รัฐบาลเศรษฐาเพิ่มงบประมาณแผ่นดิน 2567 สูงขึ้นจากกรอบเดิม 1.3 แสนล้านบาท
ส่วนหนึ่งเพื่อนำไปใช้หนี้ และใช้จ่ายโครงการตามนโยบาย
1. นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นเศรษฐีก็จริง
แต่รัฐบาลเศรษฐาไม่ใช่เศรษฐีตามไปด้วย
ตรงกันข้าม เป็นรัฐบาลที่มีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายอยู่เป็นพื้นฐาน
ปรากฏว่า เข้ามาสู่อำนาจปุ๊บ ก็มีแต่จ่ายกับจ่าย
รายจ่ายท่วมรายได้ แล้วยังมาเพิ่มรายจ่ายเข้าไปอีก แถมยังลดรายได้บางอย่างลงไปอีกด้วย
มีทั้งยืมมาแจก กู้มาจ่าย และยอมเสียโอกาสรายได้เพื่อรักษาหน้า รักษาคะแนนนิยมทางการเมือง
2. คงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
มติ ครม. ขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มออกไปอีก 1 ปี โดยให้คงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 6.3 (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้า
ทุกกรณี
หากไม่มีการขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยจัดเก็บในอัตราตามประมวลรัษฎากรร้อยละ 11.11 (รวมภาษีท้องถิ่น) จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 380,000 ล้านบาทต่อปี
พูดง่ายๆ ยอมเสียโอกาสที่รัฐจะมีรายได้เพิ่ม 380,000 ล้านบาทต่อปี
3. ตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร เริ่ม 20 ก.ย.-31 ธ.ค.นี้
ใช้กลไกการลดภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบริหาร
ลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 2.5 บาทต่อลิตร เพื่อให้ระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร (ปัจจุบัน 31.99 บาทต่อลิตร)
การลดภาษีสรรพสามิตดีเซล ก็จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้มากขึ้นไปอีก จากที่ผ่านมาสูญเสียรายได้เดือนละประมาณหมื่นล้านบาท
ส่วนราคาเบนซิน ก็จะมีการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และแท็กซี่
4. ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ครัวเรือน ตรึงราคาขายปลีก 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค. 2566
ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
รวมทั้งจะมีมาตรการช่วยเหลือส่วนลดค่าก๊าซหุงต้มให้ผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มเป้าหมาย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ทั้งหมด ไม่มีของฟรีแต่มีภาระต้นทุนเข้าไปโอบอุ้มทั้งสิ้น
5. ปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวด ก.ย.-ธ.ค. 2566 เดิมที่อัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย ลงเหลือ 4.10 บาทต่อหน่วย
จะมีมาตรการช่วยกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้ใช้ไฟประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ต่อไปอีกด้วย
การลดค่าเอฟที จะทำให้ต้นทุนภาระที่ต้องจ่ายคืนหนี้ กฟผ. ยืดออกไปอีก จากภาระที่ กฟผ.แบกรับต้นทุนค่าเชื้อเพลิงไว้แทนประชาชนราว1.1 แสนล้านบาท
6. มาตรการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ มีผลดีระยะสั้นสำหรับประชาชนที่ได้ประโยชน์ แต่มีต้นทุนที่ต้องจ่ายคืนในระยะยาว
ที่ผ่านมา กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ ณ วันที่ 10 ก.ย. 2566 มีฐานะสุทธิติดลบ 59,085 ล้านบาท
แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 14,311 ล้านบาท
บัญชี LPG ติดลบ 44,774 ล้านบาท
ราคาตลาดโลกน้ำมันช่วงนี้ขยับขึ้นต่อเนื่อง และเข้าสู่ฤดูหนาวของยุโรป จึงยิ่งทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกขยับสูงต่อเนื่อง
ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ควักเงินอุ้มราคาดีเซล ณ 15 ก.ย. 2566 ทำสถิติใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 7.71 บาท/ลิตร
พูดง่ายๆ ว่า ถ้าไม่มีการอุ้มราคาขายปลีกดีเซล ณ วันที่ 15 ก.ย. จะมีราคาถึง 39.65 บาท/ลิตร
การจะตรึงไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร จึงเป็นเรื่องพูดง่าย แต่เวลาทำจะต้องมีต้นทุนและแรงกดดันจากการเข้าไปอุ้มเพิ่มขึ้นทุกวัน ทุกวัน มหาศาล
เป็นไปตามราคาน้ำมันในตลาดโลก
7. ไหนจะมีมาตรการแจกเงิน 10,000 บาท เข้ากระเป๋าดิจิทัล วอลเล็ต ต้องใช้เงินอีก 560,000 ล้านบาท
คาดว่า จะยืมมาแจก
ท่ามกลางเสียงท้วงติงของมืออาชีพผู้เชี่ยวชาญ อาทิ ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ อดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติ อดีตปลัดคลัง นักเศรษฐศาสตร์สำนักต่างๆ ฯลฯ
8. คุณกรณ์ จาติกวณิช ได้ออกโรงเตือน “ว่าด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ กับ ภาระทางการคลัง”
ระบุว่า
“...ระหว่างที่ถกเถียงกันเรื่องนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินดิจิทัล 10,000 บาท ขอให้สังเกตประมาณการสถานะทางการเงินล่าสุดของประเทศให้ดีครับ
กระทรวงการคลังเสนอประมาณการชุดนี้ในการประชุมครม.แรกของ #รัฐบาลเศรษฐา
สำหรับใครที่ไม่ชอบดูตารางข้อมูลแบบนี้ ผมขอสรุปประเด็นสำคัญให้ ดังนี้
1. รายได้รัฐบาลเพิ่มขึ้น
2. แต่รายจ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่า
3. รัฐบาลเลยจะขาดดุลมากขึ้น (3% ของ GDP จากที่เดิมคาดว่าจะลดลงเหลือ 2.8% ในปีหน้า)
4. ในขณะที่เศรษฐกิจโตช้ากว่าที่คาดไว้เดิม
5. ดังนั้นสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จึงสูงขึ้นมาก (64% vs เดิม 61.35%)
แล้วไง?
ประมาณการใหม่นี้กำลังสร้างความกังวลให้นักเศรษฐศาสตร์อย่างมากเพราะอะไร?
เพราะทุกอย่างมีต้นทุน คือมี “ราคาที่ต้องจ่าย” ซึ่งราคาที่ว่านี้ปรากฏชัดเจนในส่วนของต้นทุนดอกเบี้ยของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น อย่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ทะลุ 3% ไปแล้ว เพิ่มขึ้นมากว่า 50bps ในช่วงไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา
... และประมาณการนี้ยังไม่ได้รวมนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาล ซึ่งอย่างไรรัฐบาลก็ต้องกู้ หรือยืมรัฐวิสาหกิจมาแจก
วันนี้ หนี้รัฐบาลมีอยู่ 11 ล้านล้านบาท
รัฐบาลต้องออกพันธบัตรใหม่มาชำระชุดเก่าตลอดเวลา ซึ่งต้นทุนก็จะมีแต่สูงขึ้น เป็นภาระต่องบประมาณมากขึ้น แนวโน้มดอกเบี้ยเราจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยหลากหลายปัจจัย เช่น การส่งออกที่ซบเซา ราคานํ้ามันโลกที่สูงขึ้น รวมไปถึงรายจ่ายภาครัฐจากนโยบาย “กระตุ้นเศรษฐกิจ” ของรัฐบาลใหม่
จุดแข็งของไทยเราคือ เราแทบไม่มีหนี้สกุลเงินต่างประเทศ
แต่อย่างไรเราก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจของโลก ไม่ระวังไม่ได้ครับ”
9. จากพฤติการณ์ของรัฐบาลเศรษฐา
กู้มาจ่าย ยืมมาแจก
อาจเข้าข่ายขายผ้าเอาหน้ารอด
จะเกิดความเสี่ยงมหาศาลกดดันไปที่ระบบการเงินการคลังของประเทศไทย
คิดดีๆ ทบทวนเสียเถอะ
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี