บันทึกทางประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่งของไทย ซึ่งปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงสยาม ต้นฉบับของบริติชมิวเซียม คือเรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์ ซึ่งเมื่อเอ่ยนามนี้ คนส่วนใหญ่น่าจะรู้จักพอสมควร แต่หากไปถามคนรุ่นใหม่ซึ่งได้รับการสอนวิชาประวัติศาสตร์น้อยลงกว่าในอดีต ก็ไม่แน่ใจนักว่าจะได้คำตอบว่ารู้จักชื่อนี้ พันท้ายนรสิงห์ มีชื่อเดิมว่า สิน เป็นชาวบ้านนรสิงห์ แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง มีภรรยาชื่อนวล ได้รู้จักกับพระเจ้าเสือด้วยการแข่งขันชกมวยไทย เมื่อพระองค์แปลงองค์มาเป็นชาวบ้านธรรมดา และทรงโปรดในอุปนิสัยใจคอ ต่อมาได้กลายเป็นนายท้ายเรือพระที่นั่งของพระเจ้าเสือ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพัน
เรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์เกิดขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๒๔๗ กล่าวคือพระเจ้าเสือ หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๒ แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ตอนปลายอาณาจักรอยุธยา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นพระมหากษัตริย์ ที่มีความเข้มแข็ง ตัดสินใจเด็ดขาด และอาจจะกล่าวได้ว่า พระองค์เป็นต้นตำรับของวิชามวยไทย ซึ่งขณะนี้ได้แพร่หลายไปทั่วโลก เป็นศิลปะการต่อสู้ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง จนรัฐบาลได้มีแนวคิดที่จะให้มวยไทยเป็นอีกเรื่องหนึ่งของ Soft Power ที่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทยที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับ ในการที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศของเรา โดยพระเจ้าเสือได้เสด็จประพาสโดยเรือพระที่นั่งเอกชัย เพื่อทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสาครบุรี ซึ่งปัจจุบัน คือจังหวัดสมุทรสาคร
เมื่อเรือพระที่นั่งไปถึงตำบลโคกขาม คลองในบริเวณนั้นคดเคี้ยวมาก และมีกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากซึ่งยากต่อการที่จะคัดท้ายเรือ ทำให้พันท้ายนรสิงห์ซึ่งถือท้ายเรือพระที่นั่งไม่สามารถจะคัดท้ายให้เรือวิ่งไปตามแนวลำคลองได้ โขนเรือพระที่นั่งได้กระทบกับกิ่งไม้ใหญ่ที่อยู่ริมคลอง ทำให้โขนเรือซึ่งก็คือส่วนหัวเรือหักตกลงไปในน้ำ
พันท้ายนรสิงห์จึงได้จอดเรือพระที่นั่งและกระโดดขึ้นฝั่งกราบทูลต่อพระเจ้าเสือให้ทรงลงพระอาญาตามที่มีการกำหนดไว้ในกฎพระอัยการซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิต โดยกราบทูลพรรณนาว่า ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าพระราชอาญาเป็นล้นเกล้า ขอจงทรงพระกรุณาโปรดให้ทำศาลขึ้นที่นี่ สูงประมาณเพียงตา แล้วจงตัดเอาศีรษะข้าพระพุทธเจ้ากับหัวเรือพระที่นั่งซึ่งหักตกลงไปในน้ำนั้น ขึ้นบวงสรวงไว้ด้วยกันที่นี้
พระเจ้าเสือจึงมีพระราชโองการตรัสว่า ไอ้พันท้าย ซึ่งโทษเอ็งนั้นถึงแก่ตายชอบอยู่แล้ว แต่ทว่าบัดนี้ถูกยกโทษเสีย ไม่เอาโทษเอ็งแล้ว เอ็งจงคืนมาลงเรือไปด้วยกูเถิด ซึ่งหัวเรือที่หักนั้นกูจะทำต่อเอาใหม่ เอ็งอย่าวิตกเลย ซึ่งพันท้ายนรสิงห์ ได้กราบทูลว่า ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดมิให้เอาโทษข้าพระพุทธเจ้านั้น พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ แต่ถ้าว่าจะเสียขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดกฎหมายไป และซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมาละพระราชกำหนดสำหรับแผ่นดินเสียดังนี้ ดูมิควรยิ่งนัก นานไปในภายภาคหน้าคนทั้งปวงจะครหาได้ อย่าทรงพระอาลัยแก่ข้าพระพุทธเจ้าผู้ถึงแก่มรณะโทษนี้เลย ทรงพระกรุณาโปรดให้ตัดศีรษะข้าพระพุทธเจ้าเสียตามโบราณราชกำหนดนั้นเถิด
พระเจ้าเสือจึงมีพระราชดำรัสสั่งให้ฝีพายทั้งปวงปั้นมูลดินเป็นรูปพันท้ายนรสิงห์ แล้วให้ตัดศีรษะมูลดินนั้นเสีย แล้วดำรัสว่า ไอ้พันท้ายซึ่งโทษเอ็งถึงตายนั้นกูจะประหารชีวิตเอ็งเสียเพราะเป็นเหตุแทนตัวแล้ว ซึ่งหมายถึงการตัดหัวของมูลดินซึ่งถูกปั้นขึ้น เอ็งอย่าตายเลย จงกลับมาลงเรือไปด้วยกูเถิด
พันท้ายนรสิงห์มีความละอายใจที่เรื่องของตนจะทำให้เสียพระราชกำหนด จึงกราบทูลไปว่า ขอพระราชทานซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าข้าพระพุทธเจ้า ทั้งนี้พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ แต่ถ้าว่าซึ่งการตัดหัวของรูปดินแทนตัวข้าพเจ้านั้น ดูไม่เหมาะสม ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาตัดศีรษะข้าพระพุทธเจ้าเสียเถิด อย่าให้เสียขนบธรรมเนียม ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบทูลฝากบุตรภรรยา แล้วก็จะกราบถวายบังคมลาตายไปโดยลักษณะยถาโทษอันกราบทูลไว้นั้น
เมื่อพระเจ้าเสือได้ทรงฟังดังนั้น ก็ทรงดำริวิงวอนไปหลายครั้ง แต่พันท้ายนรสิงห์ก็ไม่ยอมอยู่ดี พระเจ้าเสือทรงพระมหาการุณยภาพแก่พันท้ายนรสิงห์เป็นอันมากจนกลั้นน้ำพระเนตรนั้นไว้มิได้ จำเป็นต้องทำตามพระราชกำหนด ให้ประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์เสีย แล้วทำศาลขึ้นสูงเพียงตา และให้เอาศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับหัวเรือพระที่นั่งซึ่งหักนั้นขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาลนั้น แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินต่อไป
กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนศาลพันท้ายนรสิงห์เป็นโบราณสถานเมื่อปี ๒๔๙๘ แต่จากกาลเวลาที่ล่วงผ่านมานานพอสมควร ทำให้ศาลพันท้ายนรสิงห์ ชำรุดทรุดโทรมและผุพังไปจนเกือบหมด กรมศิลปากรจึงได้จัดสร้างศาลหลังใหม่ขึ้นในบริเวณใกล้เคียงในปี ๒๕๓๑ นอกจากเพื่อให้ประชาชนที่เคารพเลื่อมใสได้มาสักการะแล้ว ยังจัดแสดงหลักไม้โบราณที่ขุดพบในบริเวณนั้นซึ่งเชื่อกันว่าเป็นหลักประหารของพันท้ายนรสิงห์ โดยตรวจพบว่าอายุของหลักเสานั้นมีประมาณ ๓๐๐ ปี
หันกลับมาดูเรื่องของการเมืองของประเทศไทยในปัจจุบัน รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ได้มีความพยายามและมุ่งมั่นในการบริหารจัดการเพื่อให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้า ตามความคาดหวังของประชาชนที่ให้การสนับสนุน รวมทั้งการผลักดันโครงการต่างๆ ให้เป็นไปตามที่ได้มีการหาเสียงไว้ก่อนการเลือกตั้ง อาทิ การแจกเงินที่ใช้คำเลี่ยงว่าดิจิทัล วอลเล็ตเพราะไม่ใช่เป็นตัวเงินจริง แต่เป็นลักษณะของสิทธิในการใช้เงินจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท เพื่อการจัดซื้อสินค้า ที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคและบริโภค ไม่สามารถจะเอาไปเพื่อใช้หนี้ หรือชำระค่าน้ำ ค่าไฟ และอื่นๆ ที่เป็นการใช้จ่ายในการดำรงชีวิตอีกหลายอย่าง โดยมีการปรับเปลี่ยนจากเดิมที่จะให้กับประชาชนทุกคนที่อายุมากกว่า ๑๖ ปี ก็ปรับให้ยกเว้นผู้ที่มีรายได้ประจำเกินกว่า ๗๐,๐๐๐ บาท หรือมีเงินฝากธนาคารมากกว่า ๕ แสนบาท และเดิมให้ใช้ในรัศมี ๔ กิโลเมตรจากที่อยู่ในทะเบียนบ้าน ให้เป็นใช้ได้ภายในอำเภอเดียวกัน โดยต้องใช้ให้หมดในระยะเวลา ๖ เดือนนับจากได้รับสิทธิ์ และรัฐบาลคาดว่าเงินจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ที่จะต้องกู้มานี้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ ซึ่งจริงเท็จอย่างไรเป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์ต่อไป แต่ที่แน่นอนคือภาระหนี้สินของประเทศจะต้องเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งมีผลต่อกระทบต่อหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ของประเทศซึ่งขณะนี้แตะระดับ ๙๐% เป็นตัวเลขเกินกว่าระดับ ๖๐% ซึ่งตามหลักเศรษฐศาสตร์ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี
แต่สิ่งที่เป็นประเด็นและมีการกล่าวถึงมากในระยะนี้ คือการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงระดับอธิบดีจากกรมสอบสวนคดีพิเศษไปปฏิบัติหน้าที่อื่น ซึ่งถึงแม้จะมีระดับตำแหน่งเทียบเท่า C๑๑ เหมือนกัน แต่โดยตำแหน่งหน้าที่จริงไม่น่าจะสูงกว่าตำแหน่งเดิม ซึ่งสาเหตุแห่งการโยกย้ายนั้นประชาชนทั่วไปมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม เพราะเกิดจากการที่อธิบดีท่านนี้กำลังสอบสวนขุดคุ้ยเรื่องที่เป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันมากคือการนำเข้าหมูเถื่อน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นกระบวนการใหญ่และน่าจะมีผู้อำนาจและมีอิทธิพลทั้งจากภาครัฐและเอกชนในวงการค้าร่วมอยู่ด้วย จึงทำให้เกิดความไม่พึงใจพอใจ จนทำให้ต้องมีการโยกย้ายอธิบดีท่านนี้ออก โดยกล่าวว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถและต้องการให้ไปทำงานอื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกและผิดปกติ ยากที่คนส่วนใหญ่จะเชื่อ
ผู้ที่เป็นข้าราชการโดยเฉพาะระดับสูง ถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีและเชื่อว่าทุกท่านมีความตั้งใจในการบริหารราชการแผ่นดินตามที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด เพราะคำว่าข้าราชการหมายถึงผู้ที่ทำงานเพื่อรับใช้แผ่นดิน รับใช้หลวงเพื่อทดแทนคุณแผ่นดิน หากบุคคลผู้นั้นทำผิดจริงก็สมควรได้รับการลงโทษ ตามประมวลกฎหมาย คล้ายกับกรณีของพันท้ายนรสิงห์ ซึ่งทำสิ่งที่ผิดพลาดอันมีโทษถึงประหารชีวิต และแม้จะได้รับการโปรดเกล้าฯในการที่จะละเว้นไม่ลงโทษก็ได้ปฏิเสธ เพื่อให้เป็นไปตามกฎอาญาของแผ่นดิน
เป็นเรื่องน่าชื่นชมที่ท่านอดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ยอมรับคำสั่ง โยกย้ายโดยมิได้แสดงปฏิกิริยาแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่เรื่องที่ท่านกำลังดำเนินการขุดคุ้ยนั้นเป็นบทบาทหน้าที่ที่ท่านพึงกระทำตามที่ได้รับมอบหมาย และกำลังจะเกิดผลสำเร็จในการเปิดโฉมหน้าของกระบวนการที่ทำผิด
แต่ในส่วนของผู้ที่มีอำนาจในการสั่งการเพื่อให้เกิดการโยกย้ายนั้น อาจจะต้องพิจารณาว่า สิ่งที่ท่านกระทำไปนั้นอยู่บนความเป็นธรรมหรือไม่อย่างไร หรืออยู่บนอำนาจทางการเมืองที่อีกไม่นานนักก็จะหมดไปตามวาระ แต่หากถูกใช้ไปในทางมิชอบก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควรยิ่ง
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี