ในประเทศไทยเรา มีคนหนุ่มสาวเยาวชนคนรุ่นใหม่ ถูกครูอาจารย์ในสถาบันศึกษาและนักการเมืองปลุกระดมล้างสมอง จนถูกดำเนินคดีติดคุกติดตะรางเสียอนาคตเสียคนมาแล้ว นับร้อยๆ ราย เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นแล้วเช่นกันกับคนรุ่นใหม่ในสหภาพพม่าที่คนหนุ่มสาวถูกปลุกระดมล้างสมองให้จับอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับทหารที่ยึดอำนาจ โดยใช้คัมภีร์เสรีประชาธิปไตยและความเท่าเทียมกัน ปั่นหัวจนคนหนุ่มสาวให้เพ้อฝันไปว่าจะโค่นล้มรัฐบาลทหารลงได้และสถาปนาประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ในเร็ววัน
เป็นเวลาสิบกว่าปี ตั้งแต่ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง เริ่มเปิดประเทศให้คนต่างชาติเข้าไปทำกิจกรรมด้านมนุษยธรรมในพม่า จนมาถึงยุครัฐบาลประชาธิปไตยที่ฝักใฝ่ตะวันตก นำโดย นางออง ซาน ซู จี เป็นนาทีทองที่เอ็นจีโอฝรั่งนับร้อยองค์กรหลั่งไหลเข้าไปตั้งสำนักงานในพม่า นอกจากฝรั่ง ที่มีวาระซ่อนเร้นเข้าไเคลื่อนไหวในพม่าแล้ว ยังมีนักการทูตตะวันตกบางประเทศที่มีเป้าหมายทำลายความมั่นคงภายในประเทศพม่า อดีตทูตอังกฤษ ทำตัวเป็นอีแอบอยู่หลายปี พอหมดวาระอดีตทูตก็แต่งงานกับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวพม่าแล้วสถาปนาตัวเอง เป็นเอ็นจีโอเคลื่อนไหวเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของชาวพม่า ผลพวงที่เอ็นจีโอ และซีไอเอฝรั่งฝังตัวในพม่าล้างสมองคนรุ่นใหม่อยู่หลายปี
เมื่อมีการยึดอำนาจปี 2564 จึงเป็นโอกาสทองของซีไอเอกับเอ็นจีโอฝรั่งได้ปลุกระดมปั่นกระแสให้คนรุ่นใหม่พม่าออกมาต่อต้านต่อสู้กับรัฐบาลทหาร โดยที่คนรุ่นใหม่ไม่ยั้งคิดว่ากองทัพพม่าที่ปกครองประเทศมากว่า 50 ปี มีแสนยานุภาพสูงอย่างไร ผลสุดท้ายคนรุ่นใหม่พม่าต้องพบชะตากรรมอันเลวร้ายเหมือนกับนักศึกษาไทยนับพันคนหนีเข้าป่าจับปืนในปี 2520-2522ที่หลายคนตายในป่าและหลายคนพบกับชะตากรรมอันเลวร้าย
ยกเรื่องนักศึกษาไทยหนีเข้าป่ามาเป็นตัวอย่าง หลังจากอ่านรายงานพิเศษบีบีซีเวิลด์ที่พาดหัวว่า“คนหนุ่มสาวพม่าฝันสลายในการลี้ภัย”
บีบีซี ยกเอาสาวพม่าที่ใช้นามว่า ปัน ปัน เป็นตัวเดินเรื่องว่า “ปี 2562 ปัน ปัน เป็นเจ้าหน้าที่เวชทะเบียนโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง ในเมืองพะโค เธอใฝ่ฝันจะเป็นหัวหน้าแผนกเวชทะเบียนของโรงพยาบาล
แต่สี่ปีให้หลัง หญิงสาววัย 25 ปี มาเป็นเด็กเสิร์ฟอาหารในกรุงเทพฯ ความฝันจะกลับบ้านในเร็ววันถูกเผาผลาญ เพราะทหารที่โหดร้ายยังคงปกครองพม่า
“ถ้าทหารไม่ยึดอำนาจฉันไม่มีวันทิ้งงานที่ฉันรัก แต่ไม่มีที่ปลอดภัยในประเทศของฉันอีกต่อไป” ตอนที่ปัน ปัน เรียนจบวิทยาลัยประเทศพม่า ยังคงเปี่ยมไปด้วยเสรีภาพและประชาธิปไตย เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวนักท่องเที่ยวนักลงทุนต่างชาติหลั่งไหลเข้ามา และแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทหารจับนางออง ซาน ซู จี ผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มสงครามกลางเมืองที่นองเลือด และส่งผลให้เศรษฐกิจดิ่งลงเหว
ยึดอำนาจใหม่ๆ การประท้วงต่อต้าน นำโดย เยาวชนคนหนุ่มสาว แต่นานเข้าการประท้วงเริ่มซบเซา แต่กลับมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงมากขึ้น สำหรับคนอย่างปัน ปัน ซึ่งเข้าร่วมกับขบวนการอารยะขัดขืน ที่เริ่มต้นจากการประท้วงของข้าราชการ พนักงานและลูกจ้างของรัฐต่อต้านการยึดอำนาจโดยการปฏิเสธเข้าทำงาน โดยหวังว่าเมื่อโรงพยาบาล โรงเรียน ธนาคารและหน่วยงานราชการไม่มีคนงาน รัฐบาลทหารบริหารประเทศต่อไปไม่ได้ แต่ทหารพม่า ซึ่งปกครองประเทศมานานกว่าห้าสิบปี มีบุคลากรส่งเข้าไปทำงานแทนเจ้าหน้าที่ได้บางส่วนและส่งทหารออกติดตาม เจ้าหน้าที่ให้กลับเข้าทำงาน
สำหรับ ปัน ปัน เมื่อเข้าร่วมกับขบวนการอารยะขัดขืนแล้ว ต้องต่อสู้อย่างจริงจัง ยากที่จะกลับมาทำงานได้เธอเลยกลายเป็นคนหนึ่งในหลายร้อยคนที่ถูกตามล่าหาตัว ปัน ปัน เล่าว่า เธอต้องหลบหนีเจ้าหน้าที่โดยการหลบซ่อนตัวเปลี่ยนที่นอนตามบ้านญาติ หลังโน้นคืนหลังนี้คืน ในขณะที่เพื่อนๆ เธอหลายคนถูกฆ่าตาย
ปัน ปัน ยังคงหลบซ่อนตัวอยู่ได้ ในเมืองพะโค เธอเล่าว่า “ในที่สุดเพื่อนที่อยู่ในอเมริการะดมทุนหาเงินซื้อตั๋วเครื่องบินเที่ยวเดียวให้ฉันบินมาเชียงใหม่” ถึงตอนนี้
มีข้อสังเกตว่า ในเมื่อเธอหลบหนีการจับกุมของตำรวจ ทหาร ที่ระดมคนตามล่าฝ่ายต่อต้าน เป็นพันๆ นายแล้ว ปัน ปัน เดินลอยหน้าขึ้นเครื่องบินมาเชียงใหม่ได้อย่างไร
บีบีซีรายงานต่อไปว่า หน่วยงานสหประชาชาติประมาณการว่า มีชาวพม่ากว่า 70,000 คน หนีออกจากประเทศเหมือน ปัน ปัน การทะลักออกนอกประเทศด้วยใจสลายของหนุ่มสาวพม่าที่ต้องหางานทำเพื่อเลี้ยงครอบครัว ข้อมูลองค์การแรงงานนานาชาติ บ่งชี้ว่า ในพม่าคนทำงานน้อยลงกว่า 1.1 ล้านคน ในไตรมาสแรกปี 2565 เปรียบเทียบกับในห้วงเวลาเดียวกันในปี 2563
เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่ชนกลุ่มน้อยหรือ กลุ่มชาติพันธ์ุหลบหนีการกดขี่ข่มเหงจากทหารพม่าและชาวโรฮีนจาหลายแสนคน ร่วมหลบหนีกับพวกเขาด้วยในขณะที่ทหารถูกกล่าวหาว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮีนจา ภายใต้การยึดอำนาจผู้ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจก็ต่อต้าน นักกิจกรรมนักการเมืองตลอดถึงชาวบ้านธรรมดาพากันเบื่อหน่ายสงครามกลางเมือง อยากออกไปจากประเทศพม่า
ส่วน ปัน ปัน เมื่อหางานทำที่เชียงใหม่ไม่ได้ เธอย้ายมากรุงเทพฯในปีแรกเธอต้องเปลี่ยนงานเจ็ดครั้ง ตั้งแต่เป็นคนเลี้ยงเด็ก เป็นคนรับใช้ เป็นคนเสิร์ฟอาหาร และเป็นคนงานก่อสร้าง
ด้วยบุคลิกหน้าตาและความสามารถ ปัจจุบันเธอเป็นพนักงานเสิร์ฟอาหาร มีรายได้เดือนละ 12,000 บาท มากพอที่จะซื้ออาหารและเช่าห้องพักเล็กๆ ใกล้ที่ทำงาน
“ชีวิตในประเทศไทยลำบากมาก เพราะฉันพูดภาษาไทยไม่ได้และไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดีพอ ฉันยังไม่สามารถอยู่อย่างถูกกฎหมาย...แต่มันก็ปลอดภัยกว่า”เธอกล่าว
ปัน ปัน เชื่อว่าชื่อของเธออยู่ในแบล็คลิสต์ ทำให้เธอกลัวที่จะกลับบ้าน“แต่ฉันคิดว่าเป็นการตัดสินใจถูกต้องฉันไม่ได้มาประเทศไทย เพราะมันสะดวกสบายกว่า ฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าประเทศไทยเป็นอย่างไรแต่ตอนที่อยู่พม่าฉันคิดอยู่อย่างเดียว ต้องไปจากที่นี่ให้ได้..” และด้วยความกลัวเช่นกันผลักดันให้ อูกัสติน ตั๋ง ปั่นจักรยานข้ามชายแดนจากรัฐชินไปยังเมืองมิโซรัมทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย กับภรรยาและลูกเล็กๆ สองคนเมื่อต้นปี 2565 เขาไม่เคยกลับไปพม่าถึงแม้สวดมนต์ภาวนาให้มีโอกาสกลับบ้าน
ตั๋ง วัย 34 ปี เป็นรองผู้อำนวยการหน่วยงานสังคมสงเคราะห์ของรัฐชิน เมื่อทหารยึดอำนาจเขาเข้าร่วมประท้วงกับขบวนการอารยะขัดขืน ด้วยความกลัวว่าอาจถูกแก้แค้นจากทหารและแรงกดดันจากการหาเลี้ยงครอบครัวทำให้เขาหนีออกจากพม่า “เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก ผมรักประเทศของผม ผมอยากทำงานเพื่อประชาชน แต่ผมเลือกจากมาเพราะว่าชีวิตของพวกเรามีค่ากว่า” ตั๋ง กล่าวกับบีบีซี บัดนี้ตั๋งเป็นคนงานก่อสร้างรายวัน “ตอนนี้ผมไม่มีงานประจำ ผมช่วยเพื่อนๆ ทำงานและแบ่งปันรายได้กันมันก็พออยู่ได้”ตั๋งกล่าวและเสริมว่า “ผมยังมีความหวังว่าประเทศพม่าจะได้ประชาธิปไตยคืนมาด้วยการสนับสนุนจากองค์กรนานาชาติเช่นยูเอ็น...”
ไม่ใช่ทุกคนที่ออกจากพม่า เพราะความกลัว ตัวอย่าง เช่น จูเลีย ไคน์ นักศึกษาชาวพม่าที่มาศึกษาต่อในฮ่องกง และได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศพม่า ทำให้เธอไม่อยากกลับบ้าน...“ฉันอยากช่วยเหลือประเทศและเพื่อนร่วมชาติของฉันไปจากนอกประเทศพม่า” นักศึกษาวัย 21 ปี ผู้กลับบ้านครั้งสุดท้ายเมื่อสิงหาคม 2565 จูเลีย กล่าวว่า หลังจากเรียนจบ เธอจะเดินทางไปทั่วโลก “เพื่อไปพูดเรื่องความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในพม่า”ฉันรู้สึกกระอักกระอ่วนใจที่ใช้ชีวิตอย่างสุขสบายในขณะที่เพื่อนๆ และครอบครัวทางบ้านกำลังเผชิญกับความไร้เสถียรภาพลงทุกวัน”
จูเลียรำพึงว่ามันยากมากที่จะมีเพื่อนสนิทในฮ่องกงเพราะคนที่นี่ไม่มีความผูกพันไม่เข้าใจในความกังวลของเธอ“ฉันสยองมากที่ทหารทิ้งระเบิดจากเครื่องบินโจมตีพลเรือนพม่า แต่ฉันรู้สึกได้ว่าคนฮ่องกงไม่เข้าใจความรู้สึกของฉัน ฉันเลยต้องแสร้งทำเป็นว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น” จูเลีย กล่าวกับบีบีซี
การโจมตีจากเครื่องบินเธอคงพูดถึงการสังหารหมู่พลเรือนกว่าร้อยคนในหมู่บ้านทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า เพราะชาวฮ่องกงไม่เข้าใจสถานการณ์ในพม่าจูเลียก็เลยไม่พูดเรื่องที่บ้านเกิดของเธอกับชาวฮ่องกง
ปัน ปัน ในเวลาเดียวกันก็คิดถึงครอบครัวและเพื่อนๆ มาก แต่เธอเฝ้าบอกตัวเองว่า ฉันเป็นคนโชคดีที่สุดคนหนึ่ง “เพื่อนๆ ของฉันหลายคนยังคงหลบซ่อนตัวย้ายที่นอนบ้านโน้นทีบ้านนี้ที บางคนถูกฆ่าตาย...ฉันเตือนสติตัวเองเสมอว่า ชีวิตของพวกเขาลำบากกว่าฉันมาก ฉันต้องเข้มแข็งเข้าไว้” ปัน ปัน กล่าวสรุป
ปัน ปัน จูเลีย และ ตั๋ง คือ ตัวอย่างเพียงน้อยนิดของหนุ่มสาวชาวพม่า เชื่อว่ามีคนรุ่นใหม่พม่าหลายพันคนตกเป็นเหยื่อการล้างสมองของชาวตะวันตก ทั้งจากเอ็นจีโอ ซีไอเอ ตลอดถึงนักการทูตประเทศมหาอำนาจที่ดราม่าให้หนุ่มสาวพม่าคลั่งประชาธิปไตยและหลงเชื่ออย่างสนิทใจว่าประเทศมหาอำนาจและชาติตะวันตกต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวพม่าผู้รักประชาธิปไตย ปัน ปัน และตั๋งถึงได้ทิ้งหน้าที่การงานที่กำลังก้าวหน้า ลงถนนและเข้าป่าเพื่อต่อสู้กับกองทัพอันเกรียงไกรของสหภาพพม่า
ยังมีคนรุ่นใหม่ในพม่าอีกนับพันนับหมื่นที่หลงเชื่อแผนการชั่วร้ายของชาติตะวันตกเข้าป่าจับปืนร่วมมือกับกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ต่อสู้กับทหารพม่าซึ่งมีรายงานว่าพวกที่เข้าป่าจำนวนมากหนีมาอยู่ในเมืองชายแดนประเทศอินเดียและประเทศไทย ในอนาคตอันใกล้นี้หนุ่มสาวพม่าจะพบกับชะตากรรมเดียวกับหนุ่มสาวไทยที่เข้าป่าจับปืนในทศวรรษที่ 2520-2522 ส่วนเหตุการณ์เฉพาะหน้าคนรุ่นใหม่พม่าได้พบชะตาอันเลวร้ายเหมือนที่คนรุ่นใหม่ไทยกำลังเผชิญอยู่ จะแตกต่างกันอยู่บ้างตรงที่คนรุ่นใหม่ไทยเสี่ยงติดคุกติดตะราง ส่วนคนรุ่นใหม่พม่าอาจเสี่ยงกับความตาย และลี้ภัยอย่างฝันสลายเหมือน ปัน ปัน และกับ ตั๋ง ที่บีบีซีใช้เป็นชื่อจัดตั้งในรายงานพิเศษ
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี