เดือนธันวาคม ถือเป็นเดือนที่สำคัญของวงการการต่อต้านคอร์รัปชันทั่วโลก โดย 9 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ซึ่งเป็นวันที่ตั้งไว้เพื่อรำลึกถึงความสำคัญของการต่อต้านคอร์รัปชันและความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชันซึ่งเป็นปัญหาที่จำเป็นจะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ในขณะเดียวกันปีนี้ มีความพิเศษมากกว่าปีก่อนๆ เนื่องจากเป็นปีที่ครบรอบ 20 ปีของการบังคับใช้ The United Nations Convention against Corruption (UNCAC) หรือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่เป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับการบังคับใช้มาตรการด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในหลายประเทศ นอกจากนี้ การฉลองครบรอบ 20 ปี ก็เป็นการปักหมุดความพยายามการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ ทุกคนเคยสงสัยไหมว่าทำไมมาตรการในระดับสากลด้านการต่อต้านคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นมักเป็นมาตรการที่มาจากชาติตะวันตก เหมือนกับการสร้างอาณานิคมยุคใหม่ การต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความคืบหน้าอย่างไร หรือจริงๆ แล้วกรอบการต่อต้านคอร์รัปชันเป็นเรื่องประเทศตะวันตกเท่านั้น
คำถามข้างต้นเกิดขึ้นจากการเข้าร่วมประชุมการต่อต้านคอร์รัปชันระดับนานาชาติทั้งของผู้เขียนในฐานะผู้จัดการศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค หรือ ศูนย์ KRAC ดำเนินการโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัย แห่งชาติ (วช.) โดยการประชุมดังกล่าวชื่อว่า Asia-Pacific Collective Action Forum ดำเนินการโดย Basel Institute on Governance ในวันที่ 24-25 กันยายน พ.ศ.2566 ณ ประเทศฟิลิปปินส์ และการประชุม ASEAN for Good Governance Conference ประเทศมาเลเซีย ดำเนินการโดยองค์กร Center to Combat Corruption and Cronyism (C4) ระหว่างวันที่ 5 - 6 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ณ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นการประชุมที่เกิดการแลกเปลี่ยนประเด็นระหว่างองค์กรด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในภูมิภาคด้านความคืบหน้าการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม รวมไปถึงการร่วมกันออกแบบแนวทางการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศของตน และระดับภูมิภาค ทั้งนี้ นอกจากการได้แลกเปลี่ยนเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน และสถานการณ์ด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคระหว่างผู้ร่วมงานในการประชุมแล้ว สถานที่ที่ไปประชุมเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ด้านอาณานิคม และสถาปัตยกรรมของเมืองที่มีความสวยงามที่มีกลิ่นอายของตะวันตก อาหารท้องถิ่นที่อร่อยซึ่งผ่านการผสมผสานทางด้านวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะตกผลึกเรื่องของความเป็นมา ประวัติศาสตร์ของการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศนั้น ตลอดจนความก้าวหน้าในการต่อต้านคอร์รัปชัน
ทั้งสองประเทศเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และเคยตกเป็นประเทศในอาณานิคมของชาติตะวันตกเป็นระยะเวลานานพอสมควร ซึ่งทั้งสองประเทศต่างก็ได้รับอิทธิพลจากประเทศตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นระบอบการปกครอง วัฒนธรรม และภาษา เป็นต้น และประเทศเจ้าอาณานิคมก็ได้ทิ้งรากฐานการพัฒนาประเทศ การบริหารจัดการรัฐ ก็มีรากฐานส่วนหนึ่งมาจากตะวันตกด้วย เช่นเดียวกับระบอบการปกครอง การวางรากฐานของกระบวนการยุติธรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอร์รัปชัน ล้วนส่งผลต่อสถานการณ์การคอร์รัปชันในประเทศที่เคยอยู่ภายใต้อาณานิคม เช่น การทิ้งรากฐานของระบบการปกครองแบบรวมศูนย์ หรือการเคลื่อนย้ายประชาชนที่มีชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันในประวัติศาสตร์ ซึ่งนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมในสังคม และความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง อันเป็นต้นเหตุช่องโหว่ให้เกิดการคอร์รัปชัน ทั้งนี้ เราจะไม่สามารถสรุปได้ว่าการเป็นอาณานิคมเป็นปัจจัยเดียวที่ส่งผลต่อการมีคอร์รัปชันการคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ในขณะเดียวกัน ปัจจุบันมาตรการ UNCAC หรือแนวคิดเรื่องบรรษัทภิบาลนั้นเป็นกรอบแนวคิดที่เริ่มจากตะวันตก นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศบางกลุ่มวิพากษ์ว่ากรอบการพัฒนาเปรียบเสมือนอาณานิคมยุคใหม่ ที่ชาติตะวันตกได้พยายามสร้างกรอบขึ้นมาใหม่เพื่อสร้างความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนแนวปฏิบัติแบบใดแบบหนึ่ง ต้องขอออกตัวก่อนว่าผู้เขียนไม่ได้มองว่าการล่าอาณานิคมเป็นเรื่องที่ดีหรือถูกต้อง เพียงแต่ต้องการจะชี้เห็นหนึ่งในแง่คิดหรือกรอบการวิพากษ์โครงการและความร่วมมือด้านการพัฒนาที่เกิดขึ้น และผลการพัฒนาที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากรอบการพัฒนาต่างๆ เหล่านี้ ก็ช่วยให้เราผลักดันมาตรฐานการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างก้าวกระโดดเช่นเดียวกัน และเกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการทำให้การต่อต้าน
คอร์รัปชันเกิดขึ้นได้ และทำให้เป็นวาระของทุกประเทศทั่วโลก
เมื่อกลับมามองการประชุมทั้งสองครั้งที่ผ่านมา ผู้เขียนมองว่าองค์กรที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในภูมิภาคมีความสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันเป็นอย่างมาก เนื่องจากองค์กรเหล่านี้สามารถออกแบบกลไกและเครื่องมือที่เข้ากับบริบทของปัญหาการคอร์รัปชันของประเทศตัวเองที่มีความเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ศาสนา และสังคม ได้อย่างประสบความสำเร็จ จึงสามารถสรุปได้ว่าเราไม่สามารถพึ่งพากลไกด้านการต่อต้านคอรัปชันของตะวันตกเพียงอย่างเดียว หากแต่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคต่างก็มีกลไกและมาตรการในการแก้ไขปัญหาคอรัปชันที่แตกต่างกันและสอดคล้องกับบริบทของประเทศนั้นๆ เหมือนกับว่าไม่มีใครรู้ดีเท่ากับคนที่เป็นเจ้าของประเทศนั้นแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน กรอบการต่อต้านคอร์รัปชันระดับสากลมีส่วนช่วยในการวางรากฐานการต่อต้านคอร์รัปชัน แต่กรอบการดำเนินงานเหล่านี้เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับการต่อต้านคอร์รัปชัน หากจะต้องอาศัยความร่วมมือของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีศักยภาพเพียงพอในการต่อต้านคอร์รัปชันภายใต้ความร่วมมือหลายประการด้วยกันที่จะช่วยยกระดับสถานการณ์การคอร์รัปชันในภูมิภาค
ประการแรก ถึงแม้ว่าในระดับอาเซียนจะมีความพยายามสร้างความร่วมมือด้านการต่อต้านคอร์รัปชันระหว่างรัฐบาลแต่เนื่องด้วย หลักการทางการเมืองว่าด้วยหลักการห้ามแทรกแซง หรือพูดปัญหาของประเทศสมาชิกอื่นทำให้ความร่วมมือระหว่างรัฐในการขับเคลื่อนมาตรการนั้นเป็นไปได้ยาก การทำงานขององค์กรภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และประชาชนจึงยิ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก รวมไปถึงการได้รับความร่วมมือจากประชาชน และต้องการการเชื่อมโยงพลังขององค์กรภาคประชาสังคมในภูมิภาค
ประการที่สอง จากการประชุมและแลกเปลี่ยนพบว่าองค์กรภาคประชาสังคมและ องค์กรภาคเอกชนที่เข้าร่วมงานนั้นมีโครงการหรือแผนการดำเนินงานที่ค่อนข้างใกล้เคียงกันเป็นอย่างมาก เช่น ACTAi ในประเทศไทย และ opentender.net ในประเทศอินโดนีเซีย เป็นแพลตฟอร์มด้านการเปิดเผยข้อมูลที่มีความใกล้เคียงกัน หรือในหลายประเทศมีการพัฒนาโครงการด้านการส่งเสริมการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับเยาวชน กลไกเหล่านี้มีหลักการทำงานในลักษณะคล้ายกันเป็นอย่างมาก ผู้เขียนมองว่าการร่วมกันระหว่างหน่วยงานเหล่านี้ที่ทำงานกันจะช่วยผลักดันการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในระดับภูมิภาค
ประการที่สาม กลไกหรือโครงการที่เกิดขึ้นในภูมิภาคหลายโครงการเป็นประโยชน์สำหรับประเทศอื่นในภูมิภาคที่มีบริบทของประเทศใกล้เคียงกัน เช่น กระบวนการเปิดเผยข้อมูลโดยองค์กร Sinar Project ประเทศมาเลเซีย ได้แชร์เครื่องมือและมีส่วนช่วยองค์กรภาคประชาสังคมในประเทศพม่าในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
จึงสรุปได้ว่า กรอบการต่อต้านคอร์รัปชันจากตะวันตกนั้นเป็นรากฐานที่มีความสำคัญในการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่กลไกเหล่านี้ไม่เพียงพอสำหรับการขจัดปัญหาให้หมดไป หากแต่จะต้องอาศัยความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่มีวิธีการแก้ไขที่สอดคล้องกับบริบทของตนเอง ศูนย์ KRAC ที่พยายามเป็นศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนบนพื้นฐานขององค์ความรู้อย่างมีส่วนร่วม ตลอดจนการสนับสนุนทางด้านทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการต่อต้านคอร์รัปชันในภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันศูนย์ KRAC ได้เป็นศูนย์กลางความร่วมมือกับองค์กรด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคแล้ว ภายใต้ Southeast Asian Anti-corruption for CSOs โดยได้รับการสนับสนุนจาก UNODC ซึ่งผู้เขียนหวังว่าความร่วมมือนี้จะสร้างรากฐานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันของอาเซียนได้ และผู้เขียนขอฝากศูนย์ฯ และความร่วมมือนี้ โดยสามารถติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานผ่านเพจเฟซบุ๊ก KRAC Corruption
เจริญ สู้ทุกทิศ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี