นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ให้เหตุผลว่าบ้านพักที่อาศัยอยู่ปัจจุบันมีพื้นที่เพียง 139 ตารางวาไม่สะดวกในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ต้องมีหน่วยรักษาความปลอดภัย มีผู้ไปติดต่องานพลุกพล่านรบกวนบ้านใกล้เรือนเคียง อีกทั้งการเดินทางไปกลับบ้านกับทำเนียบรัฐบาลเป็นระยะทางไกลไม่สะดวกต่อการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงได้ตัดสินใจมานอนพักในทำเนียบรัฐบาล เพื่อจะได้ ทำงานๆๆๆ ให้สมกับที่กล่าวว่ารัฐบาลนี้ทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
ก็น่าเห็นใจท่านนายกฯ อยู่นะ เพราะว่าบ้านพักส่วนตัวมีพื้นที่ไม่พอให้แมวดิ้นตาย วัดได้แค่หนึ่งร้อยสามสิบเก้าตารางวา อาจมีสระว่ายน้ำ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ท่านนายกฯน่าจะเป็นคนส่วนน้อยมีไม่ถึง 5% ของคนไทยในเมืองหลวงที่มีประชากรแออัดอยู่ประมาณสิบล้านคน ผู้เขียนมีทาวน์เฮาส์ยี่สิบเอ็ดตารางวายังหน้าด้านเห็นใจท่านนายกฯ และหากคนไทยจำนวนมากสลัดความคิดที่ว่า นายเศรษฐาเป็นเซลส์แมน นักสร้างภาพออกไปได้ ก็จะเกิดความรู้สึกใหม่ว่า นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยมีความประสงค์ให้ผู้นำไทยเป็นสากลแบบนานาอารยประเทศประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ อเมริกา เยอรมนี เกาหลีใต้และอื่นๆ อีกหลายประเทศ ที่ผู้นำล้วนแต่ยกครัวเข้าไปพักอาศัยอยู่ทำเนียบนายกรัฐมนตรี ทำเนียบประธานาธิบดีด้วยกันทั้งนั้น
นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ทันทีที่รับตำแหน่งเป็นทางการก็ยกครัวเข้าอยู่บ้านเลขที่ 10 ถนนดานิ่งในกรุงลอนดอน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่จอร์จ วอชิงตัน ถึง นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีฯคนปัจจุบัน ก็ยกครัวเข้ามาพักอาศัยในไวท์เฮาส์ ทำเนียบขาวเลขที่ 1600 ถนนเอเวนิวในกรุงวอชิงตัน หรือประธานาธิบดีเกาหลีใต้ก็มีที่พักอาศัยเรียกว่าทำเนียบสีฟ้า และที่พำนักผู้นำที่กล่าวมาล้วนมีหน่วยรักษาความปลอดภัยแข็งขัน สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ที่สำคัญผู้นำในนานาอารยประเทศเหล่านั้นพักอาศัยอยู่ในทำเนียบ ปธน. หรือบ้านพักนายกฯทางการจนหมดวาระในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดี ไม่ใช่สร้างภาพย้ายเข้าไปนอนในบ้านพักนายกรัฐมนตรีหรือในทำเนียบรัฐบาล ตดไม่หายเหม็นก็เผ่นกลับบ้านสิ้นเปลืองงบปรับปรุงห้องพักโดยใช่เหตุ
นายกฯเศรษฐา นำนักข่าว เข้าชมห้องนอนบนชั้นที่สองของตึกไทยคู่ฟ้า ในทำเนียบรัฐบาลอยู่ห่างจากห้องทำงานนายกรัฐมนตรี ไม่กี่เมตร และกล่าวว่าตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567 จะได้ฤกษ์ย้ายเข้ามานอนทำเนียบ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เมื่อนายกฯ มานอนในทำเนียบแล้วท่านนำสตรีหมายเลข 1 ไปพำนักในทำเนียบรัฐบาลด้วยหรือไม่ หรือว่า ท่านนายกฯนอนในทำเนียบรัฐบาลเพียงคนเดียวให้ภริยาอยู่บ้าน แยกที่นอนกันจนกว่าหมดวาระนายกรัฐมนตรี ถ้าเป็นเช่นนี้กลางค่ำกลางคืนเกิดนายกฯอยากดื่มกาแฟดื่มไวน์แล้วใครจะเป็นผู้ชง ใครจะรินให้ดื่ม ตื่นนอนตอนเช้าอาบน้ำอาบท่า ทานอาหารเช้าที่ไหน ใครเป็นคนจัดเครื่องแต่งกายให้ ใครจะเป็นคนรู้ใจว่า วันนี้นายกฯเศรษฐา จะใส่ถุงเท้าสีอะไรข้างไหน มันมีเรื่องจุกจิกจู้จี้จิปาถะที่ทำให้กังวลใจแทนผู้นำทางการเมืองประเทศไทย เพราะอะไรต่อมิอะไรมันไม่เพียบพร้อมเหมือนเมืองฝรั่งที่นายกฯได้รับการบ่มเพาะมา และสิ่งที่นายเศรษฐา ซึ่งได้รับการศึกษาได้รับการอบรมบ่มเพาะมาจากเมืองฝรั่งไม่อาจเข้าใจถึงเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรื่องอาถรรพณ์ของสถานที่ว่า ทำเนียบรัฐบาลปัจจุบันนั้นอดีตชื่อว่าบ้าน “นรสิงห์”
บ้านนรสิงห์ รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นในปี 2460 สร้างบ้านพระราชทานพระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ผู้ที่ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงสุดเป็นเจ้าพระยารามราฆพ ท่านเจ้าพระยาเป็นลูกชายของพระนมทัด พระนมของรัชกาลที่ 6 และถวายตัว เป็นมหาดเล็กตั้งแต่อายุ 13 ปี ซึ่งรัชกาลที่ 6ทรงให้ความสนิทสนมและไว้วางพระราชหฤทัยให้ท่านเจ้าพระยารับใช้ใกล้ชิดทั้งในราชการแผ่นดินและกิจธุระส่วนพระองค์ตั้งแต่ยังไม่ทรงขึ้นครองราชสมบัติ จวบจนวันสุดท้ายในพระชนม์ชีพ
การสร้างบ้าน นรสิงห์ ให้เจ้าพระยารามราฆพ และสร้างบ้านบรรทมสินธุ์ให้พระยาอนิรุทธเทวา เป็นที่โจษจันกันในยุคนั้น หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกถึงฐานะของเจ้าพระยารามราฆพไว้ว่าเป็น “ผู้มีบุญมีอำนาจในรัชกาลนี้อย่างไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน” และเรียกบ้านของเจ้าพระยาว่า “บ้านชนิดวัง” ท่านหญิงพูนพิศมัยยังทรงอธิบายความหมายของราชทินนาม “รามราฆพ” ไว้ว่า“เป็นชื่อผู้นั่งกลางช้างชนของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชของเรา และเป็นผู้ส่งศาสตราวุธถวายตามพระราชประสงค์ จนทรงชนช้างชนะในยุทธหัตถีเมื่อ 300 ปีเศษมาแล้ว”แสดงถึงความสำคัญใกล้ชิดของตัวผู้รับราชทินนามดังกล่าวกับองค์พระมหากษัตริย์ได้เป็นอย่างดี
ยังมีตำนานเรื่องเล่าโจษจันอีกมากมายเกี่ยวกับบ้านนรสิงห์และบ้านบรรทมสินธุ์ จนกระทั่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 นายกรัฐมนตรี คนที่ 3 ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ปี 2483 ในสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ใช้กลุ่มตึกนี้เป็นที่ทำการของสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งเป็นบ้านพักประจำตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี พร้อมครอบครัว ต่อมาได้เปลี่ยน ชื่อเป็น “ตึก ๒๔ มิถุนายน” เพื่อรำลึกถึงวันปฏิวัติสยามที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง จอมพล ป.ใช้บ้านนรสิงห์ได้ไม่นาน เกิดระเบิดและไฟไหม้ครั้งใหญ่ จนต้องย้ายไปใช้บ้านบรรมสินธุ์ เป็นที่ทำงานชั่วคราวและหลังจากนั้นไม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหน ใช้บ้านนรสิงห์ เป็นที่พักอีกเลย ผู้เขียนเป็นคนโบราณคิดว่าน่าจะเป็นอาถรรพณ์หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขับไล่ไม่ให้คนไม่เหมาะสมอยู่
ต่อมา จอมพล ป.ใช้บ้านบรรทมสินธุ์ เป็นที่ทำการรัฐบาลชั่วคราว ในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 คณะรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้บ้านบรรทมสินธุ์ เป็นบ้านรับรอง นายพลฮิเดกิ โทโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และได้ติดต่อขอซื้อหรือเช่าจากพระยาอนิรุทธเทวา เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นซื้อไปเป็นสถานทูต เนื่องจากบ้านพิษณุโลกอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ให้กองพันทหารราบที่ 3 พระยาอนิรุทธเทวาแบ่งขายให้ 25 ไร่ ในราคา 5 แสนบาท เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2485 รัฐบาลจอมพล ป. ใช้บ้านบรรทมสินธุ์เป็นศูนย์ประสานงานไทย-ญี่ปุ่น และเปลี่ยนชื่อครั้งแรกว่า “บ้านไทย-พันธมิตร” แต่หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงคราม ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านพันธมิตร” ก่อนที่ จอมพล ป. จะเปลี่ยนชื่อบ้านอีกครั้งว่า “บ้านพิษณุโลก” ตามชื่อถนนที่ตั้งของบ้าน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 รัฐบาลของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ปรับปรุงบ้านพิษณุโลก เพื่อใช้เป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก บ้านพิษณุโลกเป็นบ้านพักประจำตำแหน่ง นายกฯ ก็จริง แต่มีนายกฯ มาอยู่ มาใช้น้อยมาก โดยหลังปรับปรุงบ้านเสร็จในปี พ.ศ. 2524 นายกฯคนแรก ที่มาประเดิม คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่อยู่ได้เพียงไม่กี่วัน พล.อ.เปรม ก็ย้ายออกไปพักที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ ถนนศรีอยุธยา โดยไม่ระบุเหตุผล
สมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ใช้บ้านพิษณุโลกเป็นที่ทำงานของคณะที่ปรึกษารัฐบาลที่เรียกกันว่า คณะที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก คณะที่ปรึกษาชุดนี้ใช้บ้านพิษณุโลกเป็นที่ทำงานเป็นที่ประชุมราชการ จนกระทั่งพลเอกชาติชายถูกยึดอำนาจเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534
สำหรับนายกรัฐมนตรีที่พักในบ้านพิษณุโลกได้นานที่สุด คือ นายชวน หลีกภัย โดยเข้าพักขณะดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 เนื่องจากบ้านที่ซอยหมอเหล็งซ่อมแซม นายชวนกล่าวกับแนวหน้าว่า ท่านใช้โซฟาในห้องทำงานซึ่งอยู่ด้านหน้าห้องนอนเป็นที่นอน ไม่ใช้ห้องนอนและไม่นอนบนเตียง “ก็นอนหลับสบายดีไม่มีสิ่งใดรบกวนช่วงเช้าผมก็วิ่งออกกำลังกายรอบบริเวณบ้าน..” นายชวนกล่าวด้วยว่า ท่านพักอยู่ในบ้านพิษณุโลกจนสิ้นวาระนายกรัฐมนตรีไม่มีอุปสรรคใดๆ
ส่วนเรื่องที่เล่าลือกันว่า บ้านพิษณุโลกมีอาถรรพณ์มีวิญญาณหลอกหลอนนั้น ท่านไม่ออกความเห็นโดยถือว่าเป็นความเชื่อของใครของคนนั้น อนึ่ง นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ถึง 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543
เล่าเรื่อง บ้านนรสิงห์กับบ้านพิษณุโลก มายืดยาวเพื่อให้เข้าใจว่า สถานที่สองแห่งนี้ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเป็นอาถรรพณ์หรือวิญญาณหลอกหลอนแต่อย่างใด คนที่ซื่อสัตย์ต่อตัวเองและประเทศชาติเท่านั้นถึงจะอยู่ในสถานที่สองแห่งนี้นานได้
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี