วันที่ 9 ก.พ. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงาน อัปเดตอาการสุขภาพของเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง นักกิจกรรมทางการเมืองกลุ่มทะลุวัง หลังเจ้าตัว
อดอาหาร และน้ำ ติดต่อกันเป็นวันที่ 13 และอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นวันที่ 3 นอกจากนี้ เนติพรระบุขอแจ้งความประสงค์มอบร่างกายให้กับคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากตนเองเสียชีวิต
โดยได้สรุปอาการของเนติพร ว่า มีอาการนอนไม่หลับ,ปัสสาวะยังคงมีแดงเข้ม และภาวะจากกระเพาะอักเสบ,รู้สึกเจ็บปวดตามร่างกายแทบทุกส่วน เหนื่อยมาก เพลียมาก,รู้สึกปวดแสบร้อนมากจากข้างในร่างกาย ทั้งนี้ แพทย์กังวล “เนติพร” อาจจะมีอาการแทรกซ้อนได้จึงต้องการเจาะเลือดไปตรวจ แต่เนติพรปฏิเสธไม่รับการรักษาพยาบาล
เนติพรยังคงเน้นย้ำว่า การตัดสินใจอดอาหารและน้ำครั้งนี้ เป็นเพราะรู้สึกว่า ตัวเองไม่ได้รับความยุติธรรมจากศาลอาญากรุงเทพใต้ ทั้งนี้ เมื่อ 26 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา เนติพรถูกศาลถอนประกันตัว และส่งตัวเข้าเรือนจำทัณฑสถานหญิงกลาง เนื่องจากศาลมองว่า วันที่ชุมนุมประท้วงหน้ากระทรวงวัฒนธรรม เธอผิดเงื่อนไขการประกันตัว คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2566 นักกิจกรรมรวมตัวหน้ากระทรวงวัฒนธรรม เพื่อเรียกร้องให้ถอดถอน นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สว. ออกจากศิลปินแห่งชาติ เนื่องจากไม่โหวตเลือกนายกฯ จากเสียงข้างมากของประชาชน
ในวันเดียวกัน ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำพิพากษาให้เธอผิดข้อหาละเมิดอำนาจศาล จากกรณีที่เธอมีเรื่องวิวาทกับ รปภ.ศาล วันที่ไปให้กำลัง นายสหรัฐ สุขคำหล้า หรืออดีตสามเณรโฟล์ค ถูกตัดสินจำคุกคดีมาตรา 112 โดยศาลสั่งจำคุกเนติพร 1 เดือน ไม่รอลงอาญา
1) ขณะนี้ “การเมือง” ได้แยกอารมณ์ผู้คนออกเป็น 2 ขั้ว ขั้วที่หนึ่งคือ พวกเดียวกัน จะรู้สึกเห็นอกเห็นใจ เป็นทุกข์ เดือดแค้น รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกกลั่นแกล้งจองเวร อีกพวกคือ ขั้วตรงข้าม จะรู้สึกว่า อดก็อดไป ตายก็ตายไป ใครใช้ให้เธออด ใครใช้ให้เธอทำพฤติกรรมทั้งหมด จนมีคดี จนถูกดำเนินคดี จนถูกฝากขัง จนถูกพิพากษาจำคุกหรือฝากขังคุกระหว่างดำเนินคดี ทั้งหมดเป็นเพราะตัวเธอทั้งนั้น ดื้อด้าน ท้าทาย ทำผิดซ้ำซาก รับจ้างใครมาหรือเปล่า ทำเพื่อเงินใช่ไหม ฯลฯ
2) นอกจากบุ้งแล้ว ก็ยังมี “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ กับ แฟรงค์ นายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตรที่ก็ประกาศ “อดอาหาร” เช่นกัน โดย 2 คนนี้ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดน ได้ยื่นคำร้อง ฝากขังน.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน อายุ 22 ปี นักเคลื่อนไหวกลุ่มทะลุวัง กับนายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ อายุ 23 ปี ผู้ต้องหาที่ 1-2 ข้อหาว่า ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน มาตรา 116, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญาและร่วมกันกระทำด้วยประการใดอันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ, ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายให้ไว้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร
กรณีเหตุการณ์ที่น.ส.ทานตะวัน หรือ ตะวัน ที่ร่วมกับนายณัฐนนท์ หรือ แฟรงค์ นักเคลื่อนไหวกลุ่มทะลุวัง พยายามขับรถแซงขบวนเสด็จบนทางด่วน พร้อมบีบแตรรถยนต์ลากยาวระหว่างขบวนเสด็จผ่าน และใช้ถ้อยคำดูหมิ่นเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้ฝากขังและไม่ให้ประกันในคดี
3) วันที่ 23 ก.พ. 2567 ที่ นางอาจารี ศรีสุนาครัว รรท.ผอ.ทัณฑสถานหญิงกลาง เปิดเผยถึงอาการป่วยของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ “บุ้ง” และ น.ส.ทานตะวัน
ตัวตุลานนท์ หรือ “ตะวัน” 2 นักกิจกรรมทางการเมือง หลังถูกศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว ซึ่ง“ประกาศอดอาหารระหว่างคุมขังพิจารณาคดี” ว่า
อาการของ น.ส.ตะวัน - ได้ตรวจร่างกายแล้วพบว่ามีอาการอ่อนเพลีย จึงได้ส่งเข้ารับการรักษาตัวที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ตั้งแต่วันแรก จากนั้นก็ส่งต่อไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ส่วนอาการปัจจุบัน ได้รับรายงานว่า น.ส.ตะวัน ยังคงช่วยเหลือตัวเองได้ดี แต่มีอาการอ่อนเพลียเนื่องจากอดอาหารมาหลายวัน
อย่างไรก็ตาม น.ส.ตะวัน ยังไม่ได้อยู่ในขีดอันตราย เพราะระดับน้ำตาลในเลือด สัญญาณชีพจร ความดันยังคงปกติ โดยมีเจ้าหน้าที่ของเรือนจำดูแลตามระเบียบ ทั้งนี้ ถ้าเจ้าตัวมีอาการดีขึ้นก็จะต้องมีการส่งตัวกลับเรือนจำและสังเกตอาการต่อเนื่อง ยืนยันว่าในตอนนี้ น.ส.ตะวันยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ
ส่วน น.ส.เนติพร หรือบุ้ง - แม้ว่าทำการอดอาหารมาหลายวันแล้ว ก็ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้แต่ก็มีอาการอ่อนเพลีย ส่วนถ้าหลังจากนี้มีอาการถึงขั้นที่จะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ก็จะส่งไปเข้ารับการรักษาตัวที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ส่วนถ้าจะต้องมีการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์พิเศษใดๆ ก็อาจจะมีการพิจารณาส่งตัวไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอื่นๆ ที่เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายร่วมกับทางกรมราชทัณฑ์ เช่น โรงพยาบาลตำรวจ
ทั้งนี้ กรณีของ น.ส.บุ้ง ได้ไปอยู่ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ 2 ครั้งแล้ว ไปครั้งหนึ่งก็ประมาณ 5-7 วัน ขึ้นอยู่กับความเห็นแพทย์ ซึ่ง น.ส.บุ้ง ค่อนข้างสุขภาพแข็งแรงกว่า น.ส.ตะวัน ช่วยเหลือตัวเองได้ เดินไปห้องน้ำเองได้ แต่ก็ยังปฏิเสธการรักษา ปฏิเสธการรับประทานอาหารทุกชนิดทั้งทางปากและการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
3) วันที่ 24 ก.พ.2567 นายสมหมาย ตัวตุลานนท์ พ่อของ น.ส.ทานตะวัน ได้มายื่นขอให้ศาลอาญาพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวทั้ง 2 คน คือ “ตะวันกับแฟรงค์”
นายสมหมาย เปิดเผยว่า เมื่อวาน (23 ก.พ. 2567) ได้ไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พบว่า นายณัฐนนท์ (แฟรงค์) มีร่างกายที่แย่มาก ร่างกายขาดน้ำและขาดอาหาร เบลอไปหมด พูดไม่ได้
ส่วนอาการของ น.ส.ทานตะวัน ร่างกายเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก การพูดจาสามารถทำได้เพียงแค่กระซิบแทบจะไม่ได้ยินเลย ถ้าปล่อยต่อไปให้เป็นเช่นนี้ อีกไม่กี่วันไม่แน่ใจว่าจะรักษาชีวิตไว้ได้หรือไม่ ทั้งสองคนไม่มีแรงแม้กระทั่งจะฝากบอกอะไรมา เลยมาขอความเมตตาจากศาล ให้ปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อออกมารับการรักษา โดยครั้งนี้เป็นการยื่นขอประกันครั้งที่ 3จึงหวังว่าศาลจะเมตตา
นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า ในวันเกิดเหตุทั้ง 2 คนไปร่วมงานศพของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มทะลุฟ้าคนหนึ่ง ซึ่งขากลับได้ขึ้นทางด่วนแล้วไปเจอขบวนเสด็จโดยบังเอิญ ไม่ได้มีเจตนาหรือวางแผนเพื่อไปก่อเหตุป่วนขบวนเสด็จแต่อย่างใด เพราะคนทั่วไปไม่มีทางรู้ได้เลยว่า เส้นทางเสด็จจะใช้เส้นทางใดบ้าง เป็นเรื่องธรรมดาที่ระหว่างเดินทางอยู่จะไปเจอขบวนเสด็จ อีกทั้งขบวนเสด็จใช้ความเร็ว ไม่มีทางที่จะขับรถตามไปป่วนขบวนเสด็จได้ทัน
แต่ก็ยอมรับว่าเด็กทั้งสองคนมีพฤติกรรมและใช้วาจาไม่เหมาะสมกับเจ้าหน้าที่ แต่การกล่าวหาดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องที่เกินความเป็นจริง ลำพังเด็กทั้งสองคนจะไปทำอะไรได้ เพราะถ้ามีการใช้ความรุนแรงจริง เจ้าหน้าที่ก็สามารถดำเนินการขั้นเด็ดขาดขณะเกิดเหตุได้ทันที
อีกทั้งยังให้คำมั่นว่า หากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จะดูแลลูกไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองอีก จะให้ใช้ชีวิตตามประสาวัยรุ่น และเรียนให้จบต่อไป
4) ด้าน นายนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือ สายน้ำ กลุ่มทะลุวัง ลูกชายอาจารย์ชื่อดัง ซึ่งมาให้กำลังใจเปิดเผยว่า ในวันที่ 25 ก.พ.นี้ จะครบกำหนดฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน ซึ่งจะต้องรอดูพนักงานสอบสวนว่าจะขอฝากขังต่อในครั้งที่สองหรือไม่ ศาลจึงมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำเอกสารใบรับรองแพทย์มาประกอบเพิ่มเติม โดยนัดฟังคำสั่งเวลา 13.30 น.
นายนภสินธุ์กล่าวอีกว่า ถ้าในวันที่ 25 ก.พ.นี้ พนักงานสอบสวนมาขอยื่นฝากขังครั้งที่สอง ขณะที่อาการของเพื่อนทั้ง 2 คน คงแย่กว่าเดิม ซึ่งในวันที่ 25 ก.พ.นี้ เราก็จะมาร่วมติดตามคำสั่งศาลอาญาอีกครั้ง ส่วนเรื่องของใบรับรองแพทย์ที่ศาลให้เอามาประกอบเพิ่มเติมนั้นก่อนหน้านี้เคยยื่นไปแล้ว หลังจากนี้ก็จะไปพูดคุยกันเพิ่มเติมว่าจะดำเนินการอย่างไร ถึงแม้ว่าวันที่ 25 ก.พ.นี้ ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ทั้งตะวันและแฟรงค์ก็คงพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเช่นเดิมและทั้ง 2 คนยังคงยืนยันว่าจะอดน้ำอดอาหารต่อไป
ต้องดูว่าพนักงานสอบสวนจะยื่นฝากขังผลัดที่ 2 ต่อหรือไม่ ซึ่งในคดีนี้ พนักงานสอบสวนให้เหตุผลคัดค้านประกันตัวว่า ผู้ต้องหาอาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือหลบหนีได้ ซึ่งที่ผ่านมาทั้งสองไม่ได้มีเจตนาหลบหนี และไม่เคยไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานแต่อย่างใด จึงไม่เห็นความจำเป็นที่พนักงานสอบสวนจะต้องออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งสองคน วันนี้จึงมาให้กำลังใจให้นายสมหมาย เพราะรู้สึกเป็นห่วงเพื่อน จึงอยากให้ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
5) ร่างกายมนุษย์เมื่ออดอาหาร จะเป็นอย่างไร?
หากอดอาหารใน 4 ชั่วโมงแรก จะไม่ค่อยมีผลอะไรมาก ยังสบายๆ ได้อยู่ เพราะร่างกายจะนำพลังงานของอาหารที่กินไปมื้อล่าสุดมาใช้ก่อน ถ้าใช้พลังงานจนหมดแล้ว ก็จะนำไกลโคเจน ซึ่งเป็นพลังงานที่สะสมในร่างกายมาใช้ทดแทนไปก่อน
หากผ่านไป 1 วันแล้ว ยังไม่ได้กินอะไรเลย สิ่งที่ตามมาคือ ท้องร้องหิวข้าวและจะรู้สึกอ่อนเพลียด้วย นั่นหมายความว่าไกลโคเจนที่ถูกดึงมาใช้ก่อนหน้านี้ได้หมดลงไปแล้ว ทำให้ร่างกายต้องควานหาพลังงานใหม่ที่จะมาใช้ทดแทน นั่นก็คือกลูโคสเป็นน้ำตาลที่อยู่ในกระแสเลือดของมนุษย์ ซึ่งจะถูกนำไปใช้กับสมอง
หากอดอาหาร 36 ชม. ตัวเริ่มซีด ผิวหนังแห้ง ปากแห้ง ลิ้นแห้ง รวมถึงเริ่มมีกลิ่นปากแรง เพราะไม่มีสารอาหารอะไรตกถึงท้องเลย ถ้ากลูโคสหมด โปรตีนที่อยู่ในร่างกายก็จะถูกดึงนำมาใช้งานต่อไป ให้ร่างกายมนุษย์ยังรู้สึกมีแรงต่อ หากอดอาหาร 48 ชม. พลังงานที่มีอยู่เริ่มหมด ทำให้ร่างกายต้องพยายามขุดไขมันต่างๆ ที่มีอยู่มาใช้ ในช่วงนี้จะรู้สึกปวดหัว ดวงตาล้า และไม่ค่อยมีแรงจะขยับตัว หากอดอาหาร 60 ชม. เป็นช่วงที่ร่างกายเริ่มปรับตัวได้ และดึงทั้งไขมันและกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายมาใช้ ทำให้ร่างกายมีลักษณะผอมแห้งเป็นอย่างมาก หากอดอาหาร 72 ชม. ร่างกายอาจจะมีรู้สึกวูบบ้าง ตอนที่กำลังลุกขึ้นมา และมีอาการเวียนหัว จากน้ำตาลในเลือดที่ลดลง หากอดอาหาร 90 ชม. เป็นต้นไป ร่างกายเริ่มซูบผอมลงเรื่อยๆ ไม่ค่อยมีแรง แต่จะค่อยๆ ปรับตัว และชินกับสภาวะที่เป็นอยู่ อาการทั้งหมดนี้จะสามารถอยู่ได้นานหลายวัน หากได้รับการดื่มน้ำ เพราะร่างกายมนุษย์มีน้ำเป็นส่วนประกอบ 60% และเซลล์ต่างๆ ในร่างกายมีน้ำเป็นส่วนสำคัญต่อการทำงาน
7) คนเหล่านี้อดอาหารทำไม ขีด “เส้นใต้บรรทัด”ไว้ได้เลยว่า พวกเขาต้องการประท้วง” อะไรบางอย่าง พร้อมๆ กับ “เรียกร้อง” ซึ่งก็ต้องไปดูข้อเรียกร้องว่า “ตอบสนอง” ได้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือ การอดอาหารของคนกลุ่มนี้ จะมาพร้อมๆ กับการ “เป็นข่าว” เพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อม
8) พึงทราบว่า การประกันตัว คือ การขอให้ศาลปล่อยตัวจำเลยหรือผู้ต้องหาชั่วคราวออกมาจากการควบคุมหรืออำนาจของศาลในระหว่างสอบสวนหรือระหว่างรอการพิจารณาคดี ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วคนที่จะขอประกันตัวชั้นศาลมักจะเป็นคนที่ต้องการต่อสู้คดี ไม่ว่าจะทำผิดจริงหรือไม่ก็ตาม เพื่อออกมาเตรียมตัวพิจารณาคดีหรือเตรียมพยานหลักฐานเพื่อใช้ในการต่อสู้คดี
โดยหลักผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนมีสิทธิได้รับอนุญาตให้ประกันตัวเท่าเทียมกัน แต่กฎหมายก็กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเอาไว้ว่าในการพิจารณาการประกันตัวชั้นศาลจะต้องดูอะไรประกอบ ดังนี้
1.ความหนักเบาแห่งข้อหา, 2.พยานหลักฐานปรากฏแล้วเพียงใด, 3.พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร,4.เชื่อถือผู้ขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด, 5.ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนีหรือไม่, 6.ภัยอันตรายและความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีหรือไม่เพียงใด, 7.กรณีขังตามหมายศาล มีพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ โจทก์ หรือผู้เสียหาย คัดค้านหรือไม่
เหตุที่จะไม่ให้ประกันตัวชั้นศาล ต้องมีเหตุอันควรเชื่อบางอย่างดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ศาลถึงจะไม่ให้ประกันตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราวได้ 1.ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี,
2.ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน,3.ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น, 4.ผู้ขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ, 5.การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล,6.อัยการหรือพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว, 7.ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งหรือไม่มีการงาน, 8.ให้การรับสารภาพทั้งชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาของศาล,9.ไม่ได้ให้เหตุผลในการขอประกันตัวว่าจะออกไปทำอะไร, 10.ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้ไม่น่าเชื่อถืออาจจะเคยถูกปล่อยตัวแล้วหลบหนีมาครั้งหนึ่ง และ 11.คดีที่ก่อให้เกิดผลกระทบโดยทั่วไปต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ การเมือง และความเสียหายต่อประชาชนโดยทั่วไป
คำถามคือ อดอาหารแล้ว องค์ประกอบหรือปัจจัยที่จะทำให้ได้รับการปล่อยตัวเปลี่ยนไปหรือไม่?ถ้าไม่เปลี่ยน ศาลก็ต้องยึดหลักเกณฑ์เดิม จึงวกกลับไปที่คำถามตัวโตๆ ว่า อดอาหารทำไม?
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี