โดยทั่วไป เรามักจะหมกมุ่นอยู่กับเพียงเรื่องราวภายในบ้านเรา แต่บางครั้งบางคราว เราก็ต้องมองออกไปนอกบ้านบ้าง เพื่อดูว่าเขากำลังทำอะไร และมีอะไรทำ และส่งผลกระทบทั้งในเชิงความคิด และเชิงปฏิบัติต่อไทยเราบ้างอย่างไร?
ก็ขอเริ่มต้นที่ประเทศที่อยู่ติดกับบ้านไทยเราเสียก่อน ดังนี้
1. เมียนมา กำลังตกอยู่ในสภาวะสงครามกลางเมือง ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายเผด็จการทหารกับฝ่ายต่อต้าน ที่ต้องการเห็นเมียนมาเป็นสังคมประชาธิปไตยที่ฝ่ายทหารจะต้องไม่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเรื่องการบ้านการเมืองอีกต่อไป นั่นคือไปทำหน้าที่ทหาร และไม่มีหน้าที่ทางการเมืองอีกต่อไป สงครามกลางเมืองครั้งนี้ดูจะยืดเยื้อ โดยขณะนี้ฝ่ายต่อต้านดูจะเป็นฝ่ายรุกคืบมากกว่า ขณะที่ฝ่ายทหารถอยร่น ก็มีการคาดการณ์กันว่า ทั้งสองฝ่ายจะหาทางออกแบบสันติวิธีด้วยการเจรจาหารือกันเมื่อไร
2. กัมพูชา เป็นการเมืองที่อ้างว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย คือมีพรรคการเมืองและมีการเลือกตั้งเพื่อการแข่งขันกัน แต่ในความเป็นจริงกัมพูชามีแค่พรรคการเมืองพรรคเดียวที่อยู่ในอาณัติของ ครอบครัวฮุน กัมพูชาจึงถูกจัดเป็นประชาธิปไตยแบบพรรคเดียว และครอบครัวเดียวนำพา ขณะที่กษัตริย์สีหมุนีได้ถูกลิดรอนสิทธิและอำนาจไปอย่างสิ้นเชิง แถมยังถูกตัดขาดจากประชาชนพลเมือง เสมือนเป็นนกน้อยในกรงทอง
3. ลาว ที่ผ่านมาปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์พรรคเดียว สิทธิเสรีภาพของประชาชนพลเมืองไม่ต้องพูดถึงเพราะไม่มีมานานแล้ว ความก้าวหน้าของประเทศก็อยู่ในเกณฑ์น่าเป็นห่วง เพราะความมั่งมีมั่งคั่งกระจุกตัวในหมู่ผู้นำพรรค ซึ่งมาจากไม่กี่ครอบครัว
4. เวียดนาม ก็ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์พรรคเดียวเช่นกันกับลาว เพียงแต่เศรษฐกิจดูจะมีความก้าวหน้ามากกว่าอย่างก้าวกระโดด แต่ปัญหาคอร์รัปชั่นมีอยู่มากมายในกลุ่มชนชั้นผู้ปกครอง
5. มาเลเซีย เป็นราชอาณาจักรประชาธิปไตย ที่เป็นที่ยอมรับกันทั้งในและนอกประเทศ อยู่ในระดับที่เป็นที่เชื่อถือ แต่ปัจจุบันนี้ เสถียรภาพทางการเมืองก็ดูไม่ค่อยจะมั่นคง เพราะมีความบาดหมาง ชิงดีชิงเด่นภายในชนชั้นผู้นำผู้ปกครองจากพรรคการเมืองต่างๆ อีกทั้งก็มีประเด็นปัญหาของลัทธิชาติพันธุ์มลายูนิยม และลัทธิศาสนาอิสลามนิยม ซึ่งคุกคามสถานะและความปลอดภัยในชีวิตของพลเมืองที่มีเชื้อชาติจีน และอินเดีย และผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม
6. สิงคโปร์ การบริหารจัดการบ้านเมืองทั้งในระดับการเมืองและข้าราชการประจำ มีความเป็นเลิศในเรื่องธรรมาภิบาล และการตอบสนองความต้องการของประชาชนพลเมือง แต่สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอยู่ในวงจำกัดและฝ่ายรัฐมีอำนาจในการบริหารราชการและควบคุมสถานการณ์ด้วยเครื่องมือทางกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง
7. อินโดนีเซีย ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกในการเป็นสังคมประชาธิปไตย ท่ามกลางความหลากหลายของชาติพันธุ์ ความเชื่อถือ ภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณี ที่แม้ว่าพลเมืองส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลามและผู้คนบนเกาะชวามีจำนวนมากที่สุดก็ตาม แต่ก็สามารถประคับประคองการอยู่ร่วมกัน และพัฒนาประเทศไปได้อย่างมั่นคงและด้วยเสถียรภาพ แต่อย่างไรก็ตาม ชาวอินโดนีเซียเองและชาวโลกต้องจับตาว่า จะต้องควบคุมมิให้ลัทธิอิสลามนิยม และการใช้หลักศาสนาอิสลามครอบงำวิถีชีวิตทางการเมืองและสังคม เพราะนั่นจะก่อให้เกิดการแตกแยกและเลือกปฏิบัติที่ไม่ทัดเทียมกัน
8. บรูไน ก็ยังคงความเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่องค์สุลต่านเป็นทั้งประมุขประเทศ พร้อมกับการเป็นหัวหน้ารัฐบาล และเป็นผู้นำทางศาสนา ส่งผลให้การเมืองมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะจากความมั่งคั่ง มั่งมี ที่บรูไนได้รับจากทรัพยากรทางธรรมชาติ คือ น้ำมัน และก๊าซ ได้รับการจัดแบ่งกระจายไปทั่วทุกครัวเรือน ที่อำนวยให้ชาวบรูไนมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่จะมีการเรียกร้องซึ่งสิทธิพลเมือง หรือสิทธิทางการเมืองในอนาคตหรือไม่ และมากน้อยแค่ไหนก็เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามดูกันต่อไป
9. ฟิลิปปินส์ สังคมประชาธิปไตยของฟิลิปปินส์ก็เบิกบานดี แต่ประเด็นปัญหาของการบ้านการเมืองของฟิลิปปินส์ คือ การกระจุกตัวของบทบาท และการเข้าถึงซึ่งอำนาจรัฐ ค่อนข้างจะจำกัดอยู่ที่ครอบครัว หรือราชวงศ์ทางการเมืองไม่กี่สิบครอบครัว แล้วก็ผลัดกันแพ้-ชนะไปตามครรลองประชาธิปไตยของการเลือกตั้ง และในบางครั้งบางคราวก็จะมีการใช้อำนาจประธานาธิบดีแบบกึ่งเผด็จการ แต่ก็ไม่สามารถจะคงอยู่หรือมีความยืนยงไปได้ เพราะความตื่นรู้ทางการเมืองของชาวฟิลิปปินส์
10. ติมอร์ตะวันออก แม้ว่าจะเป็นประเทศเกิดใหม่ ผ่านการครอบครองของเจ้าอาณานิคมโปรตุเกส และผ่านการยึดครองของอินโดนีเซีย และผ่านการขัดแย้งทางการเมืองภายในอย่างโชกโชน ก็สามารถจัดตั้งตัวเองเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตยขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มว่าจะไปได้รอดอย่างมั่นคง สาเหตุหนึ่งก็เพราะบรรดาผู้นำและพรรคการเมืองต่างๆ ตระหนักว่าการไม่อยู่ในร่องในรอย และออมชอมกันนั้น ก็จะนำมาซึ่งการแทรกแซงและการครอบงำจากต่างชาติ
11. ภูมิภาคชมพูทวีป โดยทั่วไปประเทศต่างๆ ทั้งบังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ภูฏาน เนปาล มัลดีฟส์ และปากีสถาน ต่างก็ยังมุ่งหน้าไปในทิศทางของการเป็นสังคมประชาธิปไตย แต่ชาวโลกก็คงจะต้องจับตาดูเรื่องประเด็นปัญหาของพรรคเดียวนำพาหรือไม่ที่บังกลาเทศ เรื่องลัทธิฮินดูนิยมที่อินเดียจะบ่อนทำลายสังคมประชาธิปไตยในที่สุดหรือไม่ อุดมการณ์ลัทธิเหมา จะทำให้พรรครัฐบาลเหมาบริหารประเทศไปได้อีกกี่น้ำที่เนปาล ครอบครัวหรือราชวงศ์การเมืองราชพฤกษาของศรีลังกาจะหมดอำนาจทางการเมืองไปในที่สุดหรือไม่ ส่วนที่ปากีสถานนั้นฝ่ายกองทัพก็เป็นเสมือนพรรคการเมืองหนึ่งที่ยิ่งใหญ่และคงอำนาจมากที่สุด จะวางมือทางการเมืองหรือจะเป็นผู้ควบคุมทิศทางทางการเมืองของปากีสถานอีกต่อไป และท้ายสุดมัลดีฟส์ก็มีรัฐบาลใหม่ที่ดูจะสับสนระหว่างการบริหารเพื่อพัฒนาประเทศ กับการเล่นการเมืองระหว่างประเทศว่าจะอยู่กับฝ่ายจีน หรือจะอยู่กับฝ่ายอินเดีย ซึ่งเป็นการเชื้อเชิญให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงในกิจการภายในโดยใช่เหตุ
12. กว้างออกไปหน่อยก็ต้องชื่นชมความเป็นสังคมประชาธิปไตยของราชอาณาจักรภูฏาน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐจีนไต้หวัน เกาหลีใต้ และราชอาณาจักรญี่ปุ่น ที่ต่างเดินหน้าไปอย่างมั่นคง
13. ส่วนไทยเรานั้น คนไทยก็ยังมีภาระหน้าที่ในการร่วมมือกันที่จะทำให้ความเป็นราชอาณาจักรประชาธิปไตยนั้นเป็นจริงขึ้นมา ซึ่งประเด็นสำคัญก็คือ ทุกหมู่เหล่าและกลุ่มอำนาจหลัก ต้องมีเวทีหารือกันอย่างเปิดอก และด้วยหลักถ้อยทีถ้อยอาศัย เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับสาระเนื้อหามากน้อยของการเป็นราชอาณาจักรประชาธิปไตย
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี