สัปดาห์ที่แล้ว นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เปิดทำเนียบ ประกาศวิสัยทัศน์ Thailand Vision มุ่งพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก
ตั้งเป้าประเทศไทยจะก้าวไปเป็นที่ 1 ของภูมิภาค ด้วยข้อได้เปรียบด้านทรัพยากรธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยว ภูมิอากาศที่อบอุ่นตลอดปี และที่สำคัญ คือ ศักยภาพของคนไทย
โดยนำเสนอ 8 วิสัยทัศน์ ขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า ประกาศตั้งเป้าให้ไทยเป็น
ศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว (Tourism Hub)
ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub)
ศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub) ยกระดับการผลิตอุตสาหกรรมการเกษตร ทำให้ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในกระเป๋าต้องมีเงิน”
ศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub)
ศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค (Logistic Hub) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มศักยภาพระบบคมนาคมทั้งในและต่างประเทศ รถไฟความเร็วสูง เชื่อมสู่ 3 สนามบิน ศูนย์กลางขนส่งผ่าน Land Bridge เชื่อมสองฝั่งมหาสมุทรอันดามัน-อ่าวไทย สร้างความสมดุลสู่ความมั่งคั่งเป็นตัวกลางการค้าระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก
ศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility Hub) ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต มีเป้าหมายจะได้แผนการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาทรองรับอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่รถ EV ตั้งแต่การค้นคว้าวิจัย การผลิตชิ้นส่วน ยางรถยนต์แบตเตอรี่ อะไหล่ การประกอบ การบำรุงรักษา ทำให้เกิดเป็น Ecosystem ที่สมบูรณ์ในประเทศและเตรียมพร้อมเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น เครื่องยนต์ Hydrogen รองรับอุตสาหกรรมในอนาคต
ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Hub) ตั้งเป้าดึงอุตสาหกรรมแห่งอนาคต Digital for all Technology Innovation AI ให้มาขยายธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะ เทคโนโลยี High Tech ต่าง ๆ ทั้งการลงทุนโรงงานผลิต Semiconductor, การตั้งศูนย์ Data Center รองรับ Cloud Computing พร้อมเงินสนับสนุนบริษัทที่ต้องการผ่านกองทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และจะทำ Matching Fund เติมทุนให้กับบริษัทที่มีศักยภาพด้วย
ศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) ตั้งเป้าเปลี่ยนให้ไทยเป็น Financial Center of Southeast Asia ขับเคลื่อนระบบการเงินที่แข็งแกร่ง ดึงสถาบันการเงินระดับโลกเข้ามาลงทุน สร้างย่านการเงิน Wall Street ของอาเซียนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย พัฒนาระบบการเงินเพื่อความยั่งยืน Carbon Credit Trading
1. นายกฯ เศรษฐากำลังฉายภาพทิศทางประเทศที่กำลังเดินไป โดยไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เพราะหลายเรื่องรัฐบาลก่อนหน้าได้วางพื้นฐานไว้ให้เป็นอย่างดี
ขอให้กำลังใจ และสนับสนุนการขับเคลื่อนให้สำเร็จ อย่างมีธรรมาภิบาล ปลอดทุจริต เพราะคนจะได้ประโยชน์หรือประเทศชาติส่วนรวม
แต่พื้นฐานความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ แม้นายกฯ ในบทบาทนักการเมืองปัจจุบัน อาจไม่สะดวกใจที่จะพูดออกมาตรงๆ คือ ปัญหาด้านทักษะของคนไทยจำนวนมาก ที่ยังขาดแคลนอยู่สำหรับโลกสมัยใหม่ ซึ่งถ้าหากเรายอมรับความจริง แล้วเร่งลงทุนพัฒนายกระดับทักษะเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์โดยตรงกับประชาชนคนไทย
ที่สำคัญ จะทำให้การขับเคลื่อนทั้ง 8 ด้านข้างต้น ประสบความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากขึ้น
2. ทิศทางการพัฒนาทักษะทุนชีวิต เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศ
“ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตทักษะอย่างรุนแรง ระบบการศึกษาของไทย ได้รับการปรับปรุงอย่างมาก ในสามทศวรรษที่ผ่านมา แต่ยังมีสัดส่วนของ เด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่จำนวนมากที่ยังไม่สามารถเติบโตได้ในตลาดแรงงาน และตอบสนองต่อความต้องการของสังคม”
ข้างต้นคือคำกล่าวของคุณโคจิ มิยาโมโต (Mr.Koji Miyamoto) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice จากธนาคารโลก (World Bank)
นำเสนอผลสำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงาน หรือ ASAT ซึ่งได้ออกแบบมาเพื่อวัดทักษะรากฐาน (Foundational Skills) ของเยาวชนและผู้ใหญ่อายุ 15-64 ปี
ประกอบด้วย ทักษะการรู้หนังสือ ทักษะดิจิทัล และทักษะทางอารมณ์และสังคม
ครอบคลุม 6 ภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และ EEC
โดยออกแบบเพื่อสร้างตัวชี้วัดที่สามารถเป็นตันแทนในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ของคนไทยราว 50 ล้านคน
งานวิจัยนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ธนาคารโลก และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จุดอ่อนที่พบบางส่วน ระบุว่า
“...ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตทักษะทุนชีวิต คล้ายกับหลายๆ ประเทศในภูมิภาคนี้
คือ มีสัดส่วนที่ใหญ่มากของเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะทุนชีวิต หรือ Foundational Skills ต่ำกว่าเกณฑ์
กลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีความสามารถในการอ่านหนังสือขั้นพื้นฐานและการคำนวณอย่างง่ายๆ และไม่แสดงออกว่าจะสามารถมีส่วนร่วมกับผู้อื่นหรือเปิดกว้างรับแนวคิดใหม่ๆ
ทั้งนี้ เกือบสองในสาม หรือร้อยละ 64.7 ของประชากรเยาวชนและผู้ใหญ่ในประเทศไทย มีทักษะด้านการรู้หนังสือที่ต่ำกว่าเกณฑ์
หมายความว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่สามารถที่จะอ่านและเข้าใจข้อความสั้นเพื่อแก้ปัญหาง่ายๆ เช่น การทำตามฉลากยา
ขณะที่จำนวนสามในสี่ หรือร้อยละ 74.1 ของประชากรเยาวชนและผู้ใหญ่มีทักษะทุนชีวิตด้านดิจิทัลที่ต่ำกว่าเกณฑ์
หมายความว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ประสบปัญหาในการใช้อุปกรณ์ชี้ตำแหน่ง (pointing device)และแป้นพิมพ์ (keyboard) บนคอมพิวเตอร์พกพาและไม่สามารถทำงานง่ายๆ เช่น การค้นหาราคาที่ถูกต้องของสินค้าจากเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์
ยิ่งไปกว่านั้น ร้อยละ 30.3 ของเยาวชนและผู้ใหญ่มีทักษะรากฐานทางอารมณ์และสังคมที่ต่ำกว่าเกณฑ์
หมายความว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่มีแนวโน้มที่จะคิดริเริ่มเพื่อสังคมหรือมีความกระตือรือร้นอยากรู้อยากเห็นและมีจินตนาการ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่ช่วยให้ผู้คนรับมือและประสบความสำเร็จในที่ทำงาน ทักษะทางอารมณ์และสังคมเหล่านี้ ยังเป็นที่ทราบกันดีว่าช่วยให้บุคคลสามารถผ่านความไม่แน่นอน ความเสี่ยง และความตื่นตระหนกในชีวิตประจำวัน รวมถึงการระบาดล่าสุดของโควิด-19 และภัยธรรมชาติที่ประเทศไทยมักประสบ...
งานวิจัยยังพบว่า ประเทศไทยมีประชากรเยาวชนและผู้ใหญ่เกือบ 1 ใน 5 หรือร้อยละ 18.7 ที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เพราะขาดทักษะทุนชีวิตทั้งสามด้าน
การขาดทักษะหลาย ๆ ด้านนั้น หมายความว่าบุคคลนั้นแทบจะไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเองเลย และมีแนวโน้มว่าจะเหลือเพียงทางเลือกที่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่นเพื่อชดเชยวิกฤตด้านทักษะ
ประเด็นนี้อาจก่อให้เกิดความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะก้าวไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ลดความเหลื่อมล้ำ และปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม
....ต้นทุนทางเศรษฐกิจรวมกันจากกลุ่มที่ระดับทักษะการรู้หนังสือและทักษะดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์ยังสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท
ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20.1 ของ GDP ในปี 2565
โดยมูลค่าดังกล่าวมีจำนวนสูงกว่างบประมาณภาครัฐ ประจำปี พ.ศ. 2565 (3.1 ล้านล้านบาท)
ทั้งนี้ การคาดการณ์ความสูญเสียทางรายได้จากกลุ่มที่ทักษะต่ำกว่าเกณฑ์นี้เป็นเพียงการคำนวณจาก 12 เดือนเท่านั้น และการสูญเสียทางรายได้ลักษณะนี้จะยังคงเกิดขึ้นในปีต่อๆ ไป
การประมาณการการสูญเสียทางเศรษฐกิจนี้ถือเป็นจำนวนเงินรวม ซึ่งไม่เพียงรวมถึงการสูญเสียเนื่องจากผลิตภาพของพนักงานที่มีส่วนร่วมในงานที่คล้ายคลึงกันที่ลดลงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลกำไรที่สูญเสียไป เช่น การมีนวัตกรรมน้อยลงในสถานที่ทำงาน และลดลงของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ซึ่งโดยส่วนใหญ่เกี่ยวโยงกับวิสาหกิจข้ามชาติที่มีความมุ่งมั่นในการแสวงหาความรู้และจะนำมาซึ่งมูลค่าที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากค่าประมาณนี้ไม่ได้คำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคม (เช่น การประกันการว่างงาน)
ในกลุ่มที่มีทักษะทุนชีวิต ต่ำกว่าระดับเกณฑ์ มูลค่านี้จึงมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น
หลักฐานเชิงสาเหตุทั่วโลกที่ชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาทักษะทุนชีวิตมีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและผลลัพธ์ทางสังคม (OECD 2558) ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่จะเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมจำนวนมาก เนื่องจากจำนวนเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีความผิดปกติทางจิต มีส่วนร่วมในอาชญากรรม หรือการไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมภาคประชาสังคม เช่น การลงคะแนนเสียงและการเป็นอาสาสมัครมีจำนวนมากขึ้น..”
3. ทักษะชีวิต มีผลต่อรายได้ และชีวิตความเป็นอยู่
งานวิจัยข้างต้น ชี้ชัดว่า
“ผู้ที่มีทักษะทุนชีวิตต่ำกว่าระดับเกณฑ์ มีรายได้แรงงานต่อเดือนต่ำกว่าผู้ที่มีทักษะสูงกว่าระดับพื้นฐานอย่างมาก
ทักษะการรู้หนังสือ ทักษะดิจิทัล และทักษะทางอารมณ์และสังคมมีความสัมพันธ์อย่างมากกับรายได้ของแรงงานต่อเดือน
ตัวอย่างเช่น กลุ่มที่มีทักษะรากฐานการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์ มีรายได้เดือนละ 15,692 บาท
เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีทักษะสูงกว่าเกณฑ์ที่มีรายได้ 22,016 บาท
โดยความแตกต่าง 6,324 บาท (ประมาณ 179 ดอลลาร์สหรัฐ) นั้น ถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อคำนึงว่ารายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 27,352 บาท (ประมาณ 775 ดอลลาร์สหรัฐ)
ยิ่งไปกว่านั้น ช่องว่างของรายได้ต่อเดือนนี้ จะกว้างขึ้นเป็น 6,700 บาท (775 ดอลลาร์สหรัฐ) เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ระดับทักษะรากฐานทั้งสามทักษะไม่ถึงเกณฑ์ (12,503 บาท) และผู้ที่มีทักษะรากฐานอย่างน้อยหนึ่งทักษะสูงกว่าเกณฑ์ (19,203 บาท)
ถึงแม้ว่าความสัมพันธ์นี้ไม่ได้แสดงถึงหลักฐานเชิงสาเหตุ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของทักษะที่มีแนวโน้มในการผลักดันรายได้ของแต่ละบุคคล
ข้อมูลเหล่านี้สอดคล้องกับหลักฐานเชิงสาเหตุในประเทศอื่นๆ ด้านผลกระทบจากการเพิ่มทักษะการรู้หนังสือต่อผลลัพธ์ของตลาดแรงงานที่ดีขึ้น”
4. น่าสนใจมาก
ถ้ารัฐบาลต้องการทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นประเทศรายได้ปานกลาง ขึ้นไปสู่รายได้สูง
ต้องการให้จีดีพีของประเทศเติบโตในอัตราสูงกว่าปัจจุบันอย่างยั่งยืน
รัฐบาลจะต้องยอมรับความเป็นจริงว่ามีจุดอ่อนพวกนี้ และลงมือทำอย่างจริงจังเพื่อแก้จุดอ่อนเหล่านี้ (ไม่ใช่รอกู้มาแจก 5 แสนล้าน)
ควรต้องทำทันที เพื่อประโยชน์ที่แท้จริงของประเทศชาติและประชาชน!!!
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี