ความเอาจริงเอาจังในการรักษารากเหง้าและความเป็นมาของตนเอง เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยแสดงให้สาธารณชนได้ประจักษ์ถึงความมุ่งมั่น ความเด็ดเดี่ยวของคนคนนั้นได้เป็นอย่างดี องค์กรหรือหน่วยงานใดมีบุคลากรและหัวหน้าองค์กรที่มีความมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยวในการรักษารากเหง้าของตนก็นับว่ามีทรัพยากรบุคคลขององค์กรที่แสนประเสริฐ แต่องค์กรใดขาดแคลนบุคลากรที่มีอุปนิสัยเช่นที่ว่านี้ ก็นับว่าเป็นองค์กรที่ใกล้จะล่มสลายหรือสูญพันธ์ุไปในอนาคต
เปรียบเทียบการรักษาการแข่งขันฟุตบอลประเพณีของโรงเรียนชายล้วนทั้งสี่แห่ง คือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ที่มีชื่อกล่าวขานในสนามฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี กับการแข่งขันฟุตบอลประเพณี ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) นับว่ามีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ที่ชัดเจนมากที่สุดคือตัวผู้บริหารสถาบันการศึกษา และตัวของบรรดาสมาชิกของสถาบันการศึกษา
สาธารณชนได้ประจักษ์แล้วว่าผู้บริหารของโรงเรียนที่ร่วมเป็นจตุรมิตร และสมาชิกของเหล่าจตุรมิตรต่างพยายามรักษาเกมการแข่งขันฟุตบอลประเพณีของตนไว้ด้วยความสามารถ แต่สำหรับผู้บริหารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หาได้แสดงความจริงใจที่จะเก็บรักษาการแข่งขันฟุตบอลประเพณี ระหว่างมหาวิทยาลัยทั้งสองไว้ไม่ดังความจริงปรากฏชัดต่อสาธารณชนไปแล้ว
กำเนิดของฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ มีมาตั้งแต่ 2477 กิจกรรมสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยทั้งสองนับเป็นสีสันและการร่วมกันทำงานระหว่างผู้ศึกษาในมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมอย่างหนึ่ง แม้อาจจะมีผู้คนบางส่วนรู้สึกหมั่นไส้ และแสดงอาการรำคาญบ้างก็ตาม แต่ถึงกระนั้นเกมการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ก็ยังคงดำรงมาได้ถึงประมาณช่วงก่อนเกิดเหตุโรคโควิด-19แพร่ระบาด แล้วหลังจากนั้นฟุตบอลประเพณีฯ ก็เงียบหายไป จนราวกับว่าจะไม่มีการจัดแข่งขันอีก ทั้งนี้ ในความเป็นจริงนั้น ในบางปีที่มีเหตุไม่สมควรจัดงาน คณะกรรมการจัดงานก็มีความเห็นพ้องต้องกันว่าให้งดการจัดแข่งขัน โดยเฉพาะในช่วงปีที่ประเทศไทยมีสภาวะของความโกลาหลเนื่องจากการเมือง และในช่วงที่ประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะความโศกเศร้าจากการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของสังคม
จึงเห็นได้ว่า คณะกรรมการจัดงานฟุตบอลประเพณีฯ ได้พยายามดูความเหมาะสมในการจัดงานเป็นสำคัญ โดยไม่ฝืนจัดงานในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม แต่ทว่าในระยะหลังๆ มานี้ คณะกรรมการจัดงานฟุตบอลประเพณีฯ ดูเสมือนว่าเกรงกลัวอิทธิพลของคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่อ้างว่าเป็นคนรุ่นใหม่ เมื่อคนกลุ่มดังกล่าวส่งเสียงคัดค้านเชิงข่มขู่ ก็ปรากฏว่าทั้งคณะผู้ร่วมจัดงาน และผู้บริหารมหาวิทยาลัย รวมถึงสมาชิกของมหาวิทยาลัยทั้งสอง ต่างก็เกิดอาการหวาดหวั่น จนไม่กล้าจัดงานต่อไป ทั้งๆ ที่ไม่มีเหตุอันควรใดๆ ให้ต้องยุติการจัดการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ (การเรียกชื่อการแข่งขันฟุตบอลประเพณีฯ ถือหลักว่าปีใดมหาวิทยาลัยแห่งใดเป็นเจ้าภาพ ก็จะนำชื่อมหาวิทยาลัยนั้นนำหน้าชื่ออีกมหาวิทยาลัย ไม่มีการผูกขาดนำหน้าชื่อมหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่งนำหน้าชื่อมหาวิทยาลัยที่ร่วมแข่งขัน)
ย้อนกลับไปที่ความเป็นมาของฟุตบอลประเพณีฯ จะพบว่าเป็นกิจกรรมที่เกิดขึั้นจากความตกลงร่วมกันระหว่างนิสิตจุฬาฯกับนักศึกษาของธรรมศาสตร์ โดยงานฟุตบอลประเพณีฯ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 2477 โดยมีมูลเหตุจากความคิดร่วมกันของเพื่อนนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่เคยเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แล้วได้แยกย้ายไปศึกษาต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยอาศัยแนวคิดการแข่งขันเรือประเพณีระหว่างมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ แต่ด้วยความที่ผู้ริเริ่มคิดการแข่งขันฟุตบอลประเพณีฯ เป็นนักฟุตบอลจากสวนกุหลาบฯ ก็จึงคิดเห็นร่วมกันว่าสมควรจะจัดแข่งขันฟุตบอลตามความถนัด โดยมีความเห็นตรงกันว่าจะใช้เกมฟุตบอลเป็นตัวสร้างสรรค์ความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยทั้งสอง และเพื่อให้ผู้ศึกษาในมหาวิทยาลัยทั้งสองได้ร่วมกันสร้างสรรค์สาธารณประโยชน์ให้สังคมไปพร้อมๆ กัน เมื่อตกลงเบื้องต้นกันได้แล้ว ก็นำเรื่องเสนอต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั้งสองก็สนับสนุนความคิดของนิสิตนักศึกษา โดยการแข่งขันครั้งแรก เกิดจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯส่งหนังสือเชิญจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าร่วมงาน โดยครั้งแรกจัดแข่งขันที่ท้องสนามหลวง วันที่ 4 ธันวาคม 2477 แล้วขายบัตรเข้าชมราคา 1 บาท นำเงินไปบริจาคสมาคมปราบวัณโรค ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่สุดโรคหนึ่งของประเทศในยุคนั้น ดังนั้น การแข่งขันฟุตบอลประเพณีฯ จึงมีธรรมเนียมปฏิบัติคือนำรายได้จากการจัดงานไปบริจาคองค์กรสาธารณกุศล อาทิ สภากาชาดไทย ทุนอานันทมหิดล และช่วยเหลือเพื่อบรรเทาสาธารณภัยอื่นๆ เช่น ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอัคคีภัย และเพื่อใช้สำหรับเป็นทุนการศึกษาของนิสิตนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ จนกระทั่งเมื่อปี 2521 เป็นต้นมา จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย
การแข่งขันฟุตบอลประเพณีฯ ในยุคแรกไม่มีกิจกรรมใดๆ ในระหว่างการแข่งขัน เนื่องจากใช้สนามหลวงเป็นที่แข่ง ไม่มีอัฒจันทร์สำหรับนั่งชม โดยการแข่งขันใน
ปีแรกนั้นมีเฉพาะนิสิตนักศึกษาร่วมแข่ง แต่มาในปีที่ 2-3 จึงมีอาจารย์ของมหาวิทยาลัยทั้งสองร่วมลงแข่งด้วยบ้าง แต่เป็นส่วนน้อย โดยการแข่งขันในครั้งที่ 2-4 ได้ย้ายไปแข่งที่สนามของสวนกุหลาบฯ จนกระทั่งการแข่งขันครั้งที่ 5 ปี 2481 จึงได้ย้ายไปจัดที่สนามกีฬาแห่งชาติ ที่ปทุมวัน แล้วใช้สนามกีฬาแห่งชาติเป็นที่แข่งขันเรื่อยมา ยกเว้นในปีที่สนามกีฬาฯ ปิดซ่อมแซมก็ย้ายไปแข่งขันที่สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การแข่งขันฟุตบอลประเพณีฯ ในยุคต่อๆ มามีกิจกรรมต่างๆ นานามากมาย เน้นทั้งด้านฟุตบอล และการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ และมีกิจกรรมที่เน้นสีสันภายในมหาวิทยาลัย เช่น คัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวและธรรมจักร คัดเลือกเชียร์ลีดเดอร์ คัดเลือกดรัมเมเยอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่สาธารณชนเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดคือ ขบวนล้อเลียนการเมือง การแปรอักษรบนอัฒจันทร์
ฟุตบอลประเพณีฯ จัดครั้งล่าสุดเมื่อปี 2563 แล้วเว้นวรรคการจัดงานไป โดยมีมูลเหตุสำคัญคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผสมกับการจงใจคัดค้านการแข่งขันฟุตบอลประเพณีฯ โดยคนบางกลุ่ม ที่มีเจตนาแอบแฝง โดยอ้างเอาเรื่องความไม่เท่าเทียมมาคัดค้านการจัดงาน ซึ่งก็ดูเสมือนว่าการจงใจคัดค้านขัดขวางการจัดงานฟุตบอลประเพณีฯ จะได้ผล เนื่องจากผู้บริหารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยอมจำนนต่อกลุ่มผู้คัดค้านโดยดุษณี ในขณะเดียวกันสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ และสมาคมนักศึกษาเก่าธรรมศาสตร์ฯ ก็ดูเสมือนว่านิ่งดูดาย และไม่พยายามจะจัดงานตามปกติ
สาธารณชนเห็นว่าผู้คัดค้านงานฟุตบอลประเพณีฯ อ้างโดยยกข้อโกหกเรื่องการบีบบังคับให้นิสิตต้องแบกเสลี่ยงอัญเชิญพระเกี้ยว ซึ่งอ้างว่าเป็นการกดขี่ และแสดงความไม่เท่าเทียมกัน นอกจากนั้นยังอ้างโดยโกหกว่า การคัดเลือกเชียร์ลีดเดอร์ของมหาวิทยาลัยคือการกระทำของกลุ่มอภิสิทธิ์ชน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงนั้น ไม่มีการบีบบังคับให้นิสิตต้องช่วยกันแบกเสลี่ยง แต่เป็นเรื่องที่เกิดจากความเต็มใจกระทำโดยนิสิตที่ต้องการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของมหาวิทยาลัย และเป็นเรื่องแห่งความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ส่วนเรื่องเชียร์ลีดเดอร์ ก็ไม่ใช่เรื่องการแบ่งแยกชนชั้น หรือเรื่องอภิสิทธิ์ชนใดๆ เพราะมีกระบวนการคัดเลือกโดยเน้นความโปร่งใส และไม่ได้บีบบังคับให้นิสิตต้องนำตัวไปสมัครเป็นเชียร์ลีดเดอร์
กลับไปที่เรื่องความตั้งใจรักษาการแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรฯ โดยผู้บริหารโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนเทพศิรินทร์ และความร่วมมือร่วมใจรักษาการแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรฯ โดยนักเรียนสวนกุหลาบฯ และนักเรียนเทพศิรินทร์ และนักเรียนของกรุงเทพคริสเตียนฯ และอัสสัมชัญ จนทำให้การแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรฯ ดำเนินต่อไปจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์แม้จะมีความพยายามก่อเหตุปั่นป่วนการแข่งขันเป็นระยะๆ ก็ตาม แต่เหล่าชาวจตุรมิตรฯ ต่างร่วมใจรักษาประเพณีของตนเองไว้ด้วยความภาคภูมิใจ
ที่นี้ลองกลับไปดูเรื่องฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ บ้าง ต้องย้ำว่าสาธารณชนพบว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งนิ่งเฉย นิ่งดูดายกับงานประเพณีของมหาวิทยาลัย ส่วนสมาชิกประชาคมของมหาวิทยาลัยทั้งสองก็ทำเสมือนนิ่งดูดายไม่ต่างกัน ซึ่งทำให้มีเสียงวิพากษ์ว่า แม้แต่เด็กนักเรียนของจตุรมิตรฯ ยังพยายามรักษาประเพณีของตนไว้ แต่เหตุไฉนผู้บริหารมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดอันดับหนึ่งและสองของประเทศไทยกลับดูดายในเรื่องสำคัญนี้
อย่าลืมว่า การแข่งขันฟุตบอลประเพณีฯ นับเป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งของทั้งจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ เป็นการแสดงออกซึ่งมุมมองต่อสังคมและการเมืองในทัศนคติของปัญญาชน โดยเฉพาะขบวนล้อเลียนการเมือง และการแปรอักษรซึ่งสะท้อนปัญหาของสังคมได้เป็นอย่างดี ขอย้ำว่า ขบวนล้อเลียนการเมือง และการแปรอักษรคือเสน่ห์ของฟุตบอลประเพณีฯ และต้องระลึกไว้ด้วยว่าในการแข่งขันฟุตบอลประเพณีฯ ปี 2495 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในการแข่งขัน
การแปรอักษรในงานฟุตบอลประเพณีฯ เริ่มต้นจากนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ สวมเสื้อสีน้ำเงินแล้วแปรอักษรเป็นตราพระเกี้ยวบนพาน โดยมีพื้นเป็นเสื้อสีชมพู แล้วหลังจากนั้นเป็นต้นมา การแปรอักษรในงานฟุตบอลประเพณีฯ ก็พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนในปี 2503 ได้แปรอักษรเป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นครั้งแรก
ย้ำว่าฟุตบอลประเพณีฯ เป็นงานที่ไม่ได้เน้นเพียงกิจกรรมสนุกสนานของนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยทั้งสองเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมอีกมากมาย ดังนั้น ชาวประชาคมของมหาวิทยาลัยทั้งสอง และผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงสมควรจะช่วยกันพิทักษ์รักษากิจกรรมนี้ไว้ ไม่สมควรจะแสดงความขี้ขลาดหวาดหวั่นจนหัวหดลืมความถูกต้องที่จำเป็นต้องรักษาไว้ แล้วปล่อยให้ผู้ไม่หวังดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีใจคิดล้มล้างงานฟุตบอลประเพณีฯ กระทำการได้ตามอำเภอใจ โดยไม่นำพาต่อความถูกต้องและดีงามของงานประเพณีที่มีอายุยาวนาน
รอดูว่าปี 2567 จะมีงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ หรือไม่ แต่ได้ยินข่าวว่าจะมีการแข่งขัน โดยการแข่งขันครั้งหน้าเป็นวาระที่ธรรมศาสตร์เป็นเจ้าภาพจัดงาน
ฟุตบอลประเพณีฯ เป็นประเพณีที่มหาวิทยาลัยทั้งสองต้องเก็บรักษาไว้ เพราะเป็นกิจกรรมที่เน้นให้เกิดความร่วมมือทำงานร่วมกันระหว่างสมาชิกของทั้งสองมหาวิทยาลัย เป็นการสืบสานประเพณี และเน้นความสามัคคีในการร่วมจัดงาน
ขอชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและชาวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จงร่วมมือร่วมใจร่วมกันจัดงานฟุตบอลประเพณีฯ ให้ยั่งยืนสืบต่อไป โดยไม่ต้องให้ความสนใจว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั้งสองจะมีความกล้าหาญในการธำรงรักษาประเพณีสำคัญนี้ไว้หรือไม่ก็ตาม เพราะเกียรติภูมิและศักดิ์ของมหาวิทยาลัยทั้งสองนั้น มีมากกว่าผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี และนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ และนายกสมาคมนักศึกษาเก่าธรรมศาสตร์ฯ อย่างไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้แม้แต่น้อย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี