“กว่า 5 ล้านคน ที่ไม่มีที่อยู่ คนส่วนนี้จะเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย เป็นคนกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ที่อพยพย้ายที่อยู่เข้ามา คนไร้บ้าน ส่วนใหญ่จะมีอายุมากกว่า 51-60 ปี ในปัจจุบันต้องเรียนว่า 51-60 ปี สมัยก่อนตอนผมเด็กๆ เราจะพูดถึงผู้สูงอายุ แต่วันนี้พอตัวเองเข้าสู่ครึ่งศตวรรษ ก็รู้สึกว่า 50-60 ปี มันไม่แก่อย่างที่คิด แล้วบวกกับที่ประเทศไทยของเรามีจำนวนคนเกิดใหม่น้อยลงๆ และคนไทยมีอายุยืนมากขึ้น มีสุขภาพดีมากขึ้น วันนี้สังคมไทยของเรากลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ไปแล้ว”
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในงานสัมมนา “The Visual Talk Home & Hope #คนไทยต้องมีบ้าน” ฉายภาพสถานการณ์ปัญหาที่สัมพันธ์กันระหว่าง “การมีบ้าน” กับ “โครงสร้างประชากร” ที่ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) ซึ่งไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุราวร้อยละ 19-20 ของประชากรทั้งประเทศ อันเป็นขั้นกว่าของสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุร้อยละ 7-14 ของประชากรทั้งประเทศ
นอกจากการไม่มีบ้านแล้ว “การเข้าถึงบ้าน (หรือที่อยู่อาศัย) ที่มีคุณภาพในราคาเอื้อมถึงได้” ก็เป็นปัญหาเช่นกัน อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจ แหล่งงานกระจุกอยู่ในเมืองใหญ่ ส่งผลให้เกิดคลื่นผู้อพยพจากชนบทเข้ามาหางานทำในเมือง เช่น กรุงเทพฯ ที่ปัจจุบันมีประชากรอาศัย 12-13 ล้านคน และยังไม่รู้จะเข้ามาเพิ่มอีกเท่าไร แต่หลายคนที่เข้ามาก็ต้องอยู่อาศัยในพื้นที่แออัดและมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ได้มาตรฐาน
ยังมี “ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change)” ที่เป็นความท้าทายใหม่ วราวุธ ยกตัวอย่างช่วงต้นปี 2566 ช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ กรุงเทพฯ อุณหภูมิสูงถึง 50 องศาเซลเซียส ร้อนแบบไม่เคยเป็นมาก่อน ขณะที่โอกาสเจอน้ำท่วมก็สูงขึ้นจากฝนตกและระดับน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งเป็นผลมาจากน้ำแข็งขั้วโลกทั้งเหนือและใต้ละลาย หรืออย่างเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นข้ามพนังกั้นน้ำเข้าท่วมบ้านเรือนสองฝั่งแม่น้ำ การออกแบบบ้านจึงต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย
“เมื่อก่อนเราสร้างบ้าน สร้างเพิงเอาสังกะสีมากันเอาไว้ วันนี้อากาศร้อน 50 องศา ท่านยังจะใช้สังกะสีแผ่นเดิมคลุมหลังคาได้อยู่หรือเปล่า? ท่านจะทำให้บ้านของท่านกลายเป็นเตาอบไปหรือไม่? คนที่เป็นผู้สูงอายุ คนพิการ อยู่ภายใต้แผ่นสังกะสีแผ่นเดียว ภาคกลางอุณหภูมิ 50 องศานั้นมันจะมีผลอย่างไรกับสุขภาพ หรือว่าอยู่ดีๆ น้ำมันท่วมขึ้นมา การสร้างบ้านท่านจะต้องระมัดระวังเหตุปัจจัยต่างๆ เหล่านี้” วราวุธ กล่าว
ส่วนคำถามที่ว่า “รัฐบาลสามารถควบคุมราคาที่อยู่อาศัยได้หรือไม่?” วราวุธ ยกเรื่องราวสมัยบริหารทีมฟุตบอล ซึ่งสิ่งที่ต้องเจอคือค่าตัวนักเตะที่แพงมาก โดยในต่างประเทศก็ไม่ต่างกัน นำไปสู่การออกมาตรการกำหนดเพดานค่าเหนื่อยของนักฟุตบอล แต่ความเป็นจริงคือ แม้สโมสรจ่ายค่าตัวนักเตะตามที่กฎหมายกำหนดในบัญชี แต่ก็มีการไปจ่ายในช่องทางอื่นๆ นอกบัญชีเพิ่มอีก บ้านก็เช่นกัน สมมุติวันนี้รัฐบาลบอกห้ามราคาเกิน 2 ล้านบาท แต่หากมีความต้องการ (Demand) เดี๋ยวก็จะมีค่าพรีเมียม ค่านั่น-ค่านี่ต่างๆ นานาเพิ่มเข้ามา สุดท้ายก็เกิน 2 ล้านบาทอยู่ดี
“ดังนั้นวันนี้หนึ่งในประเด็นที่สำคัญคือจะทำอย่างไรที่จะลดความเหลื่อมล้ำตรงนี้ ทำให้ไม่ต้องมีการจ่ายเพิ่มแล้วถ้าหากกำหนดราคาออกมาแล้วมันจ่ายตามนั้นจริงๆ อันนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย แต่พอพูดถึงภาคเอกชน เราคงไม่สามารถไปควบคุมได้ว่าราคาตลาดควรจะอยู่เท่าไร-อย่างไร ในภาคเอกชนการซื้อ-ขายตามราคาตลาดนั้น มันเป็นกลไกอสังหาริมทรัพย์ของตลาดอยู่แล้ว” รมว.พม. กล่าว
ขณะที่ สิทธิพล ชูประจง มูลนิธิกระจกเงา กล่าวถึงคน 2 กลุ่ม คือ 1.คนไร้บ้าน หมายถึงคนที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ มีต้นทุนชีวิตต่ำ ไม่สามารถนำต้นทุนนั้นไปสู่การมีบ้านหรือที่พักอาศัยที่มั่นคงได้ กับ 2.คนจนเมือง หมายถึงคนที่แม้จะมีบ้านหรือที่อยู่อาศัย แต่ก็ไม่อาจเรียกสถานที่นั้นว่าที่อยู่อาศัยได้เต็มปาก เช่น เป็นห้องพักขนาด 2x2 เมตร การเข้า-ออกต้องใช้วิธีแทรกตัว ซึ่งเป็น “ห้องเช่าในห้องเช่า” คือเป็นห้องพักขนาดมาตรฐานแต่ถูกซอยแบ่งพื้นที่ให้เล็กลงอีกเพื่อรองรับผู้เช่าได้มากขึ้น เป็นต้น
ทั้งนี้ “สำหรับคนจน โอกาสของการมีบ้านเท่ากับศูนย์” จากปัจจัย 1.รายได้ต่ำ ใช้ได้เพียงวันต่อวันซึ่งแม้แต่จะให้ครบวันก็ยังลำบาก จึงไม่ต้องคิดถึงเรื่องการออมเงินเพื่อนำไปสู่การหาที่อยู่อาศัยที่ดีกว่าปัจจุบัน 2.ไม่มีเครดิตกู้เงิน อย่าว่าแต่จะไปกู้กับธนาคาร แม้กระทั่งคนปล่อยเงินกู้นอกระบบก็ไม่อยากให้กู้เพราะไม่รู้ว่าจะได้เงินคืนหรือไม่ และ 3.เข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัยที่รัฐจัดให้แม้จะมีโครงการแต่ก็จะมีคนจนเมืองกลุ่มที่เข้าไม่ถึง
“มีเคสหนึ่ง ลุงอายุ 82 ปี แกเช่าบ้านอยู่แถวคลองเตย สิ่งที่เกิดขึ้นคือพอแกเข้ามาทำจ้างวานข้า (โครงการที่มูลนิธิกระจกเงา หางานให้คนไร้บ้านและคนจนเมืองทำเพื่อจะได้มีรายได้เลี้ยงตนเอง) แล้วแกก็เก็บเงิน แกเข้ามาทำตั้งแต่ปี 2563 พอปี 2565 แกสามารถซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้ในเงินแสนกว่าบาท แต่แค่ตัวบ้านไม่รวมที่ดินเพราะที่ดินเป็นของราชการ สิ่งที่แกต้องอดทนในตอนที่แกสูงอายุ แกไม่ได้ทำแค่จ้างวานข้าอย่างเดียว แกออกไปโบกธง เคยเห็นไหม? โบกธงตามโครงการต่างๆ คือคนไม่มีบ้านนะ คืออาชีพของคนไร้บ้าน คนที่ไปโบกธงส่วนใหญ่คือคนไร้บ้าน คืออาชีพของคนไร้บ้านที่โบกธงเพื่อให้คนไปซื้อบ้าน” สิทธิพล กล่าว
ด้าน ชัชวาลย์ วัฒนะโชติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและนักลงทุน กล่าวถึงระบบ “คะแนนเครดิต (Credit Score)” ที่อาจเป็น “ทางออก” ให้กับทุกคนในการเข้าถึงโอกาสในชีวิตที่มากขึ้นซึ่งรวมถึงการมีบ้านโดยปัจจุบันที่ใช้กันจะมีเฉพาะข้อมูลการกู้เงินและการชำระหนี้ต่างๆ แต่จริงๆ สามารถทำได้มากกว่านั้น เช่น ข้อมูลการออมเงิน หากออมอย่างสม่ำเสมอก็สะท้อนถึงการมีวินัย หรือการจ่ายภาษีอย่างครบถ้วน หรือแม้แต่ไปจนถึงการประกอบคุณงามความดีต่างๆ เป็นที่ประจักษ์แก่สังคม การจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้ ทำให้คนดีเข้าถึงสิทธิต่างๆ ได้มากขึ้น
“ในต่างประเทศ เครดิตเหล่านี้ทำอะไรได้บ้าง? 1.ทำประกันได้ถูกลง คุณเป็นคนดี มีวินัย รับผิดชอบต้นทุนค่าประกันคุณถูกลง 2.คุณจะเช่าบ้าน คนที่มีเครดิตดีจะได้รับเลือกให้เช่าก่อนคนที่เครดิตไม่ดี 3.ดอกเบี้ย คิดในมุมแบงก์ อยากปล่อยกู้ใจจะขาด ผมกล้าพูดเลย แต่สิ่งที่แบงก์กังวลคือจะได้เงินต้นกลับคืนมาหรือเปล่า ถ้าเราไม่มีประวัติ ไม่มีข้อมูลให้เขารู้เลยว่าเราเป็นคนดีหรือไม่ดี ในมุมของแบงก์นี่มันเสี่ยงมากๆ ให้เงินไปได้กลับมาหรือเปล่าก็ไม่รู้ หรือไม่พอดอกเบี้ยต้องสูงขึ้นด้วย ดอกเบี้ยที่เขาให้เรามันสะท้อนความเสี่ยง
ในตัวเรา” ชัชวาลย์ กล่าว
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี