บทความนี้ มีจุดมุ่งหมายเดียวเท่านั้น คือ การ “ส่งสาร”ถึงท่านนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ให้ตระหนักเสียทีว่า นโยบาย “ดิจิทัล วอลเล็ต” ของท่าน อยู่ในสภาพ“วิกฤต” โดยเฉพาะ “วิกฤตความเชื่อถือ” หรือ “วิกฤตศรัทธา” นั่นหมายความว่า บุคคลที่จะทำหน้าที่ “สื่อสารเรื่องนี้” ต้องไม่ใช่ “คนโง่ๆ” หรือ
“คนปากพล่อย/ปากดี” แต่ต้องเป็นคนที่ “มีวุฒิภาวะทางอารมณ์” และมี “สติปัญญา”
มาดูตัวอย่างสักหนึ่งตัวอย่างนะครับ ท่านนายกฯ
1) น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา ประจำสำนักเลขานายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เกี่ยวกับนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ประชาชนทั้งประเทศได้รับทราบข่าวสาร และต่างก็เฝ้ารอการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายนี้
โดยหลักการสำคัญ คือ การแจกให้ประชาชน 50 ล้านคน อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป มีเงื่อนไขเพียงว่า มีเงินเดือนไม่ถึง 70,000 บาทต่อเดือน และมีเงินฝากในธนาคารไม่ถึง 500,000 บาท ขยายพื้นที่การใช้จ่ายให้ครอบคลุมระดับอำเภอ กำหนดเวลาการใช้เงิน 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 โดยรัฐบาลจะออก พ.ร.บ.เงินกู้ จำนวน 500,000 ล้านบาท ขณะที่จะมีกองทุนเพิ่มขีดความสามารถอีก 100,000 ล้านบาท
วิเคราะห์ : ในส่วนนี้ดี เป็นการย้ำหลักเกณฑ์รายละเอียดของตัวนโยบายภาคปฏิบัติให้ประชาชนรับทราบ นับเป็นการ “ให้ข้อมูล” ที่เกิดประโยชน์ ไม่ใช่ข้อมูลขยะ ไม่ใช่เสลด/น้ำลาย และไม่สร้างศัตรูให้ท่านนายกฯ หรือพรรคเพื่อไทย
2) น.ส.ตรีชฎา กล่าวว่า ก่อนหน้าที่นายเศรษฐาจะแถลงข่าว การออกมาแสดงความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ นั้น พรรคเพื่อไทยในฐานะผู้เสนอนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้การเคารพและน้อมรับฟัง โดยใช้เวลาพอสมควรในการกลั่นกรองพิจารณารอบด้าน จนมีความชัดเจนในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล แต่กลับมีผู้ที่ออกมาแสดงความเห็นทำนองขัดขวาง เหมือนจะอยากให้นโยบายนี้ประสบความล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็น นายสมชัยศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง นายพิสิฐลี้อาธรรม อดีตรมช.คลัง ประธานกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นต้น
โดยแต่ละคนยังพูดเหมือนเดิม หยิบเอาเรื่องปลีกย่อยมาทักท้วง ดักคอโดยไม่ได้คำนึงว่า ขณะนี้รัฐบาลได้พยายามปรับแนวปฏิบัติต่างๆ ไปอย่างมากแล้ว เงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นข้อสรุปล้วนเป็นผลจากการรับฟังเสียงสะท้อนของผู้มีเจตนาดี ที่สำคัญคือ การได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับข้าราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การพิจารณาในคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการที่ดำเนินมาหลายครั้ง
วิเคราะห์ : ส่วนนี้นับเป็น “โอษฐภัย” ซึ่งความวิบัติบรรลัยไม่ได้เกิดกับตัวผู้พูด แต่จะเกิดกับท่านนายกฯ และพรรคเพื่อไทย ส่วนที่ดีคือการชี้ให้เห็นว่า พรรคเพื่อไทยเปิดใจรับฟังข้อท้วงติงหรือข้อเสนอแนะ และนำมาปรับแปลงนโยบายแล้ว ซึ่งผมและคนที่ผมคุยด้วยหลายคนล้วนบอกว่า ท่าทีนี้ของรัฐบาล ของนายกฯ
และของพรรคเพื่อไทย น่าชื่นชม เป็นสิ่งที่ชมได้ และควรชม
แต่การอ้างถึง “ตัวบุคคล” นี่สิ คือการ “ออกบัตรเชิญ” ให้คนที่ถูกกล่าวถึง มีช่อง มีโอกาส ได้ออกมาโต้อีกครั้ง คำถามคือ เขาจะเสียเวลาโต้กับ “ตรีชฎา” ซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้ เป็นแค่ตัวประกอบในหนังเรื่องนี้ เป็นแค่ภาพไหวๆ ที่เดินผ่านฉาก พูดในฐานะอะไรก็ไม่รู้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลังเหรอ? โฆษกเหรอ? ใครมอบหมายให้พูดเหรอ?
ตรีชฎา “สร้างศัตรู” ให้นายกฯ โดยตรงเลย โดยที่ไม่สามารถหักล้างสิ่งที่เธอ “ด้อยค่า” ว่า “เรื่องปลีกย่อย” ให้เป็นตัวอย่างของ “ความปราดเปรื่อง” หรือ “เหนือชั้นทางสติปัญญา” มากกว่าได้ เป็นแต่ด้อยค่าข้อท้วงติงนั้นๆ ว่า “เป็นเรื่องปลีกย่อย” เท่านั้นเอง ตรีชฎาไม่สามารถ “ป่น” ข้อโต้แย้งของคนที่เธอเอ่ยชื่อให้ละเอียดเป็นผุยผงไป ในที่สุด คนที่เธอกล่าวถึงจะออกมา “ป่นนายกฯ” และ “ป่นนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต” ต่อ ชนิด “เพิ่มแรงป่น” ด้วยเพราะอะไร? เพราะภายใต้
คำว่า “รับฟัง และนำมาปรับ” มันมี “ความตระบัดสัตย์” อยู่ด้วย คือ ตอนหาเสียง ตอนออกทีวี ก่อนหน้านี้บอกว่า “ไม่กู้” แต่ล่าสุดบอกชัด แม้แต่ตรีชฎาเองก็สรุปข้อมูลให้ทราบว่า “โดยรัฐบาลจะออกพ.ร.บ.เงินกู้ จำนวน 500,000 ล้านบาท”
ถ้าคนที่ตรีชฎาเอ่ยนาม โยนคำถามใส่นายกฯ ใส่พรรคเพื่อไทย ว่า “ไหนว่าไม่กู้ไง” ท่านนายกฯ กับพรรคเพื่อไทย จะตอบอย่างไรครับ? ในเวลานั้น ตรีชฎาที่ช่วย “เรียกแขก” จะอยู่ตรงไหน และทำอะไรให้สถานการณ์ของท่านนายกฯ และพรรคเพื่อไทย ดีขึ้น หรือให้คำตอบแก่ตัวแทนและประชาชนที่เขารู้สึก “กังวล” “ไม่ชอบใจ” กับการตระบัดสัตย์ กับการต้องกู้นี้บ้างครับ
3) ตรีชฎายังกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันประชาชนกำลังรอที่จะได้รับเงิน 10,000 บาท แม้เงินจำนวนนี้อาจดูไม่มาก แต่ก็มีมูลค่าสูงในการดำเนินชีวิตในระยะเวลาหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีแรงขยับเขยื้อนเพื่อก้าวรุดไปข้างหน้า และสามารถเสริมสร้างอาชีพได้ไม่มากก็น้อย
วิเคราะห์ : นี่เป็นการใช้ “วาทกรรม” หรือการใช้คำว่า “ประชาชน” ที่โง่อย่างบัดซบเลยครับท่านนายกฯต้องระวัง “พวกโง่แต่ขยัน” ให้มากๆ เป็น“สิ่งอัปมงคล” ต่อตำแหน่งนายกฯ ครับ
ท่านนายกฯ ครับ ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีของ “ประชาชนทั้งประเทศ” ท่านจึงควรเรียก “คนทำงาน” และ “คนที่ไม่มีหน้าที่” ไปคุยซะ พร้อมกล่าวด้วยเสียงนุ่มๆ ว่า “คนไหนที่ไม่มีหน้าที่ ก็ช่วยๆ “หุบปาก” กันบ้างเถอะครับ” หรือหากสนิทกันในระดับหนึ่ง จะใช้คำว่า “หยุดเสือกสักพัก” ก็ได้ครับ
เวลาอ้าง “ประชาชนที่รอคอย” เท่ากับว่า คุณ “ไม่เห็นหัว” ประชาชนที่มีคำถาม เขามีสิทธิที่จะถาม ส่วนคุณมีหน้าที่ให้คำตอบ ให้ความกระจ่าง ให้ความมั่นใจ เพราะเมื่อกู้ ประชาชนที่เขาไม่ได้รับเงิน 10,000 บาท เขาต้อง “ร่วมใช้หนี้” ผ่านภาษีอากรของเขาที่ส่งเข้ารัฐ ซึ่งสามารถนำไปเพิ่มเติมในนโยบายอื่น หรือได้ทำนโยบายอื่น แทนการต้องตัดงบประมาณในอนาคตจำนวนหนึ่งมา “ใช้หนี้เงินกู้” ก้อนนี้
อธิบายให้เขาเห็นว่า การที่เขาเสียโอกาสตรงนี้ เสียสิทธิที่จะได้รับเงินส่วนนี้ ด้วยเหตุผลหรือหลักการใด ผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจภาพรวม หรือกับประเทศชาติที่เป็นรูปธรรมคืออะไรได้ ก็จบ ไม่ใช่เอะอะๆ ก็ อ้างประชาชนเป็น “โล่” เป็น “เกราะกำลัง” เพื่อจะให้ตัวเองได้ทำ และผลักไสหรือ “ถีบ” คนที่เห็นต่างออกไป หรือทำเหมือนไม่มีพวกเขาอยู่ ราวกับว่าคนที่ตั้งคำถาม คนที่ยังไม่เห็นด้วย ไม่ใช่ประชาชน! หรือเป็นพลเมืองชั้นสอง!! หรือเป็นอากาศธาตุ
4) น.ส.ตรีชฎา กล่าวว่า รัฐบาลที่มี นายเศรษฐาทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำลังเตรียมการที่จะจัดทำร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา เมื่อผ่านสภาผู้แทนราษฎร 3 วาระ ก็จะเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณา 3 วาระเช่นกัน ด้วยกระบวนการทางสภาเป็นเช่นนี้ ย่อมทำให้เกิดความถี่ถ้วนรอบคอบ จึงขอให้ผู้ที่ออกมาขัดขวางแบบไม่ลดราวาศอกได้ยับยั้งชั่งใจ มีความอดทนอดกลั้นไว้บ้าง โครงการใหญ่ระดับประเทศมักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ต้องวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ โดยปราศจากอคติครอบงำ การกระทำเช่นนั้นจะเกิดผลเสียหายต่อตัวเองและ ทำให้เกิดความสับสนในสังคม เราไม่ควรปล่อยให้ประเทศเสียโอกาสที่จะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ อย่าทำให้ประชาชนสูญเสียโอกาสที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจเลย ให้โอกาสรัฐบาลพรรคเพื่อไทยทำงานแก้ปัญหาประเทศด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อประเทศชาติและประชาชน อย่าปล่อยให้โอกาสนี้สูญเสียไปอีก
วิเคราะห์ : ในส่วนที่อธิบายว่า เงินกู้ต้องทำในรูป พ.ร.บ. ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง “ย่อมทำให้เกิดความถี่ถ้วนรอบคอบ” อันนี้ดีนะ มีเหตุมีผล มีความรู้ ซึ่งตรีชฎากล่าวประเด็นนี้ก็ดีแล้ว ประชาชนควรร่วมกัน “ฝากภารกิจ” การตรวจสอบให้ “ถี่ถ้วนรอบคอบ” ดังที่ตรีชฎาว่า กับพรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย ในฐานะที่เป็น “พรรรคการเมืองขนาดใหญ่ 3 พรรค” ที่ “ร่วมรัฐบาล” เพราะขณะนี้ นโยบายนี้ ยกระดับขึ้นมาเป็น “นโยบายของรัฐบาล” แล้วนะครับ จะนั่งเงียบเหมือนเป่าสาก จะวางตัวเหมือน “เป็นเรื่องของพรรคเพื่อไทย” อย่างเดียว ไม่ได้แล้วนะครับ ไม่ใช่ชั่วโมง “มารยาททางการเมือง” ครับ แต่เป็นชั่วโมงของความรับผิดชอบต่อความสุ่มเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และทางวินัยการเงินการคลังของประเทศ
พรรคร่วมรัฐบาลต้องถามตัวเองว่า ไม่ทำนโยบายนี้ ประเทศชาติจะพินาศล่มจมไหม ประชาชนจะได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ไม่มีหนทางอื่น หรือนโยบายอื่น หรือวิธีการอย่างอื่นทดแทนได้ หรือจริงๆ แล้ว การทำนโยบายนี้อย่างไม่รอบคอบต่างหาก ที่จะทำให้ประเทศชาติมีความเสี่ยงดังนั้น เราในฐานะพรรคการเมือง ที่มี สส. ทำงานอยู่ในสภา จะร่วมกันพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุด ไม่ใช่พิจารณาบนคำว่า “พรรคร่วมรัฐบาล” แต่ต้องพิจารณาในฐานะ
“ผู้แทนราษฎร”
นี่แหละครับ ท่านนายกฯ ครับ ทำความจริงให้กระจ่าง หยุดให้คนนั้นพูดทีคนนี้พูดที คุยกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ขอเวลาวิทยุโทรทัศน์ของรัฐให้ผมสัก 1 ชั่วโมงได้ไหม ให้คนของเรารวบรวมคำถามจากทุกๆ ฝ่ายมา หาพิธีกรทำหน้าที่ถาม แล้วผมจะใช้เวลา 1 ชั่วโมงนั้น ตอบด้วยตัวเอง ชัดๆ จากปากของ “นายกรัฐมนตรี” และ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง”
หรือหากนายกฯ เศรษฐา “เป็นตัวของตัวเอง” จริงๆ แต่ยังไม่พร้อมจะออกทีวี แล้วตอบคำถามที่ผู้คนเขามี ไม่ว่าผู้คนเหล่านั้นจะเป็นใคร นายกฯ ช่วยเลือกคนที่สามารถ “สื่อสารในภาวะวิกฤต” ขึ้นมารับหน้าที่นี้โดยตรงเป็นการเฉพาะกิจได้ไหม เป็นคนที่มีความรู้เรื่องนี้ มีเครดิต และมีใจกว้าง ไม่ใช่ ปากดี” แบบ “โฆษกการเมือง” มาตอบ มาเคลียร์ มาชี้แจง พร้อมไปออกรายการของทุกช่องที่เชิญและมีคำถามอยากถาม หาคนคนนั้นให้เจอให้เร็วที่สุด และดำเนินการซะ
นโยบายดิจิทัล วอลเล็ต เป็น “เรือธง” ของท่าน และของพรรคเพื่อไทย และของ “คนคิด” ที่แอบอยู่ตรงไหนสักที่ใช่ไหมครับ พรรคเพื่อไทยปรารถนาจะใช้นโยบายนี้สร้าง “คะแนน” เพื่อชนะเลือกตั้งครั้งหน้าใช่ไหมครับ
“คิดใหญ่ ทำเป็น” ไม่ใช่ “เป็นหนี้” ที่ได้ไม่คุ้มเสียและเป็น “ภาระในอนาคต” ของประเทศชาติและประชาชนใช่ไหมครับ?
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี