จากตัวเลขของสำนักทะเบียนกลางกระทรวงมหาดไทย ระบุว่าเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมดรวม 66,090,475 คน ในจำนวนนี้มีสัญชาติไทย 65,106,481 คน แบ่งเป็นชาย 31,755,072 คน หญิง 33,352,449 คน และมีประชากรที่ไม่มีสัญชาติไทย 983,994 คน แบ่งเป็นชาย 515,583 คน หญิง 468,411 คน จังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดคือกรุงเทพมหานคร มีประชากร 5,494,936 คน จังหวัดที่มีประชากรน้อยที่สุดคือสมุทรสงคราม มีประชากร 189,453 คน
เมื่อเราทราบจำนวนประชากรของประเทศไทยแล้ว เราลองมาดูกันว่าคนไทยส่วนใหญ่มีเงินฝากธนาคารกันมากน้อยเพียงใดเพื่อจะได้ทราบว่าคนไทยส่วนใหญ่เป็นคนที่มีความสามารถในการออมมากหรือน้อย แล้วจะได้ทราบต่อไปว่า คนไทยส่วนใหญ่รวยก่อนแก่ หรือแก่จนใกล้จะตาย แต่ก็ไม่มีวันรวย
แต่สำหรับประเด็นคนไทยส่วนใหญ่รวยก่อนแก่ หรือแก่แล้วไม่มีโอกาสรวย ทุกคนน่าจะรู้คำตอบได้ดีอยู่แล้วว่า คำตอบที่ถูกต้องคืออะไร เพราะทุกคนน่าจะทราบอยู่แก่ใจว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีเงินออมแต่ที่น่าหนักใจยิ่งกว่าคือ บางคนแก่แล้วยังมีหนี้สินท่วมหัวท่วมหู ดังนั้น เวลาที่ต้องเผชิญปัญหาเจ็บไข้ได้ป่วย ชีวิตก็จึงต้องเผชิญกับความโกลาหลอย่างสุดๆ
มีข้อมูลจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ระบุสถิติเงินฝาก ณ ช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม 2566 ว่าจำนวนผู้ฝากเงินที่ได้รับการคุ้มครองมีทั้งสิ้น 93.46 ล้านบัญชี หรือเติบโตขึ้น 3.37 เปอร์เซ็นต์ แต่มีข้อน่าสังเกตที่จำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง 15.96 ล้านบาท ลดลง 1.32 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน่าจะเกิดจากปัญหาความปั่นป่วนโกลาหลทางเศรษฐกิจ
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการ สคฝ. เปิดเผยว่า เมื่อดูจากสถิติเงินฝากตั้งแต่ปี 2562 ถึงล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 พบว่าจำนวนผู้ฝากเงินที่มียอดเงินฝากไม่เกิด 5 หมื่นบาท มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี แต่ทว่าจำนวนเงินฝากกลับหดตัวลง โดยเงินฝากหดตัวลงตั้งแต่ปี 2565 จนติดลบ 0.63 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคม 2566 ติดลบ 3.61 เปอร์เซ็นต์ ถือได้ว่ายอดเงินฝากติดลบครั้งแรกในรอบ 10 ปี ในจำนวน 81 ล้านบัญชี มีเงินเหลือในบัญชีน้อยกว่า 5 หมื่นบาท และมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้มีเงินฝากทั้งหมด พบว่าโดยส่วนใหญ่มีเงินเหลือในบัญชีไม่ถึง 5 พันบาท อย่างไรก็ตาม การที่มีเงินฝากในบัญชีธนาคารเหลือไม่ถึง 5 พันบาทนั้น เกิดมาจากหลายสาเหตุ เช่น นำเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ ตราสารหนี้ ทองคำ ตลาดหลักทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนด้านการเงินสูงกว่า และอาจจะมาจากสาเหตุค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันสูงมากขึ้น จนไม่สามารถมีเงินเก็บในธนาคาร
ขอย้ำว่าการที่ผู้คนมีเงินฝากในธนาคารน้อยลง ส่อแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยมีค่าครองชีพที่สูงขึ้น ดังนั้นผู้ที่มีเงินออมน้อย หรือผู้มีฐานะไม่ดีมากนัก ที่อาจจะมีเงินออมอยู่บ้าง ต้องนำเงินออมออกมาใช้จ่ายเพื่อดำรงชีวิต จึงทำให้ปริมาณเงินออมโดยรวมของประชากรลดลง
แต่อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าคนที่ดูเหมือนว่าเคยมีเงินออมมากพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มผู้ฝากเงินรายใหญ่ ก็มีเงินฝากเหลือในบัญชีธนาคารลดลงในปัจจุบัน ซึ่งปัญหาอาจจะเกิดมาจากเศรษฐกิจโลกไม่สดใส แถมยังชะลอตัวลง เพราะได้รับผลกระทบด้านลบหลายเรื่อง เช่น สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสหัวรุนแรง ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศจีน และปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาแพงกว่าระยะ 2 ปีที่ผ่านมารวมถึงปัญหาดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มสูงขึ้น ก็ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจทุกชนิดและการลงทุนทุกประเภทอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้
ผู้เขียนต้องขออภัยที่วันนี้พูดถึงตัวเลขมากมาย จนอาจทำให้คุณผู้อ่านสับสนและเวียนศีรษะ แต่ก็ต้องยืนยันว่าจำเป็นต้องพูดถึง เพราะต้องการชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงว่าประชากรของเรามีอัตราการออมน้อยลงไปอย่างชัดเจน
ประเด็นน่าสนใจอยู่ตรงที่ บัญชีเงินฝาก 81 ล้านบัญชี โดยแต่ละบัญชีมีเงินฝากน้อยกว่า 5 พันบาท คำถามที่จำเป็นต้องถามดังๆ คือ ทำไมเงินฝากในบัญชีธนาคารของคนไทยส่วนใหญ่จึงลดลง และลดลงเรื่อยๆ เป็นเพราะว่ามีรายได้น้อยลง หรือมีรายจ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น หรือมีการก่อหนี้ก่อสิ้นมากขึ้น ทำใหอัตราการออมลดลง และอาจจะมีปัจจัยด้านการใช้เงินในชีวิตประจำวันที่ต่างไปจากเดิม คือ การซื้อก่อนแล้วมาผ่อนชำระในภายหลัง ซึ่งนี้คือการก่อหนี้ที่ชัดเจน เป็นการนำเงินอนาคตมาใช้ก่อนซึ่งเรื่องนี้ส่งผลต่ออำนาจการซื้อในอนาคต และนับเป็นการก่อหนี้ที่มากที่สุดในกลุ่มประชาชนที่นิยมการซื้อก่อนจ่ายทีหลัง
ความจริงที่เราทุกคนรู้เหมือนๆ กันคือ คนไทยจำนวนมากไม่มีเงินออม แต่กลับมีหนี้สินสูงมาก โดยมากแบบน่าวิตกว่าบางคนนั้นไม่น่าจะสามารถชำระหนี้สินได้ จึงมีคำกล่าวว่าเป็นหนี้ไปตลอดชีวิต หรือเป็นหนี้ไปจนตัวตายตายแล้วยังใช้หนี้ไม่หมด
ทีนี้เรามาดูว่าคนไทยส่วนใหญ่เป็นหนี้เป็นสินเป็นจำนวนเงินเท่าไร อ้างข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม 2565 พบว่าคนไทยหนึ่งในสามคนเป็นหนี้ และพบด้วยว่าจำนวนคนเป็นหนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าวิตก โดยพบว่าจากปี 2560-2565 คนไทยมีหนี้สินเพิ่มขึ้นจาก 30 เป็น 37 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ
แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือมูลหนี้ของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น หรือพูดตรงประเด็นคือคนไทยเป็นหนี้สูงมาก โดย 57 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยที่เป็นหนี้มีหนี้สูงเป็นเงินเกินกว่า 1 แสนบาท ส่วนกลุ่มคนที่มีหนี้เกิน 1 ล้านนั้นสูงถึง14 เปอร์เซ็นต์ หากคิดมูลหนี้เฉลี่ยต่อคนจะตกอยู่ที่ 5 แสน 2 หมื่นบาท แล้วพบด้วยว่าในภาพรวมมูลค่าหนี้ของคนไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา สรุปคือคนไทยจำนวนมากเป็นหนี้ก้อนโตมากขึ้นเรื่อยๆ
ปัญหาต่อมาคือคนไทยมีหนี้ซ้ำซ้อน เช่น เป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้เช่าซื้อรถยนต์ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล และหนี้นอกระบบ ซึ่งปัญหานี้คงเป็นเรื่องที่คุณผู้อ่านเกือบทุกคนรับทราบดี เพราะบางคนก็อยู่ในกลุ่มผู้มีหนี้สิน แต่ก็ยังนับว่าน่ายินดีที่ผู้อ่านจำนวนหนึ่งไม่มีหนี้สิน แถมยังมีเงินฝาก และเงินออมในปริมาณที่น่าพอใจ จึงทำให้ชีวิตไม่ต้องเผชิญกับปัญหาถูกทวงหนี้สิน
เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงเรื่องหนี้สินกับคนไทยจึงพบว่า คนไทยจำนวน 1 ใน 3 มีหนี้สิน และมีมูลหนี้สูงด้วย โดย 57 เปอร์เซ็นต์ของคนที่เป็นหนี้ มีหนี้สินเกิน 1 แสนบาทต่อคน แต่ที่น่ากลัวมากกว่าคือมีหนี้ซ้ำซ้อน มีหนี้หลายแหล่ง โดยพบว่า 32 เปอร์เซ็นต์ของคนที่มีหนี้สิน เป็นหนี้จากแหล่งต่างๆ มากถึง 4 แหล่ง เช่น หนี้บัตรเครดิตหนี้เช่าซื้อรถยนต์ หนี้เช่าซื้อบ้าน หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล และหนี้นอกระบบ แล้วยังมีหนี้การพนันต่างๆ อีกด้วย
ประเด็นสำคัญประการต่อมาคือพบว่าคนไทยที่เป็นหนี้นั้น โดยเฉพาะ 2 ใน 3 ของกลุ่มหนี้ครัวเรือน เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แล้วพบอีกว่า1 ใน 5 ของคนเป็นหนี้จะกลายเป็นหนี้เสีย
มีข้อมูลที่ทำให้เกิดความวิตกมากขึ้นคือ ปัจจุบันพบว่าคนอายุน้อยเป็นหนี้มากขึ้น คือเริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก หรืออายุน้อย โดยคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงานกลับมีหนี้สินจำนวนมาก และเป็นกลุ่มที่มีหนี้เสียสูงด้วย โดยมีหลักฐานยืนยันว่า 50เปอร์เซ็นต์ของคนที่เริ่มทำงานมีหนี้สิน และก่อหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่า 1 ใน 4 ของคนอายุน้อยที่ก่อหนี้จะเป็นกลุ่มหนี้เสีย
ส่วนเกษตรกร และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยก็เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว โดยมีตัวอย่างให้พบเห็นชัดๆ คือ สมมุติว่ามีรายได้ 100 บาทเกษตรกรจะมีหนี้สินแล้ว 34 บาท ส่วนผู้มีรายได้น้อย มีหนี้สิน 41 บาท นั่นแสดงว่าคนกลุ่มนี้จะมีเงินเก็บหรือเงินออมน้อยมาก เพราะต้องใช้จ่ายในชีวิตประจำวันจนไม่สามารถเก็บออมเงินได้
ที่นี่้ก็ต้องมาดูกันว่า แล้วจะแก้ปัญหาการมีหนี้สินได้อย่างไร เพราะปัญหานี้แก้ไขได้ หากตั้งใจแก้ไขจริงจัง ประเด็นแรกคือต้องมีวินัยการเงินในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น ต้องรู้ว่าอะไรควรจ่าย หรือไม่ควรจ่าย อะไรตัดออกได้ อะไรจำเป็นต้องจ่ายต่อไป และประเด็นต่อมาคือ หากไม่สามารถหารายได้เพิ่มขึ้นก็ต้องลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นให้ได้โดยเร็ว
ปัญหาหนี้สินของคนไทย โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาใหญ่ที่สะสมและหมักหมมมายาวนาน แม้ดูเสมือนว่ารัฐบาลทุกชุดพยายามจะแก้ปัญหานี้ แต่ก็เป็นเพียงการเล่นเกมการเมืองเสียมากกว่า เพราะหากรัฐบาลตั้งใจแก้ปัญหาหนี้สินให้ประชาชนจริงๆ จังๆแล้ว ปัญหาต้องลดลง มิใช่เพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นตลอดเวลา จนมีคำวิพากษ์ว่ารัฐบาลอาจไม่ตั้งใจแก้ปัญหาหนี้สินให้ประชาชน เพราะหากประชาชนไม่มีปัญหาหนี้สินแล้ว ประชาชนก็จะมีสติปัญญาแก้ปัญหาปากท้องของตนเองได้มากขึ้น เมื่อประชาชนมีปัญญาแก้ปัญหาของตนเอง ก็ไม่จำเป็นต้องตกเป็นเบี้ยล้างของรัฐบาล เมื่อเป็นเช่นนั้น รัฐบาลก็ไม่สามารถหากินด้วยการสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองกับคนที่ไม่มีปัญหาการเงินในครัวเรือนได้ หรือสรุปชัดๆ คือ เมื่อคนไม่มีหนี้สิน คนก็ไม่จำเป็นต้องตกเป็นเหยื่อการเมืองของนักการเมือง ไม่ต้องเป็นเหยื่อการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ไม่ต้องตกเป็นหมากการเมืองให้รัฐบาลและนักการเมืองปั่นหัวให้ออกไปเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของนักการเมืองทุกฝ่าย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี