หากถามว่าสังคมประเทศไทยให้ความสำคัญในเรื่องความเสมอภาคของเพศ หรือไม่
ตอบได้ว่า ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศในประเทศไทย เป็นปัญหาที่ค่อนข้างเล็ก เมื่อเทียบกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เล่นพรรคเล่นพวก และการไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีผู้พยายามดึงเอาประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศมาเป็นปัญหาของสังคมไทย แล้วพยายามดันให้ปัญหานี้กลายเป็นปัญหาการเมือง
อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำว่า สังคมไทยมีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศน้อยมาก และอาจจะกล่าวได้ว่าน้อยมากกว่าในสหรัฐอเมริกา หรือในประเทศอีกหลายประเทศบนโลกใบนี้
ในสังคมไทยนั้น หากใครก็ตามที่มีรสนิยมทางเพศตามที่แต่ละคนต้องการ ก็ไม่นับว่าเป็นเรื่องผิด และเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นสังคมเมืองหรือสังคมชนบท และเป็นที่น่ายินดีว่าในสังคมชนบทนั้น ไม่ได้มองปัญหาความเบี่ยงเบนทางเพศเป็นปัญหาใหญ่ ตราบใดก็ตามที่คนผู้ซึ่งมีความเบี่ยงเบนทางเพศไม่ได้ก่อปัญหาอาชญากรรม หรือก่อปัญหาใดๆ ให้กับสังคม
ผู้ที่เข้าใจสังคมไทยเป็นอย่างดี จะเห็นมาโดยตลอดว่า ผู้คนผู้มีความเบี่ยงเบนทางเพศจำนวนไม่น้อยที่รักใคร่ของผู้คนในสังคม เนื่องจากว่าคนกลุ่มดังกล่าวมีความสามารถพิเศษในหลายแง่มุม อาทิ ความสามารถในการแสดง ความสามารถด้านภาษา ความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงมีความน่ารัก ซึ่งหลายคนเรียกว่ามีจริตจะก้านที่ช่วยให้สังคมมีสีสันและคลายเครียดได้ค่อนข้างดี
สำหรับผู้หญิงกับผู้ชายในสังคมไทยนั้น ก็อาจจะดูว่ายังมีความแตกต่างด้านสถานภาพการทำงาน โดยเฉพาะหากพิจารณาถึงตำแหน่ง ก็อาจจะเห็นได้ว่าผู้ชายมีโอกาสในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงมากกว่าผู้หญิง แต่ถ้าหากดูให้ลึกแล้วจะพบว่าในระยะ 30-40 ปีมานี้ ปัญหาผู้หญิงถูกกีดกันการขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงขององค์กรมีน้อยลงอย่างมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังคงมีปัญหาอยู่บ้างในบางหน่วยงาน โดยเฉพาะในหน่วยงานที่ต้องใช้กำลังของเพศชายในการทำงาน
แม้กระทั่งในยุคปัจจุบัน จะพบได้ว่ามีผู้หญิงเป็นจำนวนไม่ใช่น้อยได้รับตำแหน่งนายพลเป็นจำนวนมาก ส่วนคำถามที่ว่าแล้วเมื่อไร สังคมไทยจะมีผู้นำเหล่าทัพเป็นสุภาพสตรี เรื่องนี้คงต้องใช้เวลาอีกระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากตำแหน่งสำคัญในกองทัพนั้นยังมีกฎระเบียบและประเพณีอีกค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ แม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกาก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เพราะยังไม่เคยปรากฏว่ามีผู้หญิงรายใดสามารถได้รับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของกองทัพในอเมริกา
แต่จะว่าไปแล้ว สังคมไทยตั้งแต่สมัยยุคโบราณให้ความสำคัญกับเพศหญิงหรือเพศแม่มาโดยตลอด แต่เป็นการให้เกียรติกันตามสถานภาพและบทบาทของความเป็นหญิงและชาย
เพราะฉะนั้นสังคมไทย จึงมีคำกล่าวจนติดปากว่าเป็นสังคมที่แม้ความเป็นชายเป็นหญิงจะไม่ได้มีความเท่าเทียมกันร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นสังคมที่มีปัญหาเรื่องเพศ เพราะชายและหญิงต่างมีบทบาทและหน้าที่ในการอยู่ร่วมกันในสังคมโดยให้เกียรติซึ่งกันและกันและแบ่งภารกิจระหว่างกันอย่างลงตัว และนักเรียนได้ว่าในชนบทนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าผู้หญิงมีบทบาทสำคัญมากกว่าผู้ชายในหลายต่อหลายกรณี เพราะเป็นทั้งผู้ดูแลบ้าน และยังเป็นผู้ที่เป็นกำลังสำคัญของครอบครัวในการเลี้ยงดูลูก และดูแลสามี
ส่วนประเด็นที่ว่า แล้วเหตุใดนักการเมืองในยุคนี้จึงพยายามสร้างกระแสข่าวการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในสังคม ประเด็นนี้ต้องบอกว่านักการเมืองต้องการสร้างคะแนนนิยมในกลุ่มผู้ที่สังคมเรียกว่าเป็นกลุ่มรักร่วมเพศหรือกลุ่มคนที่ต้องการจะแสดงบุคลิกลักษณะทางเพศของตนซึ่งต่างไปจากเพศสภาพเดิมโดยกำเนิด
ถามว่าการเรียกร้องของกลุ่มนักการเมืองเป็นเรื่องผิดหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าจริงๆ แล้วไม่ผิดแต่ก็ต้องบอกว่าถึงไม่ออกมาเรียกร้องสิ่งเหล่านี้ เรื่องเหล่านี้ก็ไม่ใช่ปัญหาอย่างสังคมไทย
ส่วนประเด็นที่อ้างว่าเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางกฎหมายในกรณีที่คนเพศเดียวกันตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน เรื่องนี้ก็น่าพิจารณาเพราะไม่มีข้อยืนยัน
ใดๆที่จะรับรองว่าคนเพศเดียวกันเมื่อตัดสินใจอยู่ร่วมกันแล้วจดทะเบียนสมรสแล้วจะไม่เกิดปัญหาในอนาคต เพราะแม้แต่คนต่างเพศที่จดทะเบียนสมรสกันแล้วก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้นเป็นประจำ
มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการที่คนเพศเดียวกันจะตัดสินใจอยู่ร่วมกัน ไม่จำเป็นต้องมีการรับรองทางกฎหมายก็ได้ หากคนทั้งสองนั้นตัดสินใจว่าจะอยู่ร่วมกันตลอดไปหรือในกรณีที่ต้องการจะโอนทรัพย์สมบัติให้กันและกัน ก็สามารถโอนได้ เพียงแต่ว่าไม่สามารถโอนในฐานะของบุคคลผู้เป็นสามีภรรยา แต่ให้ใช้การโอนการซื้อขาย
อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการจดทะเบียนสมรสของบุคคลผู้เป็นเพศเดียวกัน อาจจะเป็นที่ยอมรับของคนในสังคมกลุ่มหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องขัดหลักศาสนาของบางศาสนา โดยเฉพาะศาสนาอิสลามซึ่งประเด็นนี้จะต้องสร้างความเข้าใจในกลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลาม
ขณะเดียวกัน ก็มีข้อสังเกตด้วยว่าด้วย การที่คนหนึ่งคนเกิดมาแล้วมีเพศสภาพเดิมเป็นอย่างไรก็ตาม ก็สมควรจะต้องนึกถึงหรือคิดถึงความคาดหวังของคนที่เป็นผู้ที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน โดยเฉพาะปู่ย่าตายาย พ่อแม่ ญาติพี่น้องเพราะเมื่อผู้เกิดมาแล้วเป็นความหวังของคนในครอบครัว ก็อาจจะจำเป็นจะต้องคำนึงถึงข้อนี้ไว้ด้วย แม้จะมีการโต้แย้งว่า ชีวิตเป็นของแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะมีใครบงการ หรือเป็นเจ้าชีวิตเหนือใครได้ แต่ถึงกระนั้นก็ต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงที่ว่า ลูกหลานคือความหวังของพ่อแม่และปู่ย่าตายาย เพราะฉะนั้น การไม่ทำลายความหวังของคนในครอบครัวก็ถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่สมาชิกในครอบครัวผู้มีฐานะเป็นบุตรหลานกลัวจะต้องคำนึงถึงด้วย
สรุปคือ ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศไม่ใช่ปัญหาใหญ่หรือปัญหาสำคัญของสังคมไทย และสังคมไทยก็มีทั้งออกในเชิงประนีประนอมของปัญหานี้มาโดยตลอด เพราะฉะนั้นจึงอยากจะฝากข้อสังเกตไปยังบรรดานักการเมืองที่มีวัตถุประสงค์นำประเด็นความเท่าเทียมทางเพศมาใช้หาเสียงเพื่อสร้างคะแนนนิยมให้กับตัวเอง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี