จากเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลด ถังดับเพลิงระเบิดขณะสาธิตและซ้อมรับมือเหตุไฟไหม้ ที่โรงเรียนราชวินิตมัธยม ย่านนางเลิ้ง กรุงเทพฯ ทำให้มีนักเรียนเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีกหลายคน ก่อนอื่นขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสียและโรงเรียนด้วย ทั้งนี้“สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ถังดับเพลิงสามารถระเบิดได้นั้น” อาจจะเกิดขึ้นจาก 1.ความดันในถังที่มีเพิ่มมากขึ้น ขอทำความเข้าใจเรื่องความดันของก๊าซที่บรรจุในถังก่อน ว่า ความดันของก๊าซนั้นขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของก๊าซ
ซึ่งหมายความว่า “ถ้าอุณหภูมิของก๊าซในถังสูงขึ้น ความดันของก๊าซในถังก็จะมากขึ้นตามไปด้วย” ดังนั้นเราควรที่จะเก็บถังดับเพลิงไม่ให้อยู่ในที่อุณหภูมิสูงหรือใกล้แหล่งความร้อน 2.ภาชนะที่ใช้บรรจุก๊าซ หรือถังดับเพลิงก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน เนื่องจากหากถังไม่แข็งแรง หรือระบบเซฟตี้วาล์วของถังชำรุด ก็อาจทำให้ก๊าซรั่วไหลออกมาได้ง่ายขึ้น เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น อีกประเด็นหนึ่งคือ 3.การบรรจุก๊าซใส่ในถังดับเพลิง ต้องดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น
“โดยปกติแล้วมีโอกาสมาก-น้อยแค่ไหนที่จะเกิดถังดับเพลิงระเบิดขึ้น มาตรฐานของถังดับเพลิง ควรเป็นอย่างไร?” ถ้าวางถังดับเพลิงในที่ซึ่งมีอุณหภูมิสูง การสะสมความร้อน ทำให้ก๊าซขยายตัว เกิดความดันมากขึ้น การระเบิดก็จะมีโอกาสมากขึ้น ก่อนที่จะไปถึงมาตรฐานของถังดับเพลิง ก่อนจะซื้อหรือใช้ถังดับเพลิง มาทำความรู้จักสักนิดว่า “ประเภทของเพลิงไหม้ มีอยู่ 5 ประเภท” ประกอบด้วย
1.ประเภท A เกิดจากเชื้อเพลิงธรรมดาที่ติดไฟง่าย เช่น ไม้ ผ้า กระดาษ ขยะ พลาสติก ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่พบได้ในอาคารที่พักอาศัยทั่วไป ซึ่งเพลิงไหม้ประเภทนี้สามารถดับได้ด้วยน้ำเปล่า 2.ประเภท B เกิดจากเชื้อเพลิงที่เป็นของเหลวติดไฟ มีส่วนประกอบพื้นฐานเป็นน้ำมันดิบ น้ำมันก๊าซ น้ำมันเบนซิน และก๊าซไวไฟ พบได้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น จะสามารถลุกไหม้ได้นานเมื่อมีออกซิเจนอยู่รอบๆ การดับเพลิงไหม้ประเภทนี้จึงต้องกำจัดออกซิเจนโดยรอบออก
3.ประเภท C เกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ยังมีกระแสไฟฟ้าอยู่ จะทำให้เกิดความร้อนสูง ซึ่งการดับเพลิงไหม้ประเภทนี้ควรต้องตัดระบบไฟฟ้าก่อนทำการดับไฟ 4.ประเภท D เกิดจากเชื้อเพลิงที่เป็นโลหะติดไฟได้ เช่น โพแทสเซียม (Potassium) พบได้ในห้องปฏิบัติการ ห้องทดลอง ไปจนถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานโลหะเหล่านี้ โดยเพลิงไหม้ประเภทนี้ไม่สามารถดับด้วยน้ำเปล่าได้ และ 5.ประเภท K เกิดจากน้ำมันที่ใช้ในครัว เช่น ไขมันสัตว์ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่พบได้ในครัวเรือนและร้านอาหาร
“ในส่วนของถังดับเพลิง แบ่งเป็น 3 แบบใหญ่ๆ” คือ 1.ถังดับเพลิงแบบน้ำและโฟม ใช้ดับเพลิงประเภท A และ B ได้ดี แต่ไม่สามารถใช้ดับเพลิงประเภท C ได้ เนื่องจากโฟมมีส่วนผสมของน้ำเป็นสื่อนำไฟฟ้า เหมาะสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเชื้อเพลิงและสารระเหยติดไฟ ที่พักอาศัยปั๊มน้ำมัน ซึ่งถังดับเพลิงแบบนี้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน มอก. 882-2532
2.ถังดับเพลิงแบบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดเหตุเป็นข่าวนั้น เมื่อฉีดออกมาแล้วจะมีลักษณะเป็นไอเย็นจัดของน้ำแข็งแห้ง (Dry Ice) ปกคลุมบริเวณที่เกิดเพลิงลุกไหม้ ช่วยให้ลดความร้อนและดับไฟได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงไม่ทิ้งคราบสกปรก สามารถใช้ดับเพลิงได้ทั้งประเภท B และ C เหมาะสำหรับโรงงานที่มีไลน์การผลิตขนาดใหญ่ ห้องเก็บอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถังดับเพลิงแบบนี้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน มอก. 881-2532 และ 3.แบบผงสารเคมีแห้ง ซึ่งสามารถระงับปฏิกิริยาเคมีของการเกิดเพลิงไหม้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อฉีดออกมาจะเป็นฝุ่นผงเคมีขัดขวางการลุกไหม้ของออกซิเจนกับเชื้อเพลิง จึงเหมาะสำหรับการดับเพลิงได้หลายรูปแบบ ทั้งเพลิงไหม้ประเภท A, B และ C(Multi-purpose) หรือ B และ C ขึ้นอยู่กับผงเคมีแห้งที่บรรจุไว้ในเครื่องดับเพลิง เหมาะกับการใช้ในอาคารพักอาศัย บ้าน โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งถังดับเพลิง
แบบนี้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน มอก. 332-2537
ซึ่ง “มาตรฐาน มอก. กำหนดว่า ผิวด้านนอกและด้านในของถังต้องเคลือบด้วยสารที่ทนต่อการกัดกร่อนของสารเคมี การทนความดันจนแตกต้องทนความดันได้ 4 เท่าของความดันใช้งาน ต้องไม่รั่วข้อต่อและอุปกรณ์ต้องได้มาตรฐาน” ขณะเดียวกันผู้เกี่ยวข้องควรดำเนินการดังนี้ โดย “ผู้ใช้งานและเจ้าของอาคาร” ต้องตรวจสภาพถังดับเพลิง เช่น ต้องไม่เป็นสนิม ไม่บวมหรือบุบ ดูความดันถังดับเพลิงโดยสังเกตที่เข็มชี้ต้องอยู่ในพื้นที่สีเขียว แสดงว่าความดันปกติ การเลือกซื้อถังดับเพลิงต้องมีมาตรฐาน มีเครื่องหมายและเลข มอก.ชื่อผู้รับใบอนุญาต
ทั้งนี้ สายฉีด ด้ามบีบ สลักล็อกป้องกันการฉีด ต้องพร้อมใช้งาน และต้องไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน ถ้าใช้งานแล้วถึงแม้ไม่หมดถัง ต้องนำไปบรรจุสารดับเพลิงใหม่ทุกครั้งเพื่อให้พร้อมใช้งาน ควรติดตั้งถังดับเพลิงภายในอาคาร ป้องกันความร้อนและฝนเพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพของถังและสารดับเพลิงภายใน หมั่นดูแลรักษาสภาพถังดับเพลิงให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอยู่เสมอ
รวมถึง ทุกๆ 3 เดือนต้องจับเครื่องดับเพลิงคว่ำลงเพื่อป้องกันการจับตัวของสารดับเพลิง (เฉพาะแบบผงสารเคมีแห้ง) ส่วน “ภาครัฐ” ควรให้ทางเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเข้มงวด ตั้งแต่ขั้นตอนต้นทางการจำหน่าย โดยผู้จำหน่ายถังดับเพลิงต้องขายเฉพาะสินค้าที่ได้มาตรฐาน มอก. แต่ละประเภทของถังดับเพลิงตามที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ ควรมีจุดรับถังดับเพลิงที่ชำรุดหรือไม่ได้ใช้งานแล้ว เพื่อการทำลายอย่างถูกต้องและปลอดภัย
การซ้อมดับเพลิงมีประโยชน์มาก ช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในองค์กร รู้ว่าเมื่อเกิดไฟไหม้ ใครจะทำหน้าที่อะไร อุปกรณ์อยู่ไหน ใช้อย่างไร อพยพไปทางไหน เรายังสามารถซ้อมได้โดยการใช้ถังดับเพลิงแบบน้ำ ซึ่งปลอดภัยกว่าแบบอื่นๆ ทั้งนี้จะช่วยสร้างความคุ้นชินให้ผู้ร่วมการซ้อม หากเกิดสถานการณ์จริงจะได้ไม่ตื่นตระหนก หรือไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง!!!
ผศ.ดร.วนิดา คูอมรพัฒนะ
หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเคมี
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี