ช่วงนี้ โลกโซเชียลกำลังสนุกกับการจับเท็จคำพูดของนักการเมืองดังรายหนึ่ง
พูดจาเปลี่ยนแปลงไปมา
เคยบอกว่า มาทันงานศพพ่อ แล้วมาพูดอีกทีว่ามาไม่ทัน
เคยบอกว่า มาในเครื่องบินพิเศษของรัฐบาลยุคนั้นในฐานะคนนอก แล้วมาพูดอีกทีว่าเป็นทีมงาน
เคยสนับสนุนปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด แล้วมาเปลี่ยนว่าไม่เคยสนับสนุน
เคยบอกว่าถูกส่งไปเรียนเมืองนอกตั้งแต่ 11 ขวบ ตอนนั้นน่าสงสารมาก แต่มีภาพภายหลังว่าเป็นหนุ่มแล้วยังเรียนมัธยมอยู่ที่ไทย ฯลฯ
อะไรจริง อะไรเท็จ
ทำไมพูดจากลับไปกลับมา
เหมือนอดีตตำนาน “นาธาน”
สงสัยว่า สมองคนจะสามารถสร้างความทรงจำปลอม ได้หรือไม่?
หรือว่าแค่เจตนาโกหก?
แล้วมันจะโกหกซ้ำซาก บ่อยๆ ขนาดนั้น จะถือว่าปกติ หรือไม่?
1. สภาวะ Confabulations False Memory หรือการกุเหตุความจำเสื่อม
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2020 แฟนเพจ BrandThink นำเสนอเรื่อง “ตอแหลไม่รู้ตัว! รู้มั้ย? คนเราสร้างความจำปลอมขึ้นมาได้จริง!”
เนื้อหาบางส่วนน่าสนใจ ระบุว่า
“..สภาวะ Confabulations False Memory หรือการกุเหตุความจำเสื่อม...
ต้องอธิบายให้ฟังก่อนว่าคำว่า Confabulation หรือการกุเหตุความจำเสื่อมความผิดปกติทางด้านความทรงจำ
ทั้งที่เกิดขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งใจ อาจจะการพูดบางอย่างที่มันไม่เคยเกิดขึ้นจริง
การเล่าเรื่องราวที่เนื้อหามีการบิดเบือน แต่ที่สำคัญมักจะไม่ได้มาพร้อมเจตนาที่หลอกลวง และมีความมั่นใจในเรื่องราวนั้นอยู่เสมอ (สิ่งนี้ถ้าคนภายนอกมองเข้าไป เรามักจะเรียกพฤติกรรมแบบนี้ด้วยภาษาบ้านๆ ว่า “ตอแหล”)
อาการเป็นไปได้ตั้งแต่ความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงขั้นรุนแรง อย่างการสร้างเรื่องราวแปลกประหลาด แล้วเชื่อสิ่งเหล่านั้นอย่างใจจริง
ลองนึกภาพอย่างนี้ก็ได้ครับ
ลองนึกภาพปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่างุนงง เมื่อใครบางคนสามารถโกหกหรือพูดจากลับไปกลับมาได้อย่างง่ายดาย แบบทั้งที่มีคนมากมายอยู่ในเหตุการณ์ที่เขาเล่า แต่เขาก็ยังเล่าเรื่องราวที่ต่างออกไป อาจจะต่างด้วยรายละเอียดเล็กน้อยที่จำไม่ได้เอง หรือรายละเอียดใหญ่ที่ไม่น่าจำผิดได้ถึงขนาดนั้น
ส่วนตัวอาการ อยากให้เราลองนึกถึงเวลาที่นักบรรพชีวินค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ดูก็ได้ครับ เราคงไม่สามารถค้นพบชิ้นส่วนทุกชิ้นได้ในเวลาเดียวกัน เราอาจจะพบแค่ส่วนกะโหลก ส่วนเชิงกราน ส่วนที่หายกระจายกันไป แต่นักบรรพชีวินหรือนักวิทยาศาสตร์ก็สามารถนำมันมาปะติดปะต่อกันสร้างเรื่องราวโดยใช้ความรู้วิทยาศาสตร์หลากหลายด้านมาเติมเต็มความน่าจะเป็นนั้นลงไป ว่ามันน่าจะยืนสองขาเพราะกระดูกสันหลังมันเป็นแบบนี้ มันน่าจะกำลังวิ่งเพราะขามันเป็นแบบนี้ มันน่าจะเป็นนักล่าโดยธรรมชาติเพราะฟันมันเป็นแบบนี้ เพราะคงไม่มีใครสามารถบันทึกภาพวีดีโอนักล่าตัวนี้ตอนออกล่า เพื่อมายืนยันได้อยู่แล้ว
สภาวะนี้มันก็มีการทำงานที่ใกล้เคียงกันครับ เมื่อสมองไม่สามารถจดจำทุกรายละเอียดเล็กน้อยได้ มันจะเชื่อมโยงประเด็นใหญ่เข้าด้วยกัน จากข้อมูลที่เราสร้างกันขึ้นมาเอง มักจะพบเห็นได้ง่ายเวลาคนเราเล่าเรื่องราวของตัวเอง หรือเวลาใครสักคนพยายามจะเขียนหนังสือชีวประวัติตัวเองออกมาครับ
แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เจ้าคำว่า Confabulation เนี่ย ถูกนำมาใช้กับอาการ “ตอแหล” และเชื่อมโยงไปถึงนักการเมืองก็เมื่อช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้เองครับ
คือ คุณหมอใหญ่ท่านหนึ่ง (ผมขอไม่เอ่ยนาม) ได้อธิบายพฤติกรรมของนักการเมืองไทยว่าเป็นอาการเช่นเดียวกัน ประมาณว่า สัญญาอะไรกับใครไว้พอมาอีกวันหนึ่ง ก็บอกว่าไม่เคยสัญญา เคยพูดอะไรไว้ พออีกวันก็บอกว่าไม่เคยพูด เคยทำอะไรไว้ พออีกวันก็บอกว่าไม่เคยทำ
ถึงแม้จะเป็นการหยิกที่แสบทรวง แต่ก็ชวนให้นึกภาพออกได้เหมือนกัน คือต้องบอกให้เข้าใจก่อนว่า ส่วนนี้ตัวผู้เขียนไม่ได้ยกตัวอย่างขึ้นมาเอง แต่นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหยิบยก “นักการเมือง” มาเป็นตัวอย่างของความ “ตอแหล”ในบริบทนี้จริงๆ
แต่ต้องขอย้ำว่า อาการเหล่านี้เป็นอาการทางประสาท เราคงไม่สามารถเหมารวมได้ว่าคนนี้เป็นแบบนี้เพราะเป็นแบบนี้ แต่กลุ่มที่อาการหนักก็มักจะมาจากอุบัติเหตุ ติดสุราเรื้อรัง สมองเสื่อม หลอดเลือดโป่งพอง หรือจากโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น
เอาเข้าจริงแล้ว ความทรงจำของเราก็เหมือนความฝันครับ มันมีหน้าที่ทำให้เรารู้สึก “จริง” แต่ในบางครั้งพวกเขาก็ผิดพลาดและมีการปรุงแต่งอย่างไม่รู้ตัว จินตนาการอนาคตที่ยังไม่ได้มาถึงอาจเป็นเรื่องงดงาม แต่การปรุงแต่งเรื่องราวที่ผ่านมา อาจไม่ได้เป็นสิ่งที่น่าประทับใจนัก เพราะฉะนั้นเรียนรู้ที่จะให้อภัยทั้งคนใกล้และคนรอบข้างด้วยนะครับ...”
2. ปรากฏการณ์ “ตอแหล” (confabulation)
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คือคุณหมอที่เคยกล่าวถึงปรากฏการณ์ “ตอแหล” (confabulation)
โดยระบุว่า จากการติดตามและศึกษาปรากฏการณ์ทางสมองที่มีผลต่อการแสดงออกในพฤติกรรมต่างๆ มีการทดลองที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้และเผยแพร่ในวารสาร Science ฉบับเดือนสิงหาคม 2551 ระบุถึงการเกิดปรากฏการณ์ “ตอแหล” (confabulation)
เป็นกระบวนการเกิดจากความผิดปกติ ทางด้านความจำ
ทั้งที่เกิดขึ้น โดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจจนเกิดความเคยชินจนเป็นนิสัย
“ประเด็นนี้ ทำให้สนใจศึกษากระบวนการคิดและการทำงานในสมองของนักการเมืองไทย พบว่า มีรูปแบบกระบวนการคิดคล้ายๆ กันมาตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
คือ มีกระบวนการที่แยบยล แสดงให้เห็นถึงมันสมองอัจฉริยะ วางแผนเป็นเลิศ เช่น
กระบวนการล้างสมองประชาชนให้มีความอยากได้อยากมี พึงพอใจที่จะได้ โดยไม่ต้องลงแรงมากและเกิดความผูกพันเป็นบุญเป็นคุณ การใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายตีความเข้าข้างตนเอง
กระบวนการนี้ทำโดยผ่านระบบสมอง Limbic แต่เมื่อปรุงแต่งโยงความอยากเข้ากับความพึงพอใจในสมองขั้นสูงขึ้นไปอีกและปรับปรุงให้ไม่สำนึกจำแนกความผิดชอบชั่วดี ทำให้นำมาซึ่งการโกงโดยไม่จำกัดวิธี...
...เป็นที่น่าสังเกตว่า ความปรวนแปรของสมองที่พัฒนาในรูปแบบใหม่ แม้จะไม่ถูกต้องและไม่มีจริยธรรม แต่ปรากฏการณ์นี้มีการปฏิบัติซ้ำซาก จำเจ จากรุ่นสู่รุ่นจนเป็นเรื่องธรรมดา ในกลุ่มสังคมเดียวกัน และทำให้เกิดข้อกำหนดใหม่จนกลายเป็นสิ่งถูกต้อง
เกิดค่านิยมใหม่ วัฒนธรรมใหม่ในสังคมของความอยากได้ อยากมีไม่รู้จบ” - ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดต้องศึกษาสมองนักการเมืองกับปรากฏการณ์สมองตอแหล แทนที่จะศึกษาในกลุ่มอื่น เช่น นักโทษคดีอุกฉกรรจ์ หรือโจรผู้ร้าย?
ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวด้วยว่า ในกลุ่มนักโทษอุกฉกรรจ์ หรือโจรผู้ร้ายนั้น หากเปรียบเทียบรอยหยักทางสมองหรือความฉลาดอัจฉริยะแล้วมีน้อยกว่านักการเมืองมาก กลุ่มนี้จึงน่าสนใจเป็นพิเศษในการทำงานด้านวิชาการ เช่น การศึกษาในเรื่องการทำงานสนองตอบของสมองส่วนหน้าทางด้านใน (medial forebrain และ orbitofrontal cortex) และส่วนใจกลางสมองอีกตำแหน่ง พบว่าเมื่อได้รับเงินทอง หรือสิ่งตอบแทน สมองส่วนนี้จะทำงานเต็มที่ โดยที่จะส่งผลให้มีการกำกับว่า จะลงมือทำงานอย่างเต็มใจทุ่มเทเต็มกำลังก็ต่อเมื่อได้กำไรมากๆ เท่านั้น ขณะเดียวกัน หากทำฟรี ปฏิกิริยาสมองส่วนนี้จะน้อยมาก
3. ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงข้อมูลบางส่วนที่เคยมีการศึกษา กล่าวถึงในทางวิทยาศาสตร์
แต่คงไม่อาจไปสรุปว่า กรณีนักการเมืองไทยบางคน ที่พูดกลับไปกลับมาได้อย่างเป็นปกตินั้น จะเข้าข่ายสมองตอแหล หรือไม่?
แต่ที่แน่ๆ คือ ถ้าคนจำพวกนี้ได้มีอำนาจบริหารบ้านเมือง ปกครองประเทศเมื่อไหร่ คงจะวิบัติกันเท่านั้นเอง!!!
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี