ตั้งเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ที่พรรคเพื่อไทยเปิดนโยบายหาเสียงที่เรียกว่า “เรือธง” “แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท แก่ปชช.อายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน” ที่เมื่อถึงเวลาจริงกลับไม่ตกผลึก ทำให้เกิดภาพที่ค่อนข้างชัดเจนว่า นโยบายเรือธงนี้ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต ไม่ล่มสลายก็เกยตื้น
ชุลมุนชุลเก เซโรซัง จนที่สุดก็กลายเป็นเมนูคนละยำส่งต่อถึงประชาชน
ถ้อยแถลงของ “ท่านผู้นำ-เศรษฐา ทวีสิน” เมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ 10 พ.ย. 2566 เป็นการแถลงจากผลการประชุม “คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ชุดใหญ่”ที่มีการถกใน 5 ประเด็น คือ เรื่องหลักการโครงการ, เรื่องที่มาที่ไปของเงิน, เรื่องของใครได้รับบ้าง, เรื่องของการใช้กับสินค้าประเภทใดได้บ้าง, เรื่องของระยะทางที่กำหนด ถ้อยแถลงทั้งหมดคือข้อเท็จจริงและเป็นผลสรุปของที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่หรือว่า มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไปจนหาข้อยุติไม่ได้
ออกอาการต่างคนต่างยำข้อมูลจนท่านผู้นำยำข้อมูลการประชุมออกมาเป็นถ้อยแถลงนั้นเสียเอง
จริงหรือที่ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” 1 ในผู้ร่วมประชุม “คณะกรรมการนโยบายฯ Digital Wallet ชุดใหญ่ที่มี ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานสภาพัฒน์ และกฤษฎีกามีความเห็นที่แตกต่างไปจากข้อเสนอของนายกฯ ในหลายประเด็นเข้าร่วมประชุม ระบุว่า ข้อเสนอการออกกฎหมายกู้เงิน 500,000 ล้านบาท เป็นเสียงสำรอกของผู้ว่าฯแบงก์ชาติ เป็นการเสนอแนะที่รัฐบาลและท่านผู้นำ-เศรษฐา ทวีสิน นำข้อมูลมาตีความยำใส่ชุดความคิดแล้วนำมาแถลงต่อสาธารณชนหรือไม่
เพราะมีรายงานว่า “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ซึ่งไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้อย่างมีตรรกะทั้งด้านวินัยการคลัง/ทั้งสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันมาแต่ต้น เสนอว่าข้อมูลที่แต่ละฝ่ายนำเสนอต่อที่ประชุมนั้น เมื่อนำมายำรวมกันแล้วยังน้อยเกินไปที่จะทำให้มีการพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบด้าน
ยิ่งกฤษฎีกาที่ร่วมประชุมเป็นไปได้หรือที่สนับสนุนให้ใช้แนวทางนี้ในเมื่อไม่เป็นไปตามมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่ระบุชัดว่า การกู้เงินนอกเหนือจากที่บัญญัติในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะให้กระทรวงการคลังทำได้ ... เฉพาะในกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศโดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน...” ชุดความคิดนี้มมาบรรจุในชุดความคิดรัฐบาล???
ท่านผู้นำ-เศรษฐา ทวีสิน ... “จวงจื่อ” ปราชญ์จีนเมื่อ 2,300 ปีที่แล้ว ตรงกับ “ยุคจั้นกว๋อ” เป็นปราชญ์ใหญ่ผู้รังสรรค์แนวคิดอมตะที่ถูกจัดอยู่ในสำนักคิดปรัชญาเต๋า เป็นปราชญ์รุ่นหลัง “เล่าจื๊อผู้รจนาคัมภีร์เต้าเต๋อจิง” ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในสามจอมปราชญ์แห่งสำนักคิดฝ่ายเต๋า เล่าว่า ...มีชายคนหนึ่งรำคาญเงาของตัวเองมาก อีกทั้งยังทนรอยเท้าของตัวไม่ได้ เขาจึงพยายามวิ่งหนีจากทั้งสองสิ่งนี้ แต่ไม่ว่าจะวิ่งไปไหน เงาและรอยเท้าก็ยังติดตามเขาไป เขาคิดว่าเขาวิ่งเร็วไม่พอ จึงเร่งฝีเท้า ไม่ยอมหยุด วิ่งแล้ววิ่งเล่า ในที่สุดก็หมดแรง ล้มลงและถึงแก่ความตาย แล้ว “จวงจื่อ” ก็ตบท้ายว่า
“เขาหารู้ไม่ว่า ถ้าเพียงแต่เขาเข้าร่ม เงาก็จะหายไป และถ้าเขานั่งนิ่งๆ ก็จะไม่มีรอยเท้าเลย”
เราหยิบนิทานเรื่องนี้มาเล่า เพียงเพื่อต้องการเตือนสติ “ท่านผู้นำ-เศรษฐา ทวีสิน” ที่ “หักดิบปิดประชุม” ด้วยเวลาอันสั้น เป็นอาการ “เร่งรีบ” จนเกินเหตุ “ยำข้อมูล” ที่ได้รับจากแต่ละคนอย่างไม่รอบคอบหรือไม่ เพื่อให้ท่านผู้นำฉุกคิด ลดมิจฉาทิฐิตั้งสติให้เกิดสมาธิ เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศชาติเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่สุขวันนี้เพื่อหนีทุกข์ ทั้งที่ทุกข์นั้นมีอยู่ไม่จบแต่ไปรออยู่ในอนาคต
คนทุกวันนี้ไม่ต่างจากคนหนีเงา พยายามทำทุกอย่างเพื่อหนีทุกข์ โดยคิดว่าเป็นความสุข แต่ทุกข์ก็ยังตามมาไม่หยุด เขาหารู้ไม่ว่า ความทุกข์จะหมดไปเมื่อเขาหันเข้าหาร่มแห่งธรรมและทำใจให้นิ่งสงบ
ถึงที่สุดแล้ว ใครจะมีความสุขหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาออกไปตักตวงแสวงหาทรัพย์สมบัติและชื่อเสียงเกียรติยศได้สำเร็จหรือไม่
แต่อยู่ที่เขามีความสงบนิ่งจนเกิดสมาธิสติปัญญาได้มากน้อยเพียงใด
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี