ประเด็นถกเถียงในสังคมออนไลน์ภายหลังคะแนนการเลือกตั้งระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยที่ไม่ได้ทิ้งห่างกันมาก แต่ด้วยการโหวตของสมาชิกวุฒิสภาที่แต่งตั้งโดยคณะคสช.มีมติเอกฉันท์ให้พรรคก้าวไกลและนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ได้เป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้พรรคเพื่อไทยที่ได้คะแนนรองลงมา นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน จัดตั้งรัฐบาลและกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย
สิ่งที่น่าจับตามองคือประเด็นถกเถียงในสังคมนกฟ้า (Twitter) เกี่ยวกับปัญหาปากท้องต้องได้รับการแก้ไขก่อน และไม่ควรให้เกิดรัฐบาลสุญญากาศเพราะพี่น้องประชาชนกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น แต่อีกวิกฤตการณ์ที่ไม่ถูกพูดถึงในสังคมปัญญาชนคือ ชาวบ้านส่วนใหญ่กำลังถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความเห็นหรือมีส่วนร่วมถึงผลกระทบจากอุตสาหกรรม ผลประโยชน์ของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ แม้ว่าจะส่งเสียงมากแค่ไหน แต่รัฐธรรมนูญปี 60ได้เขียนคำว่า “สิทธิ” ประชาชนกลายเป็น “หน้าที่รัฐ”
แปลว่าอะไร? แปลว่าถ้าอำนาจการพิจารณาขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่รัฐคนใดคนหนึ่ง หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ที่ไม่มีความเข้าใจปัญหามากพอ ไม่ทราบถึงผลกระทบในมิติต่างๆ และยังมีใต้โต๊ะหรือวาระแอบแฝงต่างๆ ซึ่งล้วนมาจากผลประโยชน์พวกพ้อง สมการนี้เลยไม่มีประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้อง
สถานการณ์ปัจจุบัน ชาวบ้านกำลังเผชิญกับปัญหาพื้นที่ทำกินหายไป เพียง “เงิน”ก็ไม่สามารถเยียวยาได้ หากหนทางทำกินกำลังเป็นหมัน ตัวอย่างหนึ่งจากการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าบริเวณแม่น้ำโขง ความร่วมมือจากทุนข้ามประเทศที่ไม่ได้มองมิติสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต จึงทำให้ปลาและระบบนิเวศบริเวณนั้นกำลังตายจากไป พื้นที่ทางการเกษตรริมน้ำที่นอกจากจะปลูกยากในหน้าแล้งแล้ว ยังมีการจับจองพื้นที่จากกลุ่มทุนใหญ่และผู้มีอำนาจทำให้ชาวบ้านไม่สามารถหากินได้อย่างเป็นธรรม ทั้งที่จริงแล้วแม่น้ำเป็นของทุกชีวิต แม้มีภาคประชาสังคมและชาวบ้านบริเวณนั้นเข้าไปทักท้วงแล้ว แต่ก็มีการไล่ฟ้องปิดปากหรือการสนับสนุนเงินก้อนโตให้ชาวบ้านเพื่อหยุดการเรียกร้องเหล่านี้
ลองมาดูที่การต่อสู้อันยาวนานของชาวจะนะ จ.สงขลา กว่า 40 ปีที่พยายามกู้สถานการณ์และพื้นที่ทำกินจากนิคมอุตสาหกรรมที่กินพื้นที่ตำบลนาทับ ตำบลตลิ่งชัน และตำบลสะกอม เป็นจำนวน 20,000 ไร่ ซึ่งในทุกๆ สมัยมีการเสนอร่างเข้ารัฐสภาเพื่อต้องการเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่ถึงอย่างนั้น ประชาชนร่วมกับภาคประชาสังคมพยายามกดดันในทุกช่องทาง รวมตัวกันเสนอร่างเพื่อแก้ไขความเสียหายนี้ เพราะถ้านิคมเกิดขึ้นจริง นอกจากทรัพยากรและระบบนิเวศเสื่อมโทรมแล้วชาวบ้านจะสูญเสียพื้นที่ประมงและถูกละเมิดจากการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงปัญหาสุขภาพจากสารเคมี-มลพิษที่กำลังตามมาในอนาคต
ทั้ง 2 กรณียังคงอยู่บนเรื่องปากท้องอยู่ไหม? ทั้งที่จริงๆ แล้วประชาชนควรได้เข้ามามีส่วนร่วมในนโยบายหรือการเสนอแก้ปัญหาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และมันคงจะถูกแก้ไขโดยด่วนเมื่อรัฐธรรมนูญ 60 ดันไม่ไปลดคำว่า “สิทธิ” ต่างๆ ของประชาชนให้กลายเป็น “หน้าที่ของรัฐ” ซึ่งตีความครอบคลุมดุลยพินิจและอำนาจการตัดสินใจแก้ปัญหาโดยเจ้าหน้าที่เอง
จริงๆ แล้ว ชาวบ้านก็แค่ต้องการพื้นที่ทำกินและหนทางหาเงินอย่างเป็นธรรม การมีนโยบายเพื่อสนับสนุนกลไกเศรษฐกิจของประเทศ อาจจะเป็นแค่หนทางหนึ่งที่ทำให้ผลผลิตของชาวบ้านหรือผู้ประกอบการรายย่อยได้ประโยชน์จากนโยบายอยู่บ้าง แต่ในระยะยาวแล้ว ก็ไม่ได้แก้ไขกลไกความยุติธรรม คืนสู่อำนาจแก่ประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น ปัญหาปากท้องก็ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง มีทางแก้ไขแต่กลับไม่ตรงจุดเท่าที่ควร
คณะรัฐบาลนำโดยคุณเศรษฐาและพรรคเพื่อไทย ได้ชูโรงนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไทยเป็นพระเอกในการหาเสียงที่ผ่านมา แต่สำหรับนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้มีรายละเอียดชัดมากนัก ระบุเพียงว่า “จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดยคงรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ซึ่งในเนื้อหาก็ไม่ทราบได้ว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชนหรือไม่ หรือยังคงเป็นดุลยพินิจและของรัฐเช่นเดิม
ชาวนกฟ้าบางกลุ่มเห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจควรเร่งแก้ไขเพราะเข้าใจว่าชาวบ้านตาดำๆ กำลังเข้าวิกฤต แต่ภายใต้ปมปัญหาขนาดใหญ่ “พื้นที่ทำกินและวิธีการทำกิน” ต่างหากที่ทำให้ชาวบ้านถูกบีบรัดการทำมาหากินแบบสุจริตยากขึ้น แทนที่ชาวบ้านจะสามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีให้เห็นตั้งแต่เกิดและก้าวออกจากวิกฤตทางอาหาร ก็ดันติดกับดักทางนิติธรรมอีก ตาสียายสาก็ยังต้องใช้ชีวิตที่ไม่ได้เป็นของตัวเอง ยังต้องเช่าพื้นที่ทำกิน เผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้ก่อขึ้น ทั้งปัญหาความมั่นคงทางอาหารและคุณภาพชีวิตที่แต่ก่อนไม่ต้องวิตกกังวลเท่าวันนี้ กลายเป็นต้องหันกลับไปพึ่งพาระบบทุนในตลาดแรงงานเช่นเดิม
เรื่องปัญหาปากท้องเป็นเรื่องสำคัญจริง แต่ “เงิน”ก็ไม่สามารถเยียวยาได้เท่ากับ “ความเป็นธรรม”หากกฎหมายยังลดทอนสิทธิอันพึงมีของประชาชน การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นฉบับประชาชนเพื่อคืนสิทธิและอำนาจการตรวจสอบ-ตัดสินใจ จึงเป็นเรื่องที่ควรเกิดขึ้นก่อนด้วยซ้ำไป หรืออย่างน้อยควบคู่ไปด้วยกันก็ยังดี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี