต้องการให้เราเกลียดชังกันและถ้าเราหลงผิดเกลียดชังกันเอง ก็จะเข้าทางนักการเมืองชั่วพวกนั้นครับ ดังนั้น สำหรับชาวบ้านทั่วไป คนในพื้นที่ เราเป็นคนชาติเดียวกัน เราเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม แต่ถูกปลุกปั่นยุยง จากนักการเมืองชั่ว ถูกรังแกจากนักการเมืองชั่ว ข้าราชการเลว ทำให้คนไทยต้องมาเข่นฆ่ากันเอง “เรา” คือ คนไทยด้วยกัน ต้องพูดคุยกัน สร้างความเข้าใจกัน การสื่อสารในเรื่องนี้จึงละเอียดอ่อน อย่างมาก
การสื่อสารให้เกิดความเกลียดชังมากยิ่งขึ้นยิ่งทำให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนเข้มแข็งขึ้นเกิดแนวร่วมมากยิ่งขึ้น สุดท้ายนำมาสู่ความสูญเสียทั้งสองฝ่าย
2. ปราบปรามและดำเนินการทางกฎหมายอย่างจริงจัง กับกลุ่มนักการเมืองชั่ว นักวิชาการเลวกลุ่มขบวนการเบื้องหลัง ที่ตั้งใจปลุกปั่นยุยงให้มีการแบ่งแยกดินแดน
ทั้งสองอย่างนี้ไม่ง่ายครับ บางเรื่องเราไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ... แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ตัวเราเองต้องไม่ตกเป็นเหยื่อ ด้วยการเติมเชื้อไฟ สร้างความเกลียดชังคนในชาติด้วยกันเอง ... ไม่งั้นก็ยิ่งเข้าทางนักการเมืองชั่วที่แสยะยิ้มเยาะหยันอยู่เบื้องหลัง#ทนายบอน
4) พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยว่า ได้รายงานกรณีดังกล่าว ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม รับทราบแล้ว ตั้งแต่วันที่จัดงาน โดย พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความเป็นห่วงกังวลต่อกรณีดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะเกิดการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยก จึงได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งตรวจสอบไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม ควบคู่กับการทำความเข้าใจกับประชาชน
“การออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราช เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ไม่สามารถดำเนินการได้และไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน เพราะบทบาทของ สส.ที่เพิ่งจะผ่านการเลือกตั้งมา สามารถดำเนินการแทนได้อยู่แล้ว ด้วยการทำหน้าที่สะท้อนความต้องการรวมทั้งปัญหาของประชาชน แล้วนำเข้าไปหารือ เพื่อหาทางออกในสภาผู้แทนราษฎร ในส่วนของรัฐบาลมีนโยบายสำหรับพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะกฎหมายความมั่นคง ที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อให้เกิดความสงบไม่ต้องการให้เกิดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งยังสนับสนุน เรื่องวัฒนธรรม ประเพณี อัตลักษณ์ ศาสนา และการศึกษาอย่างเต็มที่ นอกจากนียังมีกลไกการพูดคุยสันติสุข ที่เปิดโอกาสให้หลายภาคส่วนเข้าร่วม ดังนั้น บรรดานักวิชาการ สามารถมาร่วมได้ โดยไม่จำเป็นต้องแยกตัวไปทำอะไรสุ่มเสี่ยงให้เกิดความแตกแยก” พล.อ.สุพจน์ กล่าว
สรุป : เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาว่า ใครเป็นคนจุดประเด็นขึ้นมา และกลุ่มคนที่จะเข้าไปเป็นฝ่ายบริหาร ก็คือ “รัฐบาลใหม่” จะมีท่าทีและดำเนินนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร
เรื่องนี้ต้องไม่ถูกนำมาเป็นเงื่อนไขทางการเมือง เงื่อนไขทางการหาคะแนนนิยม
เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้รอบคอบ และปรึกษาหารือกับทุกๆ ฝ่ายด้วยความระมัดระวัง
ต้อง “ตั้งสติ” อยู่เสมอว่า กำลังหาทาง“ดับไฟ” หรือ “จุดไฟ”
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี