นโยบายในการหาเสียงของพรรคการเมืองบางพรรคก่อนหน้าการเลือกตั้งครั้งหลังสุดนี้ ที่ได้กล่าวถึงการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นที่ถูกอกถูกใจของกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มหนุ่มทั้งหลาย ที่จะไม่ต้องเข้ามารับใช้ชาติในฐานะทหารเกณฑ์ ซึ่งอาจจะต้องเข้าผึกและปฏิบัติหน้าที่อย่างน้อย ๑-๒ ปี โดยเสนอให้ผู้ที่สมัครใจจะเป็นทหารสมัครเข้ารับใช้ชาติเอง กำลังเป็นเรื่องที่จะถูกสานต่อหลังจากที่ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว
เรื่องนี้เป็นเรื่องซึ่งอาจจะกระทบกับอัตรากำลังพลของกองทัพ ซึ่งต้องมีการเตรียมแผนและเตรียมการเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควร เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีบางฝ่ายออกมาพูดว่าประเทศไทยไม่ต้องมีกำลังรบมากมาย เพราะในยุทธศาสตร์ยุคใหม่นั้น หากเกิดสงครามใหญ่ก็จะมีการใช้อาวุธที่ทันสมัยและส่วนใหญ่เป็นอาวุธพิสัยไกล อาทิ จรวดนำวิถี จากภาคพื้นอากาศและภาคพื้นดินในการรบเป็นหลัก ประเทศไทยเราก็คงสู้ใครไม่ได้ ซึ่งเป็นคำพูดที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีของประเทศและกองทัพเป็นอย่างมาก ไม่สมควรที่ชาวไทยทั้งหลายที่หากมีเลือดรักชาติจะพูดจาเช่นนี้
ปัจจุบันนี้ การเกณฑ์ทหารในแต่ละปีจะมีการกำหนดตัวเลขของกำลังพลที่จะต้องผ่านการตรวจเลือกเพื่อเข้าเป็นทหารที่ชัดเจนพอสมควร โดยในปีล่าสุดคือปี ๒๕๖๖ มีความต้องการเป็นจำนวนประมาณ ๖ หมื่นนาย ซึ่งปรากฏว่มีทหารที่ผ่านการตรวจเลือกโดยการสมัครใจสมัครเข้ารับราชการเอง เป็นจำนวนถึง ๓๕,๖๑๗ นาย โดยเป็นผู้สมัครจากระบบออนไลน์จำนวน ๑๐,๑๕๖ นาย และผู้ที่สมัครในระหว่างการตรวจเลือก ๒๕,๔๖๑ นาย และยังมีตัวเลขที่น่ายินดีว่า มียอดผู้สมัครร้องขอเต็มจำนวนที่ต้องการในหน่วยตรวจเลือกถึง 9 แห่ง ในอำเภอไทรน้อย ปากเกร็ด บางกรวย จังหวัดนนทบุรี อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล อำเภอเทพา หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และอำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร โดย ๑ ใน ๑๐ ของผู้สมัคร เป็นผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและโท
โดยความจริงแล้ว ทางกองทัพได้ดำเนินการในการตรวจเลือกทหารโดยเปิดโอกาสให้ชายไทยที่มีความรับผิดชอบ สมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพมาหลายปีแล้ว และตัวเลขของผู้สมัครหากย้อนหลังไปตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ ถึง ๒๕๖๖ ก็มียอดเพิ่มขึ้นตามลำดับ ฉะนั้นการที่พรรคการเมืองต่างๆ ออกมาหาเสียงโดยการประกาศว่าจะยกเลิกการเกณฑ์ทหารทั้งหมดนั้น อาจจะถือได้ว่าเป็นการชุบมือเปิบในสิ่งที่กองทัพได้ทำอยู่แล้วมาขยายผลเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อพรรคในการเลือกตั้งนั่นเอง
หากย้อนไปดูยอดความต้องการของกองทัพในแต่ละปี ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ จะพบว่า จำนวนยอดเกณฑ์ทหารลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยลดจาก ๑๐๔,๗๓๔ นาย จนถึงปี ๒๕๖๕ เหลือเพียงจำนวน ๕๘,๓๓๐ นายเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายใหม่ของกองทัพ ที่ต้องการให้ชายไทยเข้ามาโดยสมัครใจเพิ่มมากขึ้น โดยการจูงใจด้วยสวัสดิการและได้สิทธิรับราชการเป็นทหารชั้นประทวนหรือนายสิบเมื่อครบระยะเวลาที่เป็นทหารเกณฑ์ตามที่กำหนด
คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า กำลังพลของกองทัพนั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการปกป้องประเทศและต่อสู้กับอริราชศัตรู ที่อาจจะรุกเข้ามายังประเทศของเรา ซึ่งหากย้อนไปดูประวัติศาสตร์ก็จะพบว่า การที่ประเทศไทยอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ และยังเป็นชาติไทยไว้ได้นั้น เกิดมาจากความเข้มแข็งของกองทัพไทย อันมีพระมหากษัตริย์ผู้กล้าหาญหลายพระองค์เป็นจอมทัพ แต่ถึงกระนั้นในบางคราวที่ข้าศึกยกทัพใหญ่มาเพื่อหมายยึดครองหรือทำลายล้างชาติไทยเรานั้น จะมีการใช้กำลังพลมากมายมหาศาลอย่างที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ จนทำให้กรุงศรีอยุธยาต้องสูญเสียเอกราชถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรกในปีพุทธศักราช ๒๑๑๒ ในสมัยสมเด็จพระมหินทราธิราช และครั้งที่ ๒ ในปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ
ในการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกนั้น กองทัพพม่าโดยการนำของผู้ชนะสิบทิศ คือพระเจ้าบุเรงนอง พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรตองอู ได้นำกำลังทัพซึ่งเชื่อกันว่ามีมากกว่า ๕๐๐,๐๐๐ นาย เพื่อมารบกับกรุงศรีอยุธยา โดยการเคลื่อนทัพรวม ๗ ทัพเข้ามาทางด่านแม่ละเมา โดยมาล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่เป็นระยะเวลายาวนานกว่า ๑๐ เดือน ซึ่งในส่วนของกรุงศรีอยุธยาไม่เคยมีการระดมกำลังทหารได้มากกว่า ๒๐๐,๐๐๐ นาย จึงต้องตั้งรับอยู่ในกรุง ทั้งสองฝ่ายได้ใช้ปืนใหญ่ในการยิงต่อสู้กัน และในที่สุดกรุงศรีอยุธยาก็เกิดการขาดแคลนข้าวปลาอาหาร ตลอดจนการที่มีการใช้ไส้ศึก ทำให้ในที่สุดกองทัพของพระเจ้าบุเรงนอง ก็สามารถเข้ายึดกรุงศรีอยุธยาได้ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่า หากการล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้นยืดเยื้อออกไปอีกเพียง ๑ เดือน ก็จะถึงช่วงฤดูน้ำหลากของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะทำให้น้ำท่วมทั่วพื้นที่โดยรอบของกรุงศรีอยุธยา อันจะทำให้กองทัพพม่าไม่สามารถจะตั้งอยู่ได้อีกต่อไป
ส่วนการเสียกรุงครั้งที่ ๒ นั้น กองทัพของพระเจ้ามังระ ซึ่งได้มีการจัดทัพเป็น ๒ ทัพใหญ่ ทัพแรกนำโดยเนเมียวสีหบดียกกำลังลงมาจากทางเหนือ โดยรบฝ่าเอาชนะเมืองต่างๆ จนลงมาถึงกรุงศรีอยุธยา มีกำลังทัพทั้งสิ้นประมาณ ๒๐,๐๐๐ นาย ส่วนอีกทัพหนึ่งเคลื่อนเข้ามาทางทวาย นำโดยมังมหานรธา คาดว่ามีกำลังทัพประมาณ ๓๐,๐๐๐ นาย เคลื่อนทัพโดยมุ่งตรงมายังกรุงศรีอยุธยา รวมกำลังพลทั้ง ๒ ทัพประมาณ ๕๐,๐๐๐ นาย แต่เข้ามาจากสองทิศทาง ในขณะที่กองทัพกรุงศรีอยุธยาที่ตั้งรับอยู่นั้นมีกำลังพลประมาณ ๖๐,๐๐๐ นาย โดยได้ยกกำลังส่วนหนึ่งออกไปต่อสู้ ป้องกันกรุงศรีอยุธยาที่ภายนอก แต่ก็ไม่สามารถต้านทานกองทัพของพม่าได้ ในที่สุดกรุงศรีอยุธยาถูกตีแตก ปราสาทราชวังและวัดวาอารามที่สวยงามตระการตาถูกเผาทำลายจนเกือบจะสิ้นซาก
ยังต้องถือว่าเป็นโชคดีของชาติไทยเรา ที่มีนายทหารหาญที่ได้รับมอบหมาย ให้คุมกำลังพลเพื่อต่อสู้กับทัพของพม่าอยู่ที่ค่ายวัดพิชัยนอกกรุงศรีอยุธยา และได้พิจารณาเห็นแล้วว่า กรุงศรีอยุธยาเห็นจะแตกเป็นแน่แท้ จึงได้ตัดสินใจพาทหารผู้กล้าที่อยู่ใกล้ชิดจำนวนประมาณ ๕๐๐ นาย ตีฝ่าทัพพม่าหนีออกจากกรุงศรีอยุธยา โดยตั้งปณิธานว่าจะไปรวบรวมกำลังพลเพื่อจะกลับมาตีเอากรุงศรีอยุธยาคืนมาเป็นของไทยให้จงได้ นายทหารผู้กล้าท่านนั้นซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นพระยาวชิรปราการ โดยตำแหน่งก่อนหน้านั้นคือพระเจ้าตาก ซึ่งในที่สุดก็คือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ต้องถือว่าเป็นวีรกษัตริย์ชาตินักรบอย่างแท้จริง ได้กลับมากู้ชาติได้สำเร็จ หลังจากที่ได้มีการรวบรวมไพร่พลตลอดทุกเมืองที่ผ่านไปสู่ภาคตะวันออก และเข้าตีเมืองจันท์เป็นเมืองสุดท้าย เพื่อจะรวบรวมและจัดกำลังทัพ เป็นกองทัพเรือที่มีเรือมากกว่า ๑๐๐ ลำ กลับเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาคืนได้สำเร็จ หลังจากการเสียกรุงไปเป็นระยะเวลาเพียง ๗ เดือนเท่านั้น
ในอนาคต หากจะเกิดสงครามขึ้นใหม่ ก็คงเป็นสงครามที่ต้องใช้อาวุธพิสัยไกลในการสู้รบเป็นหลัก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกำลังพลของกองทัพก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ควบคู่ไปกับการใช้อาวุธเหล่านั้น ทหารจึงยังต้องมีอยู่คู่กับประเทศชาติ และต้องมีจำนวนที่เหมาะสมซึ่งกองทัพโดยนายทหารรักชาติทั้งหลายย่อมรู้ดีกว่าประชาชนคนทั่วไปหรือนักการเมืองต่างๆ ว่ากำลังทัพขนาดใดคือความเหมาะสมกับประเทศของเรา จึงขอให้นักการเมืองไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีความคิดแบบเดิม หรือที่อ้างว่ามีความคิดใหม่ๆ ทั้งหลายได้ตระหนักในเรื่องนี้ด้วย และต้องรับฟังความคิดเห็นของแม่ทัพนายกองทั้งหลาย ซึ่งความรับผิดชอบโดยตรงต่อการป้องกันประเทศชาติของเรา ไม่ใช่เพื่อใครบางคนหรือบางกลุ่มบางเหล่าเท่านั้น แต่เป็นการกระทำให้กับทุกคนที่เป็นชาวไทย ที่สำคัญยิ่งก็คือเพื่อการรักษาไว้ซึ่งชาติไทย
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี