วันนี้เป็นวันแรม 4 ค่ำ เดือน 10 อีกไม่นานแล้วก็จะเป็นวันออกพรรษา ซึ่งในพุทธกาลเรียกว่าเป็นวันดอกโกมุทบาน และเป็นวันสำคัญของพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง เป็นแต่คนทั้งหลายไม่เห็นความสำคัญ นั่นคือเป็นวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอานาปานสติแก่พระสงฆ์สาวกทั้งหลาย ดังนั้นห้วงเวลานี้จึงสมควรที่จะแสดงอานาปานสติแก่เราทั้งหลายที่ยังมีลมหายใจเข้าออกอยู่ เพื่อได้รับประโยชน์อันสมควรที่จะพึงมีพึงได้ในโอกาสกาลเช่นนี้
จะได้แสดงเป็นตอนๆ ไปตามความสะดวกแห่งเวลาและโอกาส ขอท่านทั้งหลายผู้สนใจพึงสดับและรับเอาประโยชน์นั้นตามสมควรแก่ตน และจงร่วมอนุโมทนาเพื่อความเป็นกุศลแก่คนทั้งหลาย
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอานาปานสติในวันเพ็ญเดือน 12 ซึ่งปัจจุบันนี้ถือเป็นเทศกาลลอยกระทง แต่ในครั้งกระโน้นเรียกว่าเป็นเทศกาลดอกโกมุทบาน และอานาปานสตินี้จัดเป็นพระธรรมสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวิธีปฏิบัติหรือมรรคอันเป็นเครื่องออกจากความทุกข์อย่างสนิทและสิ้นเชิงนั่นเอง
เหตุการณ์เริ่มขึ้นตั้งแต่วันเข้าพรรษา คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ในพุทธกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าเห็นพระสงฆ์หมู่ใหญ่กำลังพร่ำสอนกันด้วยกรรมฐานวิธีต่างๆ กัน ทรงพอพระทัยในปฏิปทานั้นและมีพุทธดำรัสว่า 4 เดือนจากวันนี้อันเป็นวันที่ดอกโกมุทบาน ตถาคตจะแสดงอานาปานสติแก่เธอทั้งหลาย
เพื่อเป็นทางที่ไปถึงซึ่งความบริสุทธิ์ ซึ่งความหลุดพ้น และพระนิพพาน และในกาลต่อมาทรงรับสั่งว่าอานาปานสติที่เจริญให้มากแล้ว ทำให้มากแล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ทำให้ถึงซึ่งความบริสุทธิ์ ทำให้ถึงซึ่งความหลุดพ้นและพระนิพพาน ผู้ใดปฏิบัติอานาปานสติแล้วย่อมหวังที่หมายปลายทางได้ไม่ช้านานเกิน 7 ปี แม้ 7 เดือนหรือ 7 วันหรือแม้แค่ชั่วเวลาตักข้าวเข้าปาก 7 คำ ก็อาจบรรลุมรรคผลนิพพานได้
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยืนยันว่าอานาปานสติมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ผู้ใดเจริญอานาปานสติแล้วจะไม่มีทางหลงทิศหลงทางจะก้าวไปทีละขั้นทีละตอนและถึงซึ่งวิชชาและวิมุติในที่สุด
ทรงยืนยันด้วยว่าตถาคตเองมีปกติสถิตอยู่ในอานาปานสติวิหาร แม้ในกาลตรัสรู้ ตถาคตก็ตรัสรู้ในอานาปานสติวิหาร แม้ในอนาคตกาลเมื่อถึงกาลปรินิพพาน ตถาคตก็จะปรินิพพานในอานาปานสติวิหาร
ที่เรียกว่าอานาปานสติวิหารนั้นก็คือวิหารธรรมหรือห้วงเวลาที่เจริญอานาปานสติ เมื่อใดแลที่คนเราไม่ว่าจะเป็นพระอริยบุคคลหรือไม่เป็นพระอริยบุคคลเจริญอยู่ในอานาปานสติ เมื่อนั้นย่อมได้ชื่อว่าอยู่ในอานาปานสติวิหาร ซึ่งเทียบได้กับอาคารหรือวิหารอันเป็นที่ตั้ง ที่อาศัยแห่งจิต ที่จะทำให้จิตเข้าถึงภาวะครบเป็นองค์สาม คือมีความตั้งมั่นหรือเป็นสมาหิโต มีความบริสุทธิ์หรือปาริสุทโธมีพลังอำนาจที่สามารถทำหน้าที่สำคัญที่สุดของจิตหรือกัมมนีโยได้
ไม่มีกรรมฐานวิธีใดที่จะอบรมฝึกฝนจิตให้ครบองค์สามบริสุทธิ์บริบูรณ์ถึงขั้นที่สุดดังกล่าวได้ ดังนั้น อริยมรรคอันมีองค์แปด ซึ่งเป็น 1 ใน 4 อริยสัจที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงนั้น เรื่องสำคัญที่สุดก็คือสัมมาสติและสัมมาสมาธิซึ่งจะบรรลุหรือเข้าถึงอริยมรรคดังกล่าวได้ก็ด้วยกรรมฐานวิธีและที่สำคัญที่สุดก็คือการเจริญอานาปานสตินั่นเอง
การเจริญสติทุกวิธีคือการเจริญมรรคในบทว่าด้วยสัมมาสติ และในขณะที่เจริญสัมมาสตินั้นสิ่งที่เรียกว่าสมาธิก็จะเกิดขึ้นแก่จิต สมาธิเป็นผลของการเจริญสติซึ่งมีเป็นขั้นเป็นตอนไป เริ่มตั้งแต่เป็นสมาธิแบบชั่ววูบวาบ หรือที่เรียกว่าขณิกสมาธิ หรือเป็นสมาธิที่มีพลังแน่วแน่มากขึ้น หรือที่เรียกว่าอุปจารสมาธิ คือเป็นสมาธิที่กำลังเข้าใกล้ที่จะเป็นฌาน ที่เรียกว่าอุปจารสมาธินั้นแปลว่าสมาธิที่ใกล้เขตฌาน ซึ่งฌานในที่นี้หมายถึงรูปฌานสี่ประการ ตั้งแต่ปฐมฌานไปจนถึงจตุตถฌาน
เมื่อสมาธิได้เจริญแล้วก็จะมีความแน่วแน่มั่นคงมากขึ้นโดยลำดับ จนกระทั่งแน่วแน่นิ่งไม่วอกแวกหวั่นไหวอีกแล้ว ซึ่งเรียกว่าอัปปนาสมาธิ เป็นสมาธิในระดับที่เสวยผลแห่งการปฏิบัติ ผลใดๆ ที่จะพึงได้ พึงรับ พึงมีจากการปฏิบัติกรรมฐานทุกวิธี ในยามเสวยนั้นจะบังเกิดสมาธิที่หนักแน่นลึกซึ้งนิ่งสนิทกับจิตหรือที่เรียกว่าอัปปนาสมาธิ
ผู้สนใจการปฏิบัติทั้งหลายพึงเข้าใจว่านับแต่ปฐมสังคายนาเป็นต้นมาได้จำแนกเป็นปิฎกสาม คือพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม ในสามปิฎกนี้ พระสูตรเป็นที่รวมของพระธรรมคำสอน ซึ่งเป็นพระพุทธวจนโดยตรงเป็นหลัก และเป็นคำสอนของพระอรหันตสาวกบ้างไม่มากนัก
ในบรรดาพระสูตรทั้งหมดนั้น ได้แสดงทั้งส่วนที่เป็นความรู้หรือปริยัติ และปฏิบัติ รวมทั้งปฏิเวธด้วย
ที่ปฏิบัติและปฏิเวธนั้นก็คือพระสูตรที่แสดงถึงกรรมฐานวิธีที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนไว้รวมทั้งสิ้น36 แบบวิธี และทรงแสดงไว้ในพระสูตรไม่ถึง 10 พระสูตร บางพระสูตรก็ครบถ้วนสมบูรณ์ บางพระสูตรก็เป็นตอนๆ บางพระสูตรก็เป็นการอธิบายบางตอนบางเรื่อง
พระพุทธวจนแท้ที่ตรัสสอนเรื่องกรรมฐานวิธีนั้นทรงแสดงไว้รวม 36 แบบ แต่เมื่อครั้งที่มีการรจนาคัมภีร์วิมุตติมรรคในอินเดียได้เพิ่มขึ้นอีก 2 แบบ เป็น 38 แบบวิธี คือเพิ่มปฐมฌานและตติยฌาน
ต่อมาเมื่อมีการรจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรคขึ้นในศรีลังกาก็ได้มีการเพิ่มอีก 2 แบบแผนวิธี รวมเป็น 40 แบบแผนวิธีโดยเพิ่มทุติยฌานและจตุตถฌาน
จากนั้นพระสงฆ์สองสำนักในศรีลังกาก็ทะเลาะเบาะแว้งกันว่าสำนักไหนวิเศษกว่ากัน แล้วก็อ้างกันว่าสำนักนี้มี 38 แบบ สำนักนี้มี 40 แบบ การมีแบบวิธีมากกว่า เหนือกว่าถูกต้องกว่า จนกระทั่งเกิดความรุนแรงขึ้นจนเป็นที่น่าสมเพชเวทนา
เมื่อมีการเขียนหนังสือเรื่องวิมุตตะมิติ มหัศจรรย์แห่งโลกภายใน ในประเทศไทย และต่อมามีการจัดพิมพ์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ก็ได้มีการชี้แจงตรงนี้ว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนกรรมฐานแท้จริงเพียง 36 แบบ ที่เพิ่มขึ้นเป็น 38 แบบ และ 40 แบบนั้นไม่ใช่ส่วนมรรค แต่เป็นส่วนผล คือรูปฌานสี่ โดยสำนักวิมุตติมรรคเพิ่มขึ้น 2 และสำนักวิสุทธิมรรคเพิ่มขึ้นอีก 2 การเอาผลมาเป็นส่วนมรรคเป็นความสับสน มิฉะนั้นแล้วไฉนเล่าจึงไม่นำอรูปฌานสี่มาเป็นแบบแผนวิธีไปด้วย
หนังสือเล่มนี้สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวง
วชิรญาณสังวร ทรงตรวจทานด้วยพระองค์เอง
ดังนั้นเราทั้งหลายจึงพึงถือว่ากรรมฐานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแท้จริงมีเพียง 36 แบบเท่านั้น
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี