ในรอบปีสองปีมานี้ได้เกิดกรณีความเสียหายขึ้นจากบริษัทที่มีหุ้นขายในตลาดหุ้นหลายกรณี เป็นความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท และล่าสุดก็เกิดปัญหาใหญ่โตขึ้นอีกรายหนึ่งที่มีสินทรัพย์รวมกันร่วมแสนล้านบาท โดยมีการทุจริตเคลื่อนย้ายเงินออกจากกิจการโดยไม่ชอบ บางรายการถึง 6,000 ล้านบาท และทำกันมายาวนานร่วมสองปี
ล่าสุดกิจการดังกล่าวนี้กำลังเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายล้มละลายคือการขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งหมายความว่าบรรดาผู้ลงทุนไม่ว่าผู้ถือหุ้นก็ดี ผู้เข้าซื้อหุ้นกู้หรือหน่วยลงทุนของกิจการดังกล่าวย่อมได้รับความเสียหายตามมากตามน้อย แม้ผู้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจการนี้ก็ได้รับผลกระทบจากความผันผวนดังกล่าว และมีผลขาดทุนตามๆ กัน
ในขณะที่เรื่องราวไปสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลายก็ย่อมส่งผลกระทบที่กว้างขวางแก่บรรดาบริษัททั้งหลายที่มีหุ้นจำหน่ายอยู่ในตลาดหุ้นด้วย และแน่นอนว่าย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยภาพรวมทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหรือการลงทุนในตลาดหุ้นเลย
ดังนั้นเรื่องนี้จึงมีนัยสำคัญ และควรเป็นจุดเริ่มต้นเสียทีหนึ่งว่าจะป้องกันแก้ไขปัญหาเรื่องนี้กันอย่างไรเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เกิดซ้ำรอยซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนทุกระยะที่ผ่านมา
หลังเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นได้มีการประชุมหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการเผยแพร่ผลการประชุมว่าจะต้องเข้มงวดและแก้ไขกฎหมายในการกำกับควบคุมสำนักงานสอบบัญชีให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ซึ่งมีข้อสังเกตว่ามาตรการลักษณะนี้ได้มีการกล่าวถึงทุกครั้งที่มีการเกิดความเสียหายในลักษณะเดียวกันนี้ แต่ในที่สุดความจริงก็ได้ปรากฏว่ายังเกิดความเสียหายซ้ำรอยซ้ำแล้วซ้ำเล่า รายแล้วรายเล่า จนกระทั่งถึงรายล่าสุดนี้
จึงควรจะได้ทบทวนกันสักครั้งหนึ่งว่ามาตรการทั้งหลายนั้นถูกต้องสามารถป้องกันแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้จริงหรือไม่
ก่อนอื่นก็ต้องประมวลว่าหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้มีใครบ้างและมีหน้าที่อย่างไร ก็จะปรากฏดังนี้
พวกแรก คือผู้บริหารของกิจการที่มีหน้าที่ต้องบริหารกิจการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและมีประสิทธิภาพ ไม่ทุจริตและฉ้อโกงไม่ว่าด้วยประการใดๆ และถ้ากระทำความผิดก็ควรถูกดำเนินคดีอย่างเฉียบขาดเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไป และต้องเป็นผู้รับผิดชอบชดเชยบรรดาความเสียหายทั้งหลายแก่ผู้ลงทุนและผู้ได้รับผลกระทบด้วย
ที่ผ่านมาพวกแรกนี้เคยถูกดำเนินการประการใดหรือไม่และได้ผลอย่างไร โดยเฉพาะผลในทางป้องกันยับยั้งการทุจริตในการบริหารได้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ และใครต้องรับผิดชอบในการบังคับการให้ต้องรับผิดชอบเช่นว่านี้
พวกที่สอง คือกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบของกิจการที่ได้ตั้งแต่งขึ้นตามกฎหมายให้ทำหน้าที่เป็นหูตาของผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุน โดยอยู่ใกล้ชิดการบริหารและกิจการมากที่สุด ซึ่งถ้ากระทำการโดยสุจริตและมีประสิทธิภาพก็ย่อมรู้เห็นเหตุการณ์ได้ทันท่วงทีและป้องกันแก้ไขได้
ที่ผ่านมาคนเหล่านี้ได้ผ่านการตรวจสอบบ้างหรือไม่ว่าได้ทำการโดยสุจริต มีประสิทธิภาพและมีขีดความสามารถในการป้องกันแก้ไขการทุจริตได้ทันท่วงทีหรือไม่
พวกที่สาม คือพวกผู้ทำบัญชีของกิจการ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพบัญชี ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานทางบัญชีให้เป็นไปโดยถูกต้องตามมาตรฐาน ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ หรือประพฤติตนเป็นมือไม้ให้แก่การทุจริตของผู้บริหารองค์กรเหล่านั้น มีมาตรการหรือมีผู้ถูกลงโทษในกรณีมีเหตุการณ์ทุจริตบ้างหรือไม่ ใครจะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้
พวกที่สี่ คือผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. และเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎหมาย ที่มีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีของกิจการนั้นๆ ทั้งรอบไตรมาสและรอบปี ซึ่งต้องปฏิบัติตามมาตรฐานทางบัญชีอย่างเคร่งครัด ได้ทำหน้าที่ตามมาตรฐานและมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ หรือว่าสมรู้ร่วมคิดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ มองไม่เห็นการทุจริตที่เกิดขึ้น
และถ้าเป็นเช่นนั้นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบได้ดำเนินการใดๆ กับผู้สอบบัญชีเหล่านั้นหรือไม่
พวกที่ห้า คือสำนักงานสอบบัญชีที่ผู้สอบบัญชีที่รับอนุญาตสังกัดปฏิบัติหน้าที่อยู่ และมีหน้าที่ต้องกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีนั้นให้เป็นไปตามมาตรฐานและจรรยาบรรณ ตลอดจนกฎเกณฑ์ทั้งหลายของ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ
ควรจะเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าบริษัทสอบบัญชียักษ์ใหญ่เพียง 4 บริษัท มีส่วนแบ่งทางการตลาดในการตรวจสอบร่วม 90% ในขณะที่สำนักงานตรวจสอบบัญชีไทยทั้งประเทศมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง 10% เท่านั้น
และสำนักงานสอบบัญชียักษ์ใหญ่เหล่านั้นได้รับการตรวจสอบและทบทวนการปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีในสังกัดตามมาตรฐานที่แท้จริงหรือไม่ และไฉนเล่าสำนักงานที่ตรวจสอบกิจการที่มีปัญหาจึงยังยืนตระหง่านทำการอยู่ได้เป็นปกติเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น
พวกที่หก คือหน่วยกำกับตรวจสอบสำนักงานสอบบัญชีที่ทำหน้าที่กำกับตรวจสอบสำนักงานสอบบัญชีที่สอบบัญชีในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบเป็นประจำตลอดทั้งปีว่าได้ตรวจสอบโดยมีประสิทธิภาพ โดยเป็นธรรม ไม่ยำเกรงใคร และพบเห็นการทุจริตและไม่ชอบบ้างหรือไม่ โดยเฉพาะการทุจริตที่เกิดความเสียหายจำนวนมากหลายหมื่นล้านบาท และกระทำการต่อเนื่องถึงสองปีนั้นได้ตรวจสอบพบบ้างหรือไม่ ถ้าไม่พบเป็นเพราะเหตุใด ที่สำคัญคือหน่วยกำกับตรวจสอบเหล่านี้มีคนหรืออดีตคนของบริษัทสอบบัญชียักษ์ใหญ่ปฏิบัติหน้าที่อยู่มากน้อยเท่าใด และผู้ปฏิบัติงานของหน่วยนี้ที่พ้นหน้าที่ไปแล้วไปรับจ้างสำนักงานสอบบัญชีเหล่านี้บ้างหรือไม่ เท่าใด
ผู้เกี่ยวข้องทั้งหกประเภทนี้คือผู้ที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบเพราะมีส่วนเกี่ยวข้องตามมากตามน้อยในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้น ถ้ามุ่งแต่จะออกมาตรการบังคับกวดขันสำนักงานสอบบัญชีทั้งประเทศ ซึ่ง 90% ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เพียงพวกเดียว ในที่สุดก็จะไม่สามารถป้องกันแก้ไขความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเหมือนที่ผ่านมานั่นเอง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี