การแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาลผสมสิบเอ็ดพรรค นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย ผ่านไปแล้วเมื่อวันที่ 11-12 กันยายน ที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงตำหนิวิจารณ์จาก สส. และ สว. ว่าเป็นนโยบายเลื่อนลอยไม่มีเป้าหมายไม่มีรายละเอียดในการนำมาปฏิบัติ ไม่มีมาตรการว่าปฏิบัติอย่างไร และไม่มีกำหนดกรอบเวลาว่าปฏิบัติตอนไหน เมื่อไหร่
ในเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงภายใน มีผลกระทบรุนแรงต่อบูรณภาพเหนือดินแดนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวแบ่งแยกไม่ได้ตลอดถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของคนไทย คือปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ที่ยืดเยื้อมากว่า 22 ปี คร่าชีวิตไทยพุทธ ไทยมุสลิมไปแล้ว 7,520 คน (ตัวเลขนายชวน หลีกภัย อภิปรายในสภา)บาดเจ็บพิการกว่าสองหมื่นคน
แต่เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่รัฐผสมชุดใหม่ไม่ได้บรรจุไว้ในนโยบายรัฐบาล ไม่มีมาตรการจะแก้ปัญหายืดเยื้อนี้อย่างไร และไม่มีกรอบเวลาจะแก้ปัญหาเมื่อใดด้วยวิธีไหน ในห้วงเวลาของการอภิปราย สส.พรรคร่วมรัฐบาลอย่างน้อย 9 คนที่ได้รับเลือกตั้งจากสามจังหวัดภาคใต้ คือยะลา ปัตตานี และ นราธิวาส ก็ไม่ได้อภิปรายถึงประเด็นนี้ไม่นับรวมประธานรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์มะทา ท่านไม่อยู่ ในฐานะจะอภิปราย หรือ ชี้นำ สส. สว. ได้
จึงทำให้เกิดความสงสัยว่า เพราะอะไรรัฐบาลนี้ จึงไม่ได้บรรจุปัญหาความรุนแรงชายแดนใต้ไว้ในนโยบายรัฐบาล ดังที่นายชวน หลีกภัยอดีตนายกรัฐมนตรี และ อดีตประธานรัฐสภาตำแหน่งละสองสมัย แสดงความสงสัยว่า รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาความรุนแรงสามจังหวัดภาคใต้ เพราะกลัวว่า หากแถลงอะไรออกไปอาจสร้างความสั่นสะเทือนถึง อดีตผู้นำรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ผู้เป็นต้นตอของปัญหา เนื่องจากสั่งการนโยบายผิดพลาดเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงบานปลายแก้ไม่ได้จนทุกวันนี้
นายชวน ได้อภิปรายถึงปัญหาความรุนแรงในจังหวัดภาคใต้ ว่าเกิดขึ้นจากความผิดพลาดนโยบายที่หัวหน้ารัฐบาลสั่งการหน่วยงานมั่นคง เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2544 นายชวน เท้าความว่า วันที่ 7 เมษายน 2544 ได้เกิดระเบิดรุนแรงขึ้นที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ ในวันที่ 8 เมษายน นายกรัฐมนตรี ให้เรียกประชุมหน่วยงานมั่นคงและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามถึงสาเหตุว่า ใครกลุ่มไหนเป็นผู้ก่อเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบในขณะนั้นรายงานว่า สาเหตุเกิดจากโจรก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน ซึ่งมีประมาณ 50-60 คน ผู้นำรัฐบาล จึงสั่งให้จัดการกวาดล้างให้หมดภายในเวลา 5-6 เดือน #จัดการวันละ10 คน ไม่กี่วันก็หมด
นายชวน อธิบายต่อสภาว่า การให้นโยบายอย่างนั้น เหมือนการสั่งฆ่า ซึ่งเป็นนโยบายนอกกฎหมาย อภิปรายถึงตอนนี้ทั้ง สส.ฝ่ายค้านและ สส. พรรคร่วมรัฐบาล ประท้วงว่า นายชวนอภิปรายนอกประเด็น ย้อนรอยถอยหลังนานเกินไป ด้วยความเป็นผู้อาวุโส นายชวน จึงสาธยายเหตุรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ ได้ไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม นายชวน เคยพูดกับผู้เขียนว่า ข้อสั่งการดังกล่าวในวันที่ 8 เมษายน นำไปสู่การอุ้มฆ่า อุ้มหายเป็นระยะๆ
ส่งผลให้นโยบายในยุคของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ภายใต้แนวทาง เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ถูกทำลายลงหมดสิ้น และได้เกิดเหตุรุนแรงกลับคืนขึ้นมาอีกใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ถูกลอบฆ่า เป็นการแก้แค้น เพื่อเอาอาวุธปืนไปใช้ในการก่อความรุนแรง และได้เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนขึ้น เมื่อ
วันที่ 4 มกราคม 2547 ที่ค่ายปิเหล็ง นอกจากนั้น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นหน่วยราชการที่จัดตั้งขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหา ด้วยวิธีการ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ก็ถูกยกเลิก ในยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย
หลังเหตุการณ์ปล้นปืน ก็มีการปะทะกัน มีการประท้วงตำรวจ ทหาร โดยการใช้ผู้หญิงนำหน้าและก็ตามด้วยการสังหารหมู่ในมัสยิดกรือเซะที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่า ก่อความไม่สงบ ถูกยิงตายในมัสยิด 32 ศพ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ความจริงในวันนั้น มีการปะทะกันทั่วสามจังหวัดภาคใต้ในปัตตานี ยะลา และอำเภอสะบ้าย้อยในจังหวัดสงขลา ที่มีผู้ถูกกล่าวหาว่าก่อความไม่สงบตาย 111 ศพ รวมทั้งทีมฟุตบอล จากสะบ้าย้อยถูกยิงตายทั้งหมด 18 ศพ
หลังจากเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ มีการลอบยิงลอบวางระเบิด และปล้นปืนจากอาสาสมัคร จากตำรวจ ทหารมากขึ้น ผู้ต้องหาปล้นปืนถูกจับ 6 คน ประชาชนทำการประท้วงกดดันให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา จนเจ้าหน้าที่ย้ายผู้ต้องหาจากสถานีตำรวจจังหวัดยะลาไปยังอำเภอตากใบ แต่ผู้ประท้วงซึ่งอยู่ระหว่างถือศีลอด ไม่ลดละความพยายามตามไปประท้วงถึงตากใบ จนมีการปะทะกัน
เวลาผ่านไปหลายชั่วโมง ท่ามกลางความตึงเครียด อ่อนเพลียจากการถือศีลอด ทำให้ผู้ประท้วงถูกล้อมจับโดนมัดมือไพล่หลังโยนขึ้นรถทหาร นอนทับซ้อนกันเป็นชั้นๆ เดินทางจากอำเภอตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธฯ จังหวัดยะลา การใช้เวลาทับซ้อนกันนานเกินไป เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาขาดอากาศหายใจตาย 84 ศพ และ สูญหาย 60 คน
เหตุการณ์ปล้นปืนค่ายทหาร เหตุการณ์รุนแรงในมัสยิดกรือเซะ และ ความตายจากการประท้วงที่ตากใบ ทำให้ขบวนการผู้ก่อความไม่สงบ เติบใหญ่ขึ้นอย่างก้าวกระโดด และ มีแนวร่วมมากขึ้นตามลำดับ
ผู้เขียนจึงเห็นพ้องกับนายชวน ที่กล่าวว่าต้นเหตุของปัญหามาจากนโยบายผิดพลาดเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2544 ในเดือนเมษายนปี 2548 ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ รักษาการประธานองค์กรแบ่งแยกดินแดน หรือ พูโล นายลุกมาน บิน ลิมา ในประเทศอินโดนีเซีย
ก่อนจบสัมภาษณ์นายลุกมาน พูดขึ้นลอยๆ ว่า “#ต้องขอบคุณรัฐบาลไทย ที่ใช้ความรุนแรงในกรือเซะและตากใบ ทำให้ขบวนการแบ่งแยกดินในภาคใต้ที่เงียบหายไปนาน ได้ฟื้นฟูเข้มแข็งขึ้นมาใหม่ รัฐบาลไทยผลักดันให้คนที่ไม่เคยมีอุดมการณ์หันมาร่วมมือกับเรามากขึ้น”
อนึ่ง : นายลุกมานและองค์การพูโลส่วนใหญ่ลี้ภัยในสวีเดน ไม่มีบทบาทในปฏิบัติการณ์ภาคสนาม แต่เขายังมีความสัมพันธ์ทางด้านอุดมการณ์ จึงมักได้ข้อมูลตลอดถึงผลลัพธ์ของผู้ปฏิบัติการในประเทศไทย ผู้เขียนจึงได้สัมภาษณ์ เขาในนามสำนักข่าวเอพี
เอาละกลับมาพูดถึงความสงสัยว่า ทำไมรัฐบาลนายเศรษฐา ถึงไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาชายแดนใต้เป็นไปได้หรือไม่?ว่า นอกจากกลัว จะกระทบกระเทือนถึงเจ้าของพรรคเพื่อไทยแล้ว รัฐบาลนายเศรษฐากับพรรคก้าวไกล ซึ่งฝ่ายค้าน อาจมีความเข้าใจร่วมกันว่า ถึงเวลาให้สามจังหวัดภาคใต้ ได้เป็นอิสระจากรัฐไทย เพราะทั้ง สส.ฝ่ายค้าน
และสส.รัฐบาล จากสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้ปลุกระดมหาเสียงให้รัฐปาตานี เป็นอิสระจากสยาม จะเห็นได้ว่าหลังจากการเลือกตั้ง สส. ในพื้นที่ทั้งจากฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลสมคบกับนักศึกษาจัดสัมมนาและทำประชามติให้ปาตานี เป็นเอกราชจากสยาม โดยถูกกฎหมาย จน กอ.รมน.ภาค 4 แจ้งความดำเนินคดีข้อหาขบถแยกดินแดน
ดังนั้นจึงอดสงสัยไม่ได้ที่รัฐบาลเศรษฐาไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาความรุนแรงสามจังหวัดภาคใต้ อาจเป็นเพราะพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล จะร่วมมือกันร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เปิดโอกาสให้สามจังหวัดภาคใต้เป็นอิสระจากส่วนกลางไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี