เมื่อกายสังขารสงบรำงับลงจากการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานขั้นที่สี่ สิ่งรุมเร้าที่กระทบต่อจิตจากภายนอกก็จะสงบรำงับตามไปด้วย ในภาวะนั้นสมาธิก็จะแก่กล้าขึ้นเพราะเข้าใกล้เขตฌานเข้าไปแล้ว จึงได้ชื่อสมาธิขณะนั้นว่าอุปจารสมาธิคือสมาธิเฉียดฌาน
ในขณะเดียวกัน กำลังอำนาจของจิตก็จะตั้งมั่นเข้มแข็งมากขึ้น เพราะสิ่งที่รุมเร้าที่ทำให้จิตหวั่นไหววอกแวกไร้พลังสงบรำงับไป ภาวะของจิตจึงเข้าสู่ภาวะหนึ่งที่เรียกว่าจิตตั้งมั่น หรือที่พระท่านเรียกว่าจิตเป็นสมาหิโตและมีความบริสุทธิ์มากขึ้น เพราะเหตุปัจจัยรุมเร้าหรือที่ปรุงแต่งจากผลกระทบภายนอกสงบรำงับลงหรือที่เรียกว่า ปาริสุทโธ กำลังอำนาจของจิตก็จะมีกำลังมากขึ้นสามารถทำหน้าที่ของจิตได้มากขึ้น คือมีความเป็นกัมมนีโยมากขึ้น
ในภาวะเช่นนั้นเป็นภาวะที่การเจริญกรรมฐานวิธีทั้ง 35 วิธี จะมาถึงที่หมายปลายทางนี้เหมือนกันหมด อุปมาดั่งน้ำบึง น้ำหนอง น้ำคลอง น้ำครำ หรือน้ำไหนๆ ก็ตามย่อมไหลลงที่ต่ำไปทางปากแม่น้ำที่จะออกสู่พระมหาสมุทร เป็นภาวะสูงสุดของการเจริญกรรมฐาน 35 วิธีที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสสอนแล้วก็จบอยู่ตรงนี้ เพราะมิได้แสดงถึงการปฏิบัติที่ก้าวพ้นออกไปจากขั้นนี้
แม้กระนั้นภาวะที่เกิดขึ้นก็มีความสงบ มีความเบิกบาน มีความผ่องใส มีความตื่นตัว มีความสว่าง มีความแคล่วคล่อง และมีชีวิตชีวามากที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในชีวิต บางครั้งก็มีปรากฏการณ์หรืออาจเรียกว่านิมิตปรากฏขึ้นโดยคาดคิดไม่ถึง
เช่น มีความรู้สึกว่าได้บังเกิดแสงสว่างขึ้นที่บริเวณท้องน้อยหรือสะดือ แล้วสว่างไสวครอบคลุมไปทั่วทั้งตัว และยังขยายวงแห่งความสว่างนั้นออกไปอย่างกว้างขวาง เป็นความเบิกบานกระชุ่มกระชวยและตื่นตัวอย่างยิ่ง จึงทำให้ผู้ปฏิบัติจำนวนหนึ่งเข้าใจได้ว่าได้เข้าถึงภาวะแห่งการหลุดพ้นหรือภาวะแห่ง
พระอริยเจ้าแล้ว
จำนวนไม่น้อยก็มีความรู้สึกว่าได้เห็นพระพุทธรูปบ้าง เห็นพระอินทร์ พระพรหมบ้าง เห็นสิ่งประหลาดมหัศจรรย์ต่างๆ บ้าง มาแสดงความนอบน้อมหรือความยินดีด้วยประการต่างๆ ก็ยิ่งเข้าใจผิดคิดว่าบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว หรือบ้างก็คิดว่าภาวะเช่นนั้นแม้ไม่ใช่การเข้าถึงภาวะอรหันต์แต่ก็เป็นที่พอใจแล้ว และมีความพอใจที่จะอยู่แค่นั้น ได้รับผลการปฏิบัติแค่นั้น และยึดถือเอาผลปฏิบัติแค่นั้นเป็นสรณะ
ความจริงนั่นเป็นขั้นสูงสุดของการเจริญกรรมฐานวิธีต่างๆ ที่มารวมยอดตรงจุดนี้เหมือนกัน แต่สำหรับอานาปานสตินั้นทรงเรียกว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐานขั้นที่สี่ ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของการเจริญกรรมฐานขั้นกาย หรือที่เรียกว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และจะเป็นจุดรอยต่อของการเจริญกรรมฐานขั้นต่อไป คือขั้นจัดการกับสิ่งปรุงแต่งอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่สิ่งปรุงแต่งกาย แต่เป็นสิ่งที่ปรุงแต่งจิต หรือที่ท่านเรียกว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
กองลมเป็นผลกระทบของลมหายใจหรือกายลมกับร่างกายหรือกายเนื้อ จึงเรียกว่าเป็นการปรุงแต่งกาย ซึ่งเป็นเรื่องของการเจริญกรรมฐานขั้นกาย แต่ในขั้นนี้เป็นเรื่องของการจัดการกับภาวะที่ปรุงแต่งจิตคือเวทนา ดังนั้นอานาปานสติขั้นนี้จึงได้ชื่อว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งมหาสติปัฏฐานสูตรเรียกว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา
เวทนาในเวทนาก็คือความรู้สึกที่ปรุงแต่งจิตในการเจริญเวทนา หรือในการกำหนดรู้ศึกษาเรื่องเวทนา ซึ่งยังไม่ถึงเรื่องของจิตโดยตรง แต่เป็นเรื่องของผลกระทบหรือการปรุงแต่งจิต
อะไรเล่าปรุงแต่งจิต มีอยู่สองระดับ ระดับพื้นผิวเรียกว่าเวทนาซึ่งมีหลายชนิด คือทุกขเวทนา สุขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา แต่ทุกขเวทนานั้นเป็นของหยาบ เป็นของสกปรก ณ เวลาที่การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก้าวรุดหน้าไป สิ่งที่เรียกว่าทุกขเวทนาก็จะสร่างคลายหายไป แม้กระทั่งทุกขเวทนาทางกาย เช่น ความเมื่อยล้าเมื่อยขบ หรือชา เป็นต้น ก็ค่อยๆ สร่างคลายไปจนไม่กระทบต่อจิตอีก แม้หากจะมีความเมื่อย ความขบ ความชาเกิดขึ้น จิตก็กำหนดแต่เพียงว่าความเมื่อย ขบ หรือชาได้เกิดขึ้นแล้ว และในที่สุดก็จะหายไป
นั่นเป็นเรื่องของเวทนาอย่างหยาบที่อยู่ในระดับตื้นหรือที่เรียกว่าทุกขเวทนา ส่วนสุขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนาจะละเอียดประณีตกว่า และจะปรากฏเด่นชัดขึ้นในทันทีที่ระดับสมาธิเข้าใกล้เขตฌาน หรือเข้าถึงอุปจารสมาธิ ในภาวะเช่นนั้นจะมีสิ่งที่ปรุงแต่งจิตทำหน้าที่ใหญ่อยู่สองอย่าง อย่างแรกหยาบสักหน่อยเรียกว่าปีติ อย่างที่สองละเอียดประณีตมากเรียกว่าสุข
การเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานคือการทำความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ปรุงแต่งจิตหรือเวทนาและในที่นี้ก็หมายถึงปีติและสุข ซึ่งเป็นตัวปรุงแต่งจิตที่เหลืออยู่ในขั้นนี้
ในภาวะที่กำหนดรู้ว่ามีปีติหรือสุขนั้นจะมีสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นกับจิตในขั้นนี้ คือจิตรวมตัวเป็นหนึ่ง ต่อเนื่องมาจากความสงบรำงับของการปรุงแต่งกาย ภาวะที่จิตรวมตัวเป็นหนึ่งนั้นเป็นธรรมชาติ มีชื่อเฉพาะว่าเอกัคคตารมณ์ นี่คือสิ่งแรกที่จิตทำหน้าที่ของจิต เมื่อกายสังขารสงบรำงับลง
จิตยังทำหน้าที่ประการที่สองคือการตั้งความรู้หรือสำรวจหาสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตในขณะที่ไม่เคยสังเกตกำหนดรู้หรือศึกษามาก่อน เป็นการกำหนดโดยทั่วไปว่ามีสิ่งใดเกิดขึ้น ท่านเรียกเป็นคำเฉพาะว่าวิตก จากนั้นก็จะมีการเพ่งพิจารณารู้เฉพาะจุดเฉพาะเรื่องไปพร้อมกันด้วย ภาวะเช่นนั้นเรียกว่าวิจาร
จึงอาจกล่าวสรุปได้ว่าในภาวะที่กายสงบรำงับนั้น ได้เกิดภาวะสำคัญขึ้นกับจิตสามประการคือ ความมีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียวหรือเอกัคคตารมณ์ ความกำหนดรู้โดยกว้าง โดยทั่วเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือที่เรียกว่าวิตกและการกำหนดรู้เฉพาะจุด เฉพาะส่วน เรียกว่าวิจาร
ในขณะเดียวกัน ก็มีสิ่งที่มีผลกระทบต่อจิตในภาวะนั้นอีกสองประการ ที่ก่อนหน้านี้ไม่ปรากฏตัวชัดเจน แต่เห็นชัดขึ้นเมื่อกายสังขารสงบรำงับ นั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่าปีติและสุข แต่ในภาวะนั้นปีติมีความหยาบมากกว่า เห็นได้ชัดกว่า จิตจึงเพ่งพิจารณาที่ปีติเป็นหลักในขณะที่ภาวะที่เรียกว่าสุขก็ดำรงอยู่ใกล้ๆ กัน
ดังนั้นในภาวะนี้จึงมีธรรมสองชนิดดำรงอยู่พร้อมกันคือการทำหน้าที่ของจิตสามประการ คือ เอกัคคตารมณ์ วิตก และวิจาร และการเพ่งพิจารณาสิ่งที่กระทบต่อจิตคือปีติและสุข องค์ธรรมทั้งห้าประการนี้แหละที่พระท่านเรียกว่าปฐมฌาน
ดังนั้นเมื่อกายสังขารสงบรำงับ ธรรมห้าชนิดก็จะปรากฏชัดขึ้น คือ เอกัคคตารมณ์ วิตก วิจาร ปีติ และสุข ซึ่งเป็นองค์ทั้งห้าแห่งรูปฌาน เพียงแต่เบาบางยังไม่ถึงขั้นเป็นฌานเท่านั้น
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี