ผู้การแต้ม - พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตผู้สมัครสส. กทม.พรรคประชาธิปัตย์ เขตหลักสี่ เปิดเผยว่า ตนเองขอหยุดบทบาททางการเมืองเพื่อไปทำหน้าที่ให้ความรู้กับประชาชน ทั้งนี้ได้ยื่นใบลาออกจากตัวแทนพรรคการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ ประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 9 ต่อเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์เป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันเดียวกัน โดยจะมีการแถลงข่าวเปิดตัวรายการในสื่อโทรทัศน์เร็วๆ นี้
ส่วนตัวมีความเชื่อว่าการทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนสามารถทำได้ในหลายบทบาท การให้ความรู้ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเหลือประชาชนในการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงและแนวทางที่ถูกต้องเพื่อให้สังคมสามารถนำไปคิดและต่อยอดได้
“ขอบคุณพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ให้โอกาสตนเองมาทำงานทางการเมือง รวมถึงผู้ใหญ่ในพรรคหลายท่านที่ตนเองให้ความนับถือและถือเป็นต้นแบบที่ดีทางการเมือง อาทิ นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคฯ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน และขอขอบคุณสื่อมวลชนที่ได้นำเสนอข่าวสาร รวมถึงพี่น้องประชาชนที่ได้ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด” พล.ต.ต.วิชัย กล่าว
๑) ผู้การแต้ม เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพคนหนึ่งของประเทศไทย โชคดีที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ท่านไปร่วมงาน แต่ก็เหมือนกับบุคลากรอีกเป็นจำนวนมากในพรรค ที่เป็นคนมีความรู้ ความสามารถ มีอุดมการณ์ ประสบการณ์ ความคิด และบุคลิกภาพที่ดีพร้อม แต่ขาดการ “บริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์”
๒) พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีบุคลากรคุณภาพทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง และรุ่นใหม่ รวมกันอยู่มาก แต่มิได้ใช้บุคลากรเหล่านั้นให้ “เกิดทั้งมูลค่าและคุณค่า” ตามความรู้ความสามารถ การจะฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์ในเวลาที่ “แบรนด์” หรือ “ยี่ห้อ” มูลค่าในตลาดการเมือง “ทรุดหนัก” อย่างปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่ต้องทำ คือ ตั้งแผนกบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล เพื่อ “รับใช้หรือบริการสังคม” ไม่ใช่รับใช้และเดินตามก้นกันเองอยู่ภายในพรรค โดยที่สังคมมิได้รับประโยชน์จาก “คุณภาพ” ของคนเหล่านั้น
๓) นักกฎหมายที่เคยมีมากมาย ก็ลดน้อยลง แต่เท่าที่มีก็ใช้งานได้ หากใช้นักกฎหมายเหล่านั้น “บริการประชาชน” ทั้งบริการความรู้ ให้คำปรึกษา ลงพื้นที่สำรวจปัญหา และ นำมาเป็นธุระ” เพราะในสังคมไทย คนจนหรือชาวบ้าน คือคนที่ถูกกฎหมายรังแกมากที่สุด จำนนและพ่ายแพ้ต่อกฎหมายมากที่สุด
๔) เมื่อครั้งนายราเมศ รัตนะเชวง กับนายเกียรติ สิทธิอมรลงพื้นที่วังน้ำเขียว นครราชสีมา พบกับชาวบ้าน ฟังปัญหาเรื่องกฎหมายบุกรุกที่ดินหลวง แสดงความห่วงใย นำเรื่องมาติดตามต่อในสภา คือ “การบริการสังคม” ที่ดีมาก แต่ไม่ทราบว่าคืบหน้าไปถึงไหน
๕) พรรคประชาธิปัตย์ มีบุคลากรที่ทำอะไรได้อีกมากในฐานะ “สถาบันทางการเมือง-สถาบันทางสังคม และ สถาบันทางปัญญา” โลกก้าวไปไกล เทคโนโลยีมีให้ใช้มากมาย แต่เพจของพรรคยังเป็นรายงานราชการว่าใครไปทำอะไรที่ไหนเมื่อไร ไม่ใช่เพจที่ใครอยากจะเข้าไปดูเพื่อรับรู้อุดมการณ์ รับการแบ่งปันข้อมูลความรู้อะไรใหม่ๆ ในฐานะ “สถาบันทางการเมือง”ที่ใกล้จะร้อยปีเข้าไปเรื่อยๆ ความจริงผู้การแต้ม ไม่ต้องลาออกก็ได้แต่ทำ “รายการ” ซึ่งเป็น “ห้องเรียนเพื่อสังคม” อยู่ที่พรรคก็ได้ เพียงแต่พรรคไม่เคยใส่ใจเรื่องพรรค์นี้ ไม่เคยสร้างสื่อของพรรคให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมแบบนี้
7) ผมยังได้ถอดบทเรียน “เลือกตั้งซ่อม-ระยอง”ไว้ในเพจ “ปู จิตกร บุษบา เมื่อวันก่อนด้วยว่า
ถ้าผมเป็นโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ สิ่งแรกที่ผมจะทำทันทีเมื่อทราบผลคะแนนเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดระยองคือ ขอบคุณพี่น้อง อ.แกลง อ.เขาชะเมา ที่ออกมาใช้สิทธิ์ ขอบคุณที่ให้ความไว้วางใจพรรคประชาธิปัตย์ ผ่านคะแนนของคุณหมอบัญญัติ และสัญญาว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะยังคงทำหน้าที่สถาบันทางการเมืองที่ดีต่อไป แม้ไม่ชนะ และขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะ คือ พงศธร ศรเพชรนรินทร์ (โย) จากพรรคก้าวไกล และขอขอบคุณ ร.ต.ต.เรืองชัย สมบัติภูธร ที่ร่วมแข่งขัน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้แก่พี่น้องประชาชน ซึ่งแม้มิใช่โฆษก ก็ขอแสดงความรู้สึกตามที่กล่าวมานี้ด้วยความจริงใจ #ในนามของประชาชนคนหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ประชาธิปไตยมันสนุกตรงนี้ ตรงที่มีการแข่งขัน และประชาชนได้แสดงมติของตนเองออกมา
นักการเมืองและพรรคการเมืองที่มีวุฒิภาวะ จะไม่ถือเป็นเรื่องส่วนตัว จะยอมรับมติประชาชน และมุ่งมั่นทำงานในบทบาทหน้าที่ของตัวเองต่อไป โดยไม่ขย้อนความรู้สึกใดๆ ออกมาให้เลอะเทอะ เช่น นี่คนแกลง คนเขาชะเมา เขาเป็นพวกไม่เอาเจ้าเหรอ? ถูกล้างสมองกันหมดแล้วเหรอ? สิ้นหวังแล้วกับคนระยอง อะไรทำนองนี้
และถ้าจะให้วิเคราะห์ผลแพ้ชนะ ก็จะขออธิบายอย่างนี้ว่า
๑. คุณหมอบัญญัติ เจตนจันทร์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ท่านแพ้ตั้งแต่คราวที่แล้วแล้วครับ และไม่ใช่อันดับสองด้วย อันดับสอง คือ คุณพายัพ ผ่องใส จากพรรคพลังประชารัฐ
๒. ครั้งนี้ ถือเป็นการดวลกันของคะแนนนิยม ๒ ขั้วขั้วก้าวไกล (ผมนับเพื่อไทยอยู่ขั้วนี้ เพราะระยองมีคนเสื้อแดงมาก) มีคะแนนรวมกลมๆ จากคราวที่แล้วราว ๔๐,๐๐๐ คะแนน ขั้วอนุรักษ์นิยม มีคะแนนรวมกลมๆ อยู่ ๓๙,๐๐๐ แม้ดูสูสี แต่ก็ยังแพ้ เพราะนึกไม่ออกว่า อะไรจะทำให้คะแนนก้าวไกลลดลง และอะไรจะทำให้คะแนนหมอบัญญัติเพิ่มขึ้น
๓. สังเกตไหมว่า ผมใช้คำว่า “คะแนนก้าวไกล” กับ “คะแนนหมอบัญญัติ” เพราะผู้เลือกของฝั่งก้าวไกล เขาเลือกที่ “พรรค” บวกกับพรรคก็เลือกคนที่เกาะติดพื้นที่ลงมาแข่ง ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมของระยอง คะแนนจึงไม่หดไม่หาย
๔. โย พงศธร มีทั้งตัวตน (ในฐานะตัวประกอบที่คนพื้นที่รู้จัก) และมีพรรคที่โดดเด่น เป็นกระแส มีเป้าหมาย มีทั้งภารกิจและพันธกิจของพรรคที่ชัดเจน จึงง่ายสำหรับผู้เลือกที่นิยมชมชอบแนวทาง อุดมการณ์ และเป้าหมายของพรรค
๕. หมอบัญญัติ ไม่แพ้ในฐานะตัวบุคคล อาจมีข้อเสียเปรียบอยู่บ้าง ตรงที่เป็น สส. เสียจนคน “ชิน” ชินจนบางคนอาจจะ “เบื่อ” แล้ว และอยาก “ลองของใหม่” หรือขั้นต่ำก็ขาดแรงจูงใจที่อยากจะมาลงคะแนนให้ท่าน
๖. หมอเป็นคนดี มีคุณสมบัติพร้อมที่จะเป็นผู้แทนที่ดีและท่านเป็นเสมอมา แต่ “ในสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน” หมออยู่ในพรรคที่ “พันธกิจไม่ชัดเจน” และเต็มไปด้วยความขัดแย้งกันเอง วันนี้คนนึกไม่ออกว่า จะ “ใช้งาน” พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะอะไร จะร่วมและเร่งให้ประชาธิปัตย์แข็งแกร่งขึ้นเพื่อไป“สู้แทนใคร” “สู้เรื่องอะไร” ประชาธิปัตย์อยู่ในสภาพ “หน่วยงานราชการทางการเมือง” ขาดแรงเร้าในหมู่ผู้เลือก ขณะที่ก้าวไกล กำลังปั้นสงครามทางการเมืองให้คนเข้ามาร่วมรบ ผ่านพันธกิจที่อาจจะดูปลอม หรือเป็นแค่วาทกรรม ในความรู้สึกของคนอีกฝั่ง เช่น เปลี่ยนประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยกว่านี้, ลดความเหลื่อมล้ำ, คนเท่ากัน, ภาษีกู, ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ฯลฯ
๗. จึงจะเห็นว่า ในช่วงหาเสียง พรรคก้าวไกลกลบความเป็นโย พงศธร ที่มีตำหนิเรื่องภาษี เรื่องการถือหุ้นในบริษัทต่างๆ แต่รายได้กลับไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องจ่ายภาษี ฯลฯ เอาความบอบช้ำ และการถูกกระทำของพรรคขึ้นมานำ ย้ำ “ความคับแค้น” แล้วเปลี่ยนเป็นคะแนนเพื่อ “ชนะ”
๘. ประชาธิปัตย์ ใช้ “ตัวคน” คือหมอบัญญัติเข้าสู้ ในฐานะ “คนบ้านเรา” “คนดี” “คนทำงาน” “คนที่ไม่เคยด่างพร้อย” เกมที่ประชาธิปัตย์ใช้สู้ จึงเปรียบเหมือนจะเลือกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในเวลาที่พรรคก้าวไกล “ประกาศสงครามโลก”
๙. ทั้งก้าวไกลและประชาธิปัตย์ ได้ระดม “ซูเปอร์สตาร์” ลงพื้นที่เรียกคะแนนนิยม เพียงแต่ก้าวไกลมี “ศัตรู” ให้แฟนคลับช่วยรบ ประชาธิปัตย์ไม่มี คะแนนของหมอบัญญัติจึงเป็นคะแนนความรักล้วนๆ
๑๐. แต่การเมืองคือ “สงคราม” ครับ เกือบ ๒๐ ปีที่ผ่านมาการเมืองได้พากันเปลี่ยนประชาชนเป็น “อาวุธ” เป็น “ทหารเกณฑ์ทางการเมือง” เป็น “กองกำลัง” ของตัวเอง เพื่อไป “รบ” กับอะไรสักอย่าง
๑๑. ประชาธิปัตย์ไม่ได้สร้างสิ่งนี้ ในอดีตเขาคือผนังทองแดงกำแพงเหล็กที่คนเลือกไปต้าน “ระบอบทักษิณ” วันนี้ คนนึกไม่ออก ว่า เลือกประชาธิปัตย์ไปรบหรือไปรับ (มือ) กับอะไร หรือใคร
๑๒. เมื่อราชบัลลังก์มีภัย คนแห่ไปเลือก พล.อ.ประยุทธ์เป็นอาวุธต่อต้านและคุ้มครอง ไม่สนใจ “วิธีการ” ว่า มาจากรัฐประหาร มาเขียนกติกา และสร้างสมัครพรรคพวกปูทางรออย่างไร สิ่งที่รักที่สุดคือในหลวง หวงที่สุดคือแผ่นดิน พรรคอนาคตใหม่กำหนดสงคราม “ภารกิจ ๒๔๗๕ ยังไม่จบ” นัยคือ ต้องเป็น “ประชาธิปไตยที่ไม่มีอะไรต่อท้ายใช่ไหม? ประชาธิปัตย์เลือกจะรักษากติกา “ประชาธิปไตยที่ไม่สืบทอดอำนาจ ประชาธิปไตยที่ไม่โกง” เพราะเชื่อมั่นว่า ถ้ากติกาดี ทุกคนอยู่ในกติกา บ้านเมืองก็ดี มาแข่งกันที่ฝีมือการบริหารจะดีกว่า อย่าไปดึงสถาบันลงมาสู่การเมืองเลย --สุดท้ายคนเลือกทหารไปรบ ไม่เลือกพระไปรบ ให้นั่งสวดมนต์ไ
๑๓. เมื่อประชาธิปัตย์ไม่เป็น “ตัวเลือก/ตัวแทน” ในภาพใหญ่ นักการเมืองและวิสัยทัศน์แบบท้องถิ่นจึงขึ้นมาเป็นใหญ่ เพราะเขาคุมพื้นที่ได้ เอาพื้นที่อยู่ และขึ้นมาเป็น สส. มีน้ำหนักในการชี้ว่าพรรคจะไปทางไหน
สุดท้าย ภาพที่ “วน” อยู่ในความรู้สึกของคน คือ การทะเลาะกันที่ไม่รู้จบ ยิ่งทะเลาะยิ่งมีอารมณ์ ยิ่งทอดทิ้งความระมัดระวังและความสุขุม เริ่มเข้าสู่แดน “สาวไส้ให้กากิน” และคนส่วนใหญ่เลือกที่จะ “นั่งบนภูดูหมากัดกัน” อันเป็นสถานการณ์ที่กดพรรคประชาธิปัตย์ให้ทรุดลงไปอีก
ต้องขอขอบคุณ คุณหมอบัญญัติ และการเลือกตั้งซ่อม ที่ดึงเอา “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” และ “นราพัฒน์ แก้วทอง” ไปยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ สู้เพื่อให้หมอบัญญัติชนะ
คำถามคือ การแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ที่ระยอง จะมาเติบโต แตกกิ่งแตกก้านที่พรรคประชาธิปัตย์ต่อได้ไหม เพราะนั่นเป็น “ประตูเดียว” ที่เป็น “ทางออก” ไม่ใช่ “ทางตัน”
ประชาธิปัตย์ต้องกลับมาระดมสมอง และกำหนด “ความต้องการของพรรค” จาก “ความต้องการของประชาชน” แล้วสิ่งนั้น จะบ่งชี้เองว่า “ใคร” ควรจะถือธงนำ และคนที่เหลือ ร่วมมือร่วมใจกันผลักดันพรรคให้ฟื้นคืนมา
ศัตรูอยู่นอกบ้าน ในบ้านควรมีเพียงสนามหญ้า มิใช่สนามรบ รบกันเองในบ้าน คนชนะ พรรคสลาย
จะเอาตัวเองก่อนพรรค หรือจะรักษาพรรคไว้ “ร่วมกัน”ให้ “คำตอบ” ให้เร็วที่สุด !!
#ประชาธิปัตย์ไม่ต้องเปลี่ยนไปแต่ต้องเปลี่ยนแปลง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี