ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่า ทั้งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล มีการกระทำที่เข้าข่าย “ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แล้ว มีผู้ไปยื่นเรื่องกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ดำเนินการ “ยุบพรรคก้าวไกล” ไปตามขั้นตอนของกฎหมายเสีย
เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่า นี่เป็น “นิติสงคราม” คือการใช้กฎหมายทำลายล้างพรรคก้าวไกลกันอยู่ใช่ไหม กกต. จะเป็นเครื่องมือทางการเมือง ขจัดขั้วตรงข้ามให้แก่ผู้มีอำนาจอย่างนั้นใช่ไหม บ้างก็ว่า ยุบก็ยุบไป ยุบก็ตั้งใหม่ไม่เห็นยาก ดีเสียอีก จะได้เกิดปรากฏการณ์ “ตายสิบเกิดแสน”
เรื่องนี้ เป็นเรื่องน่าคิดมากครับ
1) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของ กกต. อาจจะเป็นเครื่องมือทางการเมือง จากกรณียุบพรรคการเมือง ว่า กกต.ไม่ได้คิดอย่างนั้น แต่ก็ไม่สามารถห้ามใครคิดแบบนั้นได้กฎหมายพูดเสมอว่าให้ กกต. มีหน้าที่อะไรบ้าง ถ้าบทบาทเป็นอย่างไร กกต. ก็ต้องทำ คงไม่ได้เป็นเครื่องมืออะไร
เมื่อถามว่า สังคมมองว่าที่ผ่านมา กกต. มักจะยื่นยุบพรรคที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล โดยครั้งนี้ก็คือ พรรคก้าวไกล ซึ่งเพิ่งจะมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเรื่องใช้การแก้ไขมาตรา 112 ในการหาเสียงของพรรค นายอิทธิพรกล่าวว่า การยุบพรรคหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงปรากฏ เราไม่ได้ดูชื่อพรรค ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่า พรรคการเมืองใด ทำอะไรอย่างไร แล้วเรื่องมาถึงอำนาจหน้าที่ของ กกต. เราก็ทำตามนั้น ที่ผ่านมาเราพยายามทำตามกฎหมาย ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการทำงานโดยแท้
อย่างไรก็ตาม เพื่อความรอบคอบ เพื่อความเป็นธรรมและชัดเจน อาจจะให้ศึกษาคำวินิจฉัยกลาง เมื่อ กกต.มีข้อมูล เอกสารครบถ้วน ก็จะวินิจฉัยตามนั้น ส่วนจะได้ข้อสรุปเมื่อไหร่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับการศึกษาคำวินิจฉัยของศาล หลักฐาน และดูว่ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องข้อกฎหมายที่เขียนชัดในตามมาตรา 92 และ 93
เมื่อถามว่า หากยื่นยุบพรรคตามกฎหมาย ต้องอิงตั้งแต่กรรมการบริหารพรรคชุดเก่าที่เคยเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ไม่ได้ลงรายละเอียดขนาดนั้น เพราะยังมีกระบวนการทำงาน 1.ศึกษาคำวินิจฉัยให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อน 2.สำนักงานกกต. มีความเห็นเป็นอย่างไร จะเสนอ กกต. ใช้อำนาจหน้าที่อย่างไร ทั้งนี้ไม่มีกรอบเวลาชัดเจน แต่เรื่องนี้ต้องทำโดยไม่ชักช้า เพราะมีคำวินิจฉัยออกมาชัดเจนแล้ว แต่กระบวนการทำงานหากทำละเอียด ครบถ้วนได้ก็จะเป็นประโยชน์
เมื่อถามย้ำว่า เมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลแล้ว ยังต้องเรียกผู้ถูกกล่าวหามาให้ข้อมูลชี้แจงเพิ่มเติมหรือไม่ประธาน กกต. กล่าวว่า อาจจะมีกระบวนการภายใต้กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่นายทะเบียนพรรคการเมืองตั้งขึ้น ขณะนี้เราทำคู่ขนานกันไประหว่างสำนักงานเสนอความเห็นว่า เรื่องนี้มีหลักฐานอันควรเชื่อแล้วหรือยัง ซึ่งก็ต้องไปดูว่าเรื่องนี้จะตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างไร ก็ทำพร้อมๆ กัน เพราะฉะนั้น ถ้าจะเรียกก็อาจเรียกในกรอบของคณะตรวจสอบข้อเท็จจริง
2) วันที่ 15 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา นายแก้วสรร อติโพธิ ออกบทความในรูปแบบถาม-ตอบ เรื่อง “ทำไมต้องยุบพรรคก้าวไกล?” มีเนื้อหาว่า
ถาม : พอเกิดคดีตะวัน “ขับรถไล่เจ้า” ขึ้นมานี่เห็นพวกแกนนำก้าวไกลเขาออกมาเตือนกันระงมไปหมดว่า
- อย่าใช้กฎหมายรุกไล่กันจนสิ้นพื้นที่เจรจาประนีประนอม
- อย่าสาดน้ำมันเข้ากองไฟกันอีกเลย
- ยิ่งปัญหาบานปลายขึ้นมาอย่างนี้ เรายิ่งต้องเร่งออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีความผิด 112 กันโดยด่วนด้วย
ผมไม่เข้าใจว่าเขาพูดออกมาจากความคิดแบบไหนครับ มีกฎหมายแล้วเอามาบังคับใช้ มันจะผิดตรงไหนมีอะไรต้องประนีประนอม ต้องมานิรโทษอะไรกันอีก
ตอบ : ชัดเจนว่าพวกเขาปฏิเสธ มาตรา 112 แต่ปฏิเสธตรงไหนนั้น คุณเห็นว่าอย่างไร
ถาม : ในแง่เสรีภาพทางความคิดความเชื่อนั้น ผมเห็นว่า 112 ไม่ได้ไปบังคับให้ใครต้องเคารพสถาบันแต่อย่างใด ใครไปดูหนังแล้วนั่งกินข้าวโพดคั่วไม่ลุกขึ้นยืนตามเพลงสรรเสริญ มาตรา 112 เอาผิดเขาได้หรือ
ตอบ : ไม่ได้ครับ คนเราผิดจะตรงที่ความคิดไม่ได้ 112มีไว้เพื่อเอาผิด เมื่อ “มีการกระทำ” เกิดขึ้น คือไปใส่ความหรือดูหมิ่นในหลวง
ถาม : อ้าว...แล้วพวกก้าวไกลจะเลิก 112 ให้คนด่าในหลวงฟรีๆ อย่างนั้นหรือ
ตอบ : ไม่ใช่ครับ...เขาเสนอให้คุ้มครอง เช่น คนธรรมดาทั่วไป เมื่อถูกใครเขาด่าในหลวงก็ต้องให้สำนักพระราชวังไปแจ้งความร้องทุกข์เอาเอง ตำรวจจะไปจับเอาเองโดยไม่มีคำร้องทุกข์ไม่ได้
ถาม : แล้วทุกวันนี้ 112 มีความคุ้มครองเช่นไร
ตอบ : เราถือว่าในหลวงทรงเป็นประมุข เป็นบุคคลในสถาบันของรัฐ ดังนั้น เพื่อความมั่นคงของรัฐ สถาบันนี้จะถูกล่วงละเมิดไม่ได้ ใครด่าว่าในหลวงต้องถือว่าเสียหายต่อความมั่นคง เจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่เอาผิดได้เลย ส่วนผู้เสียหายตัวจริงจะเอาเรื่องหรือไม่ ไม่สำคัญ
ถาม : การคุ้มครองเฉพาะอย่างนี้ มันก็เหมือนกับผมไปด่าตำรวจที่แจกใบสั่งผม ก็เลยผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ไม่ใช่ฐานดูหมิ่นคนธรรมดาอย่างนั้นใช่ไหม
ตอบ : ก็ทำนองเดียวกันครับ ว่าแต่ว่า...คุณเห็นด้วยไหมที่จะ “เลิกการคุ้มครองในหลวงด้วยหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ” โดยย้ายความผิดให้ไปอยู่หมวดหมิ่นประมาทเช่นคนธรรมดาทั่วไปซะเลย
ถาม : นั่นมันหมายความว่าเราจะไม่นับ ไม่ถือพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันประมุขอีกเลยใช่หรือไม่ กฎหมายอย่างนี้ออกมาได้หรือครับ
ตอบ : นี่เป็นปัญหาไปถึงศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่สมัยคุณชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาฯ ท่านเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญจึงเบรกร่างกฎหมายนี้ของพรรคก้าวไกลไว้ ร่างกฎหมายนี้จึงไม่บรรจุเข้าวาระ
ถาม : เมื่อร่างกฎหมายแบบนี้มันเข้าสภาไม่ได้อยู่ดี แล้วศาลรัฐธรรมนูญโผล่เข้ามาตัดสินทำไม ว่า ให้พรรคก้าวไกลหยุดแก้ไข 112
ตอบ : ศาลไม่ได้สั่งอย่างนั้นนะครับ ศาลสั่งให้หยุดกร่อนเซาะสถาบันด้วยการชูธงแก้ไข 112 ตรงนี้เป็นเรื่องของ “ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่ถูกต้อง”
ถาม : รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติห้ามกร่อนเซาะอะไรด้วยหรือ พูดให้ก้าวไกลเป็นปลวกแทะบ้านไปได้
ตอบ : มันเป็นเรื่อง “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ครับ ว่า ใครจะใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยไม่สุจริต เพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญเสียเองไม่ได้ ประชาชนพบเห็นพฤติการณ์นี้เมื่อใด ก็มีสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งห้ามได้ สิทธินี้เข้ามาในรัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ฉบับ 2540 แล้วล่ะครับ ผมเป็น ส.ส.ร.อยู่ด้วย ก็เลยพอรู้เรื่องกับเขาบ้าง ว่า เราไม่ต้องการให้มีคนอย่างฮิตเลอร์เข้ามาใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จนเติบกล้าขึ้นมาล้มล้างรัฐธรรมนูญในที่สุดได้
ถาม : พวกก้าวไกลเขาใช้สิทธิเสรีภาพไม่สุจริตอย่างไรกัน ศาลรัฐธรรมนูญเห็นอะไร ทำไมถึงไปสั่งห้ามเขา
ตอบ : งานนี้ ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า ทำกันเป็นขบวนการ ใช้ทั้งสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวเป็นพรรคการเมือง หรือรวมเป็นกลุ่มทะลุโน่นทะลุนี่ จากนั้นฝ่ายที่รวมเป็นพรรคการเมืองแล้ว ก็ชูธงเอาการแก้ไข 112 มาเป็นธงนำของขบวนการ ให้ผู้คนใต้กระแสครอบงำเอาสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในการชุมนุม มาเคลื่อนไหวปลุกระดม ทั้งในถนนและในโซเชียลมีเดีย ดึงผู้คนเข้ามาร่วมกิจกรรม จาบจ้วงต่างๆ นานา ทำให้เกิดเป็นคดี 112 นับร้อยคดี แล้วบรรดา สส.ในพรรค ก็พากันมาประกันตัว แสดงความรับผิดชอบจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม 112 กันเป็นการใหญ่ ทั้งหมดนี้ ศาลบอกว่าส่งผลโดยรวมเป็นการกร่อนเซาะสถาบันทั้งสิ้น
ถาม : หมายความว่าการเสนอร่างกฎหมายแก้ไข 112 ที่ปรากฏนั้น เป็นเพียงส่วนยอดภูเขาน้ำแข็งของขบวนการกร่อนเซาะสถาบันในรัฐธรรมนูญ เช่นนั้นหรือ
ตอบ : ใช่ครับ..ความหมายของคำวินิจฉัยเป็นเช่นนั้นอันที่จริงคนที่ควรถูกศาลสั่งห้ามเคลื่อนไหวไม่ได้มีแค่พิธาหรือพรรคก้าวไกลเท่านั้น ที่อยู่นอกพรรคก็มีมากมายต่อไปนี้ทุกคนไม่มีสิทธิจะอ้างสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อเคลื่อนไหวกร่อนเซาะได้อย่างนี้อีก
ถาม : เมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งห้ามเคลื่อนไหวต่อไปอีก แล้วอย่างนี้ พรรคก้าวไกลจะถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบอีกได้หรือไม่
ตอบ : ผมว่า ถ้าสั่งห้ามเขาเคลื่อนไหวแล้ว แล้วจะมาสั่งยุบเขาอีกได้หรือครับ คดีนี้บรรดาการกระทำทั้งปวงถูกวินิจฉัยเป็นผลทางกฎหมายไปแล้ว แล้วจะมาวินิจฉัยซ้ำอีกได้อย่างไร
ถาม : ที่ไม่ยุบพรรคก้าวไกล เพราะกลัวเขาจะตายสิบเกิดแสนอย่างนั้นหรือ
ตอบ : มันเกิดได้จริงหรือครับ ที่ต้องคิดจริงๆ ไม่ใช่ว่ายุบแล้วกลุ่มก้อนคนในก้าวไกลจะโตขึ้นอีกหรือไม่ แต่ที่ต้องคิดให้ดีนั้น มันอยู่ตรงที่ว่าถ้ายุบพรรคก้าวไกลแล้ว จะทำให้คนกลางๆ เปลี่ยนไปปฏิเสธสถาบันมากขึ้นหรือไม่ ถ้าใช่ก็หมายความว่าการยุบพรรคก้าวไกลจะทำให้สถาบันต่ำลงมาเป็นฝักฝ่ายสมตามแผนของเขา จนหนักขึ้นไปอีกนั่นเอง
ถาม : แล้วจะปล่อยพรรคก้าวไกลให้ป่วนเมืองต่อไปอีกอย่างนั้นหรือ
ตอบ : ถ้าพรรคนี้มีน้ำยาแค่หากินหาเสียงจากความเกลียดชังหมู่ เอา 112 มาชูธงหาเรื่องให้คนเกลียดสถาบันเท่านั้น ผมว่าเมื่อศาลสั่งจนชูไม่ได้อีกต่อไป พรรคนี้
ก็น่าจะตายไปในไม่ช้า แต่ถ้าเขาสามารถปรับตัวเป็นพรรคการเมืองที่หันมาคิดมาระดมคนระดมสมองแก้ปัญหาบ้านเมืองได้จริงๆ แล้ว นั่นก็เป็นเรื่องที่เราน่าจะดีใจกันอย่างยิ่ง ที่การเมืองไทยเริ่มก้าวพ้นเงิน พ้นระบบอุปถัมภ์ และพ้นบ่วงแห่งความเกลียดชังแบ่งแยกได้แล้ว
ถาม : ส่วนคนที่รับไม่ได้กับสถาบันกษัตริย์ก็ต้องปล่อยให้มีอยู่ต่อไป
ตอบ : มันเป็นสิทธิของเขา เขาไม่ใช่ทาสของใคร ถ้าเขายังคิดว่าโลกนี้ วันนี้ กูคิดอย่างไร อยากเห็นอะไร มันก็ต้องเป็นอย่างนั้น ก็เชิญเป็นสวะประชาธิปไตยตั้งพรรค แล้วตกเหวทางความคิดที่คับแคบล้ำลึกกันต่อไป
3) ความเห็น : โดยรวมๆ ผมคิดว่า การร้องศาลรัฐธรรมนูญครั้งก่อน คำร้อง เพียงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำของนายพิธา หลายกรรม หลายวาระ กับพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะ ขณะที่มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งนั้น เป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ หากมี ขอให้ศาลสั่งหยุดการกระทำนั้นเสีย จึงไม่น่าจะเป็นดั่งที่ อ.แก้วสรร เสนอว่า “สั่งห้ามเขาเคลื่อนไหวแล้ว แล้วจะมาสั่งยุบเขาอีกได้หรือครับ คดีนี้บรรดาการกระทำทั้งปวงถูกวินิจฉัยเป็นผลทางกฎหมายไปแล้ว แล้วจะมาวินิจฉัยซ้ำอีกได้อย่างไร” เพราะการร้องให้ยุบพรรคนั้น เป็นผลจากการมีพฤติกรรม “ล้มล้างการปกครอง” ซึ่งเป็นการร้องให้วินิจฉัยในประเด็นใหม่ โดยมีคำวินิจฉัยเดิมเป็นข้อเท็จจริง เป็นหลักฐาน แต่ที่สุด พรรคก้าวไกลจะถูกยุบหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องของข้อเท็จจริงข้อกฎหมาย และดุลพินิจขององค์คณะตุลาการ ซึ่งมีหลักและองค์ประกอบให้ใช้ในการพิจารณาอยู่แล้ว
ส่วนข้อที่ว่า “ที่ต้องคิดจริงๆ ไม่ใช่ว่ายุบแล้วกลุ่มก้อนคนในก้าวไกลจะโตขึ้นอีกหรือไม่ แต่ที่ต้องคิดให้ดีนั้น มันอยู่ตรงที่ว่าถ้ายุบพรรคก้าวไกลแล้ว จะทำให้คนกลางๆ เปลี่ยนไปปฏิเสธสถาบันมากขึ้นหรือไม่ ถ้าใช่ก็หมายความว่าการยุบพรรคก้าวไกลจะทำให้สถาบันต่ำลงมาเป็นฝักฝ่ายสมตามแผนของเขา จนหนักขึ้นไปอีกนั่นเอง”
ผมมองว่า เรากำลังเข้าสู่ภาวะอลหม่านระหว่าง “นิติศาสตร์” กับ “รัฐศาสตร์” กันอีกแล้ว
ถ้าการกระทำนั้น “ผิด” ตามหลัก “นิติศาสตร์” ก็ควรจะตัดสินว่า ผิด
อย่าเอา “รัฐศาสตร์” มาบิดเบี้ยวหลักกฎหมายเลยครับ
เพราะในความเป็นจริง ไม่ว่ายุบหรือไม่ยุบพรรคก้าวไกล พวกเขาและคนในเครือข่ายของเขา ก็มิได้เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว
ต้องไม่ลืมว่า ยุบหรือไม่ยุบพรรคก้าวไกลไม่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แต่อยู่ที่เขา “ทำผิด” จนเป็นเหตุให้ต้อง “ยุบพรรค” หรือไม่ ไม่ควร “ลากความ”ไปไกล จนกฎหมายพิกลพิการ เหมือนกรณี “ทักษิณ ชินวัตร” ที่คนเสียศรัทธาไปกับหลายสิ่งหลายอย่าง...มากเหลือเกิน!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี