ก็เป็นอันแน่นอนแล้วว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๗ ของรัฐบาลที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี จะถูกปรับเปลี่ยนให้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณ ๓.๓๕ ล้านล้านบาท เป็น ๓.๔๘ ล้านล้านบาท โดยยังคงเป็นงบประมาณขาดดุล ซึ่งเป็นที่คาดการณ์ว่าในส่วนของงบประมาณที่ถูกปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า ๑ แสนล้านบาทนั้น จะถูกนำไปใช้ในโครงการต่างๆ ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และปรับฐานะความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อยให้ดีขึ้น งบประมาณส่วนที่จะต้องเพิ่มขึ้นนี้ น่าจะต้องมาจากเงินกู้เป็นหลัก ซึ่งย่อมทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอันเป็นภาระของรัฐบาลมากขึ้น
ในส่วนของการหารายได้ของรัฐเพิ่มนั้น คงเห็นชัดเจนแล้วว่าจะมุ่งเน้นการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว โดยการเพิ่มยอดนักท่องเที่ยวจากเดิมที่คาดกันว่าจะอยู่ที่ประมาณ ๒๕ ล้านคนให้เป็น ๓๐ ล้านคนเป็นอย่างต่ำ โดยนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนยังคงเป็นตลาดหลัก ซึ่งรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้วให้ นักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเข้ามายังประเทศไทยได้ในลักษณะฟรีวีซ่า ซึ่งหมายความว่าไม่ต้องมีวีซ่าแต่อย่างใด ซึ่งได้ให้ใช้กับนักท่องเที่ยวจากประเทศคาซัคสถานเช่นกัน และเชื่อว่าอาจจะขยายไปยังประเทศอื่นๆ อีกด้วย
นอกจากการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศแล้ว รายได้จากสินค้าส่งออกอื่นๆ ก็ยังเป็นรายได้ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นจากอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และสินค้าการเกษตร ซึ่งข้าวก็ยังคงเป็นสินค้าหลัก ที่ทำรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นอันดับต้นๆ นอกเหนือจากสินค้าที่เป็นอาหารสำเร็จรูปและอื่นๆ ซึ่งสินค้าต่างๆ เหล่านั้นหากส่งออกได้มากขึ้นก็ย่อมนำมาสู่รายได้ของประเทศที่เพิ่มมากขึ้นแน่นอน แต่สิ่งที่ควรทำเพิ่มเติมด้วยก็คือการจัดเก็บภาษี ของการค้าขายในประเทศ ให้มีความครบถ้วนมากยิ่งขึ้น
หากย้อนประวัติศาสตร์การค้าขายของชาติไทยกับต่างชาติไปในอดีต ก็จะพบว่า บันทึกทางประวัติศาสตร์ได้กล่าวไว้ว่าชาติไทยได้เริ่มการค้าขายมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งได้รับการสถาปนาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๑๗๘๒ โดยมีพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรก
บันทึกเรื่องการค้าขายได้เกิดขึ้นในสมัยที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระราชโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ได้ขึ้นครองราชย์ และได้ขยายอาณาเขต อำนาจปกครองลงไปตลอดแหลมทอง ครอบคลุมอาณาจักรฟูนัน อาณาจักรทวารวดี อาณาจักรศรีวิชัย ที่มีการค้าขายมาก่อนแล้ว โดยเป็นตลาดใหญ่ที่มีการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศ อาทิ กับจีน กับมอญ เป็นต้น จึงเป็นช่องทางที่ทำให้พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้เห็นโอกาสที่จะทำให้ประเทศมั่งคั่งสมบูรณ์ จากการค้าขายระหว่างเมืองและระหว่างประเทศ ดังที่ได้ปรากฏไว้ในหลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่จารึกไว้ว่า “เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงงัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจะใคร่ค้าม้าค้า ใครจะใคร่ค้าเงินค้าทองค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส”
คำว่าจกอบมาจากภาษาเขมรว่า จังกอบ แปลว่าภาษีชนิดหนึ่งที่เก็บจากผู้นำสัตว์และสิ่งของที่มาจำหน่าย ซึ่งคงจะเรียกเก็บจากสินค้าเข้าออกของพ่อค้าที่ค้าขายกันในแหลมทองมาตั้งแต่โบราณกาล เช่น ในอาณาจักรฟูนันและศรีวิชัย รวมทั้งเมืองในชั้นหลังๆ ที่ดำเนินการแบบเดียวกัน การยกเลิกการเก็บจกอบโดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนั้น นับว่าเป็นการที่พระองค์ได้มุ่งส่งเสริมการค้าขายระหว่างประเทศเป็นการใหญ่ เปิดโอกาสให้พ่อค้าไทยกับต่างประเทศได้นำสินค้าเข้ามาและออกจากสุโขทัยได้โดยไม่ต้องเสียภาษีใดๆ เทียบเท่ากับปัจจุบันนี้ก็คือฟรีเทรด
จากการที่พระองค์ได้ขยายอาณาเขตไปอย่างกว้างขวาง ทำให้กรุงสุโขทัยเป็นจุดสำคัญในการติดต่อค้าขาย โดยมีเส้นทางติดต่อหลายเส้นทาง เส้นทางแรกคือระหว่างกรุงสุโขทัยกับเมืองเมาะตะมะ มะริด และตะนาวศรี ซึ่งเชื่อมโยงกรุงสุโขทัย กับมอญ พม่า อินเดีย เปอร์เซีย อาหรับ และแอฟริกา ทำให้กรุงสุโขทัย ส่งสินค้าเช่นเครื่องสังคโลกผ่านไปยังเมืองต่างๆ เหล่านั้นได้ และส่งต่อไปขายยังต่างประเทศ
เส้นทางที่ ๒ ระหว่างสุโขทัยกับหัวเมืองฝ่ายใต้ตั้งแต่เพชรบุรีลงไปถึงนครศรีธรรมราช ปัตตานีและตลอดแหลมมลายู ส่วนเส้นทางที่ 3 คือ
เส้นทางอื่นๆ ที่ไปยังจีน เขมร ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาหลี ศรีลังกา และอินเดีย ซึ่งเส้นทางที่กล่าวมานี้ จะเห็นว่ามีทั้งเส้นทางบกและเส้นทางน้ำ
สินค้าส่งออกที่สำคัญจากกรุงสุโขทัยได้แก่เครื่องสังคโลก ผลิตผลการเกษตรและของป่า หนังสัตว์ ไม้ฝางไม้กฤษณา งาช้าง นอแรด ส่วนสินค้านำเข้า ได้แก่ผ้าแพร ผ้าไหม ผ้าต่วน เครื่องเหล็ก และอาวุธต่างๆ
การเริ่มมีระบบเงินตรามาใช้ช่วยทำให้ระบบเศรษฐกิจดีขึ้น เป็นการจูงใจให้ประชาชนประกอบอาชีพเพื่อจะได้มีทรัพย์สินเป็นของตนเอง และด้วยเหตุที่สุโขทัยมีแร่ธาตุหลายชนิด เช่น เงิน ทอง ดีบุก เหล็ก จึงมีการนำแร่เงินมาใช้ในการทำเงินตราที่เรียกว่าเงินพดด้วง เป็นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดความสะดวกในการแลกเปลี่ยนสินค้า โดยเงินพดด้วงเหล่านั้นแบ่งออกเป็นสลึง บาท และตำลึง ส่วนเงินตราที่มีค่าน้อยคือ เบี้ยหอย ที่ทำจากหอย การที่มีเงินตราใช้ทำให้เกิดความสะดวกต่อการชำระหนี้ในการซื้อขายและเกิดการกระจายสินค้าอย่างกว้างขวาง ตลาดการค้าขยายตัว พ่อค้าได้รับความสะดวก ทำให้เกิดความรุ่งเรืองขึ้นในอาณาจักรสุโขทัยอย่างมากมาย
สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันนี้ สินค้าส่งออกแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่คือสินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
สินค้าอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ คือรถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณี และเครื่องประดับ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน
ส่วนสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่สร้างรายได้อันดับต้นๆ คือข้าว น้ำตาลทรายเครื่องดื่ม ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ผักกระป๋อง และผักแปรรูป ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา เหล่านี้ เป็นต้น
โดยปัจจุบันนี้แนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะลดลง โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวกับการเกษตร จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดใหม่นี้จะต้องตระหนักและหาวิธีการจัดการให้ดีที่สุด เพื่อให้ปริมาณการส่งออกของสินค้าเพิ่มมากขึ้น อันจะนำรายได้กลับเข้ามาสู่ประเทศ อย่าหวังเพียงแค่การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเท่านั้น มิเช่นนั้นการทุ่มเงินไปในโครงการที่พูดไว้ในการหาเสียง ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลจะส่งผลสะท้อนกลับมากระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศอย่างแน่นอน
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี