ในความเป็นชาติที่ดีนั้น ศาสนาและพระมหากษัตริย์ จะเป็นสิ่งที่ยึดโยงให้บุคคลที่เกิดและอาศัยอยู่บนแผ่นดินผืนนั้น มีความรู้สึกดีที่มีเครื่องยึดเหนี่ยว และก่อให้เกิดความรู้สึกผูกพัน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการที่จะทำให้ชาตินั้นเป็นปึกแผ่น มีความรักสามัคคี ร่วมมือกันทำให้ชาติเกิดความเจริญก้าวหน้า และประชาชนอยู่อย่างเป็นสุขได้
หากย้อนประวัติศาสตร์ไปได้ ก็จะพบว่าการก่อตั้งหรือกำเนิดของชาติต่างๆ ทั่วโลกนั้น จะเริ่มจากการรวมกลุ่มของผู้คน ซึ่งจะมีบุคคลคนหนึ่งที่ถือว่าเป็นผู้นำสูงสุด และเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับ ในฐานะที่เป็นผู้เก่งกล้าสามารถ ต่อสู้ป้องกัน การรุกรานของศัตรู ด้วยความเสียสละกล้าหาญ ซึ่งประวัติศาสตร์ในยุคต่อๆ มา จะเรียกบุคคลผู้นั้นว่ากษัตริย์ ซึ่งหมายถึงประมุขสูงสุดของชาตินั้นๆ
ชาติที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น รวมทั้งไทย หรือในกลุ่มประเทศอาหรับ ตลอดจนประเทศที่อยู่ในทวีปยุโรป เช่น อังกฤษ สวีเดน เดนมาร์ก ซึ่งเป็นชาติเก่าแก่ ต่างก็มีกษัตริย์เป็นประมุขของประเทศทั้งนั้น และก็มีการสืบสันติวงศ์มาเป็นระยะเวลานับพันปี ซึ่งจะแตกต่างจากประเทศที่เกิดขึ้นใหม่ในระยะหลังๆ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศมาไม่เกิน 300 ปี และเป็นยุคที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงพอสมควร จึงไม่มีระบบกษัตริย์เกิดขึ้น
และทุกชาติไม่ว่าจะมีกษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่ จะมีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้อยู่ร่วมกันได้ ก็คือสิ่งที่เรียกกันว่าศาสนา ซึ่งคำว่าศาสนานั้น หากแปลหรือขยายความก็คือลัทธิความเชื่อของมนุษย์ ที่เกี่ยวกับการเกิด ความเป็นไปและความสิ้นสุดของโลกซึ่งต้องหมายถึงมนุษย์ที่อาศัยอยู่ด้วย โดยแต่ละศาสนาจะมีหลักธรรมคำสอน ตลอดจนลัทธิพิธีต่างๆ ซึ่งจะสอดคล้อง กับวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละพื้นที่
ชาติไทยของเรานั้น มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ โดยเชื่อกันว่าศาสนาพุทธได้ถูกเผยแพร่เข้ามาสู่ดินแดนที่เรียกว่าสุวรรณภูมิอันประกอบไปด้วยกลุ่มชนหลายชาติในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นไทย พม่า เขมร ลาว เวียดนาม รวมทั้งรัฐทางตอนใต้ของจีนรวมถึงปลายแหลมมลายู ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ประมาณปีพุทธศักราช 236 โดยเชื่อว่าศูนย์กลางน่าจะอยู่ที่จังหวัดนครปฐมในปัจจุบันนี้จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบ และได้เป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยว ประชาชนพลเมืองที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้มายาวนานกว่า 2,000 ปีแล้ว
เมื่อมีการสร้างชาติไทย โดยเริ่มต้นในสมัยอาณาจักรสุโขทัยนั้น พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ก็ได้ใช้ศาสนาเป็นส่วนสำคัญ ในการยึดเหนี่ยวให้ ประชาชนพลเมืองรวมกันอยู่ได้ด้วยความรักและสามัคคี ดังจะเห็นได้ว่าในสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 3 ของชาติไทยนั้น ได้ส่งเสริมทำนุบำรุงพระศาสนาเป็นอย่างมาก ดังเช่นเมื่อพระองค์ทรงได้สดับกิตติศักดิ์ของพระสงฆ์ที่ไปศึกษาพุทธศาสนาที่ประเทศลังกา แล้วกลับมาสั่งสอนอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช มีความรอบรู้พระธรรมวินัย และมีวัตรปฏิบัติน่าเลื่อมใส จึงได้อาราธนาให้มาสร้างสำนักและเผยแพร่คำสอนที่กรุงสุโขทัย โดยตั้งเป็นสำนักที่เรียกว่าลังกาวงศ์ โดยโปรดให้ตั้งอยู่ที่วัดอรัญญิก นอกเขตเมือง และพระองค์จะเสด็จไปนมัสการคณะสงฆ์ดังกล่าวเป็นประจำ ดังที่มีข้อความในศิลาจารึกว่า “วันเดือนดับวันเดือนเต็ม ท่านแต่งช้างเผือก กระพัดลยางเทียรย่อมทองงา ขวาชื่อรูจาศรี พ่อขุนรามคำแหงขึ้นขี่ไปนบพระ...อรัญญิก แล้วเข้ามา”
ในสมัยราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย พระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งของชาติไทยเรา ที่ถูกสร้างขึ้นคือพระศรีศากยมุนี ซึ่งปัจจุบันเป็นพระประธานในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม เป็นพระพุทธรูปหล่อโลหะสัมฤทธิ์หน้าตักกว้าง 3 วา 1 คืบ นับเป็นพระพุทธรูปหล่อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในยุคก่อน 25 พุทธศตวรรษ พระพุทธรูปองค์นี้เดิมเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุสุโขทัย ซึ่งถือว่าเป็นวัดหลวงประจำราชธานีสุโขทัย โดยเจดีย์ประธานของวัด จะเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือทรงยอดดอกบัวตูมอันเป็นรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัยโดยเฉพาะ และเชื่อว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชน่าจะเป็นผู้สร้างขึ้น ดังที่บรรยายไว้ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า “กลางเมืองสุโขทัยนี้ มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม”
และในศิลาจารึกวัดป่าม่วง ปีพุทธศักราช 1904 ในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย ซึ่งเป็นหลานของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ยังได้กล่าวถึงพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ พระพุทธรูปทอง ที่ประดิษฐาน ณ กลางเมืองสุโขทัยด้วย ซึ่งก็น่าจะหมายถึงพระพุทธรูปองค์ดังกล่าว
เมื่อเริ่มต้นอาณาจักรรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้ให้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ล่องแพลงมา และได้นำไปประดิษฐาน ณ วิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวรารามซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานนามว่าพระศรีศากยมุนี จนถึงปัจจุบันนี้
ในส่วนของคำสอนที่สำคัญขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสดาของศาสนาพุทธนั้น ได้กล่าวถึงหลักธรรมที่เรียกว่าอริยสัจ 4 อันประกอบไปด้วยทุกข์คือตัวของทุกข์ สมุทัยคือสาเหตุแห่งทุกข์ นิโรจคือการดับทุกข์ และมรรคคือหนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ หากผู้ใดปฏิบัติได้ชีวิตก็จะมีความสุขและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากได้รู้จักสิ่งที่เป็นเหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง คือตัวที่เรียกว่ากิเลส อันประกอบไปด้วย โลภะ โทสะ และโมหะ คือ ความโลภ ความโกรธและความหลง ซึ่งถ้าหากลดหรือตัดได้ ก็จะนำมาซึ่งความสุขอย่างแน่นอน
แต่สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือทุกคนควรจะมีศีล ในฐานะปุถุชนการถือหรือดำเนินชีวิตโดยมีศีล 5 ที่ประกอบไปด้วย การไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่กล่าวคำเท็จ และเว้นจากสุราเมรัยเป็นเครื่องยึดเหยี่ยวจิตใจ ก็ย่อมเป็นเรื่องที่ดีอย่างมากมาย
มีสิ่งหนึ่งที่ขอบอกฝากไปถึงนักการเมืองหรือผู้ที่คิดจะมาบริหารบ้านเมืองทั้งหลายว่า สิ่งที่ควรจะยึดถือเป็นอย่างยิ่งนอกจากความซื่อสัตย์สุจริตแล้ว คือการปฏิบัติศีลข้อ 4 ที่ว่า “มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ” คือเว้นจากการพูดไม่จริง พูดเท็จหรือกล่าวเท็จ นั่นก็คือไม่กล่าววาจาโกหกกับผู้ใดทั้งสิ้น หากได้เคยพูดว่าจะทำอะไรในระหว่างการหาเสียง จะเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรืออื่นใดก็ตาม แล้วไม่อาจจะปฏิบัติได้ ก็เท่ากับว่าได้พูดจาโกหกมดเท็จหรือหลอกลวงไปแล้ว ซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่าละอายและนำความเสื่อมเสียอย่างยิ่งมาสู่ตัวเอง และยังเป็นบาปอีกด้วย อันจะทำให้คนทั้งหลายขาดความเชื่อถือ และจะเป็นคนที่ไม่น่าเชื่อถือตลอดไป การคิดโดยมีสติเป็นตัวกำกับก่อนพูด จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี