สถานีวิทยุกระจายเสียง 1,000 กิโลวัตต์ของสถานีวิทยุเสียงอเมริกา จัดตั้งอยู่ ที่อำเภอบ้านดุง จ.อุดรธานี
บนเนื้อที่ประมาณ 3,400 ไร่ ซึ่งสหรัฐอเมริกาเคยใช้เป็นฐานทัพชั่วคราว
กำลังจะหมดสัญญาลงในวันที่ 30 กันยายน 2566 นี้
คือ จะหมดสัญญาราว 3 เดือนข้างหน้านี้
คำถาม คือ มีเหตุผลหรือไม่ อย่างไร ที่ขยายอายุความตกลงต่อไปอีก?
1. เมื่อปีที่แล้ว THECITIZEN.Plus ไทยพีบีเอส เคยนำเสนอรายงานพิเศษประกอบภาพถ่ายเอาไว้ ว่าด้วยเรื่อง “สำรวจฐานที่มั่นวิทยุคลื่นสั้นของสหรัฐฯ อุดรธานี หมดสัญญากลางปี 2566”
บอกเล่าที่มาว่า “...นับจากวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2527 ที่ราชอาณาจักรลาวได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น สปป.ลาว พร้อมกับสหรัฐฯ ได้ถอนตัวจากสงครามในอินโดจีน รัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐฯ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ได้ทำความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งสถานีวิทยุคลื่นสั้น ที่อำเภอบ้านดุง จ.อุดรธานี บนเนื้อที่ประมาณ 3,400 ไร่ ซึ่งสหรัฐอเมริกาเคยใช้เป็นฐานทัพชั่วคราว เพื่อต่อต้านการรุกรานของลัทธิคอมมิวนิสต์ และมีการติดตั้งเครื่องส่งวิทยุคลื่นสั้น กำลังส่ง 500 กิโลวัตต์ จำนวน 7 เครื่อง เพื่อถ่ายทอดรายการกระจายเสียงของสถานีวิทยุ VOA ในรูปของหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ด้วยงบประมาณของสหรัฐ จำนวน 125 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
ความตกลงฯ มีอายุ 25 ปี นับจากวันแรกของการกระจายเสียง คือ วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2537 ทั้งสองฝ่ายสามารถขอต่ออายุความตกลงฯ ได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี กระจายเสียงต่างประเทศ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และจาก VOA ไปยังทุกภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งดำเนินการด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด
วันแรกของการกระจายเสียง โดยออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2537 โดยสถานีวิทยุกระจายเสียงระหว่างประเทศออกอากาศไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก มากกว่า 100 ประเทศ จำนวน 58 ภาษา เพื่อให้เกิดการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ถึงนโยบายและผลงานรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ โดยสัญญาความร่วมมือได้สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559
กระทั่ง ในปี 2560 มติคณะรัฐมนตรีอนุมัติการขยายอายุความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยสถานีวิทยุกระจายเสียง 1,000 กิโลวัตต์ ของสถานีวิทยุเสียงอเมริกา ออกไปจนถึง วันที่ 30 ก.ย. 2566 (ในราย
ละเอียดสหรัฐฯ จะได้มอบเงินแก่รัฐบาลไทยจำนวนทั้งสิ้น 1,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 52,845,000 บาท....”
2. เมื่อตรวจสอบไปที่มติ ครม. เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560
กรณีการขยายอายุความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยสถานีวิทยุกระจายเสียง 1,000 กิโลวัตต์ของสถานีวิทยุเสียงอเมริกา
ระบุไว้ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงการ
ต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
“1. อนุมัติการขยายอายุความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยสถานีวิทยุกระจายเสียง 1,000 กิโลวัตต์ของสถานีวิทยุเสียงอเมริกา (โดยกระทําผ่านการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา)
2. เห็นชอบร่างหนังสือแลกเปลี่ยนของฝ่ายไทยและอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนฯ
3. หากมีความจําเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสําคัญของร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ ให้กต. สามารถพิจารณาดําเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง”
โดยมีสาระสําคัญของเรื่อง สรุป ดังนี้
“การขออนุมัติการขยายอายุความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยสถานีวิทยุกระจายเสียง 1,000 กิโลวัตต์ของสถานีวิทยุเสียงอเมริกา ออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 (ปัจจุบัน ความตกลงฯ ได้หมดอายุลงแล้วเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 แต่สถานีวิทยุกระจายเสียงดังกล่าวยังสามารถดําเนินการต่อไปได้จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแจ้งบอกยกเลิกความตกลงฯ ล่วงหน้าอย่างน้อย 18 เดือน) โดยดําเนินการผ่านการแลกเปลี่ยนหนังสือเดินทางการทูตระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา
วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางการกระจายเสียงผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียง 1,000 กิโลวัตต์ตามกําหนดเวลาที่สองฝ่ายได้ตกลงกันไว้แล้ว
ครอบคลุมพื้นที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดจนบริเวณตอนใต้ของจีน กลุ่มผู้ฟังเป้าหมาย คือ ชาวไทยและชาวต่างชาติในจังหวัดชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน (เช่น เมียนมา ลาว เวียดนาม กัมพูชา และบังกลาเทศ) โดยเผยแพร่รายการประเภทข่าวสาร สารคดีและสาระน่ารู้ด้านการต่างประเทศ
ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ (อังกฤษ ลาว เขมร และเวียดนาม)
โดยรายการของฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่งผลิตโดยสถานีวิทยุเสียงอเมริกามุ่งเน้นการเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารและสาระน่ารู้ที่เป็นประโยชน์ เช่น รายการประเภทข่าวสารด้านเศรษฐกิจ สังคม นวัตกรรม และศิลปวัฒนธรรม เหตุการณ์ปัจจุบัน และสารคดีซึ่งสอดแทรกเนื้อหาที่ส่งเสริมค่านิยมเชิงบวกต่อสหรัฐฯ เช่น บทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในเวทีระหว่างประเทศ การส่งเสริมแนวคิดด้านประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพ และการค้าเสรี
ขณะที่รายการของฝ่ายไทยซึ่งผลิตโดยสถานีวิทยุสราญรมย์ของ กต. มุ่งเน้นการดําเนินงานตามนโยบายการทูตสาธารณะ การทูตวัฒนธรรม และการทูตประชารัฐเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร สร้างความรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบาทและนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ
ในการนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ จะมอบเงินแก่รัฐบาลไทยจํานวนทั้งสิ้น 1,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค ในการผลิตรายการและการดําเนินงานของสถานีวิทยุสราญรมย์เพื่อแลกเปลี่ยนกับการขยายอายุความตกลงฯ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์สํานักข่าวกรองแห่งชาติและสํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ)
โดยที่ประชุมเห็นว่า การขยายอายุความตกลงฯ เป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างกัน เกื้อกูลประโยชน์ซึ่งกันและกัน และเป็นการสานต่อการดําเนินงานโครงการซึ่งต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2511 โดยผลประโยชน์ตอบแทนที่ไทยได้รับจากการขยายอายุความตกลงฯ ครั้งนี้มีความคุ้มค่าและเหมาะสมแล้ว”
3. ในโอกาสที่ความตกลงดังกล่าว จะหมดอายุลงภายใน 3 เดือนข้างหน้านี้
พึงพิจารณาว่า ในบริบทภูมิรัฐศาสตร์โลกปัจจุบัน รัฐบาลไทยควรจะขยายสัญญาให้สหรัฐอีกหรือไม่?
ในเมื่อปัจจุบัน สหรัฐก็มีสื่อและเทคโนโลยีข่าวสารยุคดิจิทัลมากมายอยู่แล้ว
ที่ผ่านมา ทางการไทยได้แสดงความจริงใจ รักษาข้อตกลงจนครบสัญญา และยังขยายข้อตกลงมาแล้ว
ยุคปัจจุบัน ไม่น่าจะมีความจำเป็นใดๆ ที่ไทยเราจะต้องให้ใช้พื้นที่กว่า 3 พันไร่ (เสียโอกาสใช้ที่ดินนำไปใช้ประโยชน์อื่น) รวมทั้งอุปกรณ์ทั้งหลาย ก็จะตกเป็นของทางการไทยหากสิ้นสุดสัญญาลง
4. สถานีวิทยุ วีโอเอ.บ้านดุง หรือ สถานีวิทยุกระจายเสียงระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย หรือ International Broadcastion Bureau (IBB) อยู่ในพื้นที่ ต.บ้านดุง อ.บ้านดุง
อยู่ห่างจาก ตัวเมืองจ.อุดรธานีไปประมาณ 11 กม.
อดีต เคยเป็นสถานที่ตั้ง “ฐานทัพสหรัฐฯ -บ้านดุง”
มีการตั้งข้อสังเกตว่า หอสัญญาณสถานีวิทยุดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อสุขอนามัยของชาวบ้านที่ได้รับรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าหรือไม่ เพียงใด
ชื่อสถานีปัจจุบัน ได้เปลี่ยนชื่อเป็น U.S. Agency for Global Media(USAGM) เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561
ปัจจุบัน U.S. Agency for Global Media ก็ได้ปรับตัวสู่ดิจิทัลแล้ว ไม่ได้พึ่งพิงคลื่นสถานีวิทยุคลื่นสั้นอีกต่อไปแล้ว
จึงไม่น่าจะจำเป็นต้องใช้ฐานที่มั่นข้างต้นอีกต่อไป ซึ่งเคยเป็นที่มาของข่าวลือเรื่องคุกลับอะไรต่างๆ ฯลฯ จะได้หมดสิ้นครหาไปเสียที
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี