การที่จะมัวถกเถียงกันว่า ใครมาก่อนมาหลังบนผืนแผ่นดินทางด้านตะวันออกสุดของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (ที่เรียกว่าผืนแผ่นดิน Levant) ระหว่างชนชาวยิว กับชนชาวอาหรับ (ปาเลสไตน์) ก็คงจะหาข้อยุติได้ยากลำบาก เพราะต้องย้อนกันไปเมื่อ 2,000-3,000 ปีที่แล้ว ปัจจุบันก็ยังขาดหลักฐานทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งหลักฐานทางด้านโบราณคดีที่ครอบคลุมสมบูรณ์หรือแน่ชัด แต่ถ้าจะเริ่มกันเมื่อร้อยปีเศษๆ ที่แล้ว ก็พอจะช่วยให้ความกระจ่างและเป็นที่ยอมรับกันได้มากขึ้น
นั่นคือ เมื่อประมาณร้อยกว่าปีที่แล้ว ดินแดนหรือผืนดินดังกล่าวนี้อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรออโตมาน (Ottoman)ชาวเติร์กนับถือศาสนาอิสลาม นิกายสุหนี่ และในบริเวณดังกล่าวนี้ก็หลากหลายด้วยชาติพันธุ์ต่างๆ อันเป็นธรรมดาของสังคมมนุษย์ซึ่งในตอนนั้นผู้ที่อยู่อาศัยก็จะเป็นชาติพันธุ์เชื้อสายอาหรับประมาณร้อยละ 70 และชาติพันธุ์เชื้อสายยิวประมาณร้อยละ 30 (ถ้ามีอาหรับ700,000 คน ก็จะมีชาวยิวอีก 300,000 คน อยู่ในพื้นที่ด้วย)
อาณาจักรออโตมานล่มสลายเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะฝ่ายออโตมานไปเข้ากับฝ่ายเยอรมนี โดยทั้งสองเป็นผู้แพ้สงครามให้กับฝ่ายพันธมิตรยุโรป นำโดยอังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนและร่วมสงครามด้วย
ฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสในฐานะผู้ชนะสงคราม ก็เดินหน้าเข้ายึดครอง และจัดทำแผนที่แบ่งเขตอาณาจักรออโตมานออกเป็นส่วนๆ เพื่อกำหนดเขตอิทธิพลของตนเอง และจัดตั้งประเทศตามความอำเภอใจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งในการนี้ดินแดน “ปาเลสไตน์” ตกอยู่ในอาณัติของฝ่ายอังกฤษเป็นสำคัญ
และจวบจนเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ชาวยิวที่ได้รับผลการกระทำอันโหดเหี้ยมของระบอบฟาสซิสต์ภายใต้การนำพาของจอมเผด็จการฮิตเลอร์แห่งเยอรมนี และจากผลของการกีดกันต่างๆ นานา ของชาวคริสต์ยุโรปต่อชาวยิว ก็ได้รับการพินิจพิจารณาว่าชาวยิวควรจะต้องมีประเทศที่อยู่ของตนเอง ไม่ต้องอยู่กันอย่างกระจัดกระจายอย่างที่เป็นมาหลายๆ ร้อยปีเสียที
ในที่สุดก็ได้มีการตกลงจัดตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1948 แล้วให้ชาวยิวดั้งเดิมและชาวยิวจากยุโรปเข้ามาร่วมกันตั้งประเทศ และเริ่มชีวิตใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีการดำเนินการขับไล่ เคลื่อนย้ายชาวปาเลสไตน์ และในที่สุดก็ได้มีการจัดตั้งเขตปกครองตนเองให้กับชาวอาหรับปาเลสไตน์ และให้มีการปกครองตนเอง (Autonomy) ในระดับหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งประเทศอิสราเอลในขณะนั้นก็ได้รับการคัดค้านจากชาวอาหรับและชาวมุสลิม เพราะเห็นว่าเป็นการยัดเยียดประเทศอิสราเอลเข้ามาในดินแดนมุสลิมอาหรับ และเอารัดเอาเปรียบชาวอาหรับปาเลสไตน์ โลกมุสลิมโดยทั่วไปจึงต่างปฏิเสธ ไม่รับรองรัฐประเทศอิสราเอล และบางส่วนที่มีหัวรุนแรงก็มีความมุ่งมั่นที่จะขจัดชาวยิว และประเทศอิสราเอลให้หมดสิ้นไปจากผืนแผ่นดินโลก
ความไม่พึงพอใจดังกล่าวได้นำไปสู่ความขัดแย้งกันด้วยกำลังอาวุธหลายครั้งหลายครา ก่อนจะมีการออกข้อมติต่างๆ ที่สหประชาชาติ และการเจรจาระหว่างฝ่ายอิสราเอลกับฝ่ายปาเลสไตน์ภายใต้การอุปถัมภ์และไกล่เกลี่ยของมิตรประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และนอร์เวย์ โดยในปี ค.ศ. 1995 ก็มีแนวคิดเชิงมติจากผลการประชุมกันที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ที่จะให้มีการเตรียมการและเจรจาเพื่อนำไปสู่การจัดตั้งประเทศปาเลสไตน์ คู่ขนานกับประเทศอิสราเอล ที่เรียกว่า การหาทางออกด้วยระบบวิธีการมี 2 รัฐประเทศ (Two States Solution) ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยมีการหารือและมีการเสนอข้อมติที่องค์การสหประชาชาติตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยประเทศที่คัดค้านในขณะนั้นที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกา แต่จวบจนบัดนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าเป็นชิ้นเป็นอัน ด้วยสาเหตุหรืออุปสรรคหลายประการ เช่น
1. ภายในฝ่ายปาเลสไตน์เอง ก็มี 2 ฝัก 2 ฝ่าย หรือนัยหนึ่งฝ่ายพิราบ กับฝ่ายเหยี่ยว โดยฝ่ายแรกคือ ฝ่าย Palestinian Liberation Organization -PLO กับฝ่ายเหยี่ยวคือ ขบวนการติดอาวุธฮามาส และฝ่ายหลังได้ใช้วิธีการก่อการร้าย และการรบแบบจรยุทธ์ โจมตีฝ่ายอิสราเอลในทุกโอกาสที่อำนวย และยังยึดมั่นในวิธีการใช้ความรุนแรง และยืนหยัดกับท่าทีว่า ชาวยิวและประเทศอิสราเอลจะต้องไม่อยู่ในโลกนี้อีกต่อไป
2. ฝ่ายอิสราเอล ก็เลือกที่จะใช้พลังอำนาจทางทหารที่เหนือกว่า ในการทำการปราบปรามและตามล้างตามเช็ดฝ่ายขบวนการฮามาส และกลุ่มหัวรุนแรงปาเลสไตน์อื่นๆ ด้วยความรุนแรงอย่างไม่ลดละ และคู่ขนานกัน ก็เดินหน้ายึดดินแดนของฝ่ายปาเลสไตน์มากขึ้นเป็นระยะๆ แล้วปล่อยให้ชาวยิวติดอาวุธไปตั้งบ้านเรือน และทำมาหากิน โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรมแต่อย่างใด ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาฝ่ายการเมืองแบบเสรีนิยมของอิสราเอล หรือฝ่ายสายกลาง (Moderate) ได้พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งต่อฝ่ายเคร่งศาสนา และฝ่ายขวาจัด ก็ทำให้นโยบายและท่าทีของรัฐบาลอิสราเอลในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานั้นแข็งกร้าว รุกราน และมุ่งใช้พลังอำนาจทางทหารเท่านั้น เพื่อตีกรอบฝ่ายปาเลสไตน์ทุกฝีก้าว และขจัดฝ่ายขบวนการฮามาสติดอาวุธให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ด้วยทั้งสองเหตุ ส่งผลให้ความเกลียดชังซึ่งกันและกันสะสมพอกพูนขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งการใช้กำลังเข้าต่อกรประหัตประหารกัน ก็เพิ่มระดับความโหดร้ายทารุณขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งฝ่ายฮามาสประสบความสำเร็จในการโจมตีฝ่ายอิสราเอลแบบสายฟ้าแลบ ไม่ทันได้ตั้งตัว ไม่ทันได้รู้ระแคะระคาย และจากนั้นจนถึงทุกวันนี้ ฝ่ายอิสราเอลก็ได้ทำการตอบโต้อย่างสุดฤทธิ์สุดโหดโดยมีเป้าหมายที่จะกวาดล้างฝ่ายฮามาสให้หมดสิ้นไปจากโลกนี้ แถมยังบังคับให้ชาวปาเลสไตน์ในเขตฉนวนกาซาประมาณล้านกว่าคนจากทางตอนเหนือเคลื่อนย้ายไปทางตอนใต้ของเขตฉนวนกาซาที่ติดกับประเทศอียิปต์ แถมยังตัดน้ำตัดไฟ และอาหารควบคู่ไปด้วย ระหว่างนี้ อิสราเอลก็ทำการระดมเตรียมกำลังพลภาคพื้นดิน เพื่อบุกเข้าไปกวาดล้างฝ่ายขบวนการฮามาส และยึดครองพื้นที่ฉนวนกาซา (ล่าสุดประชาคมโลกก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ในการโน้มน้าวให้ฝ่ายอิสราเอลอนุญาตการลำเลียงความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม จากอียิปต์เข้าสู่เขตฉนวนกาซาทางตอนใต้)
ชาวโลกก็อกสั่นขวัญหาย เพราะมั่นใจว่าต่างจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน โดยเริ่มที่ชาวต่างชาติที่เข้าไปท่องเที่ยว ไปทำงาน ไปทำธุรกิจ ต่างต้องเสียชีวิต บาดเจ็บ
ล้มตาย และถูกจับไปเป็นเชลยจากผลพวงของการประหัตประหารกันระหว่างชาวปาเลสไตน์กับชาวยิว ดังที่ทราบกันดีอยู่ ประชาคมโลกจึงไม่สามารถที่จะอยู่นิ่งเฉยได้ซึ่งบัดนี้สหรัฐฯ ในฐานะที่เป็นยอดพันธมิตรของอิสราเอล ก็เริ่มพูดจากับผู้นำอิสราเอลให้เบาๆ มือลง ในขณะเดียวกันประเทศตุรกีก็ได้มีข้อเสนอให้ประเทศหลักๆ ของโลกและประเทศหลักๆ ในตะวันออกกลางร่วมกันพูดจากับทั้งฝ่ายอิสราเอลและฝ่ายปาเลสไตน์รวมทั้งขบวนการฮามาส ให้ยุติการสงคราม เปิดเส้นทางการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม และการเจรจาสันติภาพ โดยประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งในระดับโลกและภูมิภาคจะร่วมกันเป็น “ผู้ค้ำประกัน” การเจรจาและการจัดทำข้อตกลงสันติ (Guarantor)
ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะประชาคมโลกโดยทั่วไป และบรรดาประเทศผู้ที่จะค้ำประกันต่างตระหนักว่า การปล่อยให้อิสราเอลทำสงครามเบ็ดเสร็จกับฝ่ายขบวนการฮามาส และครอบงำฝ่ายชาวปาเลสไตน์อย่างไม่ได้ให้โงหัวขึ้นมาเลยนั้น มิได้เป็นหนทางที่จะแก้ปัญหา นอกจากนั้นจะทำให้ปัญหาลุกลามบานปลายไปทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศหนึ่งใดทั้งสิ้น จึงมีความจำเป็นที่จะร่วมแรงร่วมใจกันในการกระทำให้ทั้งฝ่ายกองทัพอิสราเอล และฝ่ายขบวนการติดอาวุธฮามาส อยู่ในร่องในรอยกับเหตุและผล และเลิกที่จะคิดประหัตประหารตอบโต้กันไปมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
พวกเราชาวโลกที่อยู่ห่างไกลความขัดแย้งก็สามารถที่จะมีบทบาทร่วมกันในการเสริมสร้างสันติภาพ โดยเริ่มต้นด้วยการหยุดยิง การส่งความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม การสนับสนุนการเจรจา เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งประเทศปาเลสไตน์ควบคู่กับประเทศอิสราเอล เพื่อเสริมสร้างความสมดุลและความยุติธรรม
ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายจะต้องประกาศการยุติการใช้ความรุนแรงและยินยอมให้มีการจัดตั้งกองกำลังสันติภาพสหประชาชาติ เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยระหว่างเขตแดนอิสราเอล กับเขตเวสต์แบงก์ และเขตชายแดนอิสราเอล กับเขตชายแดนกาซา เพื่อแยกกองกำลังของทั้งสองฝ่ายออกจากกัน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุใดๆ
หากผู้นำทั้งสองฝ่ายตั้งสติ ด้วยการมองเอาผลประโยชน์ระยะยาวของประชาชนทั้งสองฝ่ายเป็นหลัก รวมทั้งประมวลผลถึงความเสียหายจากการใช้วิธีการสุดโต่ง ต่อสังคมตะวันออกกลาง และสังคมโลกแล้ว หันมาเริ่มด้วยการหยุดยิงโดยไม่มีข้อแม้ เมื่อนั้นชาวโลกก็พอจะมีความหวังว่าจะไม่ต้องประสบพบเจอปัญหาค่าครองชีพก้าวกระโดดอย่างโหดร้าย และลูกหลานของชาวยิว และปาเลสไตน์ ก็น่าจะมีอนาคตที่สงบสุข ไม่ต้องมาจับอาวุธไล่เข่นฆ่ากัน ซึ่งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตส่วนใหญ่ ก็มักจะเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ไม่ได้รู้อีโหน่อีเหน่อะไรด้วยเลย
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี