สภาผู้แทนราษฎรได้มีญัตติให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาผลประโยชน์ของการมีกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทความเป็นจริงในประเทศ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา
โดยมีนายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นผู้เสนอหลังพบบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายจำนวนมากในประเทศไทยแม้จะมีกฎหมายแบนมาแล้วเข้าปีที่ 9 โดยหวังว่าประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าจะได้รับการพิจารณาโดยคำนึงถึงผลลัพธ์โดยรวมครบทุกมิติบนข้อมูลและหลักฐานเป็นหลัก
ประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าเป็นที่ถกเถียงมานานถึงมาตรการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพที่สุดในการควบคุมกำกับดูแล ปัจจุบันประเทศไทยคงกฎหมายแบนการนำเข้าและการซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าเข้าสู่ปีที่ 9 แต่หากภาพความเป็นจริงกลับสะท้อนว่าในสังคมไทยยังคงพบผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้ทั่วไป ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายทั้งสิ้นซึ่งได้นำมาซึ่งปัญหาในเรื่องของภาษีที่จัดเก็บไม่ได้ การทุจริตคอร์รัปชั่น การสร้างตลาดใต้ดิน มาตรฐานผลิตภัณฑ์ และที่สำคัญที่สุด คือการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน
ในปัจจุบัน หลายประเทศต่างก็หันมาใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ หรือแคนาดา เนื่องจากเล็งเห็นว่าการมีกฎหมายควบคุมที่ชัดเจนนั้นจะตอบโจทย์ในหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการเข้าถึงของเด็กและเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างรายได้ภาษี หรือการควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์เพื่อปกป้องผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของผู้บริโภคและคุ้มครองป้องกันมิให้เกิดนักสูบหน้าใหม่
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเร็วๆ นี้จึงได้มีการนำเสนอญัตติเพื่อขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลประโยชน์ของการมีกฎหมายควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทความเป็นจริงในประเทศไทย ซึ่งก็มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกว่า 20 รายร่วมเสนอความคิดเห็น
อาทิ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส. จังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ซึ่งได้แถลงอภิปรายสนับสนุนการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมาย และตั้งคำถามว่า ในเมื่อสัดส่วนงานวิจัยส่วนใหญ่เกี่ยวกับบุหรี่มวนชี้ว่าบุหรี่มวนเป็นอันตราย แต่บุหรี่มวนเป็นสินค้าถูกกฎหมาย ขณะที่สัดส่วนงานวิจัยเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าครึ่งต่อครึ่งที่ชี้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายน้อยกว่า แต่กลับผิดกฎหมาย และปัจจุบันมีเพียง 35 ประเทศเท่านั้นที่ยังแบนบุหรี่ไฟฟ้า ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่มองบุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกและควบคุมให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ขณะที่สส.ส่วนหนึ่งก็ได้อภิปรายไม่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เช่น นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ สส.จังหวัดแพร่ พรรคเพื่อไทย ที่อภิปรายเน้นย้ำถึงผลกระทบของการสูบบุหรี่ต่อสุขภาพ โดยเน้นมุมมองของประเทศไทยเป็นหลักมากกว่าการพิจารณากรณีตัวอย่างจากประเทศอื่น
ล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์ให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลประโยชน์ของการมีกฎหมายควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทความเป็นจริงในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นอันดีที่สภาผู้แทนฯ ยอมรับถึงการมีปัญหาการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่มีอยู่จริงและใช้กลไกรัฐสภาในการหยิบยกความเห็นของผู้เห็นต่างทั้งสองด้านมาหารือด้วยหลักเหตุและผลบนพื้นฐานของข้อมูล ข้อเท็จจริง และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมของเรา เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้สูบบุหรี่ ผู้ไม่สูบบุหรี่ และเด็กและเยาวชน เพราะต้องยอมรับว่าวันนี้มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอยู่จริงและไม่มีแนวโน้มลดลงการห้าม การแบนจากมิติด้านสุขภาพด้านเดียวอาจมิใช่ทางออกที่ดีที่สุดของปัญหาในบริบทของปัจจุบันอีกต่อไป
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี