ล่าสุด ธนาคารโลก หรือ World Bank ได้ประเมินเศรษฐกิจไทย ณ เดือน มิ.ย. 2566
ระบุว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัว 3.9% (มากกว่าที่คาดไว้เดิม)
บัญชีเดินสะพัด กลับมาเกินดุล (ไตรมาสแรกเกินดุลสูงสุดในรอบสองปี)
การลงทุนโดยตรงจาก ตปท. เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การลงทุนในหลักทรัพย์ไหลเข้าจากความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น (แต่หลังเลือกตั้ง ต่างชาติเทขายกระจุยกระจาย)
หนี้สาธารณะทรงตัว 59% ของ GDP (ไม่เกินเพดาน)
ทุนสำรองระหว่างประเทศ 47% ของ GDP (สูงสุดในกลุ่มศก.กำลังพัฒนาในเอเชีย) ฯลฯ
ข้อมูลข้างต้น คือ การประเมินของธนาคารโลก ณ เดือน มิ.ย. 2566
แต่สถานการณ์หลังการหลังเลือกตั้ง ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล สถานการณ์ความเชื่อมั่นที่ปรากฏอยู่ขณะนี้ แตกต่างออกไป
ต่างชาติขายตราสารหนี้ กราวรูด
ต่างชาติขายหุ้นไทย เละเทะ
เริ่มกังวลว่า ผลประโยชน์ของประเทศชาติมหาศาลที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ไปเจรจาตกลงไว้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีซาอุฯ จีน ฯลฯ จะเดินหน้าต่อไปหรือไม่?
ขณะนี้ กำลังจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ถ้าลองทบทวนดูสิ่งที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ดูแลเตรียมส่งมอบนั้น เป็นอย่างไร
อย่าลืมว่า ประเทศไทยต้องเผชิญมหาวิกฤตระดับโลก ทั้งโควิดทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน และผลกระทบจากภูมิรัฐศาสตร์โลก
1. นายกฯ พลเอกประยุทธ์ ยืนยันว่า
“วันนี้ เราได้ฟื้นตัวจากมหาวิกฤตซ้อนวิกฤตได้อย่างยั่งยืนแล้ว
ในอนาคตอันใกล้เราจะสามารถพลิกโฉมประเทศไทยไปสู่ประเทศแนวหน้าของโลก
สำหรับในยุคลูกหลานของเรา ก็จะก้าวไปสู่ประเทศผู้ส่งออกนวัตกรรม เป็นประเทศผู้สร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ สู่สายตาชาวโลก
ซึ่งล้วนเป็นผลมาจากการปูพื้นฐานและความพยายามของคนรุ่นเราในทุกวันนี้”
2. รายงาน สถิติ และผลการประเมินต่างๆ ที่น่าสนใจ อาทิ
(1) รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี 2566 ขององค์การสหประชาชาติ (UN)
ประเมินผลการพัฒนาของไทย “ดีขึ้น” มาอยู่อันดับที่ 43
จากการประเมินทั้งหมด 166 ประเทศ
ถือเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ติดต่อกันเป็นปีที่ 5
เป็นผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายในยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาประเทศทุกระดับ
(2) สถิติการลงทุนประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติในประเทศไทย
ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 มีเอกชนต่างชาติเข้ามาลงทุน รวม 274 ราย สร้างมูลค่า 45,392 ล้านบาท
โดยเป็นการลงทุนใน EEC ที่เป็นแหล่งบ่มเพาะอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของประเทศ จำนวน 48 ราย มีมูลค่า 9,442 ล้านบาท คิดเป็น 21% ของเงินลงทุนทั้งหมด
สะท้อนความเชื่อมั่น และศักยภาพความพร้อมของไทยรองรับการลงทุนระยะยาวจากทั่วโลก
(3) การจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพโลกประจำปี 2566
โดยเว็บไซต์ StartupBlink ที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านระบบนิเวศสตาร์ทอัพทั่วโลก
จัดอันดับ 100ประเทศ และ 1,000 เมือง โดยให้ไทยอยู่ในอันดับ 52 ของโลก
“ดีขึ้น” 1 อันดับ จากปีที่แล้ว และถือเป็นอันดับที่ 4ของอาเซียน
(4) การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยสถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) ประจำปี 2566
อยู่อันดับที่ 30
ดีขึ้น 3 อันดับจากปีที่แล้ว
โดยเฉพาะในเรื่องของสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ดีขึ้น 18 อันดับ
3. การขยายผลจากความสำเร็จหลังฟื้นสัมพันธ์ “ไทย-ซาอุฯ”
ภาพรวมมูลค่าด้านการลงทุนระหว่างกัน อยู่ที่ 3.23 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 37.64%
ด้านการท่องเที่ยว ในปี’65 มีนักท่องเที่ยวซาอุฯ เดินทางเข้าไทย 96,389 คน สร้างรายได้กว่า 8,000 ล้านบาท และคาดว่าตลอดปี’66 จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 150,000 คน
สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 12,000 ล้านบาท
โดยมีการเพิ่มเที่ยวบินจาก 9 เที่ยว/สัปดาห์ เป็น 42 เที่ยว/สัปดาห์
4. ผลจากมาตรการส่งเสริม 5F Soft Power ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
ในช่วง 5 เดือนแรกของปี’66 ไทยได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆ บนหลายแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว ทั้ง Agoda และ Klook
มียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติจองกิจกรรมในไทย “เพิ่มขึ้น” กว่า 1,200% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี’65
มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม 5 เดือน กว่า 10.6 ล้านคน
สะท้อนศักยภาพด้านการท่องเที่ยวไทย และการดำเนินมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล
5. ความคืบหน้าในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น
(1) โครงการรถไฟความเร็วสูง “กรุงเทพฯ-นครราชสีมา” ระยะทาง 251 กิโลเมตร มีความคืบหน้าตามแผน
กำหนดแล้วเสร็จในปี’69 และจะเปิดให้บริการในปี’70ช่วยให้การเดินทางได้รวดเร็วขึ้น เหลือเพียง 90 นาที
(2) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ขนานไปกับทางเดิม “สายใต้ : ช่วงนครปฐม-ชุมพร” ภาพรวมคืบหน้ามากกว่า 90%
เมื่อเสร็จแล้ว จะช่วยประหยัดเวลาเดินทางได้ 25-30%
(3) รถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง เปิดเดินรถอย่างเป็นทางการ
ปัจจุบัน เรามีโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เปิดให้บริการแล้ว 11 สายทาง
และภายในสิ้นปี 2566 นี้ จะเปิดให้บริการสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี (34.50 กิโลเมตร)
รวมระยะทางทั้งสิ้น 276.84 กิโลเมตร
(4) โครงการรถไฟฟ้าฯ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง,อยู่ระหว่างการประกวดราคา, อยู่ระหว่างการทำ PPP และอยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมโครงการ อีกหลายโครงการ มีกำหนดแล้วเสร็จ-เปิดให้บริการภายในปี 2572 จนครบ
จะมีระยะทางเดินรถทั้งสิ้น 553.41 กิโลเมตร
จะช่วยให้ระบบขนส่งมวลชนของเรามีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น สามารถเชื่อมโยง “รถ-ราง-เรือ” ได้อย่างไร้รอยต่อ ตามนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์
(5) รัฐบาลสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง กระจายไปในต่างจังหวัด อีกหลายโครงการ เช่น
ภาคเหนือ : เชียงใหม่ โครงการนำร่องสายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) เป้าหมายก่อสร้าง ก.ย.2568 เปิดให้บริการ ธ.ค.2571
ภาคเหนือ : พิษณุโลก โครงการนำร่องสายสีแดง (มหาวิทยาลัยพิษณุโลก-ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลฯ) เป้าหมาย ก่อสร้าง พ.ย.2570 เปิดให้บริการ ก.พ.2574
ภาคอีสาน : นครราชสีมา โครงการนำร่องสายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพฯ) เป้าหมาย ก่อสร้าง ก.ย.2568 เปิดให้บริการ ธ.ค.2571
ภาคใต้ : ภูเก็ต โครงการนำร่องสายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพฯ) เป้าหมาย ก่อสร้าง ก.ค.2568 เปิดให้บริการ ธ.ค.2570
อีก 2 โครงการที่ดำเนินการโดยท้องถิ่นเอง ได้แก่รถไฟฟ้ารางเบา (LRT) ขอนแก่น และรถไฟฟ้าโมโนเรล หาดใหญ่ สงขลา
6. การบริหารหนี้สาธารณะของประเทศ
หนี้สาธารณะต่อ GDP ณ 31 มี.ค.2566 ประมาณ 10 ล้านล้านบาท คิดเป็น 61.30% ของ GDP
อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง คือ 70% ของ GDP โดยที่มาของหนี้สาธารณะ เกิดจาก...
(1) หนี้ที่รับช่วงมาจากรัฐบาลในอดีต
(2) หนี้ที่มาจากการกู้เงินเพื่อใช้ในการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ เช่น การคมนาคมขนส่ง สาธารณูปโภค พลังงาน การศึกษา และที่อยู่อาศัย คิดเป็น 75% ของเงินกู้
(3) ในช่วงที่โควิดระบาดทั่วโลก เราจำเป็นต้องกู้เงินกว่า 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อใช้จ่ายในระบบสาธารณสุขสำหรับการควบคุมโรค ดูแลรักษาช่วยเหลือประชาชนและทุกภาคส่วน ตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโดยเร่งด่วน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ภาระหนี้ของรัฐบาลกว่า 98% เป็นหนี้ในประเทศ ที่เหลือเพียงส่วนน้อยมากเป็นหนี้ต่างประเทศ จึงได้รับผลกระทบจากความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับต่ำ
นอกจากนี้ 88.6% เป็นหนี้ระยะยาว และ 11.4% เป็นหนี้ระยะสั้น ทำให้เรามีความคล่องตัว-ไม่กดดัน ในการบริหารจัดการหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รัฐบาลมีแนวทางการบริหารหนี้สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ (1) การชำระคืนหนี้ก่อนครบกำหนด (Pre-funding) ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเหมาะสม (2) การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อลดการกระจุกตัวของภาระหนี้ ยืดอายุหนี้ และลดความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย (3) ช่วงอัตราดอกเบี้ยขาลง ก็ได้ปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยลดต้นทุนเฉลี่ยของหนี้สาธารณะ (4) ช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ก็ได้แปลงหนี้ที่เป็น “ดอกเบี้ยลอยตัว” ให้เป็น “ดอกเบี้ยคงที่” ซึ่งมีความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่า ปัจจุบัน 85% เป็นหนี้ที่เป็นดอกเบี้ยคงที่ (5) การจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อเร่งชำระหนี้ ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย ซึ่งนับตั้งแต่ปี’57 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการชำระหนี้สาธารณะไปแล้วมากกว่า 2.6 ล้านล้านบาทนับเป็นยอดชำระหนี้มากที่สุด เมื่อเทียบกับรัฐบาลในอดีตที่ผ่านๆ มา (6) การเร่งรัดสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และส่งเสริมการสร้างงาน-สร้างรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้มีรายได้เข้าประเทศมากขึ้น เก็บภาษีได้สูงขึ้นในทุกกิจกรรม และเกิดการพัฒนาต่อยอดขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งสามารถนำมาชำระหนี้ได้มากขึ้นด้วย
บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อระดับสากล ยังคงอันดับความน่าเชื่อของประเทศไทยที่ BBB+ มาอย่างต่อเนื่อง และมุมมองความน่าเชื่อถือมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)
โดยเชื่อมั่นว่าภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ของประเทศไทย ยังคงแข็งแกร่ง อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และสามารถรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดของโลกในอนาคตได้
ผลลัพธ์ล่าสุด (มิถุนายน 2566) ธนาคารโลกได้ประเมินหนี้สาธารณะของไทยเมื่อสิ้นปี 2566 จะเหลือ 59% ของ GDP
ทั้งหมดนี้ สะท้อนว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้ดูแลบริหารประเทศจนผ่านช่วงวิกฤตที่สุดมาได้แล้ว
บ้านเมืองที่พร้อมส่งมอบให้รัฐบาลต่อไปในขณะนี้ ไม่ได้ขี้เหร่เลย
กลัวก็แต่จะมีคนใจคดเข้ามาปู้ยี่ปู้ยำทำลายประเทศเท่านั้นเอง!!!
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี