4.ไม่เรียกร้อง เข่น การขอเพลง ขอเร่งแอร์ ขอเปิดกระจก ขอแวะรับเพื่อน ขอจอดซื้อของ ขอให้บรรทุกเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ขอให้คนขับเร่งแซงคันอื่น 5.ไม่รบกวนหรือแซงคิว เช่น การขอชาร์จไฟในรถ การใช้โทรศัพท์โดยเปิดลำโพง การแวะกดเงินหรือการขอให้คนขับออกเงินไปก่อน และควรเรียกแท็กซี่ตามคิวที่ออก 6.เรียกแกร็บแท็กซี่ กรณีชั่วโมงเร่งด่วนหรือสถานที่ที่คาดว่าอาจจะเรียกรถแท็กซี่ยาก เพื่อเป็นการลดอคติกับคนขับแท็กซี่โดยรวม”
โพสต์จากเพจเฟซบุ๊ก “สมาคมแท็กซี่ไทย” เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2566 กลายเป็นประเด็น “ดราม่า” ในไม่กี่ชั่วโมงหลังถูกนำเสนอเป็นข่าวและถูกแชร์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพจดังกล่าวเจอ “ทัวร์ลง” ชาวเนตเข้าไปแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างดุเดือด และแนะนำกันว่า “ให้ไปใช้บริการรถรับ-ส่งผ่านแอปพลิเคชั่นกันดีกว่า หากการเรียกแท็กซี่มันจะต้องยุ่งยากคิดเยอะขนาดนี้”ขณะที่ทางเพจก็ชี้แจง “อยากให้เห็นใจแท็กซี่บ้างโดยเฉพาะต้นทุนค่าพลังงานที่แพงขึ้น” แต่ก็ถูกสวนกลับว่าถ้าไม่ไหวขาดทุนก็เลิกไป หรือไม่ก็ต้องไปเรียกร้องกับรัฐไม่ใช่กับผู้บริโภค
เพจดังกล่าวยังโพสต์ข้อความต่อเนื่องในวันที่ 26 ส.ค. 2566 เผยแพร่บทความ “สิ่งที่ผู้โดยสารควรรู้เวลาขึ้น TAXI” ซึ่งมี 5 ข้อ ดังนี้ 1.การเรียกรถ ไม่เรียกรถในลักษณะกระชั้นชิดหรือยืนในจุดล่อแหลม เช่น ทางร่วม ทางแยก ป้ายรถเมล์ 2.การให้รถหยุด ไม่ควรให้คนขับหยุดจอดส่งบริเวณจุดห้ามจอด เส้นขาวแดง ซอยแคบ 3.การนั่งในรถไม่ปรับเอนเบาะเกินสมควร ไม่ยกเท้าขึ้นเบาะ ไม่พูดคุยส่งเสียงดังและไม่เปิดลำโพงรวมถึงทานสิ่งของทุกชนิด
4.การใช้รถ ระบุจุดหมายที่จะลงให้ชัดเจน ต้องการไปทางไหนแจ้งคนขับก่อนล่วงหน้า หากมีโรคประจำตัวควรแจ้งคนขับเช่นเมารถหรือติดโควิด และ 5.การลงจากรถ เตรียมเงินให้พอดีและตรวจดูสิ่งของก่อนลงจากรถทุกครั้ง รวมถึงจดจำรถที่นั่งด้วยทุกครั้ง ซึ่งก็กลายเป็นการโต้เถียงกันอย่างดุเดือด ระหว่างฝ่ายชาวเนตที่ไม่พอใจเพจดังกล่าว กับฝ่ายผู้ดูแลเพจ รวมถึงผู้ที่บอกว่าตนเองเป็นคนขับแท็กซี่ ที่พยายามอธิบายว่าเหตุใด “การห้ามปฏิเสธผู้โดยสารจึงไม่สามารถทำได้จริง” แม้จะมีกฎหมายระบุไว้ก็ตาม
“ที่นี่แนวหน้า” มีโอกาสได้พูดคุยกับ วีระชัย เกียรติวิมล แอดมินเพจ “สมาคมแท็กซี่ไทย” โดยคุณวีระชัย กล่าวว่า “ค่าโดยสารที่ไม่สอดคล้องกับต้นทุนการประกอบอาชีพ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการปฏิเสธผู้โดยสาร” โดยค่าโดยสารแรกเริ่มของแท็กซี่นั้นอยู่ที่ 35 บาท มาอย่างยาวนาน ในขณะที่ค่าเชื้อเพลิงนั้นปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ในอดีตราคาก๊าซ NGV เคยอยู่ที่ 8.50 บาท/กิโลกรัม แต่ปัจจุบันไปอยู่ที่ประมาณ 18 บาท/กิโลกรัม
และแม้จะมีการให้ส่วนลดแต่ก็ไม่ใช่คนขับแท็กซี่ทุกคนที่จะได้รับ แต่การปรับขึ้นค่าโดยสารที่ผ่านมาไปเน้นแต่การปรับในสถานการณ์ที่มีการจราจรติดขัด รวมถึงปรับจาก 35 บาทใน 2 กิโลเมตรแรก มาอยู่ที่ 35 บาทใน 1 กิโลเมตรแรก ซึ่งก็ยังไม่สะท้อนต้นทุนจริง ขณะที่ แม้จะมีการปรับค่าโดยสารเพิ่มในช่วงที่ผ่านมา โดยเป็นการขอความร่วมมือผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ให้ใช้ราคาที่ปรับนั้นไปก่อนเพราะหากจะปรับมากกว่านี้อาจกระทบกับค่าครองชีพของประชาชนในภาพรวมได้
แต่ครั้งนั้นเป็นการปรับโดยอ้างอิงจากงานวิจัยที่ระบุราคาพลังงานในอัตราหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อปรับแล้วกลับพบว่าราคาพลังงานปรับเพิ่มสูงขึ้นไปอีก โดยปัจจุบันคนขับแท็กซี่มีค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง 500-600 บาท/วัน เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ซึ่งอยู่ที่ 300-400 บาท/วัน ดังนั้นหากคนขับไปส่งผู้โดยสารในระยะไกลๆ แล้วไม่ได้รับผู้โดยสารอื่นกลับมา นี่คือขาดทุน จึงทำให้การบริการของแท็กซี่ในปัจจุบันมีปัญหา
“เราจะเห็นตัวเลขที่ภาครัฐเปิดเผยว่าเฉพาะครึ่งปีแรกยอดร้องเรียนของรถแท็กซี่เป็นหมื่นเรื่องเลย แล้วหนักสุดคือเรื่องปฏิเสธผู้โดยสาร แล้วก็แก้ไม่ได้ ขนาดปรับขึ้นค่าโดยสารแล้วก็ยังแก้ไม่ได้ ถ้าจะให้ผมอธิบายก็คือมันเป็นเรื่องของความไม่คุ้มทุนในการให้บริการ คนขับส่วนใหญ่ที่ปฏิเสธ เรื่องหลักๆ คือไม่คุ้มค่า ไปส่งแล้วไม่ได้คน เรียกไปส่งแล้วก็ตีเปล่ากลับ” วีระชัย กล่าว
แอดมินเพจสมาคมแท็กซี่ไทย ยังกล่าวอีกว่าสำหรับแท็กซี่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซ NGV ยังพบปัญหาสถานีบริการมีจำนวนน้อย อย่างตนพักอาศัยอยู่ในย่าน ถ.ศรีนครินทร์ ในอดีตเคยมี 4-5 แห่ง แต่ปัจจุบันไม่เหลือแม้แต่แห่งเดียว จึงเป็นความยากลำบากของคนขับแท็กซี่ ซึ่งการที่ผู้ใช้บริการเรียกร้องว่าหากไม่อยากรับผู้โดยสารเพราะจะไปเติมก๊าซก็ขอให้ปิดไฟว่างที่เป็นสัญญาณบอกว่าพร้อมให้บริการเสีย ในความเป็นจริงนั้นทำได้ยากเพราะสถานีเติมก๊าซหายาก โดยเฉลี่ยแล้วคนขับต้องตีรถเปล่าวิ่งไปมากกว่า 10 กิโลเมตร เพื่อหาสถานที่เติมก๊าซ
อีกทั้งยังพบว่า สถานีเติมก๊าซ NGV บางแห่ง แรงดันหัวจ่ายไม่ค่อยดี ทำให้ไม่สามารถเติมได้เต็มถัง เช่น คนขับแท็กซี่นำรถไปจอดต่อคิวรอใช้เวลา 15-20 นาที กว่าจะได้เติมก๊าซ แต่เมื่อเติมแล้วกลับได้ก๊าซเพียงครึ่งถัง กลายเป็นว่าคนขับต้องเสียเวลาไปหาเติมที่สถานีแห่งอื่นเพื่อให้ได้ก๊าซเต็มถัง และเนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีรัฐบาลชุดใหม่แล้ว จึงเห็นว่า หากรัฐต้องการลดข้อร้องเรียนเรื่องการปฏิเสธผู้โดยสาร ก็ต้องทำให้ค่าโดยสารมีความเป็นธรรมด้วย เพื่อสร้างแรงจูงใจไม่ให้คนขับปฏิเสธ ซึ่งหากราคายังเริ่มต้นที่ 35 บาท ก็ยากที่จะเกิดการบริการที่ดีขึ้นได้
“เราอยากให้ปรับปรุงอัตราสตาร์ท ที่ผ่านมาเขาไปปรับปรุงในส่วนของค่ารถติด ทีนี้การปรับปรุงในส่วนของค่ารถติด เรามองว่ามันไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้คนมาใช้แท็กซี่มากขึ้น เพราะโดยหลักแล้วรถติดคนส่วนใหญ่ก็จะหนีแท็กซี่ทั้งนั้น หันไปใช้ทางเลือกอื่น เราอยากให้ปรับปรุงอัตราสตาร์ทมากกว่า เช่น อาจจะเป็น 40 หรือ 50 บาท กิโลเมตรแรก เราอยากเห็นแบบนี้มากกว่า” วีระชัย ระบุ
สัปดาห์นี้ “ที่นี่แนวหน้า” นำเรื่องนี้มาบอกเล่ากับท่านผู้อ่าน และจะว่าไป “ต้นทุนด้านพลังงาน” ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกับเฉพาะคนขับแท็กซี่เท่านั้น อย่างในกลุ่มน้ำมันเบนซินซึ่งปัจจุบันราคาแก๊สโซฮอล์ใกล้จะแตะที่ 40 บาทต่อลิตร (ยกเว้นแก๊สโซฮอล์ 95 ที่ทะลุ 40 บาทไปแล้ว) โดยผู้ใช้น้ำมันประเภทนี้ส่วนใหญ่คือกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำที่ใช้ “มอเตอร์ไซค์” ทั้งเดินทางไปทำงาน-กลับบ้าน รวมถึงอาชีพอย่างมอเตอร์ไซค์รับจ้างหรือไรเดอร์รับ-ส่งสินค้า
นี่คือ “การบ้าน” ที่อยากฝากให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี