ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เคยดับมอดมาช้านานได้ลุกขึ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อ 2547และนับแต่บัดนั้นก็ลุกโชนมากขึ้น โดยรัฐได้ทุ่มเทกำลังและงบประมาณจำนวนมากปีละประมาณ 20,000 ล้านบาท เข้าไปในพื้นที่ นับถึงบัดนี้เป็นเงินกว่า 400,000 ล้านบาทแล้ว
มีความสูญเสีย มีความเสียหายเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญคือความสูญเสียโอกาสในการสร้างความอยู่ดีมีสุขและการแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
เป็นเหตุให้คนบางพวกฉวยโอกาสบิดเบือนประวัติศาสตร์ สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ขึ้นตามอำเภอใจเพื่อแบ่งแยกดินแดนในนามของรัฐปัตตานี ทั้งที่การแบ่งพื้นที่และกำหนดพื้นที่ของประเทศต่างๆ ในยุคใหม่ โดยเฉพาะนับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่สองได้เป็นที่ยอมรับนับถือกันทั่วโลก ก็ยังใช้ความพยายามบิดเบือนหลอกลวงเพื่อสร้างความขัดแย้งในพื้นที่จนเกิดความเสียหายร้ายแรงขึ้น
ประเทศไทยทั้งประเทศประกอบจากชนชาติหลายชนชาติ หลายเชื้อชาติ หลายศาสนาและหลายวัฒนธรรม รวมตัวกันตั้งขึ้นเป็นชาติบ้านเมืองมาตั้งแต่ยุคต้นอยุธยา และเป็นปึกแผ่นแน่นหนามาตั้งแต่อยุธยาตอนกลาง
ประชากรในพื้นที่ภาคใต้มีประวัติดั้งเดิมในอดีตกาลอันโพ้นว่าบ้างก็มีที่มาจากอินเดียใต้บ้าง เป็นชนพื้นเมืองในพื้นที่บ้าง และมีศาสนาวัฒนธรรมและความนับถือเป็นมาแต่ดั้งเดิม แม้กระทั่งเงาะป่าซาไกก็มีอยู่ในพื้นที่นั้น
ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ดินแดนอันเป็นประเทศไทยหรืออยุธยานั้นกว้างใหญ่ไพศาลทั้งเหนือจรดใต้ โดยเฉพาะทางใต้นั้นมีพื้นที่ไปตลอดแหลมมลายู ไม่ว่ายะลา ปัตตานี นราธิวาส กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปีนัง เป็นต้น ทั้งหมดนี้ปัตตานีอยู่ใกล้จังหวัดสงขลาพอๆ กับจังหวัดยะลา ในขณะที่กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปีนัง อยู่ลึกใต้ลงไปถึงปลายแหลมมลายู
ครั้นแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถก็มีชาวมุสลิมจากตะวันออกกลาง โดยเฉพาะเปอร์เซียเดินทางนำวงศ์วานว่านเครือเข้ามายังประเทศไทย สายหนึ่งเป็นนิกายชีอะห์ นำโดยท่านเฉดอะหมัด ล่องเรือขึ้นไปถึงอยุธยา แล้วเข้ารับราชการเป็นขุนนางในแผ่นดินอยุธยานั้นจนได้รับพระราชทานยศถาบรรดาศักดิ์สืบทอดวงศ์ตระกูลสืบมา
ในระยะเวลาเดียวกันนั้น ก็มีบรรพชนของพี่น้องมุสลิมอีกท่านหนึ่งคือท่านโมกอล นำวงศ์วานว่านเครือและบริวารทั้งหลายจากตะวันออกกลาง ซึ่งว่ากันว่ามาจากแผ่นดินเปอร์เซียเช่นเดียวกัน แต่นับถือนิกายซุนหนี่สำนักคิดชาฟาอี ได้เดินทางไปตั้งหลักแหล่งยังหมู่เกาะใหญ่ที่เป็นประเทศอินโดนีเซียในทุกวันนี้
ท่านโมกอลได้ตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งสืบทอดวงศ์วานว่านเครือในดินแดนอินโดนีเซีย วางรากฐานนิกายซุนหนี่ในดินแดนแห่งนั้น ต่อมาในช่วงปลายอยุธยาก็ได้เกิดสงครามขึ้น ในแผ่นดินอันเป็นที่ตั้งของพี่น้องมุสลิมอันเป็นหมู่คณะของท่านโมกอล ซึ่งขณะนั้นมีทายาทสืบทอดมาจนถึงผู้นำยุคใหม่คือท่านสุลัยมาน หรือที่เรียกกันว่าท่านสุลต่านสุลัยมาน
และโชคร้ายท่านสุลต่านสุลัยมานพ่ายศึก ต้องอพยพโยกย้ายผู้คนนับแสนเข้ามายังภาคใต้ของประเทศไทย ประชากรกระจายไปในพื้นที่ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และบางส่วนที่จังหวัดสตูล แต่กำลังหลักที่นำโดยท่านสุลต่านสุลัยมานได้มาปักหลักอยู่ที่หัวเขาแดง จังหวัดสงขลาตรงกันข้ามกับตำบลบ่อยาง
ท่านสุลต่านสุลัยมานได้ถวายตัวเป็นข้าราชการในพระบรมราชจักรีวงศ์ และได้รับพระราชทานยศถาบรรดาศักดิ์ทั้งตัวท่านเองและลูกหลานว่านเครือ จนกระทั่งท่านถึงแก่อสัญกรรมก็ได้ฝังศพไว้ที่สุสานอันได้รับพระราชทานคือสุสานท่านสุลต่านสุลัยมานบนหัวเขาแดง จังหวัดสงขลา นั้น
ท่านสุลต่านสุลัยมานมีญาติวงศ์พงศาขยายเป็นหลายตระกูล ปัจจุบันนี้รวมแล้วมีจำนวนถึง 27 สายตระกูล และพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ก็เป็นหนึ่งในสายตระกูลนั้น และหลายครั้งทั้งยามมีอำนาจในทางราชการและไม่มีอำนาจก็เคยไปสักการะสุสานท่านสุลต่านสุลัยมานที่หัวเขาแดงนั้น
ในปัจจุบันนี้พื้นที่หัวเขาแดงจังหวัดสงขลาและพื้นที่เขาเขียวได้เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของพี่น้องมุสลิมที่เป็นเชื้อสายของท่านสุลต่านสุลัยมาน กระทั่งได้สร้างมัสยิดขึ้นที่พื้นที่เขาเขียวริมทะเลสาบสงขลา และเป็นปกติสุขตลอดมาจนทุกวันนี้
สำหรับพี่น้องชาวไทยหลายเชื้อสายในพื้นที่ยะลา ปัตตานี นราธิวาส กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปีนัง ต่างก็เป็นคนไทยและสำนึกตนว่าเป็นคนไทยสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน ยกเว้นปัตตานีซึ่งอาจมีปัญหาข้อขัดข้องกับผู้ปกครองในท้องที่ ดังนั้น ทุกครั้งที่มีปัญหาทางด้านการเมืองจึงมักมีการแข็งเมือง แม้กระทั่งในยุคปลายอยุธยาก็เคยมีการแข็งเมือง จนอยุธยาต้องส่งกำลังลงไปปราบหลายครั้ง เรียบร้อยบ้าง ไม่เรียบร้อยบ้างตามสถานการณ์
แต่หัวเมืองอื่นไม่ว่า กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปีนัง ซึ่งอยู่ทางปลายแหลมมลายูอันเป็นดินแดนของมาเลเซียในปัจจุบันนี้กลับมีความสงบเป็นปกติดีทุกประการ ไม่เคยมีการแข็งข้อหรือทำศึกสงครามเพื่อแยกตัวออกไปเลย
จนกระทั่งถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ฝรั่งตาน้ำข้าวเข้ามาล่าอาณานิคม บรรดาประเทศทั้งหลายในทวีปเอเชียนี้รวมทั้งประเทศไทยของเราด้วยและได้บังคับทำสนธิสัญญาให้ประเทศไทยต้องยกดินแดนหลายแห่งให้แก่ฝรั่งตาน้ำข้าวเหล่านั้น
เฉพาะพื้นที่ในภาคใต้ ประเทศไทยต้องยอมยกดินแดนอันเป็นประเทศไทยมาแต่เดิมให้แก่อังกฤษ นั่นคือดินแดนที่เป็นรัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และปีนังในปัจจุบันนี้ เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชาติไทยทั้งหลายได้จดจำอาชญากรรมที่อังกฤษได้กระทำไว้ต่อบ้านเมืองของเราไม่มีวันลืมเลือน และจะต้องจดจำไม่ให้เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นซ้ำรอยอีก
เมื่อประเทศไทยต้องยกดินแดนอันเป็นดินแดนรัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปีนัง ให้แก่อังกฤษไปแล้ว ต่อมาเมื่ออังกฤษล่าถอยออกไปจากพื้นที่นั้นก็ได้ตั้งเป็นประเทศมาเลเซีย โดยดินแดนอันเป็นแผ่นดินประเทศไทยมาแต่เดิมทั้งกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปีนัง ก็ตกได้แก่มาเลเซียมาจนถึงทุกวันนี้
ด้วยความเป็นสุภาพบุรุษและยอมรับในข้อตกลงทั้งหลาย ดังนั้น ไทยกับมาเลเซียจึงไม่ได้มีปัญหาขัดแย้งใดๆ ต่อกัน ในขณะที่มาเลเซียก็ยอมรับนับถือตลอดมาว่าแผ่นดินอันเป็นดินแดนประเทศไทยนั้นลงไปใต้สุดถึงชายแดนซึ่งได้ปักเขตแดนกันเรียบร้อยระหว่างไทยกับมาเลเซีย
โดยพื้นที่อันเป็นยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล ยังคงเป็นดินแดนของประเทศไทยตั้งแต่เดิมมาจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้น การที่คนบางกลุ่มบางพวกมาเสกสรรปั้นแต่งเรื่องราวไปอีกทางหนึ่งจึงเป็นต้นเหตุของการสร้างความขัดแย้งในพื้นที่
แต่น่าเสียดายที่เหตุการณ์ไม่สงบได้เป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาพื้นที่ ขัดขวางการแก้ปัญหาความยากจนของพี่น้องในพื้นที่อย่างน่าตกใจ ทำให้พื้นที่อันควรเจริญและสามารถเป็นประตูใหญ่เชื่อมต่อประเทศไทยกับโลกอิสลามที่มีประชากรอันมั่งคั่ง 1,500 ล้านคน ต้องล่าช้าไป
พี่น้องผู้นำประชาชนในพื้นที่ทุกฝ่ายได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้เพื่อนำสันติภาพ สันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองกลับคืนมาเป็นเวลายาวนาน รวมทั้งการนำพี่น้องประชาชนที่ตั้งตนขัดแย้งกับรัฐให้กลับคืนสู่อ้อมอกของครอบครัว ก็เป็นกิจกรรมหลักที่พยายามทำกันมาเป็นเวลาช้านานและมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นโดยลำดับ
หลังจากองค์มกุฎราชกุมาร เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน แห่งซาอุดีอาระเบีย ได้เสด็จฯเยือนประเทศไทยเมื่อครั้งประชุมเอเปก ได้เปิดศักราชใหม่แห่งความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นแกนหลักของการสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง และย่อมเป็นผลดีต่อประเทศไทยของเราด้วย
สันติภาพและสันติสุขคือความปรารถนาร่วมกันของประชาชาติไทยทุกหมู่เหล่า
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี