“สจฺ จํ เว อมตา วาจา คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย” คือ “คาถา” ประจำพรรคประชาธิปัตย์ ที่บัดนี้ ถูกใช้เป็นวาทกรรมทิ่มแทงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ คือนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ผู้มีคำขวัญประจำตัวว่า “คำไหน คำนั้น”เมื่อครั้งลั่นวาจาว่า “หากได้ สส.น้อยกว่า 52 ที่นั่ง จะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต”
หลังได้รับการเลือกให้เป็น “หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” คนใหม่ เฉลิมชัยกล่าวว่า “...ผมรู้ว่าการตัดสินใจของผมในวันนี้มันเจ็บ มันทำลายสิ่งที่ผมสร้างมาทั้งชีวิต เข้าใจครับ...”
1) ผศ.ดร.บูฆอรี ยีหมะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ให้ความเห็นกรณี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้รับคะแนนท่วมท้นในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และกลายเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนใหม่ว่า หลังจากนี้ ประเมินว่า พรรคประชาธิปัตย์ น่าจะกลายเป็นพรรคท้องถิ่น ที่ดูเหมือนว่าจะหวังแต่คะแนนสส.ในระบบเขต ขณะที่แบบบัญชีรายชื่อค่อนข้างยากแล้ว เพราะถ้าเราดูความยั่งยืนและความเติบโตของพรรคการเมืองแต่ละพรรคนั้น ไม่ได้มีเฉพาะปัจจัยภายในพรรคเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยภายนอก สภาพแวดล้อมความคิดทางการเมือง พฤติกรรมการเมืองว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ผ่านมาเขาคิดอย่างไร
นอกเหนือจากระบบเขต พบว่า พรรคการเมืองที่หัวก้าวหน้า หรือพรรคเสรีนิยม อย่างพรรคก้าวไกล ได้รับความนิยมสูง พรรคอนุรักษ์อย่าง ปชป.ในภาคใต้ก็ได้ลำดับที่สาม ลำดับที่สองกลับเป็นพรรค รวมไทยสร้างชาติ และก่อนหน้านี้ดูผลโพลของนิด้า ในประเด็น นายนราพัฒน์ แก้วทอง กับ น.ส.วทันยา บุนนาค หรือ “มาดามเดียร์” จะเลือกใครเป็นหัวหน้าพรรค ปชป. ปรากฏว่าคนเลือก มาดามเดียร์มากกว่า นายนราพัฒน์ ซึ่งผลโพลนี้ได้สะท้อนว่าคนทั่วไปคิดอย่างไรกับ ปชป. เขาต้องการแนวทางใหม่ ต้องการวิสัยทัศน์ของพรรคที่จะนำไปทิศทางใด แต่ผลการเลือกหัวหน้าพรรคของ ปชป.วันนี้ แสดงให้เห็นชัดว่า ปชป. ยังไม่ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม
“การเลือกนายเฉลิมชัย เป็นหัวหน้าพรรค จึงเป็นการเลือกที่ไม่ปรับตัวตามสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น ทำให้จะกลายเป็นพรรคท้องถิ่นจะกลายเป็นพรรคที่สัมพันธ์กับตัวบุคคลในพื้นที่ ที่แม้แต่ภาคใต้เองก็ยังเหลือที่นั่ง สส.ไม่กี่จังหวัด แม้แต่สุราษฎร์ธานีก็ยังแพ้หลุดลุ่ย” ผศ.ดร.บูฆอรี ระบุ
2) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ตัวเองจะฟื้นฟูพรรคด้วยการสร้างความเป็นเอกภาพ ขอให้ทุกคนมาช่วยกันทุกรุ่น เพราะพรรคประชาธิปัตย์มีคนทุกรุ่นอยู่ ทุกกลุ่มวันนี้ถ้ามาร่วมมือกันทำก็จะสามารถเริ่มต้นได้ ประการที่สอง กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ต้องพร้อมทำงานทันทีและจะมีการประเมินการทำงานทุก 3 เดือน ทั้งเงื่อนไขข้อบังคับ คุณสมบัติ รวมถึงการเปิดกว้าง ยุทธศาสตร์ของพรรคและนโยบาย รวมถึงสื่อสารมวลชนและโซเชียลมีเดีย จะมีคณะทำงานที่คอยประเมิน โดย 3 เดือนแรกจะต้องมีผลงานเป็นรูปธรรมให้เห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงจริง พร้อมยอมรับว่า ตัวเองตัดสินใจลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเมื่อคืนตอน 22.00 น.
3) นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า วันนี้คนประชาธิปัตย์ยังมีความรักพรรคอยู่และจะมาช่วยกันสร้างพรรค ส่วนกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคที่ประกาศลาออกแต่บอกว่า พร้อมจะกลับมาช่วยพรรค นายเฉลิมชัยเปิดเผยว่า ระหว่างปิดห้องคุยกัน ตัวเองก็ได้ขอให้นายอภิสิทธิ์ ไม่ลาออก แต่นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่า เพื่อให้ตัวเองสบายใจและไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเข้ามายุ่งเกี่ยวในการบริหารของพรรคจึงขอลาออก ซึ่งตนเองก็ต้องเคารพการตัดสินใจของนายอภิสิทธิ์ แต่นายเฉลิมชัยเองยังยินดีให้นายอภิสิทธิ์กลับมา เพราะตัวเองไม่มีปัญหาขัดแย้งอะไรกับนายอภิสิทธิ์ และยังพูดเหมือนเดิมว่า “มองตาก็รู้ใจกัน เพราะทำงานกันมานานจนรู้ใจ” เพียงแต่ว่าการพูดในวันนี้เป็นการพูดเปิดในสิ่งที่ตัวเองเจออะไร และนายอภิสิทธิ์คิดอะไร มาแลกเปลี่ยนกัน ส่วนการลาออก ตัวเองคิดว่านายอภิสิทธิ์ตัดสินใจมาแล้ว เพียงแค่มีโอกาสมาคุยกัน และต่างก็เข้าใจ และเชื่อว่าตัวเองและนายอภิสิทธิ์กรีดเลือดออกมาก็เป็นสีฟ้า รักพรรคประชาธิปัตย์กันทั้งสองคน
4) เมื่อถามว่า สาเหตุที่นายอภิสิทธิ์ลาออก เป็นเพราะว่า จะพาพรรคไปร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายเฉลิมชัย ตอบว่า ไม่ได้คุยกันเรื่องนี้ แต่ได้บอกที่ประชุมไปแล้วว่า ขอให้เชื่อมั่น เพราะตัวเองอยู่พรรคมา 22 ปี หลักการและอุดมการณ์ของพรรคไม่เคยเปลี่ยน และเป็นคนเคร่งครัดกับอุดมการณ์พรรคมาตลอด จึงยืนยันได้ว่า ใครก็ตามที่บอกว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีจิตวิญญาณแล้ว อยากขอให้มองพรรคด้วยใจที่เป็นธรรม วันนี้ตอบคำถามตรงนี้ได้ แต่วันหน้าไม่สามารถเดาได้ แต่ยืนยันว่า วันนี้พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน และวันที่ 12 ธันวาคมนี้ จะเป็นประชุมสภาฯ พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็งที่สุด
เมื่อถามว่า เป็นหัวหน้าพรรคแล้วจะไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายเฉลิมชัย ตอบว่า ตอนนี้เป็นฝ่ายค้านก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองก็ต้องนึกถึงประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ใช่ตัวบุคคล และจะไม่มีการตัดสินใจง่ายๆ อย่างเด็ดขาด แต่หลักการและอุดมการณ์ของพรรคยังคงอยู่
5) นายเฉลิมชัย ยืนยันว่า วันนี้เข้ามาทำภารกิจแก้วิกฤตให้พรรคเดินหน้าไปได้ และพรรคจะปรับเปลี่ยนให้คนรุ่นใหม่และคนนอกเข้ามาร่วมงานมากขึ้น ทั้งหมดเป็นความตั้งใจของตัวเอง ส่วนการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นผู้นำทัพหรือไม่ นายเฉลิมชัย ตอบว่า ขอให้มองแค่วันนี้ก่อนดีกว่า
6) เมื่อถามว่า การสร้างเอกภาพจะทำได้อย่างไร ถ้ายังมีสส.ที่ไม่สนับสนุนและมีคนลาออก นายเฉลิมชัย ตอบว่าจะพยายามให้เต็มที่และจะคุยกับทุกฝ่าย ขอให้ทุกคนมาช่วยกัน ไม่กลัวคนจะไหลออก เพราะเชื่อว่าทุกคนก็มีเหตุผล อยู่ที่ว่าเรารักพรรคจริงหรือไม่ ส่วนผู้อาวุโสของพรรค ตนจะเข้าไปคุยด้วยอย่างแน่นอน ไม่มีใครรักพรรคน้อยกว่าใคร
7) น่าสนใจในคำแถลงบางช่วงบางตอน ในที่ประชุมของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ที่ว่า
“...หลายเดือนที่ผ่านมา สิ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจและสะเทือนใจก็คือ เราที่อยู่ในห้องนี้ตระหนักกันแค่ไหนว่า พรรคอยู่ในภาวะที่เรียกว่า “ยิ่งกว่าวิกฤต” ผมอาจประสบการณ์น้อยกว่าท่านอดีตหัวหน้าชวน หลายท่านที่มีประสบการณ์ก็บอกพรรคเราเคยตกต่ำก็คืนกลับมาได้ การเมืองมีขึ้นมีลง ผมก็บอกว่า มีขึ้นมีลงแน่นอน แต่มีลงไม่ได้แปลว่าจะมีขึ้น ถ้าเราไม่เรียนรู้ถ้าเราไม่มาสรุปบทเรียนกันอย่างชัดเจน ผมก็จึงขออนุญาตกราบเรียนที่ประชุมอย่างนี้ครับว่า เราคิดกันจริงจังหรือยังว่า เรามาอยู่ที่จุดนี้ได้อย่างไร เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับอนาคตของพรรค ผมก็อยากกราบเรียนว่า บทเรียนข้อสรุปต่างๆ ผมไม่ได้คิดว่ามันยากจนเกินไป เราไม่ได้มาถึงจุดนี้เพราะโครงสร้างพรรค เราไม่ได้มาถึงจุดนี้เพราะข้อบังคับพรรค เราไม่ได้มาถึงจุดนี้เพราะพรรคเราจน ผมอยู่กับพรรคมา 30 ปีผมขอยืนยันว่าการสนับสนุนผู้สมัครของพรรค การสนับสนุนพรรคไม่มียุคใด ที่ทำได้มากเท่ากับยุคของท่านเลขาฯเฉลิมชัย ศรีอ่อนแต่ความพร้อมที่มากที่สุดตรงนั้น กลับมาพร้อมกับความพ่ายแพ้ทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง
ต้องยอมรับว่าที่เรามาถึงจุดนี้เพราะประชาชนมองไม่เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืน หรือเป็นตัวแทนของความคิดอะไร เขาบอกการเมืองแบ่งเป็น 2 ขั้ว ขั้วหนึ่งเขาเรียกอนุรักษ์ ประชาธิปัตย์ ก็ไม่ใช่คำตอบสำหรับเขา คำตอบเขาคือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ฝ่ายเรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ประชาธิปัตย์ก็ไม่ใช่คำตอบของเขา เพราะเขาก็บอกว่าเราร่วมอยู่กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาทางเดินไปข้างหน้าของพรรคมันจึงเป็นเรื่องของการค้นหาจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปัตย์ว่า ที่ยืนของเราจะเป็นความหวังและเป็นตัวแทนของความคิดให้กับประชาชนกลุ่มไหนในเรื่องใด แล้วความจริงมันไม่ได้ยากหรอก ท่านอดีตหัวหน้า ท่านพูดถึงอุดมการณ์ของพรรค เมื่อปี 2489 ซึ่งผมก็ยืนยัน ว่าไปอ่าน ดูทันสมัยอย่างมาก แต่ว่าผมขออนุญาตกราบเรียนว่า สิ่งที่เรามี หรือเคยมีและพรรคอื่นไม่มีนั้นมันมีหลายประการ
ประการแรก องค์กรของเราใหญ่กว่าตัวบุคคลเสมอ อดีตหัวหน้าพรรค 8 ท่าน จะอยู่สั้นอยู่ยาว ไม่เคยเป็นเจ้าของพรรค เพราะถ้าใช้คำว่าคน คือคนทำให้ภาพเคลื่อนไหว ผมก็ตอบว่าพรรคคืออะไร พรรคก็คืออุดมการณ์
ประการที่ 2 อุดมการณ์ของพรรคที่เราเคยพูดว่าเราเป็นพรรคที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ เราต่อสู้กันมายาวนาน ที่มีการพาดพิงกันบ้างถึงการต่อสู้กับพรรคเพื่อไทย หรือพรรคของคุณทักษิณนั้น ผมก็อยากให้เราตระหนัก มันไม่มีเรื่องความแค้นส่วนตัวกับใครทั้งนั้น มันเป็นเรื่องของประวัติของการต่อสู้ทางความคิดในสิ่งที่เราเห็นว่า เป็นเรื่องความถูกต้องของบ้านเมือง แต่ผมก็ไม่อยากจะต้องเปิดเผยว่า ช่วงที่ผมเป็นหัวหน้าพรรคก็เป็นช่วงหนึ่งซึ่ง เราทำงานต่างประเทศเยอะมาก กับพรรคการเมืองต่างๆ และองค์กรอื่นๆ ระหว่างประเทศ แต่ระยะหลังหลายคนที่เขาเคยมาทำงานกับพรรค เขาบอกกับผมว่า องค์กรหลายองค์กรไม่ได้ประเมินพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็นพรรคในแนวทางประชาธิปไตยแล้ว เราต้องฟื้นฟู ถ้าเราคิดจะกลับมา
เรายังมีความต่างกับพรรคการเมืองอื่น ที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ผมพูดเสมอครับ เกือบทุกยุคทุกสมัยเราเป็นพรรคการเมืองที่ไม่เคยกลัวเป็นฝ่ายค้าน หลายพรรคเป็นได้แค่เป็นพรรครัฐบาล กับพรรครอร่วมรัฐบาล เราไม่ใช่ ถ้าเรารักษาแนวทางอย่างนี้ เราก็มีโอกาสกลับมา มีการพูดถึงความซื่อสัตย์สุจริตเป็นสำคัญ ผมก็ไม่ขอย้ำในเรื่องนั้น แล้วก็สุดท้ายเราคือพรรคที่สร้างตัวเองมาเป็นสถาบัน บนความพยายามที่จะสร้างกติกา ให้ทุกคนในพรรคมีส่วนร่วมกับพรรคอย่างกว้างขวาง
วันนี้มันไม่ใช่เรื่องใครชนะใครแพ้ ไม่ว่าจะเหลือผู้สมัครคนเดียว 2 คน หรือ 3 คน วันนี้ พรรคเดินต่อไม่ได้ ถ้าไม่มีความเป็นเอกภาพอย่างแท้จริง ผมลงผมแพ้ ก็น่าจะมีปัญหา ผมลงผมชนะยิ่งมีปัญหาเข้าไปใหญ่
ผมขอลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ แต่ยืนยันกับทุกท่านที่นี่ ผมไม่มีพรรคอื่น ไม่ไปพรรคอื่น กรีดเลือดผมมาก็เป็นสีฟ้าจนวันตาย เป็นลูกพระแม่ธรณีที่จะเอาอุดมการณ์ประชาธิปัตย์รับใช้บ้านเมืองต่อไป วันข้างหน้าถ้าในพรรคคิดว่าผมจะเป็นประโยชน์มาช่วยได้ ผมก็คงไม่ปฏิเสธ แต่วันนี้เพื่อให้ท่านที่มีสถานะ และจะมีอำนาจในการบริหารต่อไป ทำงานด้วยความสบายใจ ทำงานตามแนวทางอย่างเต็มที่ ไม่ต้องหวาดระแวงเรื่องผม เรื่องใคร ใดๆ ทั้งสิ้น ก็ขออนุญาตที่จะลาออก แล้วก็ขอถือโอกาสนี้ขอบคุณเพื่อนๆ ทุกคนทั้งในห้องนี้ และไม่ได้อยู่ในห้องนี้ และเจ้าหน้าที่ของพรรคทุกคนที่ได้ทำงานและให้การสนับสนุนผมอย่างดีตลอดมา ผมมีแต่ความปรารถนาดีต่อพรรค และก็หวังว่าผู้บริหารชุดใหม่ จะสามารถทำงานได้สำเร็จ ตามที่ท่านรักษาการหัวหน้าได้แจ้งกับผมเมื่อสักครู่ครับ ขอบคุณครับ”
สรุป : สิ่งที่ท้าทายนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ อาจไม่ใช่แค่ “อดีต” อนาคตที่เขาจะนำพรรคไป “ยืนอยู่ตรงจุดไหน” ต่างหาก ที่จะเป็น “คำตอบสุดท้าย” ของคนที่ “ยังเหลืออยู่” โดยเฉพาะเลือกจะ “ไปร่วมกับทักษิณ”
เข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ในพรรค 80 กว่าเปอร์เซ็นต์เลือกคุณเฉลิมชัย เพราะเป็นคนจริง ใจถึงพึ่งได้ และ“คำไหนคำนั้น” จริงๆ แต่กับคนนอกพรรค ดูเหมือน “คำไหนคำนั้น” กำลังเป็นเครื่องบดขยี้ชายชื่อ เฉลิมชัยศรีอ่อน อยู่ และจะเป็นต่อไปจนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า โปรดประคองตัวเองให้มั่น และนำพรรคดีๆ นะครับ!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี