ผ่านวันเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. มาเกือบ 2 เดือนครึ่งแล้ว จนถึงวันนี้เราก็ยังไม่ทราบว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่เป็นใคร และรัฐบาลใหม่หน้าตาเป็นแบบไหน ได้ยินแต่การคาดเดาสูตรรัฐบาลผสมจากพรรคการเมืองต่างๆ ของนักวิเคราะห์การเมืองและสำนักข่าวที่แตกต่างกันออกไป
ย้อนกลับไปช่วงหลังการเลือกตั้งใหม่ๆ ตัวแทนของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้ง สส. จำนวนสูงสุด ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้เดินสายไปพูดคุยหารือกับองค์กรด้านต่างๆ ที่น่าจะต้องได้คุยและทำงานร่วมกับรัฐบาลต่อไป โดยหนึ่งในองค์กรที่พรรคก้าวไกลได้มาพูดคุยด้วยคือ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ซึ่งในการพูดคุยวันนั้น เป็นการหารือเรื่องแนวทางและข้อเสนอความร่วมมือในด้านการต่อต้านคอร์รัปชันเท่านั้น ไม่ได้คุยเรื่องสถานการณ์การเมืองเลย บทความตอนนี้จึงจะขอถ่ายทอดและอภิปรายแนวทางและข้อเสนอเหล่านั้น โดยไม่นำสถานการณ์ทางการเมืองมาวิเคราะห์ร่วมด้วยเช่นกัน
ในวันนั้น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลนำทีมว่าที่ สส. ของพรรคหลายคน เช่น ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ และรังสิมันต์ โรม โดยพิธาได้เริ่มต้นด้วยการนำเสนอหลักการในการออกแบบนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันที่พรรคนำเสนอต่อประชาชน นั่นคือ สมการคอร์รัปชัน ของ Professor Robert Klitgaard ที่บอกว่า C = D + M – A หรือ คอร์รัปชัน = อำนาจดุลยพินิจ + การผูกขาด - กลไกความรับผิดรับชอบ ซึ่งอธิบายได้ว่า หากต้องการลดคอร์รัปชัน จะสร้างกลไกเพื่อลดการใช้อำนาจดุลยพินิจของข้าราชการและนักการเมือง ลดอำนาจผูกขาดทั้งทางการเมืองและธุรกิจ และต้องสร้างกลไกความรับผิดรับชอบของผู้มีอำนาจรัฐให้มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ทั้งนี้ พิธา ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า เขาเข้าใจว่าสมการนี้ยังมีข้อบกพร่องที่มองคอร์รัปชันอย่างง่ายๆ เกินไป เพราะในความจริงปัญหานี้ซับซ้อนกว่าที่จะอธิบายได้ด้วยสมการนี้มาก
บนพื้นฐานของสมการนี้ พรรคก้าวไกล จึงออกแบบนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันอย่างครอบคลุมผ่านการสร้าง “ระบบดี” เพื่อให้ “คนดี” มีที่ยืนและสามารถก้าวหน้าได้ ด้วย 4 แนวทาง ได้แก่ ระบบที่ไม่มีใครอยากโกง ระบบที่ไม่มีใครกล้าโกง ระบบที่ไม่มีใครโกงได้ และระบบที่ไม่มีใครโกงแล้วรอด
เริ่มต้นด้วยระบบที่ไม่มีใครอยากโกง เพราะหาโอกาสโกงยากขึ้น ด้วยการยกเลิกใบอนุญาตอย่างน้อย 50% และยกเลิกทุกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ ด้วยกระบวนการ Regulatory Guillotine ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศทั่วโลก เช่น เกาหลีใต้ นอกจากนี้ยังจะทำให้การร้องเรียนไม่เงียบและมีอัปเดตทุกขั้นตอน มีช่องทางกลางเพื่อติดตามสถานะเรื่องร้องเรียนและสุดท้ายกำหนดให้รู้ผลใบอนุญาตใน 15 วัน หากพิจารณาไม่ทันกรอบเวลา ให้ถือว่าอนุญาตโดยอัตโนมัติไปเลย เพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่ดึงเรื่องเพื่อเรียกร้องสินบน
ต่อมาระบบที่ไม่มีใครกล้าโกง เพราะทุกที่โปร่งใสไปหมด ด้วยการสร้างรัฐเปิดเผย (Open Government) เปิดข้อมูลรัฐทันที ให้ประชาชนเป็นเจ้าของ ภายใต้หลักการเปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น และต้องเปิดข้อมูลในรูปแบบที่นำไปวิเคราะห์ต่อได้ ไม่ใช่เปิดเป็นรูปภาพ JPEG หรือ PDF สร้างรัฐสภาเปิด (Open Parliament) เช่น ถ่ายทอดสดกรรมาธิการ และ การสร้างรัฐบาลที่มีแนวปฏิบัติเป็นตัวอย่างที่ดี เช่น ห้ามใช้เงินหลวงโปรโมทตัวเองโดยสามารถใช้งบประชาสัมพันธ์ในการโฆษณาผลงานของหน่วยงานได้เท่านั้น ไม่ทนกับคนภายในคณะรัฐมนตรีและพรรคการเมือง และตัดความสัมพันธ์กับทุนใหญ่-ผู้มีอิทธิพลทางการเมือง
แนวทางที่ 3 คือระบบที่ไม่มีใครโกงได้ ด้วยการอำนวยความสะดวกประชาชน พัฒนาให้ทุกบริการภาครัฐสามารถทำได้ผ่านมือถือ ลดโอกาสการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ และลดการพบกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน ซึ่งเป็นโอกาสที่เจ้าหน้าที่รัฐจะเรียกสินบนหรือประชาชนอาจจะเสนอสินบนให้ได้รับบริการพิเศษ
สุดท้ายคือ ระบบที่ไม่มีใครโกงแล้วรอด ด้วยการยกระดับกลไกการตรวจสอบ
แนวทางที่ 4 คือ ยกระดับกลไกการตรวจสอบ ใช้ระบบ AI จับโกง โดยใช้ต้นแบบจาก ACTAi ของ ACT เพื่อแจ้งเตือนการทุจริตแบบอัตโนมัติ เพิ่มให้ประชาชนร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์อิสระในโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เพื่อตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐที่มีมูลค่าสูง ดึงให้ ป.ป.ช. ยึดโยงกับประชาชนเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การต้านโกงสำเร็จในหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่น ฮ่องกง และ สิงคโปร์ โดยกำหนดให้กรรมการ ป.ป.ช. มีที่มาหลากหลายและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย รวมถึงกำหนดให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อริเริ่มกระบวนการถอดถอนได้ด้วย และที่จะสร้างผลกระทบใหญ่ได้คือการปฏิรูปตำรวจ ที่มีความพยายามกันมาหลายครั้งในหลายรัฐบาลแล้ว แต่ก็ยังไม่สำเร็จเสียที
นอกจากนี้ ยังต้องสร้างสังคมต้านโกง ด้วยโครงการ “คนโกงวงแตก” เพื่อจูงใจให้คนที่คิดจะโกงระแวงกันเองและคุ้มครองคนที่ออกมาแฉก่อน คล้ายกับกฎหมายที่ใช้ได้ผลมากในประเทศอังกฤษและอเมริกา และโครงการ“แฉโกง ปลอดภัย ได้เงิน” เพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่เปิดโปงการทุจริต และเพิ่มรางวัลให้กับประชาชนที่ชี้เบาะแส
น่าสนใจอย่างยิ่งว่า นโยบายเหล่านี้อยู่บนพื้นฐานความเข้าใจปัญหาคอร์รัปชันอย่างลึกซึ้งและครอบคลุม สามารถนำหลักวิชาการมาเป็นแนวทางในการออกแบบกลไกที่น่าจะมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพในสังคมไทยได้โดยเฉพาะความเข้าใจในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน
แต่น่าเสียดายที่คงจะได้เพียงแต่ฟังนโยบายที่น่าตื่นเต้นและดูมีความหวังเท่านั้น แต่ไม่มีโอกาสได้เห็นจริงในเร็ววันนี้ ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ สิ่งที่ประชาชนอย่างเรายังคงทำได้คือส่งเสียงแห่งความหวังว่าผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลคงจะไม่ใช่คนที่มีประวัติเกี่ยวกับการคอร์รัปชันอย่างชัดเจนมาก่อน และหวังว่าผู้นั้นจะมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นต้นตอแห่งอุปสรรคของการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้านครับ
รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และ ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี