วันอังคารที่ 4 ก.ค.2566 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร
หลังจากนั้น คาดว่าสัปดาห์ถัดไป ก็จะนัดประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาเห็นชอบบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อไป
กล่าวได้ว่า ช่วงเวลานี้ คือ 7 วันอันตราย กำหนดอนาคตของประเทศไทย
ใครจะเป็นประธานรัฐสภา ผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติ?
ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายบริหาร?
ประเทศไทยจะถูกนำพาไปในทิศทางใด?
ในสภาวะภูมิรัฐศาสตร์โลกกำลังแหลมคม การเมืองในประเทศก็มีกลุ่มบุคคลพยายามบั่นเซาะ บ่อนทำลาย สั่นคลอนสถาบันพระมหากษัตริย์ ปลุกปั่นเยาวชนให้ด้อยค่าชิงชังรากเหง้าความเป็นมาและสถาบันสำคัญของประเทศ ยุยงแบ่งแยกประเทศชาติและประชาชน พยายามจะแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่คุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนลบล้างความผิดให้คนที่จาบจ้วงล่วงละเมิดพระมหากษัตริย์รุนแรง ฯลฯ
1. กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกฯ ประกาศจะเดินหน้าแก้มาตรา 112
นายพิธากล่าวว่า หากมี (ถ้าไม่ได้รับความเห็นชอบเป็นนายกฯ เนื่องจากจะเดินหน้าแก้ 112 ) เป็นเรื่องน่ากังวลใจเพราะถือเป็นการนำเสียงของประชาชน ปะทะกับสถาบันโดยตรง ไม่เหมาะสมและอันตราย ดังนั้น อย่านำเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างอีกเลย
เห็นว่า นายพิธาต่างหากที่กำลังจะนำเสียงประชาชนไปชนกับสถาบันฯ
สถาบันไม่ได้มาเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องนี้เลย
คนที่จะเป็น “ผู้นำประเทศ” – “ผู้นำรัฐบาล” หรือ “นายกรัฐมนตรี” จะต้องเป็นตัวแทนของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ต้องจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
ต้องรับฟังเสียงของคนทั้งประเทศ มิใช่อ้างเสียงของคนกลุ่มหนึ่ง แล้วจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ทำตามความต้องการของตนเองและพวกพ้อง โดยไม่รับฟังเสียงของคนไทยทั้งประเทศ
เสียงประชาชนที่สนับสนุนการแก้มาตรา 112 คือ เสียงข้างน้อยในประเทศไทย
เพราะแม้แต่ในพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ส่วนใหญ่ก็ไม่เอาด้วย จึงไม่สามารถใส่ในเอ็มโอยู
แม้แต่คนที่เลือกพรรคก้าวไกล 14 ล้านเสียง ก็ไม่ใช่ทุกคนที่สนับสนุน
คนจำนวนมาก เลือกเพราะเหตุผลอื่นๆ อาทิ ภาพลักษณ์คนรุ่นใหม่ เบี้ยคนชรา 3 พันบาท ค่าแรงขั้นต่ำทันที 450 บาท ฯลฯ อีกทั้ง ถูกทำให้เข้าใจผิดว่าการแก้มาตรา 112 แก้เพื่อให้สถาบันมั่นคงสถาพร แต่แท้จริง เป็นการแก้เพื่อลดการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ เปิดช่องให้คนจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันได้โดยไม่ต้องรับโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง
2. พรรคก้าวไกลเคยเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 ในสมัยที่แล้ว แต่ไม่ได้รับการบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ประธานสภาผู้แทนราษฎรยุคที่แล้ว พิจารณาว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 จึงไม่บรรจุเข้าระเบียบวาระ
สำนักการประชุมให้ความเห็นทางกฎหมาย สรุปได้ว่า…
“ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เนื่องจากมีบทยกเว้นความผิดกับบทยกเว้นโทษ กรณีถ้าเป็นการติชม แสดงความเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาพิสูจน์ได้ว่าเรื่องนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามมิให้พิสูจน์ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นอยู่ส่วนพระองค์ และการพิสูจน์ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน…
“บทบัญญัติยกเว้นความรับผิดกับการยกเว้นโทษดังกล่าวนี้ เห็นว่าน่าจะขัดกับมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ…”
3. ประการสำคัญ สำนักการประชุมอ้างอิงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 และ 28-29/2555 ประกอบความเห็นทางกฎหมายด้วย
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 28-29/2555 กล่าวถึงความสำคัญในการดำรงอยู่ของมาตรา 112
บองตอน ระบุว่า
... รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ ได้บัญญัติให้องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ จะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใดๆ มิได้ และด้วยพระเกียรติคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการผดุงไว้ซึ่งเกียรติยศของประเทศและรักษาคุณลักษณะประการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีความชอบธรรมที่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองมิให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์...
...อนึ่ง มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งกำหนดลักษณะความผิดเป็นพิเศษเพื่อคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการกระทำความผิดดังกล่าว ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของการปกครองระบอบประชาธิปไตย มาตราดังกล่าวจึงเป็นบทบัญญัติเพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 45 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ อันเป็นเงื่อนไขแห่งการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
...เพื่อพิทักษ์ ปกป้องพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มิให้ถูกล่วงละเมิดโดยการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดรายได้โดยง่าย จึงไม่มีการบัญญัติเหตุยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษไว้...
ส่วนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 ก็คือคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาตินั่นเอง
4. เมื่อพรรคก้าวไกลเสนอแก้ไขมาตรา 112 ไม่สำเร็จ โดยรู้หรือควรรู้ว่ามีเนื้อหาส่อขัดรัฐธรรมนูญร้ายแรง
แต่ก็หานำพาไม่ โดยไม่แก้ไขร่างแล้วเสนอประธานสภาในขณะนั้นอีก
ในการเลือกตั้ง พรรคก้าวไกล ร่วมกับคณะก้าวหน้า ได้นำประเด็นแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 มาใช้หาเสียงทางการเมือง พ่วงไปกับนโยบายลดแลกแจกแถมอื่นๆ (อาทิ เบี้ยสูงวัน 3 พันบาท ค่าแรง 450 บาทต่อวัน เงินเด็ก ฯลฯ) ส่อเจตนามุ่งหวังได้คะแนนเสียงจากประชาชนไปเป็นแรงกดดันทางการเมืองนั่นเอง
5. หลังเลือกตั้ง เมื่อได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่สามารถใส่เรื่องแก้ไข 112 นิรโทษคดี 112 ไว้ในเอ็มโอยู เพราะเสียงข้างมากที่แท้จริงไม่เอาด้วย
พรรคก้าวไกลก็เปิดเผยเองว่า จะต้องได้เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นคนของพรรคตน เพื่อจะได้เสนอกฎหมายต่างๆ ของพรรคก้าวไกลเข้าสู่สภาโดยสะดวก นั่นรวมถึงร่างแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 ร่างกฎหมายนิรโทษคดีการเมือง (รวมผู้กระทำผิด 112 ด้วย)
6. สว.คำนูณ สิทธิสมาน เปิดเผยว่า
“...ความเห็นทางกฎหมายของสำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2564 มีความสำคัญมากมาจนถึงวันนี้ เพราะเมื่อมีผู้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดขอให้ส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยสั่งการให้พรรคก้าวไกลยกเลิกการเสนอแก้ไขมาตรา 112 เพราะมีลักษณะเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49
อัยการสูงสุดได้ขอทราบความเป็นมาและข้อวินิจฉัยทางกฎหมายของประธานสภาผู้แทนราษฎร/รองประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2564 - 2565 มายังสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้จัดทำคำชี้แจงตอบกลับไป
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ โดยเฉพาะฉบับที่ 28-29/2555 ที่กล่าวถึงมาตรา 112 โดยตรงก็มีความสำคัญมากเช่นกัน
เพราะกรณีตามมาตรา 49 นี้ ในที่สุด มีความเป็นไปได้ที่จะถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด”
7. ว่าที่ประธาน จะเป็นสะพานบั่นเซาะสถาบัน?
ล่าสุด การประชุมหารือระหว่างพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทยก็วงแตกไปอีกรอบหนึ่ง
ชัดเจนตามที่ได้วิเคราะห์มาตั้งแต่แรกว่า พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย มีความขัดแย้งกันมาโดยตลอด ต่างฝ่ายต่างต้องการให้เก้าอี้ประธานสภาฯเป็นของพรรคตนเอง
พรรคก้าวไกลต้องการใช้เก้าอี้ประธานสภาเพื่อผลักดันร่างกฎหมายของพรรค โดยเฉพาะร่างแก้ไขมาตรา 112 (ลดการคุ้มครองสถาบัน) ร่างนิรโทษกรรมคดีการเมือง (รวมความผิดมาตรา 112) ฯลฯ
นั่นเสมือนเป็น “สะพานบั่นเซาะสถาบันพระมหากษัตริย์”
แต่ฟันธงอีกครั้งว่า สส.พรรคเพื่อไทย จะได้รับการเลือกจากสภาผู้แทนราษฎร ด้วยเสียงข้างมาก เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร (ประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง)
8. ว่าที่นายกฯ ที่จะเอาประชาชนไปชนกับสถาบัน?
ในการพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรี จะต้องเป็นบุคคลที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
สว.ทุกคน จะต้องปฏิบัติตามคำปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่สมาชิกวุฒิสภา
คงจำได้ เคยยืนขึ้นในที่ประชุม และกล่าวปฏิญาณต่อหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งประทับอยู่เหนือบัลลังก์ประธานสภา
“ข้าพเจ้า.... (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
เมื่อนายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงจุดยืนท่าที และประกาศแนวทางดำเนินการ จะแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 (ลดการคุ้มครองสถาบัน) พร้อมประกาศว่าจะสนับสนุนผู้เสนอยกเลิกมาตรา 112 ด้วย
นอกจากนี้ ยังจะผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดมาตรา 112
นายพิธา และ สส.พรรคก้าวไกล ยังมีพฤติกรรมเกื้อหนุนช่วยเหลือผู้ที่ถูกดำเนินคดี 112 แนวร่วมม็อบสามนิ้วที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบัน โดยที่แกนนำม็อบสามนิ้ว 3 ราย ที่เคยปราศรัยเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ (โดยเนื้อหาบางส่วน คือ ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ และเสนอยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 นิรโทษกรรมคดี 112 นั่นเอง) ได้ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่าล้มล้างการปกครองมาแล้ว ตามคำนิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๙/๒๕๖๔ วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า ...การกระทำของบุคคลทั้งสามเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข...
ในการเลือกนายกฯ คงจะไม่มี สว.คนใด บังอาจเนรคุณสถาบันพระมหากษัตริย์!?!?!
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี