กลางดึกของคืนวันที่ 3 สิงหาคม 2566 มีรายงานว่าโดรนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าทิ้งระเบิดใส่ศาลากลางสถานีตำรวจ ค่ายทหารพม่าในเมืองเมียวดี ใกล้ชายแดนไทยเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ระดับสูง รวมทั้งผู้ว่าฯและผู้บัญชาการกองพันทหารตาย 5 ศพ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 16 คน ส่งมารักษาในโรงพยาบาลไทยในเมืองแม่สอด
“ผู้ได้รับบาดเจ็บที่เข้ามารักษาในแม่สอดกลับไปหมดแล้ว” แหล่งข่าวจากแม่สอดกล่าวว่าแม่สอดเป็นเมืองชายแดนไทย คู่แฝดกับเมืองเมียวดี พม่า ซึ่งอยู่ห่างกันแค่แม่น้ำสาละวิน กั้นกลาง เสียงระเบิด เสียงปืนย่อมได้ยินถึงเมืองชายแดนไทย ตลอดถึงความเคลื่อนไหวฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ย่อมไม่คลาดสายตาคนไทย นี่คือเห็นผลที่พาดหัวข่าว“โดรนทิ้งระเบิดสังหารเจ้าหน้าที่พม่าใกล้ชายแดนไทยเป็นสิ่งท้าทายรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ นายสุทิน คลังแสง”
โดยพื้นฐานความจริงฝ่ายรัฐบาลทหารพม่ามีฐานที่มั่นและกองบัญชาการอยู่รัฐชินติดกับรัฐมณีปุระประเทศอินเดีย และกองบัญชาการหรือฐานที่มั่นอันดับสองฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพม่าอยู่ในเขตสะกายทางตะวันตกเฉียงเหนือสหภาพพม่า ดังนั้นการสู้รบระหว่างฝ่ายต่อต้านคือรัฐบาลสามัคคีแห่งชาติ (National Unity Governy=NUG) และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People Defense Force=PDF) ที่สหรัฐอเมริกากับประเทศตะวันตกจัดตั้งขึ้นมา กับรัฐบาลทหารพม่าส่วนใหญ่สู้รบและปราบปรามกันในรัฐชินและเขตสะกายซึ่งอยู่ติดกับชายแดนอินเดีย และเขตสะกายอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสหภาพพม่าซึ่งอยู่ไกลจากชายแดนไทยหลายร้อยกิโลเมตร
ส่วนชายแดนตะวันออกของพม่าที่อยู่ติดกับประเทศไทยการเคลื่อนไหวกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ได้ล่มสลายไปตั้งแต่ปี 2545 ไม่ว่าจะเป็นกะเหรี่ยง เคเอ็นยู หรือ กะเหรี่ยงพุทธ ที่กลายเป็นอาสาสมัคร กองทัพพม่า ส่วนกองทัพคะยาก็ล่มสลายไปนานแล้ว พวกผู้บัญชาการกองทัพกะเหรี่ยง และคะยา ที่หลงเหลืออยู่เข้ามาอาศัยในเมืองชายแดนไทย เช่นแม่สอด แม่สะเรียง หรืออำเภอขุนยวม และอำเภอเมือง จ.แม่ฮ่องสอน
หลังจากพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคเอ็นแอลดีของ นางออง ซาน ซู จี สหรัฐอเมริกากับฝรั่งเศส ประกาศออกหน้าว่า ยังสนับสนุนรัฐบาลนางออง ซาน ซู จี และต่อต้านการยึดอำนาจทุกวิถีทางเมื่อวอชิงตันประกาศเป็นศัตรูกับรัฐบาลทหารพม่า ซีไอเอ อดีตทหารอเมริกันที่แฝงตัวอยู่ในรัฐกะเหรี่ยงมานานก็เริ่มเคลื่อนไหวปลุกผีกลุ่มชาติพันธุ์ขึ้นมาใหม่ อุปโลกน์นายพลบีทู ที่อยู่ในอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารคะยา และอดีตทหารกะเหรี่ยงที่กระจัดกระจายอยู่ในอำเภอแม่สะเรียง และ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ขึ้นมาใหม่ให้เป็นกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า
เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าซีไอเอ เอ็นจีโอ และภาคประชาสังคมฝรั่งที่เคลื่อนไหวอยู่ในเมืองชายแดนไทย-พม่าล้วนแต่เป็นผู้สนับสนุนกลุ่มต้านรัฐบาลทหารพม่าซึ่งซีไอเอและเอ็นจีโอ ฝรั่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่ พวกทหารเก่ากะเหรี่ยง ทหารเก่าคะยา ไร้สมรรถภาพในการสู้รบ ตลอดถึงไม่มีปัจจัย
และอาวุธทันสมัย จึงทำให้หลายฝ่ายเกิดความสงสัยว่า เสียงปืน เสียงระเบิดที่ดังขึ้นใกล้ชายแดนไทยเป็นฝีมือของซีไอเอ สร้างสถานการณ์ขึ้นมาเพื่อให้เป็นข่าว โดรนทันสมัยที่ทิ้งระเบิดใส่ค่ายทหารและศาลากลางเมืองเมียวดีจึงมีคนเชื่อว่าเป็นฝีมือของซีไอเอ
“กะเหรี่ยง คะยา พวกนี้ไม่มีปัญญาสร้างโดรนหรือบังคับโดรนให้ทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายได้หรอก” แหล่งข่าวที่เกาะติดความเคลื่อนไหว และการสู้รบของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง กองกำลังติดอาวุธ คะยา กับทหารพม่ามากว่าสี่สิบปี กล่าวกับ แนวหน้า เขากล่าวด้วยว่าอาวุธทันสมัย ชิ้นส่วนประกอบโดรนตลอดถึงปัจจัยที่ตะวันตกส่งมาให้ฝ่ายต่อต้านล้วนผ่านชายแดนไปถึงมือฝ่ายต่อต้านได้โดยการช่วยเหลือของซีไอเอและเอ็นจีโอฝรั่ง
“พวกอุปกรณ์ประกอบเป็นโดรน จีพีเอส เครื่องจับสัญญาณดาวเทียม อาวุธทันสมัยและปัจจัยอื่นๆ เป็นเอ็นจีโอฝรั่ง นำไปให้ฝ่ายต่อต้าน บางทีเจ้าหน้าที่เราเกรงใจ ฝรั่งเอ็นจีโอ ซีไอเอ ผ่านเข้า-ออกชายแดนได้สบาย” แหล่งข่าวกล่าว
จึงได้กล่าวแต่ต้นว่าระเบิดในเมืองเมียวดีเป็นเรื่องท้าทาย รัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ นายสุทิน คลังแสงสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ สกัดซีไอเอ และ เอ็นจีโอฝรั่ง ไม่ให้นำอุปกรณ์ผลิตอาวุธผ่านชายแดนไทยไปสร้างคลังแสงให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า รัฐมนตรีสุทินต้องเรียนรู้อีกมากถึงความซับซ้อนของการเมือง และความมั่นคงชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน หากรัฐมนตรีกลาโหมได้รับความร่วมมือจากฝ่ายมั่นคงไทยที่ดูแลชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างน้อยก็ต้องเอะใจว่าทำไมเหตุร้ายเกิดขึ้นในเมืองเมียวดีสองวันกันก่อนที่ ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนประกาศว่าไม่ยอมให้พม่าเป็นประธานหมุนเวียนอาเซียนในปี 2026
โดยธรรมเนียมปฏิบัติสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ซึ่งประกอบด้วย บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว พม่า ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม ประเทศเหล่านี้จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน เป็นประธานอาเซียนชาติละหนึ่งปี ตั้งแต่พลเอกมิน อ่อง หล่ายยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ประธานหมุนเวียนอาเซียนสามปีที่ผ่านมามี บรูไน กัมพูชา และล่าสุดอินโดนีเซียไม่ยอมให้รัฐบาลทหารพม่าทำกิจกรรมใดๆร่วมกับอาเซียนตลอดถึงไม่ให้พม่าเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน โดยอ้างรัฐบาลทหารพม่าไม่ปฏิบัติตามฉันทามติห้าข้อ ที่อาเซียนสัญญาจะช่วยคลี่คลายวิกฤติการเมืองพม่า
สำนักข่าวเอพีรายงานจากที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในกรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมว่า ผู้นำอาเซียนตัดสินใจร่วมกัน ไม่ยอมให้พม่าเป็นประธานหมุนเวียนอาเซียนในปี 2026 ทำให้ความพยายามรัฐบาลทหารพม่าที่ให้นานาชาติรับรองต้องล้มเหลวต่อไป โดยธรรมเนียมปฏิบัติประธานหมุนเวียนอาเซียนเป็นไปตามลำดับอักษรภาษาอังกฤษดังนั้นต่อจาก สปป.ลาว ก็ เป็นพม่า
เอพีรายงานด้วยว่าประธานาธิบดี เฟอร์ดินันมากอส จูเนียร์ ออกแถลงการณ์จากที่ประชุมลับกับผู้นำอาเซียนว่า ประเทศฟิลิปปินส์ จะรับเป็นประธานหมุนเวียนอาเซียนในปี 2026
ยังไม่มีปฏิกิริยาจากรัฐบาลทหารพม่าที่เคยประณามว่า 3 ปีที่ผ่านมา อาเซียนทำผิดกฎเกณฑ์และหลักปฏิบัติอาเซียนที่ไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศสมาชิกและข้อตกลงใดๆ ต้องเป็นฉันทามติ เมื่อผู้นำพม่าไม่ได้ร่วมประชุมสุดยอดผู้นำแล้ว ถือเป็นฉันทามติได้อย่างไร นายกรัฐมนตรีไทยไม่ไปร่วมประชุมในจาการ์ตาเนื่องจากอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล และมีเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่จากกระทรวงการต่างประเทศไปร่วมประชุมในนามประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์การเมืองพม่ากล่าวว่า พม่าไม่แคร์ว่าอเมริกาและตะวันตกตลอดถึงอาเซียนจะกดดันคว่ำบาตรอย่างไร “ทหารพม่าถูกตะวันตกคว่ำบาตรมาห้าสิบปีแล้วเขายังอยู่ได้ ยิ่งอาเซียนคว่ำบาตรตามก้นฝรั่ง ผู้เสียหายไม่ใช่พม่าแต่เป็นอาเซียนเอง” แหล่งข่าวกล่าวและอธิบายว่า ยิ่งอเมริกากับประเทศวันตกและอาเซียนกดดันพม่ามากเท่าไหร่ จีน อินเดีย รัสเซียยิ่งช่วยเหลือและค้าขายกับพม่าขึ้นเท่านั้น ที่สำคัญประเทศเพื่อนบ้านพม่าไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย สปป.ลาว และประเทศไทย ยังคงไปมาหาสู่ และค้าขายกับพม่าเป็นปกติ ส่วนประเทศสิงคโปร์ ที่เบื้องหน้าตามก้นอเมริกา ประณามคว่ำบาตรพม่า แต่ปรากฏว่า สิงคโปร์เป็นแหล่งทำธุรกรรมการเงินใหญ่สุดของพม่า นอกจากนั้น มีรายงานจากยูเอ็นว่า 19 บริษัทจดทะเบียนในสิงคโปร์ เป็นตัวแทนขายอาวุธให้พม่า ดังนั้น อาเซียนยิ่งคว่ำบาตรพม่ามากเท่าไหร่ ความเสียหายก็เกิดขึ้นกับอาเซียนมากเท่านั้น
คอลัมน์ทวนกระแสข่าว ติดตามข่าวอาเซียนและความซับซ้อนของความสัมพันธ์ไทย พม่ามานานจึงได้แต่หวังว่า นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงต่อหน่วยงานความมั่นคง ต้องผ่านความท้าทายครั้งนี้ไปให้ได้ เหมือนกับที่เคยเป็นประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (เสื้อแดง) จังหวัดมหาสารคามต่อสู้กับทหาร จนพรรคเพื่อไทย เลื่อนขั้นให้เป็นสมุหกลาโหม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี