หลังจากที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง ได้ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาให้เป็นราชธานีของอาณาจักรไทยในปีพุทธศักราช ๑๘๙๔ อาณาจักรแห่งนี้ก็มีความเจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ จนเป็นเป้าหมายให้ชาติอื่นรุกราน อาทิ พม่า เขมร รวมทั้งประเทศในซีกโลกตะวันตก ซึ่งพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ต่อมาทุกพระองค์ ก็ได้ต่อสู้ปกป้องบ้านเมืองมาโดยตลอด จนกระทั่งถึงช่วงที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงปกครองแผ่นดิน ซึ่งชาติไทยต้องต่อสู้ป้องกันชาติครั้งยิ่งใหญ่ และในที่สุดต้องพ่ายแพ้แก่กองทัพของพระเจ้าบุเรงนอง พระมหากษัตริย์ของอาณาจักรพม่า ที่มีความกล้าหาญและพระปรีชาสามารถด้านการรบเป็นที่ยิ่ง จนได้รับการขนานนามว่า “ผู้ชนะสิบทิศ” ซึ่งในที่สุดชาติไทยต้องเสียอิสรภาพให้แก่อาณาจักรพม่าในปีพุทธศักราช ๒๑๑๒
เพราะแผ่นดินนี้ศักดิ์สิทธิ์และไม่สิ้นคนดี ในที่สุดสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระราชโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชา ซึ่งเคยถูกกวาดต้อนไปอยู่ที่กรุงหงสาวดี ก็สามารถกลับมากู้ชาติคืนได้ โดยทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง ในปีพุทธศักราช ๒๑๒๗ และถึงแม้พม่าจะยกทัพใหญ่กลับมาเพื่อจะตีเอากรุงศรีอยุธยากลับคืนไปอีกครั้งหนึ่ง ก็ไม่สามารถจะกระทำได้สำเร็จ และยังต้องสูญเสียพระมหาอุปราชามังกยอชวา พระราชโอรสของพระเจ้านันทบุเรง ไปในสงครามยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชด้วย
หลังจากนั้นชาติไทยก็เจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด อีกนับเป็นระยะเวลากว่า 70 ปี จนถึงปีพุทธศักราช ๒๑๙๙ ซึ่งเป็นช่วงสมัยที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผู้เป็นมหาราชองค์ที่ 3 ของชาติไทย พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้ทรงขึ้นครองราชย์ ซึ่งพระองค์นอกจากจะเป็นนักรบผู้กล้าหาญ มีพระปรีชาสามารถยิ่ง จนขยายพระราชอาณาจักรได้ ยังเป็นผู้ที่มองการณ์ไกล ได้สร้างสัมพันธไมตรีกับชาติต่างๆ จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาในยุคนั้นมีความเจริญสุดขีดมากกว่าในยุคใดๆที่ผ่านมา
ประวัติศาสตร์ชาติไทย ได้มีการกล่าวถึงปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหลายครั้ง เช่น เมื่อมีพระบรมราชสมภพนั้น พระญาติได้เห็นพระราชโอรสมี 4 กร พระราชบิดาจึงพระราชทานนามว่าพระนารายณ์ เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุ 5 พรรษาทรงถูกอสุนีบาต แต่ไม่เป็นอันตรายแม้แต่น้อย และเมื่อพระชนมายุ 9 พรรษา ก็ทรงถูกอสุนีบาตอีกครั้งหนึ่งที่พระราชวังบางปะอิน แต่ก็ทรงปลอดภัยดี อีกเหตุการณ์หนึ่งก็คือเมื่อเกิดเพลิงไหม้พระที่นั่งมังคลาภิเษก พระองค์เสด็จไปช่วยดับเพลิง และมีผู้คนเห็นว่าพระองค์ มี 4 กร และใช้ทั้ง 4 กร นี้ช่วยในการดับเพลิง
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่สำคัญนานัปการ ดังนี้
ทรงขยายพระราชอาณาจักร โดยกระทำสงครามกับพม่าเพื่อชิงเมืองเชียงใหม่ และยังทำสงครามเพื่อชิงเมืองทวาย เมืองเมาะตะมะ ให้กลับมาเป็นของกรุงศรีอยุธยาด้วย
ในเรื่องการสร้างสัมพันธไมตรีกับต่างชาติรวมทั้งการค้าขายนั้น พระองค์ได้ทรงเปิดรับประเทศต่างๆ อาทิ จีน ซึ่งมีสัมพันธภาพมายาวนานแล้ว ญี่ปุ่น อินเดีย ฮอลันดา อังกฤษ และอิหร่าน จนทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยน การค้าระดับนานาชาติ มีชาวต่างชาติเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นจำนวนมาก และมีบุคคลผู้หนึ่งที่ต้องถูกกล่าวถึง คือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือนายคอนสแตนติน ฟอลคอนชาวกรีก ซึ่งได้เข้ามารับราชการตำแหน่งสูงถึงสมุหนายกซึ่งเทียบเท่ากับนายกรัฐมนตรี
หลังขึ้นครองราชย์ได้ 10 ปี พระองค์ได้ทรงสร้างพระราชวังที่เมืองละโว้หรือลพบุรี เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับว่าราชการ ต้อนรับแขกเมือง และประทับอยู่ที่พระราชวังแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันเรียกกันว่า วังนารายณ์ ปีละประมาณ 8-9 เดือน
ในด้านการทูตนั้นทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากมาย ได้ส่งคณะราชทูต ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างชาติ อาทิ อิหร่าน และฝรั่งเศส ซึ่งการส่งเจ้าพระยาโกษาปาน ไปเจริญสัมพันธไมตรีในครั้งนั้น โดยเข้าเฝ้าฯพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 ได้ถูกบันทึกไว้อย่างละเอียด ทั้งในประวัติศาสตร์ของชาติไทยและประวัติศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศสด้วย ถึงกับมีการสร้างเหรียญที่ระลึก ซึ่งเป็นเหรียญเงิน โดยด้านหนึ่งเป็นรูปของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นรูปของราชทูตกำลังถวายพระราชสาส์นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14ด้วย และเมื่อกลับมาได้นำวิทยาการและเทคโนโลยีจากต่างชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่อาณาจักร เช่น ยุทโธปกรณ์ การสร้างป้อมปืน การสร้างระบบน้ำประปา การเรียนรู้เรื่องกล้องดูดาว ดาราศาสตร์ และการแพทย์แบบตะวันตก
จากความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในยุคนั้น จึงทำให้บางชาติคิดที่จะรุกรานประเทศไทย อาทิ ฮอลันดาได้เคยส่งเรือรบมาปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยา และระดมยิงไทย จนต้องมีการตกลงทำสัญญาค้าขายระหว่างกัน
แต่ที่เป็นประเด็นปัญหาหลังจากมีการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสแล้วก็คือพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีพระราโชบายที่จะให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชและประชาชนชาวไทยรับนับถือคริสต์ศาสนา โดยส่งบาทหลวงและพระราชสาส์นมาทูลเชิญสมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้เข้ารับนับถือคริสต์ศาสนาด้วย ซึ่งพระองค์ก็ได้แจ้งพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้ทรงทราบ โดยใช้พระปรีชาญาณตอบปฏิเสธอย่างละมุนละม่อม ทะนุถนอมไมตรี โดยกล่าวตอบ ขอบพระทัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แต่ก็บอกว่าเพราะพระผู้เป็นเจ้าประสงค์ ที่จะให้นับถือศาสนาคนละแบบและวิธี เช่นเดียวกับการที่ทรงสร้างมนุษย์ให้ผิดแผกเชื้อชาติเหล่าพันธุ์ และเชื่อว่า หากพระเจ้ามีพระประสงค์จะให้พระองค์เข้ารับนับถือคริสต์ศาสนาแล้ว ก็คงจะเกิดศรัทธาขึ้นในพระทัยของพระองค์ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่รังเกียจที่จะทำพิธีรับศีล
การเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ในที่สุดกลับกลายเป็นปัญหา โดยในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชพระองค์ทรงพระประชวร และก่อนจะเสด็จสวรรคตนั้น พระเพทราชาและขุนนางทั้งหลายได้เห็นว่า เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เริ่มมีปัญหาคิดการเป็นใหญ่ และน่าจะสมคบกับนายพลทหารฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้บัญชาการป้อมทหารของฝรั่งเศสที่สร้างขึ้นที่เมืองบางกอก ที่อาจจะคิดร้ายต่อกรุงศรีอยุธยา จึงสำเร็จโทษเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ และให้นายพลเดส์ฟาร์จของฝรั่งเศสลงนามในสัญญาสงบศึก และคุมกองทหารฝรั่งเศสออกไปนอกพระราชอาณาจักร
การเรียนรู้เหตุการณ์ต่างๆ จากประวัติศาสตร์ จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง และน่าจะเป็นบทเรียนที่จะนำมาใช้ได้ไม่ว่าใครจะมาปกครองประเทศก็ตามว่าการคบหาสมาคม หรือสร้างสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศนั้น ถึงอย่างไรก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค ไม่คิดจะเอาเปรียบซึ่งกันและกัน และไม่คิดที่จะรุกรานหรือมีอำนาจเหนือ ไม่ว่าจะฝ่ายใดทั้งสิ้น การวางตัวเป็นกลางของรัฐบาล กับประเทศต่างๆ และไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ โดยเฉพาะในทางการเมือง ในการแผ่ขยายอำนาจของประเทศมหาอำนาจบางประเทศ จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ได้และทำให้ดีด้วย เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยและประเทศชาติตลอดไป
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี