การที่ผู้นำประเทศจะมีวิสัยทัศน์ หรือความฝันอันสูงส่งในโครงการพัฒนาชาติใดๆ มิใช่เรื่องแปลกหรือผิดปกติแต่อย่างใด หากแต่มันจะผิดปกติ เมื่อเป็นเพียงแค่การใช้วาทะเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ และการเพ้อเจ้อ
ซึ่ง ณ ที่นี้หมายถึง กรณีอภิมหาโครงการเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันทางด้านมหาสมุทรอินเดีย กับฝั่งทะเลอ่าวไทยทางด้านมหาสมุทรแปซิฟิก ด้วยการจัดทำเส้นทางเสมือนสะพานบนบก (Landbridge) แทนที่จะขุดคลองเชื่อมโยงสองฝั่งดังเช่น คลองสุเอซที่ตะวันออกกลาง คลองปานามาที่อเมริกาเหนือ-ใต้ และคลองคีลที่ยุโรปตอนเหนือ
เมื่อครั้งที่โครงการนี้ถูกประกาศออกมา ก็ได้สร้างความฮือฮาในแวดวงต่างๆ ของไทยเรา อีกทั้งเรื่องราวได้ขจรขจายไปทั่วโลกผ่านการป่าวประกาศของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย บนเวทีโลกหลายเวทีเพื่อชักชวน เชิญชวน ให้ฝ่ายต่างประเทศ โดยเฉพาะภาคเอกชน ทั้งนักลงทุน นักอุตสาหกรรม รวมทั้งอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ให้มาร่วมลงทุนหรือรับสัมปทาน
นายกฯ เศรษฐา ได้แถลงว่า โครงการนี้จะช่วยย่นระยะเวลา และค่าใช้จ่ายการขนส่งทางเรือผ่านช่องแคบมะละกา หรือผ่านช่องแคบซุนดราและล็อมบ๊อกที่อินโดนีเซียอย่างมาก แถมยังอวดคุยอีกด้วยว่าจะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจของไทย โดยเพิ่มความเป็นศูนย์กลางทั้งทางด้านคมนาคมและอุตสาหกรรมต่างๆ ในระดับโลก ซึ่งมีนัยว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างใหญ่หลวง
จากที่ฟังๆ ดูแล้ว ปวงชนชาวไทยก็คงจะเคลิบเคลิ้มไปด้วยกับคำพูดโตๆ ของนายกรัฐมนตรีของไทย อีกทั้งนักวิ่งเต้นทั้งหลายก็กำลังบวกลูกคิดอย่างเมามันว่าจะตักตวงหากำไรจากการกว้านซื้อที่ดิน จากการจะรับงานประมูลแบบไม่โปร่งใสกันได้มากน้อยเพียงใด และแถมจะมีเงินเข้ากระเป๋าเป็นเงินทุนให้กับราชวงศ์การเมือง (Political dynasty) ได้กันอีกกี่ราชวงศ์
แต่ทว่าในแวดวงต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแวดวงสื่อแวดวงการเงิน แวดวงอุตสาหกรรม และแวดวงกิจการเดินเรือ ก็ดูแต่จะเอาแต่นั่งรับฟังแล้วนิ่งเฉย บ้างก็อาจจะเพียงพยักหน้าคล้อยตามไปตามมารยาทเท่านั้น ดูได้จากการที่ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดออกมาพูดเห็นดีเห็นงามกับอภิมหาโครงการอันนี้ของนายกรัฐมนตรีของไทยเลยหลังจากการรับฟังข้อมูล ซึ่งก็น่าจะสะท้อนว่า เขาต่างก็คงจะคิดตรงกันว่า การใช้เส้นทางเดินเรือเดิมผ่านช่องแคบมะละกา หรือจะเลยออกไปอีกหน่อยไปผ่านน่านทะเลของอินโดนีเซียนั้น ยังไงๆ ก็ยังคุ้มค่ากว่า เพราะการจะย่นระยะเวลาเดินเรือออกไปก็คงทำได้เพียง 10-20 ชั่วโมง ไม่ใช่ 1-3 วันดังที่กล่าวอ้าง ด้วยการที่จะส่งตู้คอนเทนเนอร์ผ่าน Landbridge นั้น เรือจะต้องเสียเวลากับการขนถ่ายสินค้าลงที่ท่าเรือด้านทะเลอันดามัน เพื่อรอส่งขึ้นรถไฟ หรือรถบรรทุก หรือแม้กระทั่งทางเลื่อนไฟฟ้า ซึ่งจะใช้เวลามากน้อยก็ขึ้นอยู่กับความเร็ว และเมื่อไปถึงปลายทางที่อ่าวไทย ก็ยังต้องเสียเวลาขนสินค้าขึ้นเรือบรรทุกอีกทอดหนึ่ง ทั้งนี้ไม่รวมระยะเวลาที่จะต้องเข้าคิวจอดเรือรอทั้ง 2 ด้านของสะพานบนบกนี้
นอกจากนั้น เมื่อคิดถึงค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ก็ต้องกลับไปดูที่ต้นทุน โดยเรื่องใหญ่สุดก็คือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดิน ซึ่งนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ก็ยังมิได้มีตัวเลขจริงๆ ว่าพื้นที่จะต้องกว้างใหญ่ไพศาลถึงกี่พันกี่หมื่นไร่ และยังไม่มีแผนที่จะอพยพทั้งคน สัตว์ป่าสัตว์เลี้ยง ไปอยู่ที่ใด จึงไม่ทราบว่าจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นจำนวนเท่าใด (อีกทั้งต้นไม้ที่ตัดแล้วและก้อนหิน ก้อนดินที่ถูกเกลี่ยออกไป จะเอาไปกองไว้ที่ไหนอย่างไร) นอกจากนั้น ก็ยังประเมินไม่ได้ว่าค่าก่อสร้างทั้งหมดจะใช้เงินเท่าใด? อีกทั้งค่าสร้างท่าเรือและเขตอุตสาหกรรม รวมทั้งที่อยู่อาศัยทั้ง 2 ฝั่งของสะพานบนบกนี้ ก็ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน ส่วนการบริหารจัดการนั้น ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นไปในรูปแบบใด หากภาครัฐจะทำเอง หรือจะร่วมทำกับภาคเอกชน หรือจะมอบสัมปทานให้กับภาคเอกชน? แล้วใครฝ่ายใดจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากพื้นที่ทั้ง 2 ฟากของสะพานบกนี้?
เมื่อมองกว้างออกไปยังประเด็นเรื่องผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางทะเล ทั้งปะการัง วัชพืช สัตว์มีชีวิต และความสมดุลของระบบนิเวศ ก็ยังไม่มีใครตอบได้ว่าจะจัดการแบบไหน นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยแต่อย่างใด และที่สำคัญเรือขนส่งสินค้าที่มาใช้ประโยชน์นั้นจะเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของเรือทั้งหมดจากที่เคยล่องผ่านช่องแคบมะละกา และน่านทะเลของอินโดนีเซีย และจะต้องมีเรือใช้บริการเป็นจำนวนเท่าใด นานแค่ไหน ที่การลงทุนจะคุ้มทุน และจะเริ่มได้กำไรกันเมื่อใด
ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาโดยสังเขปนี้ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสินนี้ รวมทั้งลูกคู่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีคมนาคม ก็ยังไม่ได้มีการแถลงสถิติ และตัวเลขใดๆ ต่อสาธารณชนทั้งไทย และเทศเลย
เมื่อเป็นเช่นนี้ สถานะโครงการนี้ ณ ปัจจุบันนี้ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ จึงเป็นเพียงแค่เรื่องเพ้อเจ้อหรือเป็นเรื่องการพูดจาที่เลอะเทอะ ไร้ความรับผิดชอบ และสร้างความสูญเสียให้แก่ศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของประเทศไทยเรา ซึ่งสมควรจะได้ฝากกระซิบบอกให้ทางรัฐบาล และฝ่ายข้าราชการได้ทำการบ้าน หาข้อมูล รวมถึงสร้างแผนแม่บทเบื้องต้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะเสียก่อน ก่อนที่จะปล่อยให้นายกฯ เดินสายไปขายฝัน โครงการ Landbridge กับชาวโลกโดยไม่มีข้อมูลที่เป็นชิ้นเป็นอัน
อีกทั้งโครงการในระดับนี้ควรจะได้รับความเห็นชอบในหลักการจากประชาชนพลเมืองเสียก่อน โดยการจัดทำการลงประชามติ 2 ระดับ หรือ 2 ครั้งด้วยกัน คือระดับแรก โดยประชาชนพลเมืองจากจังหวัดระนองและชุมพร และระดับที่ 2 จากประชาชนพลเมืองทั้งประเทศเพราะเป็นผู้เสียภาษีและเจ้าของงบประมาณ
สำหรับผู้เขียนเองก็ไม่ตื่นเต้นกับโครงการนี้ เพราะดูไม่คุ้มทุน เพราะจะมีผลเสียมากกว่าผลได้ และโดยเฉพาะในเรื่องสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และยังมองไม่ออกว่าจะมีอุตสาหกรรมใดที่จะมาตั้งอยู่ในบริเวณโครงการ ในเมื่อโลกกำลังมุ่งไปสู่ทิศทางของอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีสูงมากกว่าอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องใช้พื้นที่และแรงงานมากมาย
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี