เดือนตุลาคมนั้นมีวันสำคัญอยู่หลายวันทั้งในประเทศไทยและระดับสากล หนึ่งในนั้นคือ “วันปลอดความรุนแรงสากล (International Day of Non-Violence)” ตรงกับ “วันที่ 2 ตุลาคม ของทุกปี” โดยในปี 2550 องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้เลือกวันดังกล่าว ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) วีรบุรุษผู้ปลดปล่อยชาวอินเดียจากการปกครองของอังกฤษ ซึ่งถูกยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งหลักการต่อสู้แบบ “อหิงสา” ไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่ง UN คาดหวังว่า วันปลอดความรุนแรงสากล จะเป็นการเน้นย้ำวัฒนธรรมแห่งสันติภาพ
“ความรุนแรง (Violence)” นั้นมีตั้งแต่ระดับใหญ่ๆ อย่างสงครามทั้งระหว่างประเทศและสงครามกลางเมืองของกลุ่มต่างๆ ภายในประเทศ ลงมาถึงระดับเล็กที่สุดแต่ใกล้ตัวปัจเจกบุคคลที่สุดอย่างความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น “ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง” โดย ธีรพัฒน์ อังศุชวาล อาจารย์ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มต้นนำการบรรยายด้วยการอธิบายความแตกต่างระหว่าง 2 คำ
กล่าวคือ“สุขภาพจิต (Mental Health)” มีความหมายที่ชัดเจนแต่แคบ มองเป็นเรื่องส่วนบุคคล ซึ่งรวมถึงการให้บริการทางการแพทย์ และความรู้ด้านจิตเวชกับการดูแลสุขภาพจิต แต่ “สุขภาวะทางจิต (Mental well-being)” จะมีความหมายกว้างกว่า ทั้งสุขภาวะทางกาย ทางปัญญา และทางสังคมที่เชื่อมร้อยกัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ เมื่อจำแนกคนเป็นกลุ่มต่างๆ จะพบปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะทางจิต ไล่ตั้งแต่
“เราพบว่าปัญหาความเสี่ยงเรื่องสุขภาพจิตสัมพันธ์กับความรุนแรงอย่างมาก และที่สำคัญคือไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประชากรใดก็ตาม มีความเสี่ยงและความเข้มข้นในแง่ที่เรากำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางอย่างมากเลยต่อปัญหาต่างๆ แต่มันก็มีโอกาสอยู่ในปัญหาเหล่านี้ ก็คือสังคมไทยเราเริ่มตื่นตัวเรื่องสุขภาพจิตมากยิ่งขึ้น มากกว่า 10-20 ปีที่แล้ว” อาจารย์ธีรพัฒน์ กล่าว
จากการทบทวนงานวิจัยที่มีในประเทศไทยหลายชิ้น มีชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจคือ “อนาคตสุขภาพจิตคนไทย 2576 (Futures of Mental Health in Thailand 2033)” ฉายภาพอนาคตสุขภาพจิตในสังคมไทย 5 รูปแบบ แบ่งเป็น 2 กลุ่มด้านหนึ่งคือ “ความกลัว” ได้แก่ 1.การระเบิดขึ้นของความกลัว (Terror Outburst) หมายถึงสังคมที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดและรุนแรงจนผู้คนอยากย้ายหนีออกไป กับ 2.มวลชนผู้โดดเดี่ยว (Pack of Lone Wolves) มีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก แต่เกิดปัญหาความเหงาทางสังคม ความโดดเดี่ยวของประชากรกลุ่มต่างๆ จะมีมากยิ่งขึ้น
แต่อีกด้านหนึ่งก็มี “ความหวัง” ได้แก่ 1.จุดหมายแห่งความสุขร่วมกัน (Land of Smiling Minds) ประเทศไทยเป็นต้นแบบด้านสุขภาพจิต เป็นหมุดหมายในการใช้ชีวิตของคนทั่วโลก ด้วยทุกภาคส่วนช่วยกันส่งเสริมให้สังคมเปี่ยมสุขเกิดขึ้นจริง 2.สุขภาพใจที่กระจายถึงกัน (Decentralized Mental well-being) กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ทรัพยากรด้านสุขภาพจิตได้รับการจัดสรรให้เข้ากับความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ ผู้คนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และ 3.วิกฤตที่แฝงด้วยโอกาส (Opportunity in Adversity) ทุกภาคส่วนพยายามรับมือกับความผันผวนต่างๆ (เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม) ปัญหาสุขภาพจิตจึงยังไม่ถูกแก้ไข ผู้คนจึงพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง
อาจารย์ธีรพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า “อนาคตแห่งความหวังจะเกิดขึ้นได้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน” ไม่ว่าจะเป็น 1.ภาครัฐ มีนโยบายสาธารณะที่ส่งเสริมด้านสุขภาพจิต ส่งเสริมเทคโนโลยีและเอื้อต่อการรวมตัวของคนในสังคม 2.ภาคเอกชน สร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานด้วยความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิต 3.ภาคชุมชน ทำอย่างไรจะสร้างความเข้าใจ ลดปัญหาอคติและการตีตรา และ 4.ภาคประชาชน แต่ละคนต้องใส่ใจเรื่องสุขภาพจิตอย่างจริงจัง
“จริงๆ เรามีกฎหมายด้านสุขภาพจิต โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2551 (พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551) เพียงแต่กฎหมายนี้เน้นความสำคัญและให้น้ำหนักไปที่การยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ การคัดกรอง การส่งตัวผู้ป่วย พร้อมกันนั้นเรามีธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ปี 2565 ซึ่งพูดถึงมุมของการสร้างเสริม แต่การมีอยู่ของกฎหมายนโยบาย 2 ตัวนี้ยังไม่เพียงพอ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมาก ทำอย่างไรเราจะเชื่อมร้อยสิ่งที่อยู่ในกฎหมายเหล่านี้และทำให้มันเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น” อาจารย์ธีรพัฒน์ ระบุ
อาจารย์ธีรพัฒน์ กล่าวถึงกรอบทิศทางนโยบายที่ต้องพัฒนา “ระบบสุขภาวะทางจิต (Mental well-being System)” ตั้งแต่เรื่องของทักษะหรือพฤติกรรมส่วนบุคคลที่จะมีสุขภาวะทางจิตที่ดี ไปจนถึงการออกแบบนโยบายที่ทำให้คนมีความสุข ผ่านหลักคิดด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันและคัดกรอง การทำงานเชิงรุก การกระจายทั่วถึง และแบ่งการดูแลสุขภาพจิตเป็นลำดับขั้นเพื่อลดการกระจุกตัวของผู้รับบริการในสถานพยาบาล
ลดปัญหาและจัดการปัจจัยที่ส่งผลให้การเข้าถึงบริการสุขภาพที่ไม่เป็นธรรม ตลอดจนเพิ่มโอกาสและความหวังให้ทั้งคนป่วยและไม่ป่วยมีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะ“จะทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนไม่ขับเคลื่อนวัฏจักรแห่งความรุนแรงในสังคม เพราะเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มเปราะบางและหากได้รับผลกระทบจากความรุนแรงก็จะมีแนวโน้มจะส่งต่อความรุนแรงนั้น” ระบบสุขภาพทางจิตจิตจึงต้องลงทุนและให้คุณค่ากับโครงสร้างสังคมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อประชากรกลุ่มนี้เป็นพิเศษ เพื่อให้เติบโตอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี
“หน้าตาของระบบนี้มีอยู่ 4 ส่วนสำคัญที่เชื่อมร้อยกัน 1.ส่วนของกลไกนโยบายทั้งชาติและท้องถิ่น ที่ต้องเชื่อมโยงสอดประสาน เน้นการมีส่วนร่วม 2.กลไกการให้บริการที่มีอยู่แล้ว ต้องทำอย่างไรให้มีทรัพยากร บุคลากร การจัดองค์กรมีนวัตกรรมที่เพียงพอ เหมาะสม ต่อเนื่องและทั่วถึง พร้อมกันนั้นตามหลักการสร้างเสริม 3.เน้นพัฒนากลไกชุมชนและสังคม ผ่านการขับเคลื่อนวิชาชีพต่างๆ มากมายให้มาเกี่ยวข้อง กลายเป็นโครงข่ายทางสังคมที่สำคัญ
พร้อมกันนั้น 4.กลไกบ้าน ในฐานะกลไกที่ใกล้ชิดกับผู้คนที่สุด ทำอย่างไรจะให้ครอบครัว กลุ่มเพื่อน มีความรู้ทักษะต่างๆ ที่สามารถสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตได้ ด้วยความรู้เราต้องผสมผสานความรู้ทางจิตเวชและความรู้สุขภาวะเข้าด้วยกัน เพื่อไม่ให้เวลาเราพูดถึงสุขภาพจิต เราจะเห็นเพียงแค่บนสุด แต่เราทำอย่างไรให้กลไกพื้นฐานที่สุด ใกล้ชิดกับคนมากที่สุดสามารถตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ด้วย ” อาจารย์ธีรพัฒน์ กล่าว
อาจารย์ธีรพัฒน์ ฝากทิ้งท้ายว่า ยังมีเรื่องการพัฒนานวัตกรรมที่เข้าถึงประชากรทุกกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพลดอคติและการตีตรา, พัฒนาวิธีคิดและวิธีการค้นหา เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์สุขภาวะทางจิตของแต่ละคนที่แตกต่างกัน นำไปสู่การออกแบบการส่งเสริมและดูแล ตลอดจนเสริมพลังและยกระดับกลไกกลางทั้งระดับชาติและพื้นที่ให้เชื่อมร้อยกัน ซึ่งระบบสุขภาวะทางจิตจะเป็นเหมือน “ตาข่าย” รองรับและดูแลจิตใจของคนไม่ให้ร่วงหล่น และเสริมสร้างความเข้มแข็งไปพร้อมกัน!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี