“รถยนต์” ว่ากันว่าเป็น “ปัจจัยที่ 5” โดยเฉพาะกับสังคมไทยที่ระบบขนส่งมวลชนถูกตั้งคำถามเสมอมาทั้งในแง่ความเพียงพอ สะดวก และราคาที่เข้าถึงได้นั่นทำให้หลายคนเมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายและเวลาที่ต้องใช้ในการเดินทางแต่ละวันแล้วตัดสินใจเลือกที่จะซื้อรถยนต์ (หรือจักรยานยนต์) มาใช้งานเพื่อ “ซื้อความสะดวก” ในการเดินทาง แม้จะต้องเป็นหนี้สินผ่อนกันยาวๆ หลายปีก็ตาม
งานนี้ “สถิติไม่โกหก” ในปี 2566 ที่ผ่านมา “กรมการขนส่งทางบก” รายงานยอดจดทะเบียนรถใหม่อยู่ที่ 3,058,205 คัน ในจำนวนนี้เป็นจักรยานยนต์มากที่สุด 2,065,021 คัน รองลงมาคือรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รถเก๋ง) 653,528 คัน และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รถกระบะ) 170,903 คัน ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถสะสม เก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2532-2566 อยู่ที่ทั้งหมด 44,363,975 คัน เป็นจักรยานยนต์มากที่สุด22,569,593 คัน รองลงมาคือรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน7 คน (รถเก๋ง) 11,855,423 คัน และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รถกระบะ) 7,106,524 คัน
แต่นอกจากรถใหม่แล้ว “รถมือสอง” ก็เป็นอีกทางเลือกสำหรับคนมีทุนทรัพย์น้อยหรือต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งนอกจากการไปเลือกดูตามเต็นท์รถแล้ว การซื้อ-ขายออนไลน์ ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ได้รับความนิยมตามความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม คงต้องย้ำว่า “ราคารถที่ถูกเวอร์อย่างเหลือเชื่อ” อาจนำมาซึ่ง “ความเสี่ยง” ได้รถที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นรถถูกโจรกรรมมาบ้าง หรือ “รถหนีไฟ” ที่หมายถึง “ไฟแนนซ์” ประเภทผ่อนไม่หมดแล้วแอบนำไปขาย คนซื้อต่อนอกจากจะเสียเงินแล้วยังอาจมีคดีติดตัวอีกต่างหาก
อย่างกรณีล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2567 เมื่อตำรวจทางหลวง จับกุมหนุ่มอายุ 39 ปี ชาว จ.เชียงราย ได้ที่บริเวณ กม.51-52 ทล.32 ถนนสายเอเชีย (ขาเข้า) ต.บ้านอิฐ อ.เมือง จ.อ่างทอง หลังพบว่า รถยนต์นั่งสามตอน ยี่ห้อเชฟโรเลต รุ่นแคปติวา สีดำ ที่เจ้าตัวขับมานั้น ป้ายทะเบียนที่ระบุคือ 6 กว-7018 กรุงเทพมหานคร พบเป็น “ทะเบียนปลอม” โดยหนุ่มรายนี้ให้การว่า “ซื้อต่อรถคันดังกล่าวมาจากเจ้าของเดิมในราคา 4 หมื่นบาท จากเฟซบุ๊กที่ประกาศขายรถหลุดจำนำ” แล้วจะเดินทางจาก จ.เชียงราย ลงไปทำธุระที่กรุงเทพฯ แต่ถูกจับเสียก่อน
คำถามแรก “รถหลุดจำนำอันตรายหรือไม่กับการซื้อมาใช้?” ก็ต้องบอกว่า ที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แจ้งเตือนประชาชนอยู่เป็นระยะๆ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2567 ได้แจ้งเตือนอีกครั้งผ่านเพจเฟซบุ๊ก “กองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ทั้งในส่วนของ “ผู้ที่ผ่อนรถยังไม่หมดแล้วนำรถไปขายหรือจำนำ” ว่า การที่ผู้เช่าซื้อนำรถติดไฟแนนซ์ไปจำนำ แล้วผู้เช่าซื้อไม่ผ่อนชำระหรือไม่นำเงินมาปิดยอดไฟแนนซ์ที่เหลืออยู่
จะเข้าข่ายเป็นการ “ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต” ซึ่งเป็นความผิดฐาน “ยักยอก” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่ “ผู้รับจำนำหรือซื้อต่อรถติดไฟแนนซ์มาใช้” หากรู้หรือควรจะรู้ได้ว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถติดไฟแนนซ์ การรับจำนำหรือรับซื้อรถคันดังกล่าวไว้
อาจเข้าข่ายเป็นการ “ซื้อ หรือรับจำนำ ซึ่งทรัพย์อันได้มาจากการกระทำความผิดฐานยักยอก” ซึ่งเป็นความผิดฐาน “รับของโจร” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการสังเกตว่า รถยนต์คันดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใด ให้ตรวจสอบจาก “ใบคู่มือจดทะเบียน” ซึ่งจะระบุ รายละเอียดทะเบียนรถ ผู้ถือกรรมสิทธิ์ และผู้ครอบครองรถ หากตรวจสอบแล้วพบว่าชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ เป็นชื่อของสถาบันทางการเงิน ให้ระมัดระวังในการรับจำนำ หรือรับซื้อรถคันดังกล่าว เพราะอาจตกเป็นผู้กระทำความผิดฐานรับของโจรได้
เช่นเดียวกับ กรมการขนส่งทางบก เคยเตือนเรื่องของการ “โอนลอย” ที่หมายถึง “การโอนรถโดยในแบบคำขอโอนมีเพียงชื่อผู้โอน (ชื่อเจ้าของรถ) และยังไม่มีการกรอกชื่อผู้รับโอน หรือกรอกแล้วแต่ยังไม่ไปจดแจ้งการโอนให้เรียบร้อย และผู้ซื้อหรือผู้รับโอนไม่นำรถไปดำเนินการตรวจสภาพรถด้วยตนเองตามขั้นตอนที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด” ซึ่งวิธีการนี้ทำให้เกิด “ช่องว่าง” ให้มิจฉาชีพนำรถที่ได้จากการโจรกรรมมาหลอกขายกับผู้ที่ไม่รู้ (หรืออาจเข้าทำนองรู้ความเสี่ยงแต่ก็อยากลอเพราะเห็นแก่ของถูก) ก็ได้
“ซื้อรถมือสองอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาตามมา?”กรมการขนส่งทางบก แนะนำไว้ดังนี้ 1.ตรวจสอบหลักฐานทะเบียนรถให้ครบถ้วนเพื่อการซื้อ-ขายที่ถูกต้อง โดยเฉพาะ “สมุดคู่มือรถฉบับจริง”ที่มีชื่อเจ้าของรถ เลขตัวถัง เลขเครื่องยนต์ สีรถ ข้อมูลเหล่านี้ต้องถูกต้องตรงกับรถคันที่จะซื้อขายทุกรายการ2.ตรวจสอบว่ามีการชำระภาษีรถประจำปีครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ พร้อมนำรถเข้าตรวจสภาพและดำเนินการตามขั้นตอนโอนทางทะเบียนรถ ณ สำนักงานขนส่งที่รถจดทะเบียนด้วยตนเองในทันที
และ 3.ไม่ควรซื้อ-ขายด้วยวิธีการโอนลอยการซื้อ-ขายรถด้วยวิธีการโอนลอยโดยไม่ดำเนินการโอนทางทะเบียนให้ถูกต้องในทันที อาจก่อปัญหาได้ เช่น เอกสารหลักฐานประกอบการดำเนินการหมดอายุ ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถดำเนินการทางทะเบียนได้ หรือกรณีที่ผู้ซื้อไม่ดำเนินการชำระภาษีรถประจำปี หรือรถเกิดอุบัติเหตุยังคงปรากฏชื่อเจ้าของรถเดิม ทางทะเบียนเจ้าของรถรายเดิมยังคงมีส่วนรับผิดชอบกับความผิดนั้นๆ ขณะที่การไม่ดำเนินการโอนทางทะเบียนทำให้ผู้ซื้อไม่อาจตรวจสอบความถูกต้องของรถได้โดยสมบูรณ์
“เสียน้อยเสียยาก-เสียมากเสียง่าย” ยังคงเป็นสำนวนที่ยังใช้ได้เสมอ จริงอยู่ใครๆ ก็อยากได้ของถูกยิ่งเศรษฐกิจไม่ค่อยจะดี ค่าครองชีพพุ่งเกินรายได้ แต่รถยนต์ถือเป็นสิ่งจำเป็นหากไม่มีว่ากันว่าใช้ชีวิตได้แสนลำบาก ดังนั้น “ยิ่งเห็นโฆษณาชวนเชื่อของถูกมากๆ ยิ่งต้องตั้งสติและระมัดระวัง” เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี