ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2566 พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จะมีการประชุมเลือกคณะผู้บริหารพรรค พร้อมกับเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ผู้อาวุโสของพรรคทั้งนายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และอีกหลายๆ ท่าน ต่างเห็นว่าผู้ที่เหมาะสมจะมากอบกู้ฟื้นฟูพรรคในเวลานี้มีเพียงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้แจ้งผู้ใหญ่ในพรรคว่า หากนายอภิสิทธิ์จะกลับมานำพาพรรคต้องเป็นฉันทานุมัติของคนในพรรคที่เห็นพ้องกัน และต้องเป็นฝ่ายค้านเพื่อจะได้มีเวลาปรับปรุงพรรค
พรรคประชาธิปัตย์ ถือเป็นสุดยอดพรรคฝ่ายค้านในตำนาน ที่ยังไม่มีพรรคการเมืองใดเปรียบเทียบได้
แต่แนวทางดังกล่าว กลับสวนทางกับความเห็นของอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการคนรุ่นใหม่ เพื่อเข้ามาปฏิรูปพรรคแบบ 360 องศา อีกทั้งตั้งเป้าเข้าร่วมรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า ท่ามกลางกระแสข่าวว่า 2 ฝ่ายไม่มีการเปิดเจรจากัน แต่รอชี้ขาดใน วันที่ 9 กรกฎาคมทีเดียว
เป็นที่ น่าสังเกตว่าการชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมา ผู้แพ้ก็จะลาออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ อาทิ กรณ์จาติกวณิชย์ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นพ.วรงค์เดชกิจวิกรม ทั้งยังมีแนวร่วมลาออกตามไปอีกด้วยอันเป็นการเสียกำลัง เสียบุคลากร โดยไม่น่าเกิดขึ้น แต่สิ่งที่คนเหล่านั้นออกไปแล้ววิพากษ์วิจารณ์พรรค หลายเรื่องเป็นสิ่งที่ควรรับฟัง
ในทางการเมืองไม่มีใครได้เปรียบร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือเสียเปรียบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องอยู่อย่างฉันมิตรลบข้อครหา ยามศึกร่วมกันรบแต่เมื่อศึกสงบก็รบกันเอง
เรื่องนี้ยังไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุซ้ำรอยในการเลือกตั้งคณะผู้บริหารและหัวหน้าพรรคชุดใหม่ที่กำลังจะมีขึ้นในเร็วๆ นี้หรือไม่ แต่เห็นว่าต้องสรุปบทเรียนให้ได้ ความขัดแย้งในหมู่มิตร ต้องหันหน้าเข้าคุยกันอย่างมิตร ไม่ใช่วิธีที่ใช้กับศัตรูมาแก้ไขปัญหากับหมู่มิตร หยุดขึ้นเฟซบุ๊กตอบโต้กันไปมา ให้พรรคการเมืองอื่นหัวเราะเยาะเย้ย
เพราะผู้นำคนใหม่ จะมีผลต่ออนาคตพรรคมีผลต่อการเลือกตั้งในหนหน้า สส.ที่มีอยู่ในวันนี้ ก็ไม่รู้ว่าเลือกตั้งหนหน้าจะได้กลับเข้าสภาฯอีกหรือไม่ กระนั้นคนรุ่นใหม่ก็มีความสำคัญ แต่ควรจะอยู่แถวสองเรียนรู้งานเป็นกรรมการบริหารพรรคไปก่อน เพื่อเปิดทางให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามาระดมสรรพกำลังกอบกู้พรรค สร้างความทันสมัยให้พรรค ด้วยการทำหน้าที่ฝ่ายค้านตามความประสงค์ของผู้อาวุโสของพรรค
จริงอยู่แม้จะไม่มีพรรคการเมืองใดอยู่ค้ำฟ้าและล่มสลายให้เห็นเป็นประจักษ์มาแล้วหลายพรรคโดยเฉพาะพรรคการเมืองประเภทเฉพาะกิจ และเรื่องนี้ก็ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ ณ เวลานี้คนของพรรคประชาธิปัตย์ กองเชียร์ กองหนุน แล้วต้องเลือกแล้ว ระหว่างรักเก้าอี้รัฐมนตรีจนน้ำลายไหลด้วยการร่วมรัฐบาล กับรักพรรคประชาธิปัตย์ถอยกลับไปเป็นฝ่ายค้าน เพื่อปรับปรุงพรรคให้เป็นสถาบันการเมืองที่มีมาตรฐานเหมือนเดิม คู่สังคมไทยต่อไป
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี