ตำแหน่ง ประธานรัฐสภา เป็นหนึ่งในสามตำแหน่งสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทย ที่ ประมุขฝ่ายบริหาร เป็น นายกรัฐมนตรี ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ คือ ประธานรัฐสภา และ ประธานศาลฎีกา เป็น ประมุขฝ่ายตุลาการ ประมุขทั้งสามฝ่ายนี้ ถ่วงดุลอำนาจกันในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในประเทศไทยนอกจากถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันแล้วประมุขทั้งสามฝ่าย ล้วนมีความสำคัญ ในงานพระราชพิธี งานรัฐพิธีที่ประมุขสามฝ่ายต้องไปร่วมในพระราชพิธีและรัฐพิธีพร้อมกัน
ในประเทศสหรัฐอเมริกา ประธานรัฐสภา มีความสำคัญเป็นอันดับสาม ทางด้านบริหารด้วย กล่าวคือ หากมีเหตุสุดวิสัยที่ ประธานาธิบดี และ รองประธานาธิบดี ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ประธานรัฐสภาจะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานาธิบดี จนหมดวาระของสภาชุดนั้นๆ
นี่คือความสำคัญของประธานสภา ทั้งในสาธารณรัฐประชาธิปไตยและในราชอาณาจักรประชาธิปไตยแบบประเทศไทย ดังนั้นผู้เป็นประธานรัฐสภา นอกเหนือจากเป็นกลางทางการเมือง แล้วต้องไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ประธานสภาต้องมีวุฒิภาวะ แม่นยำข้อบังคับ
สำคัญที่สุด ต้องเป็นผู้ที่เชื่อมั่นศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยบริสุทธิ์ใจ ผู้ที่เป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องยึดมั่นในชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยปราศจากข้อระแวงสงสัย หรือ มีธงอยู่ในใจว่า ต้องมีการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ในสถาบันหลักของชาติที่การเปลี่ยนแปลงนั้นๆ อาจนำประเทศชาติไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกวุ่นวายบานปลายกลายเป็นอนาธิปไตยได้
บทเรียนความขัดแย้งแตกแยกอันมีต้นเหตุมาจากประธานสภา ที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของนักธุรกิจการเมืองทุนสามานย์ ในทศวรรษที่ 2544 ทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกวุ่นวายจนประธานวุฒิสภาได้รับฉายาว่า เป็น “ประธานสภาชิน”รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง แต่มีข้อครหาว่าประธานวุฒิสภา และ สมาชิกวุฒิสภาจำนวนมากตกอยู่ภายใต้การครอบงำของนักธุรกิจการเมืองทุนสามานย์และมีข้อครหาว่าประธานวุฒิสภา ไม่เป็นกลาง เอนเอียงไปทาง สว.สายสภาชิน จนเกิดความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นวางมวยกันในวุฒิสภา ระหว่าง สว.สายสภาชินกับสว.ที่ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นใหญ่
สมัยบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ในปี 2556 ประธานสภาฯ ก็ถูกกล่าวหาว่าไม่เป็นกลางมีข้อครหาว่า ประธานสภาถูกครอบงำโดยนักธุรกิจการเมืองทุนสามานย์ซึ่งใช้อำนาจเผด็จการสภาปิดปากฝ่ายค้าน และประธานสภามีบทบาทสำคัญในการผลักดันกฎหมาย “นิรโทษกรรมสุดซอย” ให้ผ่านการพิจารณาสภาตอนใกล้รุ่งสาง ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการประท้วงวุ่นวาย จนประเทศชาติกลายเป็นอนาธิปไตย
สุดท้ายทหารต้องเข้ามากอบกู้สถานการณ์และบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ขึ้นมาใหม่ ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่บังคับใช้จนถึงปัจจุบันนี้บัญญัติให้ประธานสภาเป็นประธานรัฐสภาในเวลาเดียวกัน และจะมีการเลือก ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ ในวันที่ 4 กรกฎาคม นี้
ในสมัยรัฐธรรมนูญปี 2540-2550 เราเคยมีประธานสภา ที่มีข้อครหาว่า ไม่เป็นกลาง และถูกครอบงำโดยนักธุรกิจการเมืองทุนสามานย์มาแล้ว ประธานสภา ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่เป็นกลาง คือ ต้นเหตุของความขัดแย้งแตกแยกจนบ้านเมืองเป็นจลาจลวุ่นวายสุดท้ายถูกทหารยึดอำนาจมาแล้ว ถึงสองครั้งสองครา ในห้วงเวลาเพียงสิบแปดปี
การเลือกประธานสภา ในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้หากได้ผู้ที่มีคำถามมีอคติต่อสถาบันสูงสุดของชาติได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติคนใหม่ อาจนำประเทศไทยไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงได้ เพราะประธานสภา ที่มาจากพรรคการเมืองที่มีคำถามมีข้อสงสัยมีอคติต่อสถาบันและมีความมุ่งมั่นจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย อาจบรรจุกฎหมายที่ล่อแหลมอ่อนไหวเข้าสู่วาระประชุมสภา เช่น แก้ไข/ยกเลิก กฎหมายอาญามาตรา 112 การแก้มาตรา 112
พรรคการเมืองที่เสนอกฎหมายนี้รู้อยู่เต็มอกว่า ต้องถูกตีตกในสภา แต่ระหว่างการหารือ หรือ ระหว่างการอภิปราย สส.ที่มีอคติ และทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบัน อาจฉวยโอกาสนี้อภิปรายโจมตีใส่ร้ายสถาบัน จากข้อมูลไม่เป็นจริงหรือ บิดเบือนข้อมูลสร้างความเสียหายแก่สถาบันสูงสุดของชาติได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เพราะมีอภิสิทธิ์คุ้มครองสส.อภิปรายในสภา
และคำอภิปรายโจมตีสถาบัน มันอาจถูกใจบรรดาผู้สนับสนุนพรรคการเมืองนั้นนำคำอภิปรายในสภาไปขยายความบิดเบือนทางสื่อสังคมในเครือข่ายของพรรคซึ่งอาจสร้างความขัดแย้งแตกแยกอย่างรุนแรงทั้งในสภาและนอกสภาได้ และความขัดแย้งแตกแยกอาจบานปลาย กลายเป็นอนาธิปไตยจนไม่สามารถควบคุมได้
ดังนั้น ในบรรดา สส. 500 คน ที่มีสติปัญญามีวุฒิภาวะ ควรไตร่ตรองให้รอบคอบ จนตกผลึกก่อนตัดสินใจเลือกใครเป็นประธานสภา
สุทิน วรรบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี