ประเทศพม่าและไทยมีพรมแดนต่อเนื่องกันถึงกว่า 2,400 กม. เมื่อใดที่พม่ามีปัญหาความไม่สงบ ก็จะก่อให้เกิดคลื่นผู้อพยพส่วนหนึ่งข้ามมายังไทยเรา ซึ่งในมุมมองของผมนั้น ผู้อพยพลี้ภัยพม่า (เมียนมา) พอแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มคือ
1.ผู้อพยพลี้ภัยจำนวนประมาณ 90,000 คนที่พักอยู่ในค่ายกักกันจำนวน 9 ค่าย บริเวณชายแดนไทย-พม่า ใกล้กับอำเภอแม่สอด
2.ชนกลุ่มน้อยโรฮีนจามุสลิม ที่พยายามหลบหนีออกจากพม่าในช่วงประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากความโหดร้ายทารุณของฝ่ายกองทัพพม่าต่อชาวโรฮีนจา โดยที่ นางออง ซาน ซู จี ผู้นำฝ่ายพลเรือน และผู้ถือคบไฟประชาธิปไตยพม่า ก็รับรู้ปัญหานี้ระหว่างที่พรรคของตนเป็นรัฐบาลแต่ก็เพิกเฉยต่อการกระทำของฝ่ายกองทัพ
3.กลุ่มผู้อพยพลี้ภัยจากผลของการปฏิวัติรัฐประหาร ล้มระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งหลบหนีการสู้รบในลักษณะสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายกองทัพพม่า กับฝ่ายผู้ต่อต้านกองทัพพม่า ทั้งชนกลุ่มใหญ่พม่า และบรรดาชนกลุ่มน้อยทั้งหลาย เช่น ฉิ่น คะฉิ่น ฉาน (ไทยใหญ่) กะเหรี่ยง กะเหรี่ยงแดง และมอญ เป็นต้น
ในการนี้ประเทศไทยจึงเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งการจะรับมือนั้นมีทางเลือก 2 ประการคือ
1.การใช้หลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม กับ
2.หลักความมั่นคงและหลักกฎหมายเข้าเมือง
ในกรณีของกลุ่มแรกนั้น ฝ่ายรัฐบาลไทยชุดก่อนๆ ได้เปิดพรมแดนให้เข้ามาพักพิงได้ ซึ่งดูแลโดยหน่วยราชการฝ่ายไทย โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย และได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ และมิตรประเทศต่างๆที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งต่างมีการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่อย่างไรก็ดี ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้อยู่ในสถานะผู้ถูกกักกัน แม้จะได้รับความช่วยเหลือดูแลในเรื่องที่พักอาศัย อาหารการกินประจำวัน รวมทั้งการรักษาพยาบาลในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถทำงานทำการ หรือเป็นส่วนหนึ่งของแรงงานต่างด้าวได้ อีกทั้งโอกาสเข้าถึงซึ่งการศึกษา และการฝึกอบรมว่าด้วยวิชาชีพมีข้อจำกัดต่างๆ ไม่ตอบสนองหลักมนุษยธรรมอย่างกว้างขวางจริงจัง และเมื่อผู้อพยพลี้ภัยเหล่านี้มิใช่อาชญากร การกักขังไว้จึงเป็นการไม่สมควร และในจำนวน 90,000 คนนี้ ประมาณการว่า40,000 คนนั้น อยู่ในวัยทำงานทำการ ซึ่งสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแรงงานต่างด้าวที่ประเทศไทยต้องการได้ เนื่องจากประเทศไทยเราขาดแรงงาน และเมื่อไปเทียบกับนโยบายและมาตรการของรัฐบาลตุรกีในเรื่องการรับมือกับผู้อพยพลี้ภัยแล้ว ทางฝ่ายตุรกีมีระบบดูแลผู้อพยพลี้ภัยที่ยืดหยุ่นกว่าของไทยและอิงเรื่องหลักมนุษยธรรมเป็นสำคัญ เช่น การเคลื่อนไหวสัญจรไป-มา และการมีงานทำ ซึ่งก็น่าจะเป็นแบบอย่างสำหรับประเทศไทยได้
ส่วนกลุ่มที่สอง ชนกลุ่มน้อยโรฮีนจามุสลิมนั้น ก็ต้องกระจัดกระจายอยู่ในประเทศไทย หาเช้ากินค่ำไปวันๆ หนึ่ง และบางส่วนถูกกักขังอยู่ที่สถานกักขังของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในสภาพที่แออัด โดยหลายๆ ครอบครัวก็ถูกแยกออกจากกัน โดยฝ่ายสตรีผู้ภรรยา และเด็กเล็กลูกหลาน จะอยู่ในความดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในขณะเดียวกันชาวโรฮีนจาที่อพยพลี้ภัยมาทางทะเล ทั้งจากต้นทางที่ประเทศพม่า และจากระหว่างทาง (Transit) ที่ประเทศบังกลาเทศระลอกใหม่ๆ ก็มักจะถูกฝ่ายกองทัพเรือของไทยผลักดันให้ออกไปจากชายฝั่ง โดยการให้ความช่วยเหลือในเรื่องน้ำและอาหารส่วนหนึ่ง ก่อนจะผลักดันให้ไปเผชิญกับชะตากรรมเอาข้างหน้า บางส่วนอาจจะสามารถขึ้นฝั่งที่ประเทศมาเลเซียได้ บางส่วนก็เดินทางไปขึ้นท่าที่ประเทศอินโดนีเซียได้ แต่จะมีการสูญหายระหว่างทางเท่าใดยังไม่อาจทราบได้ ทั้งนี้ ฝ่ายไทย ฝ่ายมาเลเซีย และฝ่ายอินโดนีเซีย ก็ยังมิเคยมีการหารือกันว่า จะร่วมกันบริหารจัดการชาวโรฮีนจาที่ล่องเรือมาทางทะเลกันอย่างไร นอกจากนั้นการหารือระหว่างหน่วยงานไทย กับสถาบันศาสนาอิสลามแห่งประเทศไทยเพื่อจะร่วมกันดูแลชาวโรฮีนจามุสลิม ก็ยังไม่เกิดขึ้น และแวดวงมุสลิมไทยก็อยู่ในฐานะที่จะบรรเทาภาระของฝ่ายราชการได้
สำหรับกลุ่มที่สามนั้น รัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน (จนเข้าช่วงรักษาการ) ก็มีนโยบายให้ขับออกโดยเฉพาะทางบก หรือที่ชายแดนไทย-พม่า อาจจะเปิดพรมแดนให้ทะลักเข้ามาก็เป็นครั้งคราวด้วยจำนวนน้อยๆ เป็นการชั่วคราวไม่กี่ชั่วโมง ไม่กี่วันขึ้นอยู่กับสถานการณ์สู้รบ หรือขึ้นอยู่กับการทิ้งระเบิดและการใช้ปืนใหญ่ของฝ่ายกองทัพพม่า ส่วนที่เล็ดลอดเข้ามาได้ก็จะผ่านขบวนการผู้ลักลอบเข้าเมือง ซึ่งเมื่อมาอยู่ชายฝั่งไทยแล้ว ก็จะมีระบบไม่เป็นทางการโดยการรับรู้หรือไม่ของฝ่ายรัฐบาลอย่างไร ก็ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีข่าวว่า กลุ่มคนเหล่านี้จะต้องเสียค่าหัว และค่าบัตรประจำตัวที่ออกโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ (เสมือนเป็นผู้มีอำนาจอธิปไตย เสมือนเป็นเจ้าบ้านเจ้าเมืองเสียเอง หรือทำตนเป็นตัวรัฐบาล) โดยไม่เป็นที่แน่ชัดว่า รายได้ที่มิชอบด้วยกฎหมายเหล่านั้น ได้มีการส่งส่วยให้ระดับเหนือขึ้นไปหรือไม่อย่างไร
ในส่วนนี้ หากถูกจับกุม ก็จะถูกกุมขังอยู่ที่สถานที่กักกันของฝ่ายสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เป็นพวกผิดกฎหมาย (Illegal) ทั้งนี้ ได้มีการเรียกร้องจากหลายๆ ประเทศ และจากกลุ่มองค์กรที่มิใช่รัฐ หรือกลุ่มช่วยเหลือสังคมว่า ให้รัฐบาลไทยภายใต้การนำพาของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วยดำเนินการเปิดพรมแดน และให้การต้อนรับดูแล ตามหลักสิทธิมนุษยชน และหลักมนุษยธรรมที่เป็นสากล แต่จนแล้วจนรอด ฝ่ายรัฐบาล
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังคงนิ่งเฉย และยืนหยัดกับนโยบายที่จะผลักดัน หรือผลักออกต่อไปอย่างไม่แยแส ไม่สะทกสะท้านเสียงเรียกร้องจากนานาชาติ ท่ามกลางการปล่อยปละละเลยให้มีการปฏิบัติโดยมิชอบ หรือการทุจริตในหน้าที่ต่างๆ ดังกล่าว
โดยสรุป รัฐบาลไทยชุดนี้ มุ่งใช้หลักกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองเป็นที่ตั้ง โดยอ้างว่าบรรดาผู้อพยพลี้ภัยทั้งหลายไม่มีเอกสารราชการ เช่น หนังสือเดินทาง โดยไม่คำนึงว่าผู้อพยพลี้ภัยนั้นจะไปหาหนังสือเดินทางที่ไหนได้ หรือถ้าโชคดีมีอยู่กับตัว เมื่อหมดอายุก็ไม่สามารถต่ออายุได้ เพราะรัฐบาลทหารพม่าไม่อยู่ในฐานะที่จะบริหารราชการตามปกติ หรือ ไม่ก็อยู่ในนโยบาย “ธุระไม่ใช่” ที่จะไปช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร
ในสภาพการณ์นี้ การใช้กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองเป็นที่ตั้ง เป็นหลักปฏิบัติ จึงเป็นการสวนทางกับหลักการและการปฏิบัติสากลต่อผู้อพยพลี้ภัย ทั้งในแง่ของสิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรม ซึ่งไม่คำนึงถึงเหตุและผล หรือที่ไปที่มาของการอพยพลี้ภัย เสมือนว่าฝ่ายไทยโดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขาดเมตตาธรรม ไม่รู้ร้อนรู้หนาวไม่มีความรู้สึกนึกคิดที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์ที่ตกระกำลำบากจากฝีมือของกองทัพพม่าที่โหดเหี้ยม โหดร้าย และไม่ยอมตระหนักและรับความจริงว่า ผู้อพยพลี้ภัยทั้งหลายนั้นเขาจำเป็นต้องหนีร้อนมาพึ่งเย็น
อีกทั้งยังมีหลายกรณีเป็นระยะๆ ที่มีการผลักดันผู้อพยพลี้ภัยไปสู่เอื้อมมือของฝ่ายกองทัพพม่า หรือไม่ก็มีการจับ และจัดส่งผู้อพยพลี้ภัยบางคนไปให้กับฝ่ายกองทัพพม่าตามคำขอของฝ่ายกองทัพพม่าว่า บุคคลเหล่านี้เป็นผู้ก่อการร้าย
ซึ่งเป็นเรื่องกุขึ้นมา เพื่อที่ฝ่ายกองทัพพม่าจะได้สามารถขจัดกลุ่มผู้เห็นต่าง ที่ต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหาร การยึดอำนาจ และการกวาดล้างฝ่ายเห็นต่าง
ในขณะเดียวกัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อม นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็มักจะให้ความอะลุ้มอล่วย เห็นอกเห็นใจ และคล้อยตามไปกับความต้องการของฝ่ายกองทัพพม่า อีกทั้งยังดำเนินการกับพม่า ที่มีลักษณะแตกแถวไปจากท่าทีร่วมของอาเซียนในนาม ฉันทามติ 5 ประการ (Five Point Consensus) อีกด้วย ซึ่งได้สร้างความไม่พึงพอใจและความแคลงใจให้กับฝ่ายเพื่อนอาเซียนทั้งหลาย เป็นการสร้างความแตกแยกภายในอาเซียนโดยปริยาย นอกจากนั้น รัฐบาลไทยยังมีทีท่าที่ไม่ให้ความเคารพต่อตำแหน่งประธานอาเซียน ซึ่งในปีนี้อินโดนีเซียพี่เบิ้มใหญ่ของอาเซียนเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนอีกด้วย
ถึงวันนี้ก็คงไม่มีอะไรที่จะไปบีบบังคับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ นายดอน ปรมัตถ์วินัย ในฐานะสมุนคู่ใจให้เปลี่ยนอกเปลี่ยนใจได้ โดยเฉพาะที่จะเอาหลักการ กฎเกณฑ์ กติกา หรือกฎหมายระหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรมมาใช้ ซึ่งมีความสำคัญกว่าการเน้นใช้กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองเป็นหลัก กับผู้อพยพลี้ภัยชาวพม่าในสภาวะสงครามกลางเมืองพม่า อีกทั้งการอ้างเรื่องความมั่นคงก็ดูฟังไม่ขึ้น เพราะผู้อพยพลี้ภัยไม่อยู่ในฐานะที่จะคุกคามความมั่นคงของไทยได้
การคิดอ่านและกระทำเช่นนี้ เป็นการไม่สมเหตุสมผลและไม่ได้สะท้อนถึงจิตใจอันดีงามของชาวไทย และสังคมไทยก็ได้แต่หวังว่า รัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะมา จะได้ดำเนินการทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจังลึกซึ้ง เพื่อศักดิ์ศรีของสังคมไทยเราเอง และเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ชาวพม่าที่ต้องตกระกำลำบากที่ประเทศเขา แล้วยังต้องมาเผชิญกับการผลักดันออกบ้าง การกุมขังบ้าง แล้วก็การรีดไถอย่างเอิกเกริก
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี