การศึกสงครามที่มีการต่อสู้ของผู้ปกครองบ้านเมืองระดับพระมหากษัตริย์นั้น ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ สงครามยุทธหัตถี ซึ่งคือการต่อสู้บนหลังช้าง ที่ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยถูกบันทึกว่าเกิดขึ้นแล้ว ๔ ครั้ง ครั้งแรกคือยุทธหัตถีระหว่างพ่อขุนรามคำแหงมหาราชกับขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด ที่พ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ชนะ ครั้งที่ ๒ คือยุทธหัตถีระหว่างเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยาเพื่อแย่งชิงราชสมบัติ ซึ่งทั้งสองพระองค์ต้องสิ้นพระชนม์ชีพ ครั้งที่ ๓ คือ ยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิและสมเด็จพระศรีสุริโยทัย กับพระเจ้าแปรจากพม่า ซึ่งสมเด็จพระศรีสุริโยทัยต้องสิ้นพระชนม์ชีพ
และสงครามยุทธหัตถีครั้งสำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์ชาติไทยคือครั้งที่ ๔ ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชมังกะยอชวา จากอาณาจักรหงสาวดี ที่เกิดขึ้นพร้อมกับยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระเอกาทศรถกับเจ้าเมืองมังจาปะโรในสงครามเดียวกัน
สงครามยุทธหัตถีครั้งที่ ๔ นี้เกิดขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๑๓๕ เมื่อพระเจ้านันทบุเรง ต้องการกลับมาครอบครองอาณาจักรอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรหงสาวดีในปีพุทธศักราช ๒๑๑๒ ซึ่งต่อมาสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงต่อสู้และประกาศอิสรภาพ ไม่เป็นเมืองขึ้นของพม่าอีกต่อไปในปี ๒๑๒๗ โดยพระเจ้านันทบุเรงได้ส่งกองทัพที่มีกำลังพลมากกว่า ๒๔๐,๐๐๐ คน เพื่อจะมาตีกรุงศรีอยุธยา
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทราบข่าวเรื่องการยกทัพเพื่อเข้ามารุกรานอาณาจักรอยุธยา ก็ได้ตัดสินพระทัยที่จะยกทัพออกไปตั้งรับนอกกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากทัพไทยมีกำลังพลน้อยกว่า การตั้งรับจะทำให้เสียเปรียบในการรบ โดยพระองค์ได้ยกทัพพร้อมกำลังพลรวม ๑๐๐,๐๐๐ คน ไปตั้งรับทัพพม่าที่ตำบลหนองสาหร่าย จังหวัดสุพรรณบุรี
เช้าของวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๑๓๕ สมเด็จพระนเรศวรพร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถทรงเครื่องพิชัยยุทธ โดยสมเด็จพระนเรศวรทรงพระคชาธารนามว่า เจ้าพระยาไชยานุภาพ ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถทรงพระคชาธารนามว่า เจ้าพระยาปราบไตรจักร โดยช้างทั้ง ๒ เชือกนั้นเป็นช้างชนะงา ผ่านการฝึกและต่อสู้ในสงครามชนะช้างตัวอื่นมาแล้ว เป็นช้างตกมัน ทำให้ในระหว่างการรบได้วิ่งผ่าทัพพม่าจนหลงเข้าไปอยู่ในกึ่งกลางของทัพหงสาวดี และมีเพียงทหารรักษาพระองค์และจตุลังคบาทเท่านั้นที่ติดตามไปทัน
จตุลังคบาทคือทหารประจำ ๔ เท้าช้างทรง ของพระมหากษัตริย์ในยามศึกสงคราม เป็นทหารผู้คุ้มครองเท้าทั้ง ๔ ข้าง ของช้างทรง ไม่ให้ศัตรูเข้าถึง และทำอันตรายต่อช้างได้มีฝีมือในการรบ ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะ การใช้ดาบสองมือแขนทวนและ ต่อสู้ด้วยมือเปล่าหรือ มวย ผู้ที่ประจำ ๒ เท้าหน้าจะมียศเป็นออกหลวง ส่วนผู้ที่ประจำ ๒ เท้าหลัง มียศเป็นออกขุน โดยจตุลังคบาท ของสมเด็จพระนเรศวร ในการกระทำยุทธหัตถีครั้งนี้ ได้แก่ พระมหามนตรี ประจำเท้าหน้าขวา พระมหาเทพ ประจำเท้าหน้าซ้าย หลวงอินทรเทพ ประจำเท้าหลังขวา และหลวงพิเรนทรเทพประจำเท้าหลังซ้าย
ยุทธหัตถีในครั้งนั้นช้างเจ้าพระยาไชยานุภาพ มีขนาดเล็กกว่าช้างพลายพัทธกอของสมเด็จพระมหาอุปราช เมื่อเข้าปะทะกันในครั้งแรกจึงถูกช้างพลายพัทธกอดันจนเสียหลัก ทำให้พระมหาอุปราชได้ที ฟันสมเด็จพระนเรศวรด้วยพระแสงของ้าว แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงพระองค์หลบ ทำให้ของ้าวตัดปีกพระมาลาของสมเด็จพระนเรศวรขาดไป แล้วต่อมาช้างเจ้าพระยาไชยานุภาพตั้งหลักได้ จึงดันช้างพลายพัทธกอจนส่วนหัวยกขึ้น ทำให้สมเด็จพระนเรศวรผู้ทรงพระปรีชาสามารถ ใช้พระแสงของ้าวฟันถูกพระอังสะหรือหัวไหล่ขวาพาดลงไปถึงทรวงอกของสมเด็จพระมหาอุปราช จนขาดสะพายแล่ง สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง
ในเวลาใกล้เคียงกันนั้น สมเด็จพระเอกาทศรถที่ทรงช้างเจ้าพระยาปราบไตรจักร ก็ได้กระทำยุทธหัตถีกับเจ้าเมืองมังจาปะโร ก็สามารถต่อสู้เอาพระแสงของ้าวฟันเจ้าเมืองมังจาปะโรจนสิ้นพระชนม์เช่นเดียวกัน และทำให้ทหารพม่า ต้องรีบเข้ามาช่วยนำพระศพของพระมหาอุปราชและเจ้าเมืองมังจาปะโรออกจากสนามรบ และทำให้พม่าต้องถอยทัพและยกทัพกลับกรุงหงสาวดี
ช้างเจ้าพระยาไชยานุภาพได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์และรับพระราชทานนามใหม่ว่า เจ้าพระยาปราบหงสาวดี พระแสงของ้าวได้รับพระราชทานนามว่าเจ้าพระยาแสนพลพ่าย ส่วนพระมาลาได้ชื่อว่าพระมาลาเบี่ยง
พระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ไทยในด้านการรบนั้นมีอยู่ในหลายพระองค์ และในการรบแต่ละครั้งนั้นก็จะมีขุนศึกคู่ใจที่จะอยู่ใกล้ชิดติดตามในการรักษาพระองค์ให้ได้รับความปลอดภัยสูงสุด ไม่ค่อยได้มีการกล่าวถึงความสำคัญของจตุลังคบาทมากนัก ซึ่งความจริงเป็นทหารที่ต้องมีความสามารถและรับผิดชอบสูงมากในการป้องกันข้าศึกไม่ให้เข้าใกล้ช้างทรง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการป้องกันพระองค์ให้ปลอดภัย เพราะหากช้างทรงถูกทำร้ายก็จะทำให้เกิดภยันตรายต่อพระองค์ที่ประทับอยู่บนหลังช้างได้
หันกลับมาดูเรื่องการเมืองไทยในขณะนี้ จะเห็นว่ามีผู้ที่พยายามจะปกป้องให้อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โดยสถานะขณะนี้ต้องถือว่าเป็นนักโทษ เพราะได้กระทำผิดในหลายกรณี และศาลก็ได้ตัดสินพิจารณาลงโทษแล้ว แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกที่ผู้บริหารประเทศชุดปัจจุบันมิได้มีความพยายามใดๆ ที่จะทำให้นักโทษหนีคุกผู้นี้ ที่ได้หนีไปอยู่ต่างประเทศเป็นระยะเวลา ร่วม ๒๐ ปี ที่ได้ตัดสินใจเดินทางกลับมาประเทศไทย ซึ่งในครั้งแรกประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าเขาผู้นั้นจะกลับมารับโทษตามที่ได้ถูกศาลตัดสินไว้ให้จำคุกเป็นเวลา 8 ปี แต่กลับกลายเป็นว่าได้มีกระบวนการในการปกป้องนักโทษผู้นี้ จนกระทั่งทำให้เกิดคำถามอย่างมากมาย ว่า กระบวนการยุติธรรมยังคงมีอยู่จริงหรือไม่ และได้ถูกนำมาใช้กับุคคลบางคนที่เคยเป็นถึงนายกรัฐมนตรี แต่ได้กระทำความผิดในหลายเรื่องรวมทั้งการฉ้อราษฎร์บังหลวงจริงหรือ
และที่ชัดเจนมากในขณะนี้ จากการที่เคยหลีกเลี่ยงในการที่จะตอบคำถาม เมื่อมีผู้พูดและกล่าวถึงกรณีการละเว้นการปฏิบัติสำหรับนักโทษผู้นี้ ก็จะเห็นว่า นักการเมืองระดับรัฐมนตรีสองสามคน ผู้บริหารระดับอธิบดี ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องคือกรมราชทัณฑ์ สำนักงานตำรวจฯและอื่นๆ เริ่มออกมาให้สัมภาษณ์ในลักษณะปกป้องอดีตนายกฯ นักโทษผู้นี้โดยไม่กระมิดกระเมี้ยนอีกต่อไป โดยเริ่มเปลี่ยนมาเป็นการทยอยให้ข่าวในทำนองเดียวกันว่า นักโทษผู้นี้ได้รับการปฏิบัติตามที่ควรจะเป็น เนื่องจากเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวซึ่งอาจจะเป็นอันตรายอยู่หลายโรค ทั้งๆ ที่วันที่กลับมาถึงเมืองไทยก็ไม่ได้แสดงท่าทีที่ผิดปกติอันแสดงถึงการเจ็บป่วยแต่อย่างใดทั้งสิ้น สามารถจะเดินไปทักทายกับผู้คนที่มาต้อนรับบางส่วนและพูดคุยกันอย่างมีความสุข
แต่เมื่อถูกส่งตัวถึงบริเวณคุก ยังไม่ทันจะได้ถูกจำคุกแม้แต่นาทีเดียวและมีข่าวว่ายังไม่ได้ลงนามรับสภาพการเป็นนักโทษด้วยซ้ำ ก็ได้รับการเคลื่อนย้ายตัวมายังโรงพยาบาลตำรวจ โดยกล่าวอ้างว่าเกิดอาการป่วยรุนแรงอย่างกะทันหัน จนไม่สามารถรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ และเมื่อมาถึงโรงพยาบาลก็เข้าพักรักษาโดยไม่ได้ผ่านห้องฉุกเฉิน เหมือนผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีอาการรุนแรงหรือเจ็บป่วยวิกฤตทั่วๆ ไปจะได้รับการปฏิบัติ และถ้าหากอาการหนักจริงก็จะต้องเข้า ICU แต่กลับถูกส่งไปรักษาตัวยังชั้นที่ ๑๔ โดยอ้างว่าเตียง ICU เต็ม และห้องพักที่ชั้น ๑๔ นั้นซึ่งทราบกันดีว่าเป็นห้องพักแบบ VIP โดยแพทย์ของสำนักงานตำรวจฯเองก็อ้างว่ามีอุปกรณ์เครื่องมือพร้อมในการรักษา และเมื่อรักษาอยู่จนถึงปัจจุบันเกินกว่า ๑๒๐ วัน แล้วอาการก็ยังไม่ดีเพียงพอที่จะกลับไปรักษาต่อในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ เป็นการสร้างฉากที่ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่เป็นแพทย์ทั่วๆ ไปจะยอมรับได้ แม้แต่ประชาชนทั่วๆ ไป ก็คงจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่แย่ยิ่งกว่าละครน้ำเน่าเช่นกัน นับเป็นการกระทำที่เป็นการเลือกปฏิบัติที่เลวร้ายที่สุด
จตุลังคบาทมีหน้าที่ปกป้องเท้าช้างทรง อันหมายถึงการปกป้องพระมหากษัตริย์ที่ทรงอยู่บนช้างนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องกระทำ แต่นักการเมืองทั้งหลายที่เข้ามาบริหารบ้านเมืองขณะนี้ ซึ่งไม่ได้เป็นตำแหน่งถาวรอะไร แต่ก็พยายามอย่างยิ่งเหลือเกินในการปกป้องนักโทษผู้หนึ่งจนเกิดคำถามว่าเป็นการให้สิทธิพิเศษอย่างมากมายจนกระทั่งกระทบกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ แล้วในอนาคตจะหวังได้อย่างไรว่ากระบวนการยุติธรรมจะยังคงมีอยู่ในประเทศของเรา ในเมื่อใครคิดจะทำอะไรก็ทำได้อย่างง่ายๆ ในช่วงที่ตัวเองมีอำนาจอยู่ เราชาวไทยจะยอมให้ประเทศชาติเป็นอย่างนี้หรือ
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี